เชื่อหรือไม่ว่าก่อนที่พีรศิลป์จะเป็นนายธนาคารได้ไปไหว้พระที่วัดพระแกว
แล้วอธิษฐานว่า อยากจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศสักครั้ง แต่ไม่ต้องการอะไร
นอกจากสร้างไทยธนาคารให้ดีที่สุด และเขาเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง
ในฐานะที่พีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของไทยธนาคาร ธนาคารไทยที่มีฐานะเป็น
Good Bank เกิดจากการควบกิจการ ของสถาบันการเงิน 14 แห่ง เขาต้องรับผิดชอบดูแลให้องค์กรรัฐแห่งนี้เติบใหญ่ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน
แต่เขาก็ยังมีทัศนคติแบบ ผู้ประกอบการอยู่ในตัว
ลักษณะภายนอกของพีรศิลป์เป็นคนว่องไว สิ่งที่ดีที่สุดคือ การตัดสินใจที่แน่นอนนอกเหนือไปจากนี้ไม่ใช่ตัวเขา
ส่งผลให้บทบาทแบงเกอร์ภาครัฐดูเหมือนจะเงียบสงบกว่าที่ควรจะเป็น ความจริงแล้วในฐานะผู้นำธนาคารของรัฐควรมีบทบาทมากกว่านี้
บุคลิกภาพดังกล่าว เกิดจากความเป็นนักเรียนญี่ปุ่น แล้วนำเอาวัฒนธรรมอันเข้มงวดมาใช้ในการดำเนินงาน
โดยเฉพาะรูปแบบการต่อสู้ที่เขาเลือกเป็นนักรบนินจา ที่ไร้รูปแบบและอยู่กับความเรียบง่ายไม่มีพิธีการ
แต่เมื่อใดที่ลงมือปฏิบัติแล้วกลับรวดเร็วและเด็ดขาดกับเป้าหมายชัดเจน
แต่หลายคนในวงการไม่คิดเช่นนั้น ทุกวันนี้มีความเข้าใจผิดว่าพีรศิลป์เป็นเด็กเส้นของรัฐบาล
นับตั้งแต่บทบาทสมัยอยู่ บงล.กรุงไทยธนกิจ ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลมากเหลือเกิน
พีรศิลป์ให้คำอธิบายว่า การที่รัฐบาลจะให้ใครทำอะไรนั้น ต้อง ตอบคำถามให้ได้ว่าเพราะอะไรถึงเลือกองค์กรนี้?
ซึ่งกรุงไทยธนกิจคือคำตอบที่ดีว่าเป็นของรัฐบาลและควบคุมได้
พีรศิลป์ ถือกำเนิดวันที่ 14 พฤษภาคม 2496 เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาลูก
5 คนของครอบครัวมนุษย์เงินเดือนที่ไม่มีธุรกิจส่วนตัว บิดาของเขา "อุทัย"
คือ อดีตพนักงานธนาคารกสิกรไทย และมารดา "ชุ่มจิตต์" ตอนเด็กๆ นั้น พีรศิลป์เป็นคนสมองดีที่มีพลังความกระตือ
รือร้น เขามักจะพูดกับตัวเองถึงความมีปมด้อย (handicap) ด้วยความภูมิใจ
"สิ่งที่หล่อหลอมผมมาจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะเป็นคนที่มีปมด้อย"
เมื่อถึงวัยเข้าศึกษาบิดามารดาส่งเขาไปที่โรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง
และส่วนใหญ่เป็นลูกผู้มีฐานะเท่านั้นถึงจะเข้าได้ แต่สำหรับพีรศิลป์ฝ่าด่านเงื่อนไขนี้ได้เนื่องจากปู่ของเขาเป็นศิษย์เก่า
"ผมอยู่ท่ามกลางคนร่ำรวย เงินไปโรงเรียนก็ไม่มีแต่อาศัยเรียนดี" พีรศิลป์เล่าบรรยากาศในอดีตให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ที่อัสสัมชัญนี่เอง ที่พีรศิลป์เริ่มต้นเรียนรู้ความอดทนและความพยายามท่ามกลางปมด้อยที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
เขาเป็นคนตัวเล็กแต่คลั่งไคล้กีฬาฟุตบอลและเล่นได้ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน
ด้วยอุปสรรคด้านสายตาสั้นเขาต้องดิ้นรนอย่างมากเพื่อให้ติดทีมโรงเรียน แต่หากมาดูการเรียนกลับมีผลสอบสูงถึง
90%
