|
เจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นTPI
ผู้จัดการรายวัน(13 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เจ้าหนี้โหวตสนับสนุนการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอท่วมท้นด้วยคะแนน 99.57% คิดเป็นมูลหนี้รวม 6.51 หมื่นล้านบาท ขณะที่ "US EXIM-IFC" เจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่งดออกเสียง โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เตรียมนำผลโหวตเสนอศาลฯเห็นชอบแผนฯ 1 พ.ย.นี้ "ประชัย" ยืนกรานเรียกร้องความยุติธรรมตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยจะยื่นคัดค้านการแก้ไขแผนฯต่อศาล ขณะที่ ราคาหุ้น TPI รูดหนัก 80 สตางค์ หรือลดลง 9.09% รับข่าวเจ้าหนี้โหวตรับแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ
วานนี้ (12 ต.ค.) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) นัดประชุมเจ้าหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) เพื่อพิจารณา ข้อเสนอของผู้บริหารแผนฯที่ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยมีเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุมจำนวน 63 ราย แต่มีเจ้าหนี้ที่มีสิทธิออกเสียง 57 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมทั้งสิ้น 86,434.70 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหนี้กลุ่มที่ 1,2,3,6 โหวตลงมติพิเศษยอมรับข้อเสนอการแก้ไขแผนฯ และเมื่อนับจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่ยอมรับข้อเสนอการแก้ไขแผนฯของเจ้าหนี้ทุกกลุ่มแล้วมีจำนวนหนี้รวม 65,150.37 ล้านบาท คิดเป็น 99.57% ของมูลหนี้
โดยมีเจ้าหนี้ต่างชาติรายใหญ่บางรายอย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งสหรัฐฯ (US EXIM) และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ที่งดออกเสียงตามเคย คิดเป็นมูลหนี้ 21,097 ล้านบาท และบมจ.ทีพีไอโพลีน ที่ออกเสียงไม่เห็นชอบการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ คิดเป็นมูลหนี้ 281 ล้านบาท
จากคะแนนเสียงสนับสนุนของเจ้าหนี้ 99.57% ของมูลหนี้ ถือว่ามีจำนวนหนี้เกินร้อยละ 50 แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทน ถือว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติยอมรับข้อเสนอการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯของผู้บริหารฉบับลงวันที่ 6 ก.ย. 2547
ทั้งนี้ ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (จพท.) จะส่งผลประชุมโหวตต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อพิจารณาอนุมัติการแก้ไขแผนฯในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการฉบับแก้ไข ได้ยืดระยะเวลาดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดระยะเวลาบริหารแผนในวันที่ 31 ธ.ค. 2547 เป็นวันที่ 31 ธ.ค. 2548 รวมทั้งจพท.จะนัดประชุมเจ้าหนี้ของบริษัทในเครือทีพีไอ 6 บริษัทที่มีตัวแทนกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฯในวันที่ 26 ต.ค.นี้ และกำหนดวันประชุมเจ้าหนี้ทั้งหมดของบริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ เนื่องจากแผนฟื้นฟูดังกล่าวจะสิ้นสุดระยะเวลาการบริหารแผนใน 31 ธ.ค.2547
ก่อนการประชุมโหวตแผนฟื้นฟูฯฉบับแก้ไข 3 วัน มีการยื่นหนังสือขอแก้ไขแผนฯมายังจพท. จำนวน 4 ราย คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท และนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารลูกหนี้ ซึ่งจพท.ได้สอบถามผู้บริหารแผนฯในที่ประชุมเจ้าหนี้ว่าจะยินยอมให้มีการแก้ไขข้อเสนอขอแก้ไขแผนฯตามที่เจ้าหนี้และลูกหนี้เสนอหรือไม่ แต่ผู้บริหารแผนได้แถลงไม่ยินยอม ทำให้ไม่สามารถแก้ไขแผนตามคำร้องได้
นายอังเดร คลอกเก้ หัวหน้าสาขาธนาคาร KFW ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า KFW โหวตสนับสนุนการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอตามที่ตัวแทนกระทรวงการคลังเสนอ และหวังว่าศาลล้มละลายกลางจะผ่านการพิจารณาแผนฟื้นฟูฯโดยเร็วที่สุด หลังจากนั้น ผู้บริหารแผนฯจะมีเวลาเพิ่มทุนทีพีไอเพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจ 1 ปี ซึ่งถือเป็นงานหนักของผู้บริหารแผนฯ
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่า เจ้าหนี้คงเห็นชอบกับพันธมิตรรายใหม่ที่คลังเสนอมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอ แต่หากให้นายประชัย เข้าซื้อหุ้นด้วย เชื่อว่าเจ้าหนี้คงไม่ยอม และเรียกร้อง ให้เคลียร์หนี้ที่คั่งค้างอยู่ เพราะไม่สามารถทำงานร่วมกับนายประชัยได้ตลอดอายุของสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ 10-12 ปีได้
ด้านนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตนยืนยันที่จะคัดค้านการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯทีพีไอตามขั้นตอนทางกฎหมาย เนื่องจากแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวขัดกับกฎหมาย เพราะทีพีไอไม่ใช่บริษัทล้มละลาย การจะลดทุนและนำหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทออกจำหน่ายในราคาถูกเพียง 2.20 บาท/หุ้น ทั้งที่ราคาหุ้นแท้จริง อยู่ที่ 20 บาท/หุ้นนั้น ถือเป็นการกระทำที่ลิดรอน สิทธิผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ และขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่กำหนดว่าเมื่อฟื้นฟูเสร็จจะต้องคืนกิจการให้แก่ลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าศาลจะไม่เห็นชอบการแก้ไขแผนฯครั้งนี้ ศาลรธน.นัดอภิปรายอีกรอบ 19 ต.ค.
ส่วนการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวานนี้ (12 ต.ค) ยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับกรณีกระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงกำหนดนัดอภิปรายอีกครั้งในวันที่ 19 ต.ค. นี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญจะไม่เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว เพราะที่ผ่านมาได้รับทราบข้อมูลเอกสาร ต่างๆ จากผู้บริหารแผนฯ และผู้บริหารลูกหนี้ ที่ได้มาชี้แจงต่อศาลฯ
อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์หน้า หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสามารถหาข้อยุติได้ทุกประเด็นที่มีการยื่นคำร้องมา ก็จะมีการนัดวันเพื่อแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนด้วยวาจา และลงมติเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งการลงมติจะยึดเสียงส่วนใหญ่
ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการฯโดยมีบริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด (อีพีแอล) เป็นผู้บริหารแผนฯเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 43 ช่วงนั้นราคาหุ้น TPI อยู่ที่ 3.70 บาท ภายหลังจากอีพีแอลเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯได้มีการใช้เงินอย่างผิดประเภท และไม่สามารถดำเนินการแก้ปัญหาหนี้สินจำนวนมากได้ ทำ ให้มีกระแสต่อต้านจากพนักงานทีพีไอ และราคาหุ้น TPI ก็ปรับลดลงอย่างหนักต่ำสุดที่ 1.70 บาท/หุ้นใน ปี 44 สุดท้ายศาลมีคำสั่งในวันที่ 21 เม.ย.2546 ให้อีพีแอลพ้นจากการเป็นผู้บริหารแผนฯ โดยแต่งตั้งให้ผู้บริหารลูกหนี้ร่วมกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราว ราคาหุ้น TPI 3.40 บาท
แม้ว่านายประชัยจะกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฯชั่วคราว แต่เส้นทางไม่ราบรื่น ทางเจ้าหนี้ได้กดดันโดยยกเลิกสินเชื่อหมุนเวียนที่เคยให้ เพื่อปิดทางลูกหนี้ดำเนินธุรกิจ ซึ่งทีพีไอก็แก้เกมโดยการงดจ่ายคืนดอกเบี้ยทันที โดยนำเงินทั้งหมดไปใช้ในการผลิตสินค้าเต็มที่ จากความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ร่วมใจตั้งผู้บริหารแผนคนใหม่ คือ บริษัท บริหารแผนไทย พร้อมทั้งโหวตเลือกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ขณะที่ลูกหนี้เรียกร้องให้รัฐเข้ามาดูแลทีพีไอ
จากความขัดแย้งระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ทาง ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งไม่แต่งตั้งบริษัท บริหารแผนไทย เป็นผู้บริหารแผนฯ และสั่งให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนฯคนใหม่แทนเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2546 ส่งผลให้ราคาหุ้น TPI ดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 10.30 บาท โดยคลังมอบหมายให้พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานคณะผู้บริหารแผนฯ หลังจากนั้นตัวแทนกระทรวงการคลังได้แต่งตั้งที่ปรึกษาเพื่อทำดีวดิลิเจนท์ทั้งด้านการเงินและโรงงาน เพื่อวางแผนการดำเนินธุรกิจต่อไป ซึ่งช่วงนั้นเองได้เริ่มมีความขัดแย้งระหว่าง ผู้บริหารแผนคนใหม่กับนายประชัย
จนกระทั่งผู้บริหารแผนฯตัดสินใจแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ โดยจะมีการลด-เพิ่มทุนจดทะเบียน โดยให้สิทธิ์เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนจากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 75% เป็น 90% ทำให้นายประชัยออกมาคัดค้านเต็มที่ สุดท้ายคลังตัดสินใจที่จะเข้ามาดูแลหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอ โดยดึงหุ้นทีพีไอที่เจ้าหนี้ถือครองจากการแปลงหนี้เป็นทุนอยู่ 75% มารวมด้วย โดยจะจัดสรรหุ้นให้กับพันธมิตรร่วมทุนใหม่ โดยจะดึงปตท.เข้ามาถือหุ้น 30% รวมทั้งนำหุ้นทีพีไอโพลีนที่ทีพีไอถืออยู่ 49% มาจัดสรรด้วย โดยจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นทีพีไอโพลีนจำนวน 900 ล้านเหรียญสหรัฐมาชำระคืนหนี้
ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น TPI วานนี้ (12 ต.ค.) ในช่วงเช้าหลังเปิดตลาดที่ 8.85 บาท ได้มีแรงซื้อ ไล่ราคาหุ้นเข้ามาอย่างหนาแน่น เนื่องจากรอลุ้นการประชุมของเจ้าหนี้ทีพีไอเพื่อโหวตลงมติแผนฟื้นฟูกิจการฯ จนดันราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 9.05 บาท หลังจากนั้นได้มีแรงขายทำกำไรออกมาอย่างต่อเนื่อง ทันที หลังจากมีความชัดเจนว่าเจ้าหนี้ยอมรับการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ตัวแทนกระทรวงการคลังเสนอแล้ว ปิดตลาดราคาหุ้น TPI อยู่ที่ระดับ 8.00 บาท ลดลง 0.80 บาท เปลี่ยนแปลง 9.09% มูลค่าการซื้อขายรวม 1,160 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|