วิโรจน์สวนหมัดธปท.เคลียร์ทุกข้อหา-คลังยื่นตีความอำนาจ"อุ๋ย"


ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"วิโรจน์ นวลแข" ชี้แจงทุกข้อกล่าวหาแบงก์ชาติ ยันไม่เคยทำงานหละหลวม อนุมัติสินเชื่อทุกครั้งผ่านบอร์ดสินเชื่อและต้องเป็นเอกฉันท์ เผยสินเชื่อ 4.6 หมื่นล้าน ยังไม่ใช่หนี้เสีย ชี้แบงก์ชาติอ้างตัวเลขเกินจริง ระบุกว่าครึ่งปล่อยกู้ตั้งแต่ปี 2530-2541 มั่นใจครึ่งปีหลังกรุงไทยจะทำกำไรอีก 9 พันล้าน ลั่นที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหากับหม่อมอุ๋ย แต่อนาคต อาจมี ขอเวลา 2-3 สัปดาห์ตัดสินใจเรื่องฟ้องร้อง ขณะที่คลังยื่นกฤษฎีกาวินิจฉัยอำนาจแบงก์ชาติ ในการออกประกาศเพิ่มเติมตามมาตรา 22 (8)

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ได้มีคำสั่งห้ามมิให้ คณะกรรมการธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) แต่งตั้ง นายวิโรจน์ นวลแข เป็นกรรมการผู้จัดการนั้น วานนี้ (12 ต.ค.) เวลา 13.00 น. ที่รร.อินเตอร์ คอนติเนน-ตัล นายวิโรจน์ได้เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการครั้งแรก นาย วิโรจน์เปิดเผยว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ว่าจะฟ้องร้องธปท.หรือไม่ เพราะ จะต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อกฎหมายให้รอบคอบ และต้องรอหนังสือจากธปท.ซึ่งยังไม่ได้ชี้แจงเลย คาดว่าจะใช้เวลาศึกษารายละเอียด 2-3 สัปดาห์

"ผมจะไม่สู้อะไรที่เสียเปรียบ เพราะถ้ารู้ว่าเสีย เปรียบแล้วก็ไม่ควรที่จะสู้ ซึ่งต้องศึกษาเองให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน แล้วค่อยปรึกษาคนที่รู้เรื่องกฎหมาย จึงต้องขอเวลา และตอนนี้ต้องรอเหตุการณ์ ให้นิ่ง เพราะถ้าทำอะไรไปก็จะไม่เกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันอายุความของคดีนานถึง 10 ปี ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรีบร้อน"

นายวิโรจน์เปิดเผยด้วยว่า มีการต่อรองจากผู้ว่าฯธปท.ก่อนจะถูกห้ามแต่งตั้ง โดยผู้ว่าฯธปท.เสนอทางเลือกคือ จะให้บอร์ดธนาคารประกาศรับตน เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ให้ตนประกาศลาออกจากตำแหน่งทันที ซึ่งตนเห็นว่าไม่เป็นผลดี และได้ขอต่อรองโดยขอเวลาประมาณ 6 เดือนเพื่อสานงานการวางระบบต่อให้เสร็จรวมถึงเข้ามาแก้ปัญหาหนี้ 4.6 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจะลาออก แต่ผู้ว่าฯธปท. ก็ไม่ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการรับความจริง จึงไม่ยอมถอนตัว

"สมัยที่เล่นรักบี้อาจารย์สอนว่า แม้จะไม่พอ ใจ กรรมการก็อย่าวอล์กเอาต์ (เดินออก) จากสนามเพราะจะอยู่นอกเกมทันที กรณีนี้ยืนยันว่าผมไม่ได้วอล์กเอาต์ออกจากเกมแต่ถือเป็นการพักยก"

สำหรับประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า มีปัญหาความ ขัดแย้งเรื่องส่วนตัวกับผู้ว่าฯธปท.หรือไม่นั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า "ที่ผ่านมาผมไม่มีปัญหากับม.ร.ว. ปรีดิยาธรแต่อย่างใด แต่ในอนาคตอาจจะมีปัญหากันก็ได้"