โชคชะตาของเขาดูเหมือนเริ่มขึ้นขณะเรียนอยู่ชั้น ม.ศ.5 เมื่อเพื่อนๆ ชวนไปสอบชิงทุนรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งๆ
ที่ไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย เมื่อไปถึงเขามองไปทางไหนก็เห็นแต่นักศึกษามาสมัครกันหมด
โดยเฉพาะนักศึกษาแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ เขาจึงตัดสินใจลงสอบสาขา เศรษฐศาสตร์
หลังจากวันนั้นพีรศิลป์ไม่ค่อยสนใจอะไรมากมายกับทุนรัฐบาล ญี่ปุ่น สังเกตได้จากวันที่จะไปสอบเพื่อนๆ
ยังต้องบอกเลย และเดือนสิงหาคม 2513 เป็นเดือนที่ต้องจดจำ เมื่อเขาเป็นนักเรียนอัสสัมชัญคนเดียวที่สามารถสอบผ่าน
ในปีถัดมาเมื่อจบ ม.ศ.5 แล้วพีรศิลป์ได้เดินทางไปญี่ปุ่น เพื่อเข้า เรียนหลักสูตรวิชาภาษาญี่ปุ่น
ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยที่ Tokyo University of Foreign Studies
"จริงๆ แล้วไม่ได้ตั้งใจและมีความคิดไปเรียนญี่ปุ่นเลย เพราะไม่รู้ภาษาจีนและมีความรู้สึกว่ามันยากมาก"
พีรศิลป์เล่า "แต่ตอนนั้นอยากมีอิสรภาพ อยู่กับพ่อแม่ถึงแม้จะดีแต่ไม่สนุก
เป็นช่วงวัยรุ่นอยากไปอยู่ในโลกกว้าง"
หนึ่งปีสำหรับหลักสูตรภาษาญี่ปุ่น เป็นระยะเวลาโหดร้ายสำหรับพีรศิลป์ เพราะต้องเริ่มต้นพูด
อ่าน เขียน ใหม่หมด ขณะที่เพื่อน ร่วมรุ่นจากชาติอื่นๆ ต่างมีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาแล้วทั้งนั้น
"เป็นช่วงที่มีความเครียดและเหนื่อย จนบางครั้งบอกกับตัวเองว่าทำไมเราไม่กลับบ้าน"
อย่างไรก็ตาม เขาได้ดิ้นรนจนสามารถพ้นวิกฤติ พร้อมเข้าศึกษา ระดับปริญญาตรีแล้ว
แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นให้เลือกสาขาที่จะเรียน กลับเปลี่ยนใจจากเศรษฐศาสตร์ไปเป็นสาขาบริหารธุรกิจทางด้านการเงิน
วิชาที่ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว
Yokohama National University คือ สถานที่ที่พีรศิลป์เลือกเข้าศึกษาด้วยเหตุผลใกล้กรุงโตเกียวแค่นั่งรถไฟชั่วโมงครึ่งก็ถึงแล้ว
แม้ว่าเขาได้ผ่านการฝึกฝนภาษาญี่ปุ่นมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่า การเขียนตัวคันจิยังไม่เข้าที่เข้าทาง
ต้องใช้ระบบจำและฝึกเขียนทุกวัน แต่กว่าจะสำเร็จจนสามารถเขียนเป็นรายงานได้ต้องรอถึง
3 ปี ส่วนเรื่องเรียนไม่มีอุปสรรคเนื่องจากระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยที่นี่ค่อนข้างสบายไม่ค่อยเข้มงวด
เพราะวัฒนธรรมการเรียนจะหนักช่วงเรียนระดับมัธยมและจะถูกบีบคั้นอีกครั้งช่วงเข้าทำงาน
เมื่อเป็นเช่นนี้หลังจากพีรศิลป์ขึ้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่หนักสำหรับการศึกษา
เขาจึงไปสมัครทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ในฐานะ Trainee แผนก Institutional
Research & Advisory Department โดยเขาต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าที่บริษัทจะยอมรับเข้าทำงาน
โดยมีเงื่อนไขว่าจะไม่ได้รับเงินเดือนแม้แต่เยนเดียว
"อยากทำงานเพราะต้องการรู้ว่าองค์กรญี่ปุ่นเป็นอย่างไร" พีรศิลป์ชี้ "โนมูระคือ
โรงเรียนแห่งใหม่สอนทุกอย่างและหนักมาก"
