|

SCBกำไร 1.5 หมื่นล.นำร่องกลุ่มธนาคาร
ผู้จัดการรายวัน(19 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศผลงานงวด 9 เดือน 4 แบงก์แรกกำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน นำโด่งโดยแบงก์ไทยพาณิชย์ กำไรสุทธิกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 67% แต่เป็นกำไรจากการลงทุน 5.7 พันล้าน ด้านผู้บริหารเดินหน้าสานต่อนโยบายสถาบันการเงินครบวงจร เร่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาต่อเนื่อง ขณะที่ "ธนชาต-สแตนดาร์ดฯ" กำไรสุทธิ 395 ล้านบาท และ 652 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนราคาหุ้นร่วงตามดัชนีตลาดรวม
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวถึงผลการดำเนินงานประจำงวดไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2547 ว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 3,636.92 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.37 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 3,232.22 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.45 บาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานสะสมงวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 15,364.20 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อ หุ้น 8.72 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 9,203.62 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 7.33 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 66.94% โดยมีผลจากกำไรจากเงินลงทุนจำนวนที่ ไม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจการเงินจำนวน 5,658 ล้านบาท รวมทั้งผลประกอบการของธนาคารปรับตัวดีขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
ตั้งสำรองฯสูง 81% ของเอ็นพีแอล
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ณ สิ้นไตรมาส 3/2547 มีจำนวนทั้งสิ้น 84,368.37 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 14.67 ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคาร มีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสูงถึง 68,465 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.2% ของเอ็นพีแอล โดยธนาคารจะยังคงนโยบายการตั้งสำรองทั่วไปจำนวน 200 ล้านบาทต่อเดือน จนมีจำนวนสำรองส่วนนี้เท่ากับ 2% ของสินเชื่อที่ไม่ใช่เอ็นพีแอล
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเพิ่มว่า ธนาคารยังมุ่งดำเนินนโยบายการเป็นสถาบันการเงินที่ครบวงจรที่แท้จริง (Universal Banking Strategy) ซึ่งจะทำให้ธนาคารมีรายได้ทั้งประเภทรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ล่าสุดธนาคารได้เปิด ตัวบริการบริหารเงินสด (Business Cash Management) และยังมีแผนงานที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ของธนาคารออกมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มเป็น 2.71%
ทั้งนี้ ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยรับจากเงินให้สินเชื่อจำนวน 5,497 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 271 ล้านบาท เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อ และอัตราผลตอบแทนสินเชื่อเฉลี่ย (Yield on loans) ที่สูงขึ้น รวมทั้งมีดอกเบี้ยรับพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้ประมาณ 90 ล้านบาท ส่วนรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับจากเงินลงทุนมีจำนวน 917 ล้านบาท ลดลงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 71 ล้านบาท เกิดจากการลดลงของเงินลงทุนในตราสารหนี้ และเงินปันผล
ด้านดอกเบี้ยมีจำนวน 1,464 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท ดอกเบี้ยจ่ายสำหรับเงินฝากลดลง 32 ล้านบาท เป็นผลส่วนใหญ่จากการขยายธุรกิจบริการ บริหารเงินสดทำให้เงินฝากระยะสั้นมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นโดยลำดับ ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลงแม้ธนาคารจะมียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้
ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ในไตรมาส 3 ปีนี้มีจำนวน 2,950 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสก่อนที่มี 4,400 ล้านบาท ลดลง 1,450 ล้านบาท หรือคิดเป็น 33.0% ส่วนใหญ่เป็นผลจากกำไรจากการขายหลักทรัพย์ลดลง ส่วนค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 3,879 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนจำนวน 3,844 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น 37 ล้านบาทจากค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมพนักงานและจำนวนพนักงานที่เพิ่มขึ้น ค่าภาษีและค่าธรรมเนียมบริการเพิ่มขึ้นรวม 35 ล้านบาทจากธุรกรรมการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าตอบแทนกรรมการ ลดลง 30 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอาคาร สถานที่และอุปกรณ์ลดลง 16 ล้านบาท
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานในไตรมาส 3/2547 เท่ากับร้อยละ 50.7 ลดลงจากร้อยละ 53.6 ในไตรมาส 2/2547 เนื่องจากรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของ ค่าใช้จ่าย
กองทุนขั้นที่ 1 กว่า 6.3 หมื่นล้าน
ขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมาย ณ 30 กันยายน 2547 มีจำนวน 87,183 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 15.6 ของสินทรัพย์เสี่ยง เป็นส่วนของเงินกอง ทุนชั้นที่ 1 จำนวน 63,107 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 11.3 ซึ่งยังไม่รวมกำไรของไตรมาส 3/2547 จำนวน 3,637 ล้านบาท
ธนชาตกำไรงวด 9 เดือนเพิ่ม 0.83%
ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ NBANK รายงานว่า ธนาคารกำไรสุทธิ 143.88 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.18 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 139.76 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.17 บาท ขณะที่งวด 9 เดือนกำไรสุทธิ 395.13 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.49 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 391.87 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.48 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 0.83%
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารเอ็นพีแอล อยู่ที่ 2,049 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2546 จำนวน 120 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 โดยที่อัตราส่วนเอ็น พีแอลต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ในขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ลดลงจาก 1,286 ล้านบาท เป็น 1,219 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญดังกล่าวยังสูงกว่าหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้อีกจำนวน 777 ล้านบาท
ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง อยู่ที่ร้อยละ 27.7 มีเงินกองทุนรวมจำนวน 10,353 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 8,661 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 1,855 ล้านบาท
สำหรับรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผล ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจำนวน 293 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนจำนวน 75 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.2 เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงิน ปันผลจากเงินลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสนี้มีเงินปันผลรับจำนวนหนึ่งจากหน่วยลงทุนกองทุน รวมในประเทศที่ธนาคารถือครองอยู่
สแตนดาร์ดฯกำไรเพิ่ม 82%
ขณะที่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) หรือ SCNB กำไรสุทธิ งวด 9 เดือน จำนวน 652.81 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.93 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 357.50 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.51 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 82.60% ขณะที่หนี้เอ็นพีแอลอยู่ที่ 1,412.51 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.37% ของสินเชื่อรวม
SCIB กำไรสุทธิเพิ่มเฉียด 150%
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)หรือ SCIB แจ้งว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,390.43 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.6581 บาท เทียบกับปีก่อนกำไรสุทธิ 717.46 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.3396 บาท ขณะที่งวด 9 เดือน กำไรสุทธิ 5,092.18 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 2.4101 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 2,060.23 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.9751 บาท หรือกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 147.17%
ด้านความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นพาณิชย์ 2 บริษัทวานนี้ (18 ต.ค.) คือ SCB และ SCIB ได้ปรับตัวลดลงตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ โดย SCB ปิดที่ 42.75 บาท ลดลงจากวันก่อน 0.50 บาท หรือ 1.16% มูลค่าการซื้อขาย 196.72 ล้านบาท ขณะที่ SCIB ปิดที่ 22.40 บาท ลดลง 0.20 บาท หรือ 0.90% มูลค่าการซื้อขาย 19.41 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|