วสันต์ จาติกวณิช ภารกิจสร้างโลกดอทคอม


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

สิ่งที่วสันต์ทำอยู่ในเวลานี้ ขัดแย้งกับธุรกิจ ที่ล็อกซเล่ย์ เคยทำมาตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา เขากำลังนำพาองค์กร ที่ได้ชื่อว่า เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ไปสู่โลกใบใหม่ของธุรกิจ ที่มีเส้นทางแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

วสันต์จบการศึกษาด้านเคมีมาจากสหรัฐอเมริกา ทั้งในระดับปริญญาตรี และโท ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายคนในตระกูลล่ำซำ

ก่อนหน้าจะมาทำงานในล็อกซเล่ย์ เขาเคยผ่านงานในหน่วยงานราชการที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติพักใหญ่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับ ที่ผู้ป็นแม่ คือ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช ที่เป็นแม่ทัพใหญ่ ของล็อกซเล่ย์เวลานั้น จะปลดเกษียณได้ไม่นาน

การเข้ามาร่วมงานของวสันต์ เป็นจังหวะเดียวกับ ที่ล็อกซเล่ย์กำลังขยายไปยังธุรกิจสัมปทานสื่อสารโทรคมนาคม เข้าไปมีส่วนร่วมในการประมูลโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการดาวเทียมของกระทรวงคมนาคม แต่สัมปทาน ที่ล็อกซเล่ย์ได้มาเป็นชิ้นเป็นอันจริงๆ ก็คือ สัมปทานโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในภูมิภาค และวิทยุติดตามตัว ฮัทชิสัน วัมเปา ของฮ่องกง

หลังจากก่อร่างสร้างธุรกิจคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเป็นธุรกิจกลุ่มใหม่ วสันต์นำล็อกซเล่ย์ก้าวเข้าสู่โลกของอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ยุคต้นๆ ด้วยการเป็นไอเอสพีรายแรกของตลาด

พื้นฐานส่วนตัวของวสันต์ สนใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับการไม่ได้อยู่ในฐานะของเบอร์ 1 ที่ต้องรับผิดชอบบริหารองค์กรในภาพรวม มีเวลาสำหรับการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ให้กับล็อกซเล่ย์ เป็นสิ่งที่เขาชอบมากกว่าการนั่งบริหารงานประจำ

"พอเรามาเป็นเบอร์ 2 เบอร์ 3 บาง คนถูกกำหนดมาเลยว่าต้องรับผิดชอบ จะไปทำอย่างอื่น ไปเล่นอันนั้น อันนี้ก็ไม่ได้ เพราะถ้าเราต้องไปทำตรงนั้น ด้วยก็คงลำบาก และโชคดี ที่ว่า คุณธงชัยอายุต่างกันไม่มาก ก็เข้าใจดี ไม่มีปัญหา"

การเข้าสู่อินเทอร์เน็ตในช่วง 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วง ที่ตลาดอินเทอร์เน็ตของเมืองไทยยังจำกัดอยู่มาก ล็อกซอินโฟก็เหมือนกับองค์กรอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย ที่ไม่สามารถโฟกัสไป ที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งได้ ต้องเข้าไปทุกพื้นที่ของธุรกิจ ที่พอจะมีโอกาสเป็นทั้งไอเอสพี ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีเว็บท่า (portal web) ทำชอปปิ้งมอลล์ดึงดูดให้มีคนมาใช้อินเทอร์เน็ตมากๆ

แต่ด้วยความ ที่มีรากฐานธุรกิจ ที่มุ่งไป ที่ลูกค้าประเภทองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคาร และหน่วยงานราชการ โมเดลธุรกิจของการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ของล็อกซอินโฟ จึงถูกสร้างมาบนพื้นฐานเดียวกัน นั่นก็คือ การมุ่งไป ที่ลูกค้าองค์กร ไม่ใช่ ตลาดระดับ mass นี่คือ จุดแตกต่าง ที่สำคัญ

ทำนองเดียวกัน ล็อกซอินโฟก็จำเป็นต้องสร้างรูปแบบบริการ ให้อยู่บนมาตรฐานความต้องการของลูกค้า ที่เป็นองค์กรธุรกิจ ที่ต้องการคุณภาพบริการที่ดี ไม่ได้เน้นราคา หรือ มุ่งเน้นลูกเล่นการตลาดที่หวือหวา เหมือนกับการวางเป้าหมายในระดับ mass