หลังจากจบการศึกษาเขาได้ทำงานแบบเต็มเวลาในโนมูระ ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางใจแบบนี้
และถึงแม้จะอายุยังน้อย แต่ก็ทำหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ เพื่อเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษส่งไปยังยุโรปและอเมริกาโดยมีชื่อผู้เขียนกำกับไว้
สร้างความแปลกใจสำหรับพนักงานชาวญี่ปุ่น เพราะโดยธรรมชาติค่อนข้างจะได้รับการยอมรับลำบาก
"เราได้เห็นวัฒนธรรม ระบบทำงาน และมีโลกทัศน์กว้างขึ้น ทำให้เข้าใจว่าจะดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไร
ที่บริษัทญี่ปุ่นสอนคือ การเป็นผู้บริหารที่ดีต้องบริหารเวลาและจัดลำดับความสำคัญให้เป็น"
พีรศิลป์ใช้ชีวิตในโนมูระถึง 3 ปี ถือเป็นเวลาที่มีค่า โดยเฉพาะประสบการณ์เรียนรู้การวิเคราะห์หลักทรัพย์จากธุรกิจธนาคาร
ประกันภัย และอุตสาหกรรมต่างๆ นับเป็นโอกาสดีช่วงหนึ่งของชีวิต อย่างไรก็ตาม
จากความตั้งใจศึกษาต่อที่อเมริกาจึงตัดสินใจลาออกแล้ว กลับเมืองไทย ก่อนบินไปแสวงหาความรู้ตามความตั้งใจ
ความฝันก็คือความฝันเมื่อเขาเปลี่ยนใจด้วยเหตุผลไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะไปอเมริกา
ครั้นจะให้ทางบ้านส่งเสียก็ไม่มีทางเป็นไปได้จึงออกหางานทำเพื่อรอโอกาสไปพลางๆ
ประจวบเหมาะกับสมหมาย ฮุนตระกูล ขณะนั้น (ปี 2521) ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(IFCT) โดยทั้งสองเคยเจอกันสมัย อยู่ที่ญี่ปุ่น ได้เชิญชวนพีรศิลป์เข้าทำงานที่
บลจ.กองทุนรวม ธุรกิจในเครือของ IFCT ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารกองทุน
แต่ชีวิตการทำงานภายในองค์กรสัญชาติไทยแห่งแรกในชีวิต กลับสร้างความผิดหวังให้เขา
"เป็นความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง สุดท้ายผมไปไม่รอดเพราะทำงานไม่เป็น และใจไม่อยู่ตรงนั้นอีกด้วย"
พีรศิลป์เล่า
ความคิดดังกล่าวเป็นความขัดแย้งในบุคลิกของเขา เนื่องจากตลาดทุนในช่วงนั้นไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงเป็นเพียงตลาดกู้ยืมทั่วๆ
ไป อาการเบื่อจึงเกิดขึ้นซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่อากร ฮุนตระกูล แนะนำให้เขาไปทำงานที่ธนาคารเชส
แมนฮัตตัน สาขากรุงเทพ เขาจึงตัดสินใจลาออกจาก บลจ.กองทุน ทั้งๆ ที่นั่งทำงานได้ไม่กี่เดือน
เจ้าหน้าที่อำนวยสินเชื่อ คือ ตำแหน่งแรกของพีรศิลป์ในเชส แมนฮัสตัน "ที่นั่นสอนการทำงานให้ผมไว้มากมาย
สมัยนั้นเป็นธนาคารต่างชาติที่มีบทบาทในประเทศอย่างมาก ก่อนที่ซิตี้แบงก์จะขึ้นมาแทนที่"
ทำงานได้ประมาณ 1 ปี เขาได้รับภารกิจให้เข้าไปตรวจสอบการทำงาน ของ บล.เชส
แมนฮัตตัน ธุรกิจในเครือทางด้านเช่าซื้อ จากนั้นถูกส่งตัวไปหา ความรู้เพิ่มเติมด้านการธนาคารและสินเชื่อที่สาขาฮ่องกง
ปี 2525 เขาได้รับการโปรโมตให้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสินเชื่อพาณิชย์และโครงการ
และอีกไม่นานประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาท ทำให้การปล่อยสินเชื่อถูกจำกัด
ส่งผลให้งานของพีรศิลป์เริ่มลดน้อยลง จึงตัดสินใจลาออก ประกอบกับผู้บริหารธนาคารพิจารณาส่งตัวไปทำงาน
