|
วิโรจน์ฟ้อง "อุ๋ย-กรุงไทย" เรียก100ล้านพร้อมทวงเก้าอี้เอ็มดีคืน
ผู้จัดการรายวัน(20 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิโรจน์ นวลแข" เตรียมฟ้องแบงก์ชาติ-บอร์ดกรุงไทย เรียกค่าเสียหายมากกว่า 100 ล้าน "หม่อมอุ๋ย"จำเลยที่ 1 เผยจะร้องศาลปกครองก่อน 26 ต.ค. ส่วนข้อเรียกร้องในหนังสือขอความเป็นธรรมจาก "สมคิด" ในฐานะผู้กำกับดูแล 2 องค์กร เผยต้องการให้รมว.คลังยุติอำนาจในประกาศเพิ่มเติมของธปท. มาตรา 22 (8) ป้องกันความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงิน ชี้ไม่มีกฎหมายรองรับและขัดรัฐธรรมนูญ
นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ได้เดินทางไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกขอความเป็นธรรมต่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) มีนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากนายสมคิดเดินทางไปประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จังหวัดตาก
นายวิโรจน์ให้เหตุผลในการยื่นหนังสือครั้งนี้ว่า กระทรวงการคลังมีหน้าที่ในการกำกับดูแลธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกรุงไทย โดยหนังสือดังกล่าว มีประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น คือ เรียกร้องให้ตรวจสอบประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ ของธปท. ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ที่ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 22(8) และให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการตรวจสอบต่อไป
"จดหมายที่ได้รับจากคณะกรรมการ เป็นเพียงจดหมายสั้น ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของผม แต่ในเนื้อหาไม่ได้ระบุชัดว่าผิดกฎหมายข้อไปไหน ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าผมขาดคุณสมบัติข้อใดบ้าง นอกจากจะยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ดังนั้นเวลานี้สิ่งที่ต้องทำ คือทำใจให้อภัยกับคน ซึ่งหากเรื่องตอนนั้นบริสุทธิ์แล้ว ก็คงไม่ทำอะไรใครต่อไป"
เผยฟ้อง "หม่อมอุ๋ย" ร้อยล้าน
นายวิโรจน์เปิดเผยว่า ก่อนจะถึงวันที่ 26 ต.ค. เป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 3 เดือน นับจากที่ธปท.ออกประกาศเพิ่มเติมมาตรา 22(8) จะเดินทางไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจะมีให้อย่างน้อยในฐานะราษฎรคนหนึ่งที่เกี่ยวกับการที่ผู้ปกครองใช้อำนาจโดยมิชอบ โดยจะร้องถึงประกาศที่ออกมาของธปท.ว่าไม่น่าจะถูกต้องตามกฎหมาย ไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องคุณสมบัติของผู้บริหาร ไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของธนาคารพาณิชย์
นายวิโรจน์กล่าวว่า ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด (ประเทศไทย) ให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายเพื่อทำเรื่องร้องถึงศาลปกครองฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากธปท.และบอร์ดธนาคารกรุงไทย
"ผมจะฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา พร้อมเรียกร้องสิทธิในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แบงก์กรุงไทยคืนโดยจะเรียกค่าเสียหายหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป เพราะได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก"
"ตอนนี้ผมถูกกระทืบแบนแล้ว จะงอมืองอเท้าอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ ต้องลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิ" นายวิโรจน์กล่าวหลังจากหารือกับสำนักงานกฎหมาย ที่อาคารบางกอกซิตี้ ทาวเวอร์ ถนนสาทร ร่วม 3 ชั่วโมง
ที่ปรึกษานายวิโรจน์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ตอนแรกนายวิโรจน์จะฟ้องร้องบอร์ดธนาคารกรุงไทยก่อนนำไปสู่จำเลยที่ 2 และ 3 แต่ทีมกฎหมายประเมินจากข้อมูลที่มีและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เห็นว่านายวิโรจน์น่าจะฟ้องผู้ว่าฯธปท.เป็นจำเลยที่ 1 เนื่องจากตรงตัวและตรงประเด็นที่สุด โดยจะฟ้องร้องให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา
