คุมเกมมาร์เกตติ้งย้าย "โต้ง" สู้7คดีรุมฟ้องศาล


ผู้จัดการรายวัน(26 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ศึกชิงมาร์เกตติ้งระอุแดด หลังธุรกิจนายหน้าค้าหุ้นขยายตัวเปิดโบรกเกอร์-ห้องค้าใหม่อื้อ ได้คอมมิชชันขั้นต่ำอุ้มสมเศรษฐกิจตลาดหุ้นเริ่มฟื้น แต่เรื่องของตลาดหุ้นไม่มีความแน่นอนเมื่อถึงคราวซบเซา การแข่งขันทวีความรุนแรง แย่งตัวมาร์เกตติ้งกระหึ่ม กฎเหล็กคุมเกม ห้ามมาร์เกตติ้งย้ายเอาไม่อยู่ "โต้ง - กิตติรัตน์" ถูกหมายฟ้องศาลปกครอง 8 คดีแต่เจ้าตัวยอมรับ คดีในปี 47 ส่วนใหญ่มาร์เกตติ้งฟ้อง ฝากบอกผู้ฟ้อง ตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น เข้าทำนอง "เนื้อไม่ได้กินหนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูก มาแขวนคอ"

ช่วง 2-3 ปีหลังกลับมาใช้การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (คอมมิชชัน) ขั้นต่ำ 0.25% ส่งผลให้สถานการณ์ของอุตสาหกรรม บริษัทหลักทรัพย์เริ่มกระเตื้องขึ้น ไม่มีการตัดราคากันจนขาดทุนเหมือนในช่วงที่ใช้ค่าคอมมิชชันเสรี ในขณะที่ภาวะการซื้อขายของตลาดหุ้นก็เริ่มที่จะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ล่าสุดในปี 2547 ขึ้นมายืนอยู่ที่ 21,130.66 ล้านบาทแล้ว เทียบกับการซื้อขายเพียงวันละไม่กี่พันล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วงที่ผ่านมาธุรกิจนายหน้า ค้าหลักทรัพย์จึงขยายตัวมาโดยตลอด

ห้องค้า-มาร์เกตติ้งเพิ่ม

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ปัจจุบันมีโบรกเกอร์ที่ให้บริการด้านซื้อขาย หลักทรัพย์อยู่ถึง 35 บริษัท และยังมีอีก 4 บริษัทที่เตรียมที่จะลงสนามในปีหน้า ได้แก่ บล.บีเอสอีซี (เอชเอสบีซีเดิม) บล.เอสจี สินเอเซีย บล.แอดวานซ์ (โกลบอลไทยเดิม) และ บล.แอสเซทพลัส ที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นบล.กสิกรไทย จากที่หลังวิกฤตมีโบรกเกอร์เพียง 20 กว่าแห่งเท่านั้น

ณ เดือน ก.ย. 2547 โบรกเกอร์ทั้งระบบมีจำนวนสาขารวมกันทั้งสิ้น 359 สาขา เพิ่มขึ้นจาก ปี 2546 ที่มีสาขารวมทั้งสิ้น 316 สาขา โดยจังหวัด ที่มีสาขาเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่มขึ้นจาก 143 สาขาในปี 2546 มาเป็น 167 สาขาในปัจจุบัน

จำนวนเจ้าหน้าที่การตลาดตราสารทุน (มาร์เกตติ้ง) ล่าสุด ณ วันที่ 22 ต.ค. 2547 มีจำนวน 6,860 ราย เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธ.ค. 2546 ที่มี จำนวน 4,497 ราย อย่างไรก็ตาม พบว่ามีเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานจริงในปัจจุบันเพียง 5,489 ราย เท่านั้น

แข่งขันสูงแย่งมาร์เกตติ้ง

รายงานข่าวจากโบรกเกอร์ระบุว่า แม้ว่าในแง่ของจำนวนมาร์เกตติ้งจะมีจำนวนมากจากการสนับสนุนสร้างขึ้นใหม่ของตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์บางราย แต่ในแง่ของความสามารถสร้าง วอลุ่มให้กับโบรกเกอร์จำนวนมากยังต้องใช้วิธีการ เก่า คือ ดึงตัวกันในวงการที่กุมลูกค้ารายใหญ่ ในมือเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อมีการกำหนดค่าคอมมิชชันขั้นต่ำ และภาวะการซื้อขายหุ้นฟื้นตัวในปี 2546 ขณะเดียวกันก็มีโบรกเกอร์จำนวนมากขึ้นและยังมีการขยายห้องค้าสาขาใหม่เกิดขึ้นตามมา การแข่งขันแย่งตัวมาร์เกตติ้งก็เริ่มเกิดขึ้นเป็นลำดับ

