สุภีร์ เบื้องหลังคนสำคัญของ "เกษรกรุ๊ป"


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

สินค้าไทยกลายเป็นสินค้ายอดนิยมตามภาวะเศรษฐกิจ ที่ผันแปรไป และได้กลายมาเป็นจุดขาย ที่สำคัญของของเกษรพลาซ่า โดยมีสุรภีร์ ผู้หลงใหลกับงานหัตถกรรมมาชั่วชีวิตเป็นผู้ผลักดัน

เป็นเพราะช่วงวิกฤติ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง ที่สร้างโอกาสให้ สุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือเกษรกรุ๊ป ต้องพลิกบทบาทจากผู้ที่เคยอยู่เบื้องหลังคอยเป็นกำลังใจให้กับลูก 3 คนคือ ชาย, ชาญ และกรกฎ ศรีวิกรม์ มาเป็นกำลังสำคัญในการทำแผนการตลาดครั้งใหม่ให้กับศูนย์การค้าเกษรพลาซ่า

ลูกหญิงชายทั้ง 3 ของสุรภีร์ล้วนแต่เป็นกรรมการบริหารของบริษัทจีเอส พร็อพเพอร์ตี้ผู้รับผิดชอบการบริหารพื้นที่ศูนย์การค้าแห่งนี้

แต่เดิมเกษรพลาซ่าถูกวางภาพลักษณ์ไว้ให้เป็นศูนย์การค้าใจกลางเมือง ที่ทันสมัย เน้นสินค้าแบรนด์เนมดังๆ จากต่างประเทศ ซึ่งกลายเป็นจุดที่สร้างปัญหาใหญ่ทันทีเมื่อเกิดปัญหาเรื่องค่าเงินบาท และปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศครั้งใหญ่

การหันกลับมามองเรื่องความเป็นไทย ใช้สิ่งของ ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ และการสนับสนุนสินค้าไทยด้วยกัน กลับเป็นกระแสของความนิยมของสังคม ที่ได้รับการพูดถึงมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้คือ สิ่งที่สุรภีร์เองก็ชื่นชม และสนับสนุนมาเกือบตลอดชีวิต เธอจึงได้เสนอความคิดเพิ่มคอนเซ็ปต์ของความเป็นไทยให้เกิดขึ้น ที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ทันทีโดยที่กรรมการบริหารท่านอื่นก็เห็นด้วย

ดังนั้น โครงการร้านพิพิธภัณฑ์หัตถกรรมไทย และศูนย์แสดงสินค้าหัตถกรรมต้นแบบ เพื่อเป็นแหล่งรวมผลงาน ที่มีชื่อเสียงจากทุกแขนงของไทยก็เลยเกิดขึ้นบนเกษรพลาซ่าชั้น 2 และชั้น 3 โดยที่สุรภีร์เป็นกำลังหลัก ที่สำคัญ สินค้าไทย ที่สุรภีร์ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ ผ้าพื้นเมือง ซึ่งทุกวันนี้เธอมีผ้ามากกกว่าหมื่นชิ้น การสะสมผ้าไทยทำให้ชีวิตส่วนใหญ่ของเธอต้องเดินทางไปคลุกคลีกับชาวบ้านในต่างจังหวัด และทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องการส่งเสริมฝีมือชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานผ้า และงานหัตถกรรมอื่นๆ ปัจจุบันเธอมีตำแหน่งมากมาย ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องพวกนี้ เช่นการเป็นนายกสมาคมส่งเสริมหัตถกรรมไทย เป็นนายกสมาคมกิตติมศักดิ์สมาคมส่งเสริม และพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน เป็นกรรมการช่างหัตถศิลป์ ของกระทรวงอุตสาหกรรม

ความเป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง ที่สร้างความมั่นใจในคอนเซ็ปต์ใหม่นี้ก็คือ ในเรื่องทำเล เพราะศูนย์การค้าแห่งนี้แวดล้อมไปด้วยโรงแรมระดับห้าดาวต่างๆ หลายโรงแรมเช่น เลอเมอริเดียนเพรสซิเด้นท์ โรงแรมไฮแอทเอราวัณ และเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมมาเดินชอปปิ้งกันมาก

แต่อย่างไรก็ตาม ในย่านนั้น ก็ยังมีร้านนารายณ์ภัณฑ์ หรือร้านสินค้าไทย ที่เซ็นทรัล ชิดลม ดังนั้น จุดเด่นของโครงการนี้จำเป็นต้องแตกต่างจาก ที่อื่นๆ โดยการดีไซน์ร้านค้าอย่างสวยงามด้วยบรรยากาศของศิลปวัฒนธรรมของความรุ่งเรือง ของสยามประเทศโดยฝีมือของ อาจารย์ดุลย์พิชัย โกมลวนิช ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าแปลกตาไปจากร้านค้าของไทย ที่อื่นๆ ซึ่งสุรภีร์เองยืนยันว่ายังเป็นคนคัดเลือกสินค้า ที่จะเอามาขายด้วยตัวเอง และพยายามจัดให้มีการให้ข้อมูลในเรื่อง ที่มาของตัวสินค้ารวมทั้งประวัติต่างๆ ที่น่าสนใจไว้อีกด้วย รวมทั้งมีการจัดงานนิทรรศการ งานแสดงต่างๆ เกี่ยวกับงานหัตถกรรมตลอดทั้งปี

สินค้าไทยจึงกลายมาเป็นทางออก และจุดขาย ที่สำคัญของศูนย์การค้าแห่งนี้มาประมาณ 2 ปีแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่จะยอมรับ และชื่นชมไอเดียในการตกแต่งร้าน ที่สวยงาม ส่วนการตลาดจะประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น คงเป็นเรื่อง ที่ทีมงานผู้บริหารต้องคิดค้นกลยุทธ์ทางด้านการตลาดมาใช้กันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.