|
"วิโรจน์"แจงกรุงไทยวันนี้ยันยังไม่ฟ้อง"ปรีดิยาธร"
ผู้จัดการรายวัน(12 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"วิโรจน์ นวลแข" แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีแบงก์ชาติสั่งห้ามบอร์ดแบงก์กรุงไทยตั้งเป็นเอ็มดี และผลงาน 3 ปีที่ผ่านมา เผยยังไม่ฟ้องร้องเพราะรอจังหวะเหมาะสม ขอยึดหลักความมีน้ำใจเป็นนักกีฬา "ธาริษา" เผยความคืบหน้าลูกหนี้ 11 ราย ยังอยู่ที่ฝ่ายตรวจสอบ ลั่นต้องหาคนรับผิดชอบโดยดูที่เจตนาการปล่อยกู้
วันนี้ (12 ต.ค.) ที่ห้องเพรสิเด้นท์ 2 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เวลา 13.00 น. นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จะเปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีคำสั่งห้ามมิให้บอร์ดธนาคาร กรุงไทยรับเป็นกรรมการผู้จัดการ ทั้งๆ ที่ได้ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาและบอร์ดธนาคารอนุมัติเรียบร้อยแล้ว
นายวิโรจน์เปิดเผยว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการพบปะกับสื่อมวลชน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่สามารถแสดงความเห็นได้มากนัก โดยจะอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นช่วงที่ผ่านมา อย่างน้อยเพื่อให้ลูกค้าธนาคารกรุงไทยและประชาชนทั่วไป ได้รับทราบข้อเท็จจริง และรู้ถึงความรู้สึก โดยยืนยันว่าจะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมอย่างแน่นอน แต่คงไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเพราะต้องดูความเหมาะสมเป็นหลