ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ จากลูกจ้างสู่เถ้าแก่


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาพวาดบนผนังของสำนักงานบล.แอสเซท พลัส คือ การเลือก และใช้สิ่งที่เห็นว่าดีที่สุดมาจากหลายๆ ศิลปินผสมเข้าด้วยกันระหว่างศิลปะไทย และศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนได้ดีกับอุปนิสัยของประธานกรรมการบริหารบริษัทแห่งนี้

นอกจากดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทแล้ว เขายังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่ง และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2536 และเป็นหัวเรือใหญ่ในการพัฒนาธุรกิจเข้าสู่การเป็นผู้นำในด้านธุรกิจที่ปรึกษา และ ที่ปรึกษาการควบรวมกิจการในประเทศไทย

ปัจจุบันผู้ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจการเงินในประเทศไทยรู้สึกอิจฉาเขาจน มีบางคนเอ่ยปากว่า "ตอนนี้ ดร.ก้องเกียรติไม่มีเวลาใช้เงินแล้ว มีแต่เวลาหาเงิน"

ดร.ก้องเกียรติเกิดในครอบครัว นักธุรกิจ คุณพ่อของเขาทำงานในวงการประกันภัย และชิปปิ้ง คุณแม่เป็นแม่บ้าน ถือเป็นครอบครัวชนชั้นกลางของสังคมไทย ในวัยเด็กเขาเป็นนักเรียน ที่เรียนดีในโรงเรียนอัสสัมชัญ (บางรัก) จากนั้น เข้าเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นสถานศึกษา ที่หลายๆ คนใฝ่ฝันอยากจะเข้าไปสัมผัส เช่นเดียวกับ ดร.ก้องเกียรติ ความ ที่เป็นคนเรียนเก่ง ประกอบกับเป็นลูกคนโต ทำให้เขาพยายามตั้งใจเรียน เพื่อให้น้องๆ สบาย

"สมัยเด็กสิ่งที่จะทดแทนหรือทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้มีอย่างเดียว คือ ตั้งใจเรียน" ดร.ก้องเกียรติ เล่าถึงความคิดในช่วงวัยเด็ก เรียกว่าความคิดเติบโตมากกว่าอายุก็ไม่ผิดนัก

จากนั้น ได้เข้าไปศึกษาระดับปริญญาตรีในรั้วจามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่พ่วงท้ายด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1, เหรียญทอง จากนั้น เดินทางไปศึกษาต่อ MBA ที่ Wharton School มหาวิทยาลัย เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก ด้าน Operation Research มหาวิทยาลัยเดียวกัน และ ที่นั่นเขาก็ได้รับเกียรตินิยม อันดับ 1 และเกียรตินิยมเบตา แกมมา และซิกมา บ่งบอกถึงความเป็นเลิศทางการศึกษาของเขา

ขณะศึกษาอยู่ ที่อเมริกา ดร.ก้องเกียรติได้รับการฝึกฝนการทำงานอย่างโชกโชน ทั้งการเป็นที่ปรึกษาโครงการภาครัฐ และเอกชน เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการของอเมริกา บริษัทเบียร์ในเม็กซิโก นักวิจัยอาวุโส และ ที่ปรึกษา Wharton Applied Center และเคยผ่านการเป็นที่ปรึกษาของ Booz Allen Hamilton และ AT&T มาแล้ว

"ปกติสถาบันเหล่านี้จะใช้บริการของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว เพราะมีความเป็นกลาง ช่วง ที่กำลังศึกษาก็ได้โครงการของรัฐบาลเยอะมาก ภายใต้ศูนย์วิจัยของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เขาต้องจ้างนักศึกษามาทำโครงการให้ คล้ายๆ กับทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้ประสบการณ์ดีมากแต่หนักไปทางงานวิจัยทางด้านการตลาด" ดร.ก้องเกียรติ เล่าความหลัง

หลังจากสั่งสมประสบการณ์ในต่างแดนจนเต็มที่แล้ว ดร.ก้องเกียรติเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อใช้ทุน ที่ธนาคารกสิกรไทย (TFB) เมื่อปี 2527 ในตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าส่วน ส่วนส่งเสริมธุรกิจฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดูแลงานด้านวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งจุดนี้คือ จุดเริ่มต้นของ ดร.ก้องเกียรติ ในสายงานธุรกิจการเงิน

