ละเลย?


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ในที่สุดความคลุมเครือที่กดดันราคาหุ้นของธนาคารกรุงไทย (KTB) มากว่า 3 เดือน ก็ถูกเฉลยออกมาแล้วว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการสกัดกั้นการกลับเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ รอบ 2 ของวิโรจน์ นวลแข ที่พ้นจากตำแหน่งหลังหมดวาระไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม

จากจุดเริ่มต้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำนิยามการจัดชั้นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ใหม่มาใช้ก่อนหน้าเวลาอันควรถึง 3 ปี ทำให้ตัวเลข NPLs งวดไตรมาสที่ 2 ของ KTB เพิ่มขึ้นมาทันที 4.6 หมื่นล้านบาท จากลูกหนี้ 14 รายและราคาหุ้น KTB ลดลงจากที่เคยเคลื่อนไหวในระดับ 10 บาท เหลือเพียง 7 บาท

หลังจากนั้น ธปท.ก็ได้ออกประกาศกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะมาเป็นผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ใหม่ โดยอาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ปี 2505 มาตรา 22(8) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งระบุคุณสมบัติต้องห้ามไว้ในลักษณะที่กว้างยิ่งกว่ามหาสมุทร โดยเฉพาะในข้อ 8 ที่ว่า

"มีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการกลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือขาดจรรยาบรรณหรือขาดความรอบคอบที่พึงมีในการปฏิบัติหน้าที่อันอาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในธุรกิจสถาบันการเงินโดยรวม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง ฐานะ หรือการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินอย่างมีนัยสำคัญ หรือต่อลูกค้าของธุรกิจสถาบันการเงิน"

มีการโยงตัวเลข NPLs ที่เพิ่มขึ้นของ KTB ว่าเกิดจากการละเลยในการทำหน้าที่ของวิโรจน์ ในช่วงที่เป็นกรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ทำให้เขาขาดคุณสมบัติที่จะกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกครั้ง แม้ว่าจะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการของธนาคารแล้วอย่างถี่ถ้วน

ในที่สุด ปมทุกอย่างก็คลี่คลายจากหนังสือของ ธปท.ที่มีไปยังคณะกรรมการของ KTB ที่ไม่เห็นชอบกับการแต่งตั้งวิโรจน์ให้กลับเข้ามารับตำแหน่ง โดยอ้างว่าขาดคุณสมบัติ ตามข้อ 8 ของประกาศ ธปท.ฉบับดังกล่าว

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครออกมาพูดได้ชัดเจนว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่า ธปท.มีความขัดแย้งเป็นการส่วนตัวอย่างไร กับวิโรจน์ เพราะในการแถลงข่าวในวันที่ 12 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวได้พยายามถามวิโรจน์ในประเด็นนี้ แต่เขาก็ตอบว่าก่อนหน้านั้นไม่เคยมี เพิ่งจะมีก็หลังจากถูกปฏิเสธในการกลับเข้ารับตำแหน่งใน KTB ครั้งนี้

วิโรจน์กับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ต่างรู้จักกันมานานแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ปี เพราะม.ร.ว.ปรีดิยาธร คือหัวหน้าคนแรก และคนเดียวของวิโรจน์ในชีวิตการทำงานในธนาคารกสิกรไทย

"ผมโตในกสิกรไทยมากับคุณอุ๋ยตลอด" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ในการให้สัมภาษณ์เมื่อกลางปี 2544 (รายละเอียดโปรดอ่านนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนตุลาคม 2544 หรือ www.gotomanager.com)

และมีการตั้งข้อสังเกตว่าความขัดแย้งระหว่างทั้งคู่ เกิดจากความพยายามสกัดกั้นการรุกเข้าไปสู่ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของบริษัทคอมลิงค์ ที่มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (รายละเอียดของคอมลิงค์ โปรดอ่านนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมีนาคม 2542 หรือ www.gotomanager.com)

บทสรุปของเรื่องนี้ดูจะทำให้ความสง่างามในตำแหน่งผู้ว่า การ ธปท.ของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรหมองคล้ำลงไปไม่น้อยทีเดียว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.