ด้านม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องที่นายวิโรจน์จะฟ้อง เพราะเป็นเรื่องของนายวิโรจน์ และยังไม่มีการชี้แจงจนกว่าจะเกิดการฟ้องร้องเสียก่อน แต่มั่นใจว่าชี้แจงเรื่องดังกล่าวได้
ชี้ประกาศธปท.ไม่มีกม.รองรับ
สำหรับสาระสำคัญในหนังสือขอความเป็นธรรมที่นายวิโรจน์ส่งถึงนายสมคิดมีสาระสำคัญ 6 ข้อ ประกอบด้วย
1.ประกาศธปท.ฉบับนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ธปท.ไม่มีอำนาจออกประกาศดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 22 (8)
2.ธปท.ไม่มีอำนาจออกประกาศ เพราะคุณสมบัติของกรรมการได้มีบัญญัติไว้แล้วในกฎหมายแม่บท คือ มาตรา 12 จัตวา ซึ่งห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งหรือยอมให้บุคคลซึ่งมีคุณสมบัติหรือลักษณะต่างๆ ทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ รองผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการหรือที่ปรึกษาของธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว การจะแก้ไขในสิ่งอัน ก่อให้เกิดการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยไม่มีอำนาจตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายเฉพาะรองรับให้กระทำการได้จึงขัดต่อ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50
3.การดำเนินการออกประกาศและคำสั่งของธปท.ดังกล่าวเป็นการแทรกแซงกระบวนการสรรหาตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 โดยที่มิได้มีกฎหมายให้อำนาจไว้แต่อย่างใด
4.กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และธปท. ทราบแต่เบื้องต้นแล้วว่าไม่มีกฎหมายใดที่บัญญัติให้การแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจการจัดการ หรือที่ปรึกษาของธนาคารพาณิชย์ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากธปท.ก่อน และไม่มีข้อความใดที่จะกำหนดคุณสมบัติและลักษณะที่ต้องห้ามหรือใช้อำนาจดุลยพินิจอย่างกว้างขวาง รวบรัด โดยไม่ผ่านกระบวนการ รัฐสภา ดังจะเห็นได้จากเสนอร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ...... ซึ่งในขณะนี้มิได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพื่อเพิมเติมอำนาจแก่ธปท.ในการให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้บริหารสถาบันการเงิน การใช้อำนาจออกประกาศของธปท. ตามมาตรา 22(8) ก็ดี และการออกคำสั่งธปท.มายัง บมจ.ธนาคารกรุงไทยก็ดี จึงเป็นการลุแก่อำนาจ และเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตและผิดทำนองคลองธรรม
5.หากพิจารณาตามช่วงระยะเวลา จะเห็นได้ว่า การที่ ธปท.ได้ออกประกาศดังกล่าวภายหลังที่กระบวนการสรรหาได้ดำเนินการแล้วเสร็จและก่อนคณะกรรมการธนาคาร บมจ.ธนาคารกรุงไทย ได้มีมติเห็นชอบไม่กี่วันนั้น เป็นการดำเนินออกประกาศอย่างรีบเร่ง โดยพยายามอ้างว่ามีอำนาจ ทั้ง ๆ ที่ทราบอยู่แล้วว่าตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ฉบับปัจจุบันนี้นั้น ธปท.มิได้มีอำนาจแทรกแซงการแต่งตั้งกรรมการธนาคารพาณิชย์ได้แต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ธปท.มีเจตนาใช้ประกาศ ดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติ จึงควรที่ท่าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติธปท. พ.ศ. 2485 จักต้องตรวจสอบ และสั่งการให้ยุติการปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยพลัน เพื่อมิให้เป็นแบบอย่างต่อไปเพื่อป้องกันความเสียหายต่อระบบการกำกับสถาบันการเงิน ความเชื่อถือของนานาอารยประเทศในความเป็นนิติรัฐของประเทศไทย
6.ธปท.ใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบกล่าวหาว่าข้าพเจ้ากระทำความผิด โดยมิได้มีการแจ้งความผิดก่อนและมิได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ตลอดจนมิได้ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงหรือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้น การดำเนินการในลักษณะที่ไม่โปร่งใสดังกล่าวมิใช่การกระทำที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลแต่อย่างใด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|