ทำให้ต้นปี 2546 ที่ผ่านมาโบรเกอร์ โดยสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ยุคนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ได้กำหนดกติกาใช้ร่วมกันว่า มาร์เกตติ้งจะย้ายงานได้จะต้องได้รับการยินยอมและอนุมัติจากสังกัดเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการรักษาเสถียรภาพของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ เพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ยุติปัญหาการซื้อตัวมาร์เกตติ้งเพื่อสร้างวอลุ่ม ซึ่งอาจนำไปสู่การปฏิบัติผิดข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายผลตอบแทน และการคิดค่าบริการแก่ลูกค้า (รีเบต) ความเป็นมนุษย์ทองคำของมาร์เกตติ้ง จึงค่อยๆ หดหายไป

อย่างไรก็ดี เมื่อภาวะตลาดหุ้นไทยถดถอยจากเมื่อปลายปี 2546 โดยมีสภาพความผันผวนซบเซาลงในปี 2547 ทำให้วงการธุรกิจหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ดีกรีการแข่งขันของธุรกิจนี้ก็รุนแรง เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่ามีกรณีดึงตัวมาร์เกตติ้งในวงการปรากฏเป็นระยะๆ มีทั้งที่ปรากฏเป็นข่าว และไม่เป็นข่าว

เนื่องเพราะการลาออกมาของมาร์เกตติ้งจะทำให้สถานภาพการเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดที่ได้รับ การขึ้นทะเบียนต้องสิ้นสุดลงด้วย และจำเป็นที่จะต้องขอเป็นเจ้าหน้าที่รับอนุญาต หรือที่เรียกกันว่า "ไอดี เทรดเดอร์"จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย ซึ่งตลาดยึดหลักว่าตามสังกัดเดิม ถ้าไฟเขียว ตลาดก็ไฟเขียว แต่ในรายที่กุมวอลุ่มจำนวนมากก็อาจไม่ได้ไฟเขียวจากสังกัดโบรกเกอร์เก่า

มาร์เกตติ้งพึ่งศาลปกครอง

"คลื่นใต้น้ำ" ต่อกรณีการโยกย้ายของมาร์เกตติ้งจึงถือได้ว่าเกิดขึ้นมานานแล้วและกำลังทำท่าจะก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ หลังจากที่มาร์เกตติ้ง 8 รายของ บล.ซีมิโก้ ตัดสินใจย้ายค่ายไปอยู่ บล. บีฟิท แต่สังกัดเดิมไม่อนุญาต การยื่นขอไอดีเทรด จากตลท.ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่ครั้งนี้มาร์เกตติ้ง กลุ่มนี้ไม่ยอม จึงตัดสินใจยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์เป็นหนึ่งในจำเลย ในข้อกล่าวหา เจ้าพนักงานของรัฐที่ละเลยการปฏิบัติ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ไม่เป็นธรรม จนเป็น หัวข้อทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในวงการหลักทรัพย์ อีกครั้ง

รายงานข่าวจากศาลปกครอง ระบุว่า มีการฟ้องร้อง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 8 คดี โดยมีเพียง 1 คดีเท่านั้นที่มีการฟ้องร้องศาลปกครองในปี 2544 ส่วนที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นคดีที่เกิดขึ้นในปี 2547

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ยอมรับว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการย้ายงานของมาร์เกตติ้ง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วยังไม่เคยไปให้การที่ศาล แต่จะมีทนายไปดำเนินการสู้คดี อย่างไรก็ตาม ในกรณี ที่ฟ้องว่ากรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ละเลยการปฏิบัติทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายนั้น ผมมั่นใจเพราะตลาด หลักทรัพย์ไม่ใช่องค์กรของรัฐ และไม่มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น แต่ตลาดหลักทรัพย์เป็นเสมือนสโมสร หรือคลับ ที่มีสมาชิกเป็นบริษัทโบรกเกอร์ ซึ่งสมาชิกก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่สโมสรกำหนดขึ้น

"ถ้าเป็นกรณีที่ฟ้องว่าผมเป็นเจ้าพนักงานของรัฐนั้น ผมฝากไปบอกผู้ที่ฟ้องด้วยว่าตลาดหลักทรัพย์ไม่ใช่องค์กรของรัฐ และไม่ได้มีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น" นายกิตติรัตน์กล่าว แต่ก็ปฏิเสธที่จะบอก ว่ายังมีข้อหาอื่นที่ถูกฟ้องอีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลสถิตยุติธรรมจะออกมาเป็นเช่นไร สิ่งที่บรรดามาร์เกตติ้งจะทำได้ในชั่วโมงนี้ก็คือ การรวมตัวกัน ก่อตั้งเป็นสมาคม เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตัวเอง ในฐานะที่เป็นลูกจ้างอีกอาชีพหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.