พิชา ดำรงค์พิวัฒน์ CFO คนใหม่ของทีพีไอ

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

การแถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2544 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เมื่อวันที่ 17 มกราคม น่าจะเป็นวันสุดท้าย ที่พิชา ดำรงค์พิวัฒน์ ปรากฏตัวต่อสาธารณะ ในฐานะกรรมการ ผู้จัดการ ธอส.

เพราะหลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน เขาก็ต้องย้ายสถานที่ทำงาน เพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) ของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย (ทีพีไอ)

พิชาเพิ่งเข้ามารับงานใน ธอส.เพียง 1 ปีเศษ หลังจากที่ธนาคารรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ มีปัญหาความขัดแย้งกันในกลุ่มผู้บริหารระดับสูง ระหว่างสิริวัฒน์ พรหมบุรี อดีตกรรมการผู้จัดการ และ ศักดา ณรงค์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการ จนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ทั้งคู่พ้นจากตำแหน่ง เมื่อเดือนเมษายน 2 ปีก่อน

พิชามาจากภาคเอกชน ตำแหน่งล่าสุดก่อนเข้ามาอยู่ ธอส. เขาเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มไฟฟ้า และพลังงาน บริษัทเทเลคอมเอเซีย

เขาเข้ามาเริ่มทำงานใน ธอส. ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ในขณะที่ฝุ่นควันที่ตลบอบอวล จากความขัดแย้งของผู้บริหารซึ่งเป็น ลูกหม้อเก่าแก่ของธนาคารทั้ง 2 กลุ่มยังคละคลุ้งอยู่ ดังนั้นจึงปรากฏข่าวออกมาเป็นระยะว่า เขาค่อนข้างมีปัญหาในการบริหาร งาน โดยเฉพาะไม่สามารถเข้ากับระบบงานภายในที่มีลักษณะคล้ายกับระบบข้าราชการประจำ จนกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเขากับพนักงาน

ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่หลายคนมองว่าเป็นเหตุผลในการตัดสินใจลาออกครั้งนี้ แต่เขาปฏิเสธ

"ก่อนเข้ามาที่นี่ ก็เคยมีคนเตือนผมแล้วว่าในนี้มีความขัดแย้ง และหลังเข้ามาก็ยังมีใบปลิวโจมตีผม แต่ตลอดเวลา 1 ปีที่ทำงานที่นี่ ผมได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพนักงานเป็นอย่างดี" เขาบอก

พิชามองว่าการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน เป็นเรื่องปกติของการทำงานในภาคเอกชน และที่ทีพีไอ เขาถือว่าเป็นบริษัทที่มีความท้าทายมากกว่า เพราะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีบริษัทในเครือถึง 24 แห่ง

ที่สำคัญตำแหน่งที่เขาได้รับ เป็นแค่รองจากทองฉัตร หงส์ลดารมภ์ CEO และสิปปนนท์ เกตุทัต ประธานกรรมการ เพียง 2 คน เท่านั้น

"ผมเคยอยู่แบงก์กสิกรไทย เคยอยู่ในเครือซีพีมา 9 ปี ทุกวันนี้ผมยังสามารถพบหรือพูดคุยกับคุณบัณฑูร ล่ำซำ คุณธนินท์ หรือ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ได้ไม่มีความขัดแย้งกัน" เขาให้เหตุผล

ทั้งสิปปนนท์ และทองฉัตร ต้องการให้พิชามาร่วมงานใน ทีพีไอมานานแล้ว เพราะหลังจากที่ทั้งคู่เข้ามารับหน้าที่ฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลล้มละลายกลางรับแผนฟื้นฟู ทั้งคู่ยังไม่สามารถหามือการเงินเข้ามาดูแลเป็นการเฉพาะ สำหรับกิจการที่มีหนี้สินจำนวนมหาศาล ถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์ แห่งนี้ได้

มองในมุมของพิชา การเข้ามาทำงานในทีพีไอครั้งนี้ เปรียบเสมือนเขาได้กลับไปร่วมงานกับคนเก่าที่เคยสนิทสนมกันมาก่อน เพราะครั้งหนึ่งในยุคที่โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกกำลังบูม เขาเคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทวีนิไทย เจ้าของ โครงการปิโตรเคมีที่กลุ่มซีพีร่วมลงทุนกับกลุ่มโซลเวย์ ตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ช่วงเดียวกับที่สิปปนนท์ เป็นกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสารต้นทางป้อนให้กับโรงงานขั้นกลาง และขั้นปลาย รวมทั้งวีนิไทยด้วย

ส่วนทองฉัตร พิชาได้รู้จักมาตั้งแต่สมัยย้ายเข้ามาเป็นผู้จัดการ อาวุโส สายบัญชีและการเงินของเทเลคอมเอเซีย ซึ่งขณะนั้นทองฉัตร ยังเป็น CEO ของที่นั่นอยู่

พิชาเริ่มเข้าไปทำงานในทีพีไอ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ วันนี้ เขาได้เปลี่ยนบทบาทจากที่เคยเป็นเจ้าหนี้ ที่มีพอร์ตสินเชื่ออสังหา ริมทรัพย์อยู่จำนวนมาก กลายมาเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายสิบรายกำลังเฝ้ามองการทำงานของเขาอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.