ขณะที่เขากำลังก้าวหน้าในสายงาน ดร.ก้องเกียรติ ก็ถูกผลักดันจากความทะเยอทะยานของตัวเองให้เข้ามาทำงานกับบริษัทต่างชาติ แบร์ริ่ง รีเสิร์ช (สำนัก งานกรุงเทพฯ) หลังทำงาน ที่ TFB ได้เพียง 4 ปี ตำแหน่งสุดท้ายใน TFB ของ ดร.ก้อง เกียรติคือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ที่ดูแลงานตลาดบัตรพลาสติกทุกชนิด

อย่างไรก็ดีกว่าจะตัดสินใจออกมาทำงานให้กับแบร์ริ่งฯ ต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน "เพราะยังไม่รู้จักบริษัทนี้ดีพอ และไม่เคยได้ยินมาก่อน" ซึ่งเขาถือว่าเป็นความเสี่ยงมากพอสมควรในการเดินออกจาก TFB แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรค ที่จะสามารถฉุดรั้งให้ ดร.ก้องเกียรติอยู่ต่อไปได้ เนื่องจากความสนใจส่วนตัวต่อธุรกิจ คือ เขาเป็นคนชอบเล่นหุ้น และสนใจธุรกิจค้าหลักทรัพย์

เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2531 ผู้บริหารงานขายคนหนึ่งของแบร์ริ่ง ซีเคียวริตี้ ฮ่องกง ได้มีโอกาสรับรู้ถึงความสามารถของ ดร.ก้องเกียรติ ในธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ตลอดจนหน้าที่หลักของการทำงาน ที่ TFB แล้ว เขายังมีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับนักลงทุนหรือสถาบันการเงินต่างประเทศด้วย ทำให้ ดร.ก้องเกียรติรู้จักนักลงทุน เหล่านี้มากมาย ในที่สุดเดือนกรกฎาคม ปี 2532 ดร.ก้องเกียรติกลายเป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับ Chief Representative คนแรกของแบร์ริ่ง รีเสิร์ช ในกรุงเทพฯ

"เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งคนเราต้องมีการเปลี่ยนแปลง" คือ สิ่งที่เขาตัดสินใจออกมาทำงานในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน และการที่เขาได้มานั่งตำแหน่งสูงสุดนับว่าเป็นคนไทยคนแรก ที่นักค้าหุ้นระดับมืออาชีพของโลกอย่าง Christopher Healh ผู้บริหารระดับสูงแบร์ริ่ง ซีเคียวริตี้ ลอนดอน ยอมรับในฝีมือ

หลังจากถูกหล่อหลอมด้วยเพลิงทางสาระความคิด และประสบการณ์เป็นเวลา 4 ปีเต็ม ในแบร์ริ่ง รีเสิร์ช ชีวิตของ ดร. ก้องเกียรติเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต เมื่อตัดสินใจออกมาก่อตั้ง บล.แอส เซท พลัส โดยมีผู้ร่วมก่อตั้งสำคัญ คือ อนันต์ กาญจนพาสน์ แห่งแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (L&H) และผู้บริหารกองทุน swiss fund แต่ด้วยนิสัย conservative เขาไตร่ตรองอยู่นานพอสมควร ถึงแม้ว่า ใจหนึ่งยังประทับใจการทำงานในแบร์ริ่ง รีเสิร์ชอยู่

"ช่วงออกจากแบร์ริ่ง รีเสิร์ช เป็นจังหวะโชคดี ที่ว่ามันเอื้ออำนวย และถึงจุดอิ่มตัว เมื่อเราสามารถสร้างองค์กรให้แข็งแรงแล้ว ทุกอย่างก็ตัน คุณกินเงินเดือนเท่าไรก็รู้ มันไม่มีความตื่นเต้นอีกต่อไป และเราก็ไม่ได้หวังไปเป็นผู้บริหารประเทศอื่น อีกทั้งมีคนมาชวนตั้งบริษัท ซึ่งเราก็ยอมรับพวกนี้ ที่เห็นอะไรมามาก ประกอบกับชอบเป็นนายตัวเอง และเคยเขียนหนังสือให้คนอื่นอ่าน เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องปฏิบัติเองด้วย" ดร.ก้องเกียรติบอก

