แปรสัญญาสัมปทานใครกันแน่ที่สูญเสียผลประโยชน์

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หากประเทศไทยไม่ได้มีรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวมทั้งที่ปรึกษา ที่มาจากภาคธุรกิจสื่อสารมากเหมือนรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระแสคัดค้านแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน โทรคมนาคม ตามการศึกษาของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญา แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงมีไม่มาก และรุนแรงเท่านี้

โดยเฉพาะในหลักการที่ให้บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทาน หยุดจ่ายส่วนแบ่งให้รัฐ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่าจะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้สูงถึง 3 แสนล้านบาท

ตลอด 1 เดือนเศษที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง ทั้งบนเวทีที่จัดกันทั้งรูปแบบของประชาพิจารณ์ สัมมนา ตลอดจนการเปิดรับฟังความคิดเห็น หรือการพูดให้ความเห็นในวงนอกผ่านสื่อ

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าตามข้อเสนอของสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาที่ระบุว่าให้เอกชนคู่สัญญาไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งให้กับรัฐตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม ตามที่ตกลงไว้กับองค์กรการค้าโลก และเอกชนคู่สัญญาสามารถเช่า หรือซื้อคืนอุปกรณ์ที่ลงทุนไปแล้วจากรัฐคืนได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกต่อต้านกันอย่างหนัก

แต่ภาคเอกชนเอง กลับไม่ยินดีกับแนวทางนี้ เพราะเห็นว่า การเช่าหรือซื้อคืนอุปกรณ์ เป็นการลงทุนซ้ำเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ได้ลงทุนติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายไปแล้วในวงเงินจำนวนมาก

และเอกชนทุกราย ต่างก็มีหนี้สินจำนวนมหาศาล จากการลงทุนไปแล้วในครั้งแรก

กระแสเสียงที่ออกมาจากภาคเอกชนส่วนใหญ่ จึงยินดีที่จะอยู่ในระบบสัมปทานต่อไปจนกว่าจะหมดอายุสัญญา

จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าเพราะหากรัฐบาลยึดตามแนวทางนี้ รัฐ หรือภาคเอกชน ใครจะสูญเสียผลประโยชน์มากกว่ากัน

และใครกันแน่ ที่จะได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากการก่อกระแส ต่อต้านแนวทางการแปรสัญญาสัมปทานครั้งนี้

ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งนั้นว่าอาจจะเป็นกลุ่มองค์กรเอกชน พรรคฝ่ายค้าน ภาคเอกชนคู่สัญญา หรือแม้แต่คนบางคนในรัฐบาลเอง

หากนับจากมติของคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่มีปองพล อดิเรกสาร เป็นประธาน ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ให้เวลากระทรวงคมนาคม 60 วัน เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน ที่จะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี

ข้อสรุปแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน คงจะออกมาให้เห็น ในอีกไม่กี่วันนี้

กระแสเรื่องนี้ ยังคงเป็นสิ่งที่น่าติดตามอย่างต่อเนื่อง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.