|
ช่อง 5 รื้อสัญญาดาวเทียม
ผู้จัดการรายวัน(19 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ผังใหม่ช่อง 5 คลอด พ.ย. คาดเดอะมีเดียหลุด 3 รายการ เหตุปัญหาหนี้สินกว่า 100 ล้านบาท พร้อมปรับบทบาท RTA เข้ามาช่วยเสริมทัพทำการตลาด เผยเตรียมรวบคลื่น FM 94 กลับมาทำเอง ชี้ต้องเรียก ท็อปเอ็น ปรับสัญญาสัมปทานทีจีเอ็น
พล.ท.เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำผังรายการในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพื่อเสนอให้บอร์ดพิจารณาในปลายเดือนนี้ โดยจะปรับรายการเก่าออกส่วนหนึ่งและเพิ่มรายการใหม่เข้ามา ซึ่งส่วนที่ปรับออก คือรายการที่ไม่สร้างเรตติ้ง มีการลงทุนด้านการผลิตน้อย และไม่ตรงกับนโยบายหลักของสถานี ซึ่งในที่นี้จะมีรายการของบริษัทเดอะมีเดียรวมอยู่ด้วย 3 รายการ แต่เหตุผลอีกส่วนหนึ่งของการที่ปรับรายการของเดอะมีเดียออก คือการค้างชำระค่าเช่าเวลา รวม 18 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีรายการอื่นๆที่เดอะมีเดียค้างค่าเช่าเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ถึงปัจจุบันอีกราว 114 ล้านบาท ซึ่งในเบื้องต้น ททบ.5 จะต้องเรียกเดอะมีเดียเข้ามาเจรจาเพื่อให้ผ่อนชำระ
ผลประกอบการโดยรวมปีนี้คาดว่าต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ 4% หรือหายไปประมาณ 150 ล้านบาท จากที่ประมาณการไว้ 1,200 ล้านบาท แต่หากใน 2 เดือนหลังของปีนี้ มีการจัดผังที่ดี ก็เชื่อว่ารายได้จะกลับคืนมา อย่างไรก็ตามแผนงานของ ททบ.5 ในปี 2548 ยังคงเน้นเดินตามนโยบายหลัก คือ"นำคุณค่าสู่สังคมไทย" แต่จะวางตำแหน่งให้เป็นสถานีโทรทัศน์ของครอบครัว โดยส่วนหนึ่งต้องขอความร่วมมือกับผู้จัดรายการ ให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับสัดส่วนของผังรายการใหม่ รายการข่าวและสาระจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันคือ ข่าวและสาระ 50% รายการบันเทิง 50%
"นโยบายการทำงาน เราไม่มุ่งหวังรายได้เป็นหลัก แต่จะเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อสาธารณประโยชน์ จึงตั้งรายได้ไว้ที่ 1,200 ล้านบาทเท่าเดิม แบ่งเป็นสัดส่วนของต้นทุนการลงทุนที่ 700-800 ล้านบาท เช่นเดิม แต่ทั้งนี้คงมีการปรับขึ้นบ้างเล็กน้อย ไม่ถึงกับกระทบรายได้ของผู้ผลิตรายการ"
พลโทเลิศฤทธิ์ กล่าวชี้แจงถึงผลของมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ว่า ล่าสุด ทาง บริษัท RTA ได้แจ้งหนังสือยินยอมยกเลิกสัญญากับ ททบ.5 รวม 3 ข้อแล้ว คือ1. สัญญาจ้าง ททบ.5 ผลิตข่าว โดยมีผลตอบแทน ปีละ 100 ล้านบาท รวมเวลา 3 ปี เพราะททบ.5 เป็นหน่วยงานรัฐไม่จำเป็นต้องรับจ้างเอกชน 2. ยกเลิกสัมปทาน 30 ปี ที่ RTA ขอเช่าเวลาทั้งหมดเพื่อไปบริหารเอง โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ปีละ 150 ล้านบาท และ 3. หักลบกลบหนี้ระหว่าง RTA กับ ททบ.5 มูลค่าประมาณ 200 ล้านบาท เพราะเป็นการโอนถ่ายตัวเลขเพื่อเหตุผลทางบัญชีก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้น เมื่อ RTA ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป
สิ่งที่ RTA ต้องทำ คือ คืนเงินให้กับผู้ถือหุ้นในส่วนของเอกชนทั้งหมด ซึ่งจะมีผลให้ ททบ.5 เป็นผู้ถือหุ้นใน RTA 100% เต็ม ส่วนบทบาทจากนี้ไปของ RTA จะเป็นบริษัทลูก ทำในเรื่องของการตลาดให้กับ ททบ.5 รวมถึงงานในที่ ททบ.5 ไม่มีความถนัด และไม่คล่องตัว เนื่องจากเป็นองค์กรของรัฐ
โดยททบ.5 มีแผนที่จะทำการตลาดเองในเรื่องของการขายเวลาโฆษณา เพื่อให้ผู้จัดได้มีเวลาให้กับการผลิตเพิ่มมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการหา สปอนเซอร์ ปัจจุบัน สัดส่วนโฆษณาที่เราทำการตลาด เองอยู่ที่ 20% อีก 80% เป็นของผู้จัด นอกจากนั้นในส่วนของธุรกิจคลื่นวิทยุ FM 94 ที่ททบ.5 จะต้องเข้าไปดำเนินการเอง จากปัจจุบันแกรมมี่เป็นผู้รับสัมปทานปีต่อปี ทั้งนี้เพราะเป็นไปตามมาตรา 40 ที่จำกัดให้หน่วยงานราชการต้องบริหารคลื่นวิทยุเอง ดังนั้นในอนาคตจะต้องนำมารวมกับฝ่ายการผลิตและการตลาด เพื่อทำงานไปพร้อมๆกัน
เรียกท็อปเอ็นคุยยกเลิกสัญญา TGN
ในส่วนของธุรกิจโทรทัศน์ดาวเทียม หรือ TGN ก็จะต้องมีการปรับผังรายการเช่นกัน โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงๆ ละ 12 ชั่วโมง เพื่อจัดรายการให้อยู่ในช่วงไพรม์ไทม์ในแต่ละทวีป นอกจากนั้นยังได้เรียก บริษัท ท็อปเอ็น ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานให้บริหารธุรกิจ TGN เป็นระยะเวลารวม 30 ปี ซึ่งถือว่าผิดมาตรา 40 เช่นกัน เพราะกฎในมาตราดังกล่าวให้หน่วยงานราชการ ทำสัญญาสัมปทานได้ไม่เกินครั้งละ 2 ปี เท่านั้น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากบริษัทดังกล่าว ความเป็นไปได้มี 2 ทางคือ ยกเลิกสัมปทานนี้ หรือ ลดอายุสัมปทานลงเหลือ 2 ปี
"จากสัญญาที่ท็อปเอ็นทำไว้โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ และแผนงานศักยภาพของช่อง 5 ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว โดยเรามีรายได้จากผู้สนับสนุน ต่อปีที่ 40 ล้านบาท จากสปอนเซอร์หลัก เช่น การบินไทย กะทิชาวเกาะ เป็นต้น และยังมีโฆษณาที่จะมาจากหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องการโฆษณาผ่านโทรทัศน์ ดาวเทียมของเรา เช่น โครงการของภาครัฐ อาทิ SME โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น เป็นต้น ดังนั้นจึงเชื่อว่า เราเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ได้ และนโยบายบอร์ดก็บอกชัดเจนว่าให้เดินโครงการต่อไปแม้จะขาดทุนก็ตาม"
อีกแผนงานหนึ่งของ TGN คือ จะแพร่ภาพลงเคเบิลท้องถิ่นมากขึ้น โดยจับมือกับพันธมิตรโดย เฉพาะในแถบอาเซียนจะเพิ่มในส่วนของรายการภาคภาษาอังกฤษ จากปัจจุบันเป็นสถานีโทรทัศน์ให้คนไทยในต่างประเทศรับชมเพียงอย่างเดียว ความเป็นไปได้ในเบื้องต้นคือให้ผู้ผลิตทำซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษขึ้นในรายการนั้นๆ เป็นการช่วยลดการทำงานของททบ.5 ด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|