การสร้างโมเดลธุรกิจเหล่านี้เอง ที่เป็นการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับตัวล็อกซอินโฟ ทั้งในด้านของความเป็นไปได้ในเรื่องของรายได้ และผลกำไร ที่ถึงแม้ว่าจำนวนผู้ใช้จะมาเป็นอันดับ 2 แต่เมื่อเทียบกันด้วยรายได้ต่อผู้ใช้ 1 ราย กลับมากกว่าถึง 3 เท่าตัว

ยิ่งไปกว่านั้น การวาง business model ในลักษณะเช่นนี้ ย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจของการก้าวไปสู่การทำธุรกิจในรูปแบบของ business to business หรือ บีทูบี ที่จะเป็นตัวจริงเสียงจริงของธุรกิจอินเทอร์เน็ตในไทย เปิดเว็บขายของในลักษณะเหมือนอย่าง amazon.com หรือ yahoo.com ที่ต้องอาศัยฐานลูกค้าระดับ ที่ใหญ่มาก ซึ่งเป็นเรื่อง ที่เมืองไทยยังห่างไกลอีกมาก ลึกลงไปกว่านั้น ล็อกซอินโฟ มีล็อกซเล่ย์ ที่เป็นเทรดดิ้งคอมปานี มีธุรกิจลอจิสติก มีเครือข่าย และธุรกิจจัดส่งสินค้า มีธุรกิจคอมพิวเตอร์ ที่เป็นผู้วางระบบคอมพิวเตอร์ มีระบบชำระเงิน (payment gateway) มีธุรกิจ call center ของล็อกซดาต้า มีโครงข่าย virtual private network โครงข่ายความเร็วสูง ที่ใช้ระหว่างองค์กร ทั้งหมดนี้คือ fulfillment ที่จะใช้ต่อจิ๊กซอว์ b to b

ถึงแม้ว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่ได้เกิดจากวางแผนระยะยาว แต่เป็นเรื่องของการมองหาแสวงหาโอกาสในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งไม่ว่าใครก็ไม่มีสูตรสำเร็จ แต่นี่คือ มูลค่า ที่แท้จริงของล็อกซอินโฟ และเป็นสิ่งที่ทำให้ล็อกซอินโฟ ต่างไปจากอินเทอร์เน็ตอื่นๆ

บทพิสูจน์แรกของล็อกซอินโฟ คือ การได้ Zesiger Capital Group เป็นกองทุน การเงินจากนิวยอร์กเข้ามาลงทุนในล็อกซอินโฟ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว

การได้ Zesiger Capital Group ในครั้งนั้น นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของล็อกซอินโฟ นอกจากจะได้เงิน 4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 160 ล้านบาทมาลงทุนในธุรกิจแล้ว ยังได้ David C. Halpert ผู้จัดการกองทุน ที่ลาออกจาก Zesiger มานั่งทำงาน ในล็อกซอินโฟ ในตำแหน่ง vice chairman

การได้เดวิดมาร่วมงาน นับเป็นจุดเปลี่ยน ที่สำคัญของล็อกซอินโฟ ความรู้ และประสบการณ์มากกว่า 10 ปีที่อยู่ในตลาดทุน และธุรกิจอินเทอร์เน็ต ที่นิวยอร์ก และในเอเชีย ของอดีตผู้จัดการกองทุนจากนิวยอร์กของเดวิด เป็นประโยชน์มากๆ สำหรับล็อกซอินโฟ ซึ่งทำให้ล็อกซอินโฟได้ก้าวเข้าไปในโลกอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่ธุรกิจไอเอสพี หรือทำเว็บไซต์อีกต่อไป

วสันต์เรียกหน้าที่ของการเป็นผู้รับผิดชอบวางยุทธศาสตร์ของเดวิดว่า เป็นผู้ที่สร้าง "กล่อง" ให้กับล็อกซอินโฟ

กล่อง ที่ว่านี้ก็คือ การทำให้ล็อกซ- อินโฟ กลายเป็นผู้เล่นในตลาดอินเทอร์เน็ต ระดับภูมิภาค เข้าไปสู่มาตรฐานในระดับอินเตอร์เป็นที่ยอมรับจากนักลงทุน ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ที่ได้มาจากการมี strategic investor

การได้ strategic investor เป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับองค์กรอินเทอร์เน็ต เพราะมันหมายถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม และโอกาสของความสำเร็จของธุรกิจ หน้าที่ของ เดวิด ก็คือ ทำให้ล็อกซอินโฟมีสิ่งเหล่านี้

ในขณะที่เดวิดมาสร้างกล่องใส่เนื้อ วิวัฒน์วงศ์ วิจิตรวาทการ ผู้บริหาร ที่ร่วมบุกเบิกล็อกซอินโฟ จะมีหน้าที่ในการสร้างเนื้อมาใส่กล่อง

"หน้าที่ของเดวิด คือ สร้างกล่องให้ใหญ่ที่สุด ขณะเดียวกันเนื้อก็ต้องตามมาด้วย ส่วนผมจะทำให้เนื้อ และกล่องไปในทิศทางเดียวกัน"

จากจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ที่ไม่มีทิศทาง ที่แน่ชัด อาศัยสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นตัวตัดสินใจ ก็เริ่มเด่นชัด ในคราวจัดทัพธุรกิจใหม่ของล็อกซอินโฟ

บริษัทพอยต์เอเซียดอทคอม ถูกตั้งขึ้น เพื่อเป็นเรือธงลำใหม่ ที่จะทำหน้าที่เป็นแม่ ทำธุรกิจครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน คือ ธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ connec-tivity ส่วน ที่เป็น communities ที่จะมี website รูปแบบต่างๆ มาเป็นตัวสร้างสีสัน สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จัก และ commerce ไว้สำหรับเป็นบริการในรูปแบบของบีทูบี

และมีธุรกิจคอมพิวเตอร์ อย่างล็อกซบิท ที่ทำธุรกิจวางระบบ และมีระบบเปย์เมนต์เกตเวย์ มีธุรกิจ call center และ ลอจิสติก มาเป็นทัพหลัง

ในวันที่ พอยต์เอเซียดอทคอม เปิด ตัวอย่างเป็นทางการ เป็นวันเดียวกับ ที่ซิตี้คอร์ปเข้ามาถือหุ้น นอกเหนือจากเม็ดเงินก้อน ที่ 2 หลังจาก ที่ได้กองทุนจากนิวยอร์ก ไปเมื่อปลายปี สิ่งที่ได้ก็คือ know how ใน เรื่องอี-คอมเมิร์ซ ของซิตี้คอร์ป

ยุทธการสร้าง "กล่อง" ที่วสันต์มอบหมายให้เดวิดเป็นผู้ดูแล และกำหนดยุทธศาสตร์ ส่วนตัวเขาทำหน้าที่ประสาน นั้น ดูจะได้ผลเอามากๆ เพราะถัดจากนั้น ไม่ถึง 2 สับดาห์ พอยต์เอเซียได้สิงค์เทลเข้ามาถือหุ้น ที่นับว่าเป็นการระดมเงินทุนก้อนใหญ่ ที่ทำให้พอยต์เอเซียได้เงินทุนมาถึง 23 ล้าน เหรียญสหรัฐ แลกกับหุ้น 31% และการได้สิงค์เทล ที่มีทั้งโนว์ฮาว และเครือข่ายธุรกิจลงทุนในหลายประเทศอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะทำให้ภาพลักษณ์ของพอยต์เอเซียแข็งแกร่งขึ้นเป็นลำดับ

ผลในระยะสั้น ที่เกิดจากการที่สิงค์เทลเข้ามาในเวลานี้ ก็คือ โครงการ fnweb. com เป็นเว็บไซต์สำหรับนักลงทุน ซึ่งสิงค์เทลเองก็มี knowhow ทางด้านนี้อยู่แล้วในสิงคโปร์ และมีแนวโน้มว่าจะมาถือหุ้นในธุรกิจส่วนนี้ด้วย

หลังจากได้เงินทุนก้อนใหญ่ ที่มาจากการสร้าง "กล่อง" แล้ว สิ่งที่วสันต์ต้องทำก็คือ การสร้าง "เนื้อ" ของธุรกิจ และนี่ก็คือ ที่มาของ wopwab.com เว็บไซต์ไอคูล และการเริ่มเข้าสู่บีทูบี ด้วยบริการที่เริ่มต้นกับกลุ่มลูกค้า ที่เป็นธุรกิจน้ำมัน และเคมี

แน่นอนว่า ยังรวมไปถึงบริการใหม่ๆ ที่จะมาเสริมในส่วนของธุรกิจไอเอสพี เช่น บริการ mail server ที่จะใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านบาท

"ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตการหยุดหมายถึง ตาย" วสันต์หยิบยกเอาคำพูดของลาร์ลี่ แอลลิสัน แห่งออราเคิลมาใช้

การจัดทัพใหม่จึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง และหนนี้ เป็นเรื่องของการสร้างในส่วนของ fulfillment ที่จะเชื่อมต่อกับธุรกิจในส่วนแรกของพอยต์เอเซีย และเป็นการสร้างความครบถ้วนให้กับธุรกิจด้านบีทูบี ที่เป็นเรื่องของ call center ระบบเปย์เมนต์เกตเวย์ ระบบลอจิสติก ซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็น หัวใจของการทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในระยะยาวแล้วจะมีความสำคัญมากยิ่งกว่าธุรกิจแรกด้วย

บริการในส่วนนี้จะเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว ที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ที่จะต้องมีการสร้าง "กล่อง" เพื่อเปิดให้มีผู้ลงทุนเข้ามา แต่จะเป็นการลงทุนในระยะยาว อย่างต่ำ 5 ปี ดังนั้น กลุ่มผู้ลงทุนจะแตกต่างไปจากพอยต์เอเซีย ที่จะมีระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่า

ถึงแม้หนทางข้างหน้าจะดูสดใสมากๆ แต่สำหรับวสันต์เป็นช่วงเวลา ที่เขากลับรู้สึกว่า ยากเสียยิ่งกว่าสมัย ที่ต้องพาธุรกิจให้รอดจากวิกฤติเศรษฐกิจด้วยซ้ำ กับการที่เขาจะต้องทำให้ความคาดหวังของผู้ลงทุนเป็นจริง

"เวลานั้น เหมือนกับคนจะจมน้ำ ทุกคนพยายามว่ายน้ำ ถ้าใครหมดแรงก่อน จมไปก็ช่วยไม่ได้ จะถึงหรือไม่ก็ต้องเอาตัวรอด แต่คนนั่งอยู่ในเรือสบายๆ แล้วเรือวิ่งไปชนหินโสโครกนี่สิ มันเป็นอะไร ที่น่าเสียดาย"

คำตอบของวสันต์ สำหรับโจทย์ข้อนี้ ไม่ใช่สูตรสำเร็จของการลงทุน หรือตัวเลขทางบัญชี แต่เขาเชื่อใน "สไตล์ของการบริหาร" วสันต์ไม่เชื่อในทฤษฎีของการที่เจ้าของต้องบริหารเอง แต่เชื่อในการเป็น leader เป็นกองเชียร์ ที่ควรจะแยกออกจากการเป็นผู้บริหารงานประจำวัน

"ถ้าจะให้ผมมานั่งบริหารงานทุกวัน ก็คง fail องค์กรก็คงแย่ ของแบบนี้บางที จะให้คนเป็น leader ไปบริหารคงไม่ได้ และคนที่เป็น leader เมื่อออกไอเดียแล้ว ก็ต้องปล่อยให้เขาทำ ถ้าเป็นสมัยก่อนอาจจะได้ แต่ใน new economy ไม่ได้"

และแนวคิดเหล่านี้ ก็คงไม่ต่างไปจากการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ขึ้นภายในที่ทำงานในการก้าวเข้าสู่โลกธุรกิจใบใหม่ ที่ต้องการไอเดียมากกว่าความเป็นระเบียบเรียบร้อยขององค์กร เขาเชื่อว่า การให้พนักงานหันไปใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ แทนการใส่สูทผูกเนกไท จะเป็นการสร้างความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ภายหลังจากกำแพงวัฒนธรรมดั้งเดิมเหล่านี้ถูกทลายลง

สำหรับวสันต์แล้ว การเดินมาถึงจุดนี้ ยังเป็นแค่การเริ่มต้น เพราะคำว่าพอใจ ย่อมหมายถึง การตาย และในโลกธุรกิจอินเทอร์เน็ตตายเร็วกว่าธุรกิจอื่น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.