ในสาขาต่างประเทศ ซึ่งเขาไม่ต้องการที่จะเดินทางไปไหนอีกแล้ว
ปลายปี 2527 พีรศิลป์เข้ารับตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายวางแผนของไทยออยล์ เป็นการทำงานในองค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน
ถือเป็นความ ท้าทายต่อตัวเขามากพอสมควร ทั้งๆ ที่มีธนาคารหลายแห่งต้องการดึงตัวเข้าร่วมงาน
แต่เขาปฏิเสธด้วยเหตุผลไม่มีแห่งไหนที่น่าทำงาน
ทำงานได้ประมาณ 2 ปี ได้เลื่อนขั้นไปกินตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบ และ
ณ ที่แห่งนี้ทำให้เขาเข้าใจถึงกระบวนการทำงานกับภาครัฐและเข้าใจลึกซึ้งกับคำว่า
"lobbying" ตลอดจนการเจรจาต่อรองว่ามีการปฏิบัติและกลยุทธ์อย่างไร
บทบาทของพีรศิลป์ในไทยออล์มีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะการเจรจากู้เงินในระดับ
200 กว่าล้านเหรียญสหรัฐกับสถาบันการเงินญี่ปุ่น ครั้งหนึ่งเขาเคยบอกกับเจ้านายเก่า
"จุลจิตต์ บุณยเกตุ" ว่าการทำธุรกิจ กับคนญี่ปุ่นถ้าเราเป็นซามูไรเมื่อชักดาบออกจากฝักให้ฟันทันที
หากไม่ทำอะไรอย่าเอาดาบออกจากฝัก
ความจริงชีวิตการทำงานของเขาในไทยออยล์เป็นไปด้วย ความราบรื่นและสดใส แต่กระนั้นก็ดีเขากลับหยุดเส้นทางแห่งอนาคตไว้ที่
4 ปี "อยากกลับมาทำงานสายแบงก์เพราะมีสายงานกว้างมากกว่า และเริ่มรู้ว่าตนเองเหมาะกับงานอะไร"
กลางปี 2531 พีรศิลป์ย้ายไปทำงานที่ บงล.สินเอเซีย ฝ่ายสินเชื่อ และการตลาด
แผนกวาณิชธนกิจและบริหารหนี้สิน แต่ด้วยความเป็นคนที่มีบุคลิกคล่องแคล่วว่องไวในการทำงาน
ทำให้แนวความคิดแตกต่างไปจากองค์กรนี้โดยสิ้นเชิง และแทนที่เขาจะเลือกปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานของตนเองให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม
กลับเลือกวิธีที่เด็ดขาด ด้วยการลาออก
"ที่สินเอเซียเป็นอีกโลกหนึ่งเพราะมีวัฒนธรรมจีน แต่ได้เรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่ง"
เดือนตุลาคม 2534 พีรศิลป์เดินเข้าทำงานที่ บง.เอกธนกิจ องค์กร ที่มีความทันสมัย
และประสบความสำเร็จแห่งหนึ่ง ที่สำคัญมีศิษย์เก่า เชส แมนฮัตตัน อยู่กันมาก
เขาเข้าไปดูแลงานสินเชื่อและการตลาด แผนกธุรกิจเช่าซื้อ บริหารหนี้สิน จัดการสาขาและจัดการกองทุนสำรอง
เลี้ยงชีพ แต่พีรศิลป์ไม่เก่งพอที่จะอยู่ที่นี่จึงลาออกขณะที่ทำงานได้ประมาณปีเดียว
โชคยังเข้าข้าง เมื่อศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย
ทราบว่าเขากำลัง หางานใหม่จึงทาบทามให้มาบริหารงานที่ บงล.เงินทุนสากล กิจการในเครือที่กำลังประสบปัญหาง่อนแง่น
ขาดทุนสะสม ไร้ชื่อเสียงและไม่มีอะไรเลย
"เปรียบเทียบกับเอกธนกิจคนละเรื่องกันเลย" พีรศิลป์กล่าว
การที่เขาตัดสินใจมารับงานที่เงินทุนสากล ส่วนหนึ่งมาจากการ ที่เขาชื่นชมการทำงานของศิรินทร์มานานนับตั้งแต่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ด้วยความเป็นคนที่มีความสร้างสรรค์ตลอดเวลา และทำงาน ภายใต้แรงกดดันได้ดี
พีรศิลป์จัดการเปลี่ยนชื่อเป็น บงล.กรุงไทยธนกิจ เพื่อสอดรับกับบริษัทแม่พร้อมๆ
