ตำหนักไทยโบราณคงความเก่าแก่มานานกว่าร้อยปี กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ใจกลางกรุงเทพมหานคร
เมื่อปี พ.ศ.2495 เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งสามารถแวะเข้าไปเยือนได้อย่างง่ายดาย
เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตและตัวตนของความเป็นไทย ที่หลายคนอาจจะหลงลืม เพราะมัวแต่หลงใหลได้ปลื้มกับศิลปวัฒนธรรมของคนชาติอื่น
"พ.ศ.2495 คือปีที่ผมเกิดเป็นปีที่ 50 พอดี เคยมาวิ่งเล่นอยู่ที่นี่ ตั้งแต่เด็กเพราะบ้านอยู่แถวถนนเพชรบุรี
เลยผูกพันกับที่นี่มากพอสมควร จนกระทั่งจบ ป.5 จากโรงเรียนสมประสงค์ ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศเมื่อประมาณ
10 ขวบ ก็เลยขาดช่วงไป แต่ตอนเด็กๆ ผมก็ค่อนข้างเรียบร้อยนะ ไม่วิ่งเล่นเสียงดังหรอก
เพราะเสด็จในกรมฯ และคุณท่านค่aอนข้างดุ" คุณชายหรือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร
ประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เล่า ความทรงจำในอดีตที่มีต่อสถานที่แห่งนี้
"กลับมาอีกทีตอนนั้นเสด็จในกรมฯ ก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว แต่ก็ได้มีโอกาสเข้ามาทานข้าว
ทานน้ำชากับ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บ่อยๆ ต่อมาท่านก็มอบให้ช่วยดูแลในส่วนที่เกี่ยวกับมูลนิธิ
ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2511"
เสด็จในกรมฯ คือ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต
ทรงเป็นพระโอรสองค์แรกในสมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) กับหม่อมเจ้าหญิงประสงค์สม ไชยยันต์
ส่วนคุณท่าน คือ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร พระชายา
เสด็จในกรมฯ และคุณท่าน คือเจ้าของวังสวนผักกาด ปัจจุบัน สิ้นพระชนม์ไปแล้ว
โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ผู้เป็นหลานเป็นคนดูแลในนามของประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นโอรสของพระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ กับ หม่อมดุษฎี
บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ณ ถลาง) มีภรรยาชื่อสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา
มีบุตร 2 คน คือ ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร (จากการสมรสกับนุชวดี บำรุงตระกูล)
และ ม.ล.วราภินันท์ บริพัตร
จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 และปริญญาโท ณ Pembroke
College มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เกียรตินิยมทาง ด้านปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์
(พ.ศ.2514-พ.ศ.2520)
ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Georgetown ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
(พ.ศ.2521)
วันนี้นอกจากตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรแล้ว
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังเข้ามารับตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
มาตั้งแต่ปี 2530 และได้พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง สร้างกิจกรรมต่างๆ
อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้วังสวนผักกาดเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพิ่มขึ้น เช่น
การแสดงงานศิลปกรรม แสดงดนตรี โดยมีศิลปินหลายกลุ่มที่แวะเวียนมาจัดงาน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกมาเช่าสถานที่เพื่อจัดงานที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย
ปัจจุบันในวังสวนผักกาดมีเรือนไทยทั้งหมด 8 หลัง มีสะพานเดินเชื่อมถึงกันตลอดและยังมีหอเขียน
และศิลปอาคารจุมภฏ-บริพัตร แยกออกไปอีกต่างหาก ขณะนี้ห้องชั้นล่างของเรือนไทยหลังแรกอยู่ในระหว่างสร้างพิพิธภัณฑ์การดนตรีของทูลกระหม่อมบริพัตร
ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ร่วมฉลองในงาน 120 ปี ทูลกระหม่อมบริพัตร ซึ่งจะเปิดในวันที่
17 พฤษภาคม 2545 นี้
ถ้าใครที่เคยเข้าไปเยี่ยมชมวังสวนผักกาด จะพบว่าเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
อาจจะต่างกับที่อื่นๆ ตรงที่ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์พยายามจัดข้าว ของให้เหมือนกับการตกแต่งบ้าน
เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม มีความรู้สึกอบอุ่น เหมือนอยู่ภายในบ้านของตัวเองมากที่สุด
นอกจากวัตถุโบราณบางประเภท ที่มีมากมาย ก็จะจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ชัดเจนไว้ในเรือนบางหลังโดยเฉพาะ
วังสวนผักกาดเป็นสถานที่อันดับต้นๆ ในกรุงเทพฯ ที่ชาวต่างชาติจัดไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว
ในขณะที่ความต้องการของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ต้องการให้คนไทยด้วยกัน โดยเฉพาะนักเรียน
นักศึกษา เข้ามาเยี่ยมชมกันให้มากขึ้น ดังนั้นทุกวันนี้ท่านจึงได้มานั่งทำงานประจำอยู่ที่นี่
เพื่อจะได้คอยดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ซึ่งใกล้สภาผู้แทนราษฎร
และที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย
"คนไทยส่วนใหญ่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ไม่นิยมเปิดบ้านให้คนภายนอกเข้ามาเดินดูข้าวของที่สะสมไว้
เพราะต้องการความเป็นส่วนตัว แต่ทั้งพระองค์เจ้า จุมภฏพงษ์บริพัตร และ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์
ต่างมีความคิดตรงกันที่จะให้โอกาส ให้คนไทยได้ชื่นชมและเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัตถุโบราณ
และสิ่งของต่างๆ ที่แสดง ถึงวัฒนธรรมประเพณีของไทย เพื่อเป็นการปลูกฝังความรักชาติ
รักแผ่นดิน ท่านจึงเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาชมได้ตั้งแต่ยังพักอาศัย และผมก็มีหน้าที่ที่จะสนองตอบต่อความต้องการของท่านเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายพระองค์ท่านสืบไป"
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวย้ำถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่า พิพิธภัณฑ์เก่าแก่กลางกรุงแห่งนี้ก็จะยังคงยืนหยัดทำหน้าที่
ไปอีกนานเท่านาน