"กสท" ถกฮัทชิสันสัปดาห์นี้ แก้ซีดีเอ็มเอยึด 2 หลักการ


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

กสท. เดินหน้าเจรจาแก้สัญญาการตลาดฮัทช์ และสัญญาเช่าโครงการ BFKT กับกลุ่มฮัทชิสันสัปดาห์นี้ ภายใต้ 2 หลักการ คือต้องลดต้นทุนในการให้บริการและลูกค้าต้องมองบริการทั่วประเทศระบบซีดีเอ็มเอ เป็นบริการเดียวกัน "วิทิต" ย้ำคาดว่าบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นปีนี้ หากไม่เกิดอุบัติเหตุแทรกแซงที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเจรจาเชิงธุรกิจ

นายวิทิต สัจจพงษ์ กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม กล่าวว่าในสัปดาห์นี้กสทจะเริ่มเจรจากับกลุ่มฮัทชิสันอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อแก้ไขสัญญาการตลาดโครงการโทรศัพท์มือถือในระบบซีดีเอ็มเอ ที่ปัจจุบันดำเนินงานโดยบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลสมัลติมีเดีย ในพื้นที่กทม.และภาคกลางรวม 25 จังหวัดภายใต้ชื่อ บริการฮัทช์

"ผมจะเป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาครั้งนี้ซึ่งคาดว่าจะสามารถเห็นความชัดเจนในการร่วมมือปรับแก้เงื่อนไขการทำธุรกิจให้เกิดประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่ายแบบ win-win ได้ภายในสิ้นปีนี้หากไม่มีอุบัติเหตุใดๆเกิดขึ้น"

โครงการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอของกสทแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ในกรุงเทพฯและ ภาคกลางรวม 25 จังหวัด มีบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย เป็นผู้ทำตลาดด้วยระบบ CDMA 2000 1X ซึ่งอยู่ระหว่างอัปเกรดเครือข่ายในบางพื้นที่บริการเพื่อให้สามารถสื่อสารข้อมูลได้เร็วขึ้นด้วยเทคโนโลยี EV-DO โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการราว 7-8 แสน ราย โดยเป็นการเช่าเน็ตเวิร์กจากบริษัท BFKT ที่ถือหุ้นโดยกลุ่มฮัทชิสัน ในอัตราดอกเบี้ยคงที่ซึ่งได้ทำสัญญาอายุ 15 ปีไว้ถึงแม้สัญญาจะสิ้นสุดแต่ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดียก็ยังได้สิทธิ์ใช้เน็ตเวิร์กต่อไป

2.โครงข่ายในภูมิภาคทั่ว ประเทศ 51 จังหวัด ที่กสทให้บริการ ด้านการตลาดเองทั้งหมด โดยเป็นเทคโนโลยีซีดีเอ็มเอระบบเก่าที่เรียกว่า IS95 ซึ่งกสทอยู่ระหว่าง จัดทำทีโออาร์เพื่ออัปเกรดให้เป็นเทคโนโลยี CDMA 2000 1X EV-DO เช่นเดียวกับฮัทช์

นายวิทิตกล่าวว่า ที่ผ่านมาฮัทช์มีขาดทุนสะสมจากการดำเนิน การส่วน BFKT มีรายได้แน่นอนจากการให้เช่าโครงข่าย ซึ่งตามหลักการให้บริการโทรศัพท์มือถือทั่วไป เจ้าของโครงข่ายและคนทำ การตลาดควรเป็นคนเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจสูงสุด

"ในการเจรจา ผมจะมองสัญญาการตลาดกับฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลสมัลติมีเดียกับสัญญาเช่าโครงข่ายของ BFKT ในภาพรวมกันทั้งหมด โดยมีแนวทางเป็น 10 รูปแบบภายใต้หลักการ 2 ข้อคือต้องลดต้นทุน และลูกค้ามองเป็นบริการเดียวกันทั่วประเทศ"

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของฮัทช์สร้างรายได้แก่กสทจำนวนมาก โดยที่ในปี 2546 กสทมีรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2547 นี้คาดว่าจะมีรายได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท

แหล่งข่าวจาก กสท กล่าวว่า กลุ่มฮัทชิสันรับรู้ความจำเป็นในการต้องเจรจาเพื่อแก้ไขปรับปรุงสัญญาต่างๆนี้มานานแล้ว โดยเฉพาะการโยงไปถึงการประมูล ซีดีเอ็มเอในภูมิภาคด้วยว่าหากสัญญาเดิมของฮัทช์ไม่ถูกแก้ไขเพื่อให้กสทได้ประโยชน์แล้วการขยายซีดีเอ็มเอในภูมิภาคก็จะล่าช้าออกไป ซึ่งทำให้ฮัทช์เสียโอกาสที่จะได้ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นจากการที่ระบบซีดีเอ็มเอสามารถให้บริการทั่วประเทศ โดยเฉพาะความแตกต่างจากผู้ให้บริการด้วยเทคโนโลยีจีเอสเอ็ม ที่ซีดีเอ็มเอตอนนี้มีเหนือกว่าในแง่การสื่อสารข้อมูลด้วยความเร็วสูงกว่า

ที่ผ่านมาการแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างฮัทช์กับโครงข่ายซีดีเอ็มเอเดิมของกสทใน 51 จังหวัดภูมิภาค มี 2 หลักการคือ 1.หากลูกค้า จดทะเบียนกับฮัทช์ แล้วใช้งาน ในพื้นที่ภาคกลาง กสท จะได้ส่วน แบ่ง 25% แต่หากลูกค้าฮัทช์นำเครื่องไปใช้นอกพื้นที่คืออยู่ในโครงข่ายของ กสท ซึ่งสื่อสารได้แค่เสียง จะมีการแบ่งรายได้กันคือ ถ้าไม่เกิน 2 ล้านนาที กสทจะได้รายได้ทั้งหมด แต่หากเกินจาก 2 ล้านนาที จะแบ่งส่วนที่เกินให้กสท 70% และ 30% เป็นของฮัทช์

2.กรณีลูกค้าที่จดทะเบียนกับกสท หากใช้งานในโครงข่ายของฮัทช์ ก็จะใช้สูตรเดียวกันว่า 2 ล้านนาทีแรก เป็นของกสท เกินกว่า นั้นแบ่งกัน 70% เป็นของฮัทช์และ 30% เป็นของกสท อย่างไรก็ตามหากลูกค้าของกสท ใช้งานในโครงข่าย 51 จังหวัดของ กสทเอง ฮัทช์ ก็จะไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้จากแอร์ไทม์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.