ส่วนบอร์ดหรือผู้บริหารคนอื่นจะต้องร่วมรับผิดชอบหรือไม่นั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า "ปัจจุบันต้อง ถือว่าผมได้รับผิดชอบไปแล้ว 1 คน จากการถูกตัดสินว่ามีความหละหลวมในการปล่อยสินเชื่อ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ติดกับผม ได้แก่ รองกรรมการผู้จัดการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการก็ต้องผิดด้วย ไม่อย่างนั้นผมก็จะไม่ผิด ซึ่งไม่รู้ว่ามีใครบ้าง ก็ต้องรับกันเอาเองหรือหลบให้ดี" ระบุหนี้ 4.6 หมื่นล้าน เกินจริง

นายวิโรจน์ยืนยันว่า การบริหารงานในธนาคาร กรุงไทยตลอด 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีความหละหลวม การกล่าวหาในประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ดีอาจส่งผลรุนแรงจนทำให้ธนาคารล้มได้ โดยที่ผ่านมามีข้อเท็จจริงหลายประเด็น ที่คลาดเคลื่อนกับความเข้าใจโดยทั่วไป โดยเฉพาะสินเชื่อ 4.6 หมื่นล้านบาทที่กล่าวถึงทุกครั้งในเรื่องนี้ ไม่ใช่สินเชื่อที่ผู้บริหารและคณะกรรมการสินเชื่อชุดปัจจุบันเป็นผู้พิจารณาทั้งหมด สินเชื่อมากกว่าครึ่งหรือ 2.5 หมื่นล้านบาท เป็นสินเชื่อตั้งแต่ปี 2530-2541 ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีอายุกว่า 5-10 ปี แต่ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ผ่านคณะกรรมการปรับ ปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) ธปท. และศาลล้มละลาย

นอกจากนี้ ในเรื่องสินเชื่อปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าวนั้นกำลังมีการพิจารณาใหม่เพื่อการจัดชั้นและดำเนินการแก้ไขใหม่ทั้งระบบ รวมถึงธนาคารพาณิชย์แห่งอื่น ตัวอย่างเช่น ธนาคารกสิกรไทยก็มีการประเมินภายในว่าจะมีการจัดชั้นสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มขึ้นไม่เกินประมาณ 14,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 3 ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนนิยามใหม่ ดังนั้น การใช้ตัวเลขถึง 4.6 หมื่นล้าน ความรับผิดชอบของผู้บริหารและคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อชุดปัจจุบันของธนาคารกรุงไทยจึงเป็นตัวเลขเกินจริง

โดยสินเชื่อรายใหม่ทั้ง 12 รายการตามที่ธปท. ตรวจสอบนั้น มีการหยุดจ่ายตามสัญญาแค่เพียงไม่ถึงร้อยละ 1 หรือประมาณ 61 ล้านบาท สินเชื่อที่กล่าวถึงในกรณีหละหลวมตามดุลพินิจของ ธปท. เป็นสินเชื่อ 2 รายที่ธนาคารกรุงไทยในชุดการบริหาร ปัจจุบัน รวมถึงคณะกรรมการผู้พิจารณาสินเชื่อเป็น ผู้พิจารณาขยายสินเชื่อ ประเด็นก็คือ ถ้าเปรียบเทียบ จำนวน 2 รายต่อจำนวนรายการสินเชื่อใหม่ทั้งหมด 330,000 รายในช่วง 3 ปี หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นแค่ร้อยละ 2.9 ของสินเชื่อใหม่ และร้อยละ 1.9 ของสินเชื่อรวมเท่านั้น

"สินเชื่อทั้งสองรายมีหลักทรัพย์ค้ำประกันพอเพียงที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ดังนั้น หากการสูญเสียจะเกิดขึ้นก็จะมีอัตราสูญเสียน้อยกว่าที่รายงาน เพราะธนาคารมีหลักประกันอยู่ และจะเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าตัวเลขก่อนหน้านี้เมื่อเทียบสินเชื่อรวม" นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ในการทำธุรกิจธนาคารนั้นจะต้องมีการคำนวณและการคาดการณ์หนี้เสีย รวมถึงการคาดการณ์อัตราสูญเสียของหนี้เสีย เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของธนาคารทั่วไป ถ้าอัตราการสูญเสีย จริงไม่มากกว่าตัวเลขคาดการณ์ เช่นร้อยละ 2 จะถือ ได้ว่าระบบสินเชื่อของธนาคารก็ยังมีประสิทธิภาพและรัดกุมอยู่ แต่หากตัวเลขเริ่มมากขึ้นก็ต้องมีการปรับปรุงระบบใหม่ให้ดีขึ้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่ธนาคารมีระบบภายในจัดการอย่างต่อเนื่อง ตามปกติถ้า ธปท. มีข้อท้วงติง ธนาคารก็จะดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพราะไม่มีระบบใดสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่ติ ครึ่งปีหลัง KTB กำไร 9 พันล้าน

ด้านผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยนั้น นายวิโรจน์กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยยังมีศักยภาพใน การเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีหลังนี้คาด ว่าจะทำกำไรได้ถึง 9,000 ล้านบาท จากปกติที่ธนาคารจะทำกำไรเดือนละประมาณ 1,300 ล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 3 นี้จะมีกำไรประมาณ 4,000 ล้านบาท

"ผมออกมาแถลงข่าววันนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ กับธนาคาร โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีอยู่จำนวน มาก และจากราคาหุ้นของธนาคารที่ปรับตัวลดลงทำให้มาร์เกตแชร์ของธนาคารหายไป 300,000 ล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นของ KTB ในความเป็นจริงแล้ว ควรจะมีราคาสูงกว่ามูลค่าตามบัญชี (บุ๊กแวลู) 1.5-2.5 เท่า ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาตามบุ๊กแวลูอยู่ที่ 6 บาทกว่า ซึ่งถือว่าต่ำเกินไป"

ลูกหนี้โต้ธปท.-กระแสเงินสดเพียงพอ

นางปรียานุช สิทธิไชย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด หนึ่งในลูกหนี้ที่ตกเป็นข่าวกับธนาคารกรุงไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า บริษัทได้รับอนุมัติเงินกู้ระยะยาวเพื่อชำระหนี้และลงทุนจำนวนรวมกันประมาณ 8,000 ล้านบาท เริ่มเบิกใช้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ในช่วงเวลา 7 เดือน จากการเบิกใช้เงินครั้งแรกถึงปัจจุบัน บริษัทได้ชำระหนี้คืนจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เกินกว่า ที่ธนาคารกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 730 ล้านบาท และจะสามารถชำระคืนเพิ่มให้แก่ธนาคารได้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้จากการชำระหนี้ของ ขสมก.

ทั้งนี้ บริษัทจะมีกระแสเงินสดจากการดำเนินธุรกิจปัจจุบันเพียงพอกับการชำระหนี้ตามเงื่อนไข และยังมีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกันที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจคุ้มกับภาระหนี้ที่เหลือทั้งหมด จึงไม่ควรอยู่ในข่ายหนี้สินที่มีปัญหาของธนาคาร ยื่นกฤษฎีกาชี้ขาดอำนาจอุ๋ย

นายสมใจนึก เองตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อสิ้นเดือน ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ส่งประกาศของธปท. ตามมาตรา 22 (8) ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า ธปท.มีอำนาจในการออกประกาศดังกล่าวหรือไม่

แหล่งข่าวธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า การฟ้อง ร้องธปท.ของนายวิโรจน์ นอกจากรอหนังสือจากธปท. แล้ว ยังรอผลวินิจฉัยของกฤษฎีกาที่กระทรวงการคลังส่งไปให้พิจารณา หากผลวินิจฉัยระบุว่าธปท. ไม่มีอำนาจ นายวิโรจน์สามารถนำไปเป็นข้ออ้างอิงประกอบคำฟ้องร้อง แต่หากผลวินิจฉัยออกมาว่าธปท.มีอำนาจนายวิโรจน์ก็ต้องศึกษาช่องทางอื่นต่อไป

ทั้งนี้ ธปท. โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้สั่งการห้าม มิให้บอร์ดธนาคารกรุงไทยแต่งตั้งนายวิโรจน์เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย โดยใช้ประกาศตามมาตรา 22 (8) พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงินสดสำรองและการปล่อยสินเชื่อ โดยข้อ 8 ระบุว่ามีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลย การทำหน้าที่ตามสมควรในการกลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขาดจรรยาบรรณ เปิดรับสมัครเอ็มดีใหม่แล้ว

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ประธานคณะกรรมการ สรรหากรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เริ่มดำเนินการสรรหา เพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย คนใหม่ ตั้งแต่ 13 - 22 ต.ค.

"คณะกรรมการสรรหาฯ จะเร่งหาผู้มีความเหมาะสมให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณเดือนเศษหลังจากวันที่ประกาศรับสมัคร"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.