กำเนิดของ บล.แอสเซท พลัส เกิดจากได้รับมอบหมายจากกรรมการชุดเดิมของ บล.ชาวไทย ให้เข้าฟื้นฟูกิจการ โดยเสนอแผนฟื้นฟูต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จนได้รับอนุมัติ จากนั้น บล.ชาวไทย เปลี่ยนมาเป็น บล. แอสเซท พลัส ด้วยเงินเพียง 500 กว่าล้านบาท

เงินจำนวนดังกล่าวส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุนของ ดร.ก้องเกียรติ ใน ปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่ตลาดหุ้นบูมสุดๆ และสร้างผลตอบแทนต่อหุ้น (ROE) ให้กับผู้ถือหุ้นสูงถึง 100% ภายในระยะเวลาปีเดียว ซึ่งเป็นฐานให้กับ ดร.ก้องเกียรติในการนำเงินมาซื้อ บล.ชาวไทย

"ช่วงออกมาตั้งบริษัททุกอย่างไม่จำเป็นต้องมีความมั่นใจ 100% แต่ความมั่นใจระดับหนึ่งเราต้องทำได้" ดร.ก้องเกียรติกล่าว

กล่าวได้ว่าจุดเริ่มต้นของบล.แอสเซท พลัส และการดำเนินธุรกิจของดร. ก้องเกียรติจึงไม่ได้เริ่มต้นจาก "ศูนย์"

ความ ที่เป็นนักอนุรักษนิยมของ ดร.ก้องเกียรติ บล.แอสเซท พลัส จึงมีทิศทางไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำเฉพาะธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญ อีกทั้งไม่ทำอะไร ที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะเขาชอบ ที่จะเป็น niche player ทำในสิ่งที่ถนัด และมีคู่แข่งน้อย สิ่งที่ว่านั้น คือ ธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ (investment bangking : IB) ซึ่งถือเป็นงาน ที่ ดร.ก้องเกียรติถนัด และมีความชำนาญมากที่สุด บรรดาผู้ที่อยู่ในวงการการเงินยอมรับในฝีมือด้านนี้ของเขา "ถ้าเทียบงานด้านวาณิชธนกิจหนึ่งต่อหนึ่งแล้ว ดร.ก้องเกียรติถือว่าเก่งที่สุด และไม่มีใครกินเขาลง ไม่ว่าจะเป็นต่างชาติ ที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยหรือคนไทยด้วยกันเอง" และถือได้ว่า ดร.ก้องเกียรติ เป็นผู้บุกเบิกงานด้านวาณิชธนกิจคนแรกๆ ของเมืองไทย ที่แยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัท ของตนเองหลังจากสร้างฝีมือ และชื่อเสียงมาช่วงหนึ่ง และงานด้านนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนมากก็สามารถทำได้ "เพราะงานวาณิชธนกิจเป็นเรื่องของฝีมือ และความสามารถเฉพาะตัว"

แน่นอนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ดร.ก้องเกียรติ มีพร้อม รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่ดี ความรู้ความสามารถทางการเงิน ทีมงาน ที่แข็งแกร่ง การรักษาความลับของลูกค้าเป็นเครื่องชี้ขาดความสำเร็จของวาณิชธนกิจ

"สิ่งที่เราถนัดคือ การประสานหาผู้ร่วมทุน หาผู้ซื้อขายหรือแนะนำ และจัดการด้านการเงินมากกว่า เราคงไม่เข้าไปร่วมทุนหรือบริหารกิจการนั้น เอง" ดร.ก้องเกียรติบอก

นับจากนั้น เป็นต้นมา เขาคือ นักวาณิชธนกิจ ที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง ที่สามารถสร้าง บล.แอสเซท พลัส และทำกำไรเลี้ยงตัวเองได้ในฐานะ "มืออาชีพ" หลังจากเป็นเพียงแค่ "ลูกจ้าง" คนหนึ่งของ TFB และแบร์ริ่ง รีเสิร์ช เพียงแค่ 8 เดือน ภายหลังจากการเข้าครอบงำกิจการ บล.ชาวไทย เขาสามารถทำให้ บล.แอสเซท พลัส มีกำไรสุทธิในปี 2538 ถึง 37 ล้านบาท

ผลงาน ที่ ดร.ก้องเกียรติสรรค์สร้างขึ้นล้วนแต่มีความโดดเด่น อาทิ เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับ บมจ. เดอะ โคเจนเนอเรชั่น (COCO) หรือ บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคท (SSPORT) ในปลายปี 2538 และ ที่คึกคักมากที่สุด คือ การจำหน่ายหุ้นเพิ่มทุนของบมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) เมื่อกลางปี 2539

สำหรับดีล M&A ถือว่าเป็นหัวใจของงานด้านวาณิชธนกิจของ ดร.ก้องเกียรติ เนื่องจากเป็นธุรกิจ ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษ และผลงานการผนึกกิจการเซ็นทรัล-โรบินสัน ที่มีมูลค่าสูงถึง 2.2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2538 เป็นความสำเร็จอย่างสวยหรู และนับเป็นดีล ที่สร้างรายได้ให้กับเขามากที่สุด

ว่ากันว่าแต่ละครั้ง ที่ ดร.ก้องเกียรติตัดสินใจเข้าไปทำงานให้ลูกค้า จะเน้นเฉพาะดีลขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น ประเภท "เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ" และทำแล้วต้องได้ทั้งเงิน และกล่อง

"เราต้องคืบคลานขึ้นมาจาก ศูนย์ มีแต่ความเชื่อถือ ที่ลูกค้ามีให้ต่อเรา ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมาผมว่าเรามีดีล ดีๆ กว่า 30 ดีล และดีลเล็กๆ เราไม่ทำ เสียเวลา" ดร.ก้องเกียรติกล่าว

สำหรับธุรกิจค้าหลักทรัพย์ ดร.ก้องเกียรติก็เป็นคนแรก ที่ประกาศว่า บริษัทหลักทรัพย์ของเขาจะไม่มี ห้องค้าให้นักลงทุนรายย่อย แนวคิดของเขาคือ ใช้โทรศัพท์อย่างเดียว ด้วยความเชื่อ ที่ว่าลูกค้า ที่มีคุณภาพส่วนใหญ่ จะไม่มานั่งเฝ้ากระดานหุ้น

"พวก ที่มา ผมมองว่ามีเป้าหมาย เพื่อสังสรรค์หรือรวมกลุ่มนั่งจิบกาแฟหรือเทรด เพื่อความสนุกสนาน" ดังนั้น ลูกค้าประเภทนี้จึงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของ บล.แอสเซท พลัส " และลูกค้าประเภทนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังนักวิเคราะห์ ปัจจุบันเราจึงมีแต่ลูกค้าสถาบัน มีการศึกษา และเชื่อนักวิเคราะห์ด้วย"

สำหรับแนวทางการบริหารของบล.แอสเซท พลัส ในอดีตจะเป็นการรวมศูนย์อยู่ ที่ดร.ก้องเกียรติ ซึ่งเป็นสไตล์ถนัดของเขาอยู่แล้ว นั่นคือ การทำงานแบบ one man show

อย่างไรก็ตาม หลังจากบริษัทเริ่มเติบใหญ่ขึ้นมาเขาได้พยายามกระจายอำนาจการบริหารงานให้ออกไปมากขึ้น "เราต้องการสร้างเครือข่ายให้กว้างขึ้น คือ ทำงานแบบตัวคนเดียวอีกต่อไปไม่ได้ จุดหนึ่ง ที่พยายามสร้าง คือ สร้างบุคลากรให้มีคุณภาพมากๆ หลายๆ กลุ่ม หลายๆ ฝ่าย เพื่อภาพพจน์ของบริษัทจะได้ไม่มีเฉพาะตัวผมคนเดียว"

อย่างไรก็ตาม ด้วยบุคลิกส่วนตัวของ ดร.ก้องเกียรติ ที่เป็นคนคล่องแคล่ว และตัดสินใจเร็ว บางครั้งผู้ร่วมงานตามเขาไม่ทัน "เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่นานๆ จะรู้จักนิสัยของผม" ดร.ก้องเกียรติบอก

จากบุคลิกดังกล่าวของเขาบ่งบอกว่า ดร.ก้องเกียรติเป็นคนมั่นใจในตัวเองสูง ประกอบกับความทะเยอทะยานในการเป็น "เถ้าแก่" อันแรงกล้า เขาจึงมุ่งมั่นว่า สักวันหนึ่งจะต้องเป็นนายของตัวเองให้ได้ โดยเนื้อแท้เขามาจากครอบครัวนักธุรกิจ ภาพลักษณ์ ที่ผ่านมาของ ดร.ก้องเกียรติ จึงเข้าขั้น "บ้างาน" ซึ่งคนในวงการการเงินเมืองไทยให้คำจำกัดความในตัวเขาว่า "งาน คือ ชีวิต"

สำหรับ ดร.ก้องเกียรติแล้ว งานจะต้องมาก่อนเรื่องส่วนตัว เขาเป็นคนที่ละเอียดอ่อนต่อเรื่องส่วนตัวหรือครอบครัว ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลย ที่ไม่มีใครรู้ว่า เพื่อนสนิทของเขาคือ ใคร เพราะโดยส่วนตัวแล้วเขาจะไม่ค่อยชอบสังสรรค์

"สิ่งที่ผมสั่งไว้กับเลขาฯ คือ ไม่รับ dinner ใครทั้งนั้น และถ้าไม่จำเป็นจะไม่รับ breakfast ด้วย" ดร.ก้องเกียรติเล่าถึงความเป็นส่วนตัวของเขา

แน่นอน คนบ้างานอย่างดร.ก้องเกียรติ ย่อมต้องเป็นคนที่ "เขี้ยว"ที่สุดสำหรับการทำงาน ดังนั้น คนที่ทำงานร่วมกับเขาจะต้องตามให้ทัน อย่างเช่น เขานำคนจากโบรกเกอร์ต่างประเทศเข้ามาทำงานเยอะมาก เขาย่อมรู้เกมในสิ่งที่เขาทำดีที่สุด และมี connection ครบถ้วน ลักษณะการทำงานคล้ายๆ โกลด์แมน แซคส์

อย่างไรก็ดี ด้วยความเป็นผู้มีชื่อเสียง ประกอบกับเป็นคนเงียบๆ และไม่ใช่ตระกูลคนดัง แต่อาศัยพื้นฐานการศึกษาสูง และประสบความสำเร็จในธุรกิจการเงิน แน่นอน ย่อมมีคนอิจฉาเป็นธรรมดา "ผู้ใหญ่บางคนในวงการเงินชอบเขา บางคนก็ไม่ชอบ" คำบอกเล่าของนักการเงินรายหนึ่ง

ปัจจุบัน เขามีพร้อมทุกสิ่ง และสามารถวางทุกอย่างแล้วออกไปหาความสุขส่วนตัว แต่เขาปฏิเสธ นั่นก็ไม่ทำให้ความสุขส่วนตัวหายไปเพราะถูกทดแทนด้วยการสะสมงานศิลปะของศิลปินดังๆ ในเมืองไทย อาทิ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ถวัลย์ ดัชนี, ประเทือง เอมเจริญ, สวัสดิ์ ตันติสุข หรืออวบ สาณะเสน

การตัดสินใจซื้อภาพศิลปะแต่ละครั้งของ ดร.ก้องเกียรติจะดู ที่อารมณ์ของ ภาพ คือ ภาพจะต้องมีเรื่องราว อารมณ์ ส่วนเรื่องสี ลายเส้น จะเป็นเรื่องรองลงมา "ผมเป็นคนตัดสินใจเร็ว พอใจซื้อก็ซื้อ ไม่พอใจก็จบกัน อย่างงานของถวัลย์ มีความ ดุร้าย น่ากลัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของศิลปิน ที่ทำให้เราตื่นตัวอยู่เสมอ"

ดังนั้น งานศิลปะ ที่ติดอยู่บนผนังสำนักงานของ บล.แอสเซท พลัส เพียงพอ ที่จะบอกบุคลิกของผู้ที่เป็นเจ้าของได้เป็นอย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.