คู่แข่งข้ามชาติ


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แนวคิดที่ธุรกิจไทย จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อเตรียมรับการแข่งขันจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่กำลังจะพาเหรดกันเข้ามา หลังการเปิดเสรีกับประเทศต่างๆ เป็นแนวคิดที่กำลังทวีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เชื่อว่าทุกวันนี้องค์กรธุรกิจชั้นนำของไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมอย่างปูนซิเมนต์ไทย ภาคการธนาคารอย่างธนาคารกรุงเทพ หรือกสิกรไทย ฯลฯ ต่างตระหนักรู้ถึงความสำคัญของแนวคิดดังกล่าว

ผู้บริหารขององค์กรเหล่านี้ไม่ได้มองว่าธุรกิจประเภทเดียวกันในไทยเป็นคู่แข่งสำคัญของเขาแล้ว

แต่เขากำลังมองว่าหากบริษัทอุตสาหกรรมหรือธนาคารขนาดใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องเตรียมตัวตั้งรับกับการแข่งขันกันที่จะมีรูปแบบหลากหลายขึ้นอย่างไรมากกว่า

หรือบางธุรกิจอย่างปิโตรเคมี หรือพลังงาน ที่แม้ว่าโดยธรรมชาติการแข่งขันจะไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย แต่สนามธุรกิจทั่วโลก คือเวทีสำคัญที่ท้าทายความสามารถของผู้บริหารองค์กรเหล่านี้

นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับนี้จึงมีเรื่องเด่น 2 เรื่องที่สะท้อนข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น

เรื่องของก้องเกียรติ โอภาสวงการ deal maker ที่มีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในภาคธุรกิจของไทยหลายแขนง แนวคิดในการทำดีลแต่ละดีลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของเขา ล้วนอิงอยู่กับพื้นฐานแนวความคิดที่ว่าองค์กรธุรกิจของไทยจำเป็นต้องปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ และการแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติ

หรือโครงการขยายพื้นที่ในอิมแพค เมืองทองธานีของปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ก็มีวัตถุประสงค์ในการชิงการนำในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม หรือการแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่มาอยู่ในเมืองไทย แทนที่ญี่ปุ่น ฮ่องกง หรือสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการปรับตัวของสถาบันการศึกษาที่เปิดสอน MBA ทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งในประเทศไทย เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดใหม่ ในการศึกษาต่อของผู้คน

เหล่านี้คือเนื้อหาที่ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเข้มข้นอยู่ในนิตยสารฉบับนี้

บรรณาธิการ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.