กับสร้างองค์กรให้แข็งแกร่งจากพนักงานสิบกว่าคน สินทรัพย์ไม่กี่ร้อยล้านบาทจนเป็นที่รู้จักของวงการและมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง
ขณะที่ช่วงระยะเวลาแห่งความเติบใหญ่กำลังไปได้ดี วิกฤติเศรษฐกิจได้ปะทุขึ้นสร้างความเสียหายต่อระบบสถาบันการเงินอย่างมาก
จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องพิจารณาถึงการควบรวมกิจการ โดยให้กรุงไทยธนกิจในฐานะที่เป็นกิจการของรัฐเป็นแกนนำเรื่องดังกล่าว
แต่พีรศิลป์กลับคิดไปไกลมากกว่านั้นด้วยการขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์
ซึ่งก็ทำสำเร็จหนึ่งเดือนก่อนที่รัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาท
วิกฤติเศรษฐกิจลุกลามใหญ่โตเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์จากปัญหา หนี้เสียท่วมหัว
โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและเล็กบางแห่งรัฐบาลต้องเข้าควบคุม ในที่สุดได้มีคำสั่งให้กรุงไทยธนกิจเป็นแกนนำในการควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน
14 แห่งหนึ่งในนั้นคือ ธนาคาร สหธนาคาร และเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเข้าที่ พีรศิลป์ก็แปลงองค์กรเป็นธนาคารพาณิชย์และปลายปี
2541 ทุกคนรู้จักกันในนาม "ธนาคารไทยธนาคาร"
งานแรกที่ดำเนินการ คือ การจัดการปัญหาภายในองค์กร ที่มีความ หลากหลายทางวัฒนธรรมพร้อมๆ
กับการลดขนาดองค์กรลง ด้วยการคัดพนักงานออกให้เหลือเพียง 2,500 คนจากเดิม
5,000 คน
นอกจากนี้ยังเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินกิจการเพื่อเป้าหมาย เป็นผู้นำด้าน
Wholesale และ Investment Bank โดยเน้นลูกค้าขนาดกลางและใหญ่ ซึ่งถือเป็นแนวคิดเหมาะสมในการกำหนดตัวเองของไทยธนาคารกับเครือข่ายที่มีอยู่
"แนวคิดนี้มีตั้งแต่ต้น พวกเราทำแค่สิ่งที่ทำได้ ไม่ทะเยอทะยาน ธุรกิจรายย่อยเราไม่ทำเพราะต้องลงทุนจำนวนมหาศาลและขนาดของไทยธนาคารไม่เพียงพอ"
พีรศิลป์อธิบาย
นอกจากนี้ขนาดของไทยธนาคารไม่ชัดเจน เนื่องจากมีสาขาประมาณ 100 กว่าสาขา
จะเล็กก็ไม่เล็ก จะใหญ่ก็ไม่ใหญ่ ที่สำคัญธุรกิจรายย่อยในสมัยของสหธนาคารล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
อีกทั้งเป็นธุรกิจที่ธนาคารต่างชาติถนัด และมีอิทธิพลอย่างมากรวมไปถึงธนาคาร
ที่เป็นของรัฐ ทั้งออมสินและกรุงไทย ก็รุกธุรกิจรายย่อยอยู่แล้ว
"ไทยธนาคารไม่จำเป็นต้องเป็นพระเอก เป็นพระรองก็ได้ คนญี่ปุ่นบอกเอาไว้ว่า
คุณไม่จำเป็นต้องเกิดเป็นดอกซากุระก็ได้ แต่ขอให้เป็นดอกไม้ที่ดี"
ตลอดระยะเวลาประมาณ 4 ปีของพีรศิลป์ กับการบริหารงานในไทยธนาคาร ดูเหมือนว่าเขามีความภูมิใจ
และพึงพอใจอย่างมาก ครั้งหนึ่งเขาเคยพูดกับคนใกล้ชิดว่าการเป็นนายธนาคารที่ดีพร้อมกับการเป็นพ่อค้าที่ดี
ทำได้ยาก ดังนั้นควรเลือกว่าจะเป็นอะไร ในฐานะที่ทำงานในธนาคาร เราต้องเลือกข้อแรก
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาดังกล่าวไม่สามารถตัดสินได้ว่า พีรศิลป์ ศุภผลศิริ
เป็นนายธนาคารที่ดีได้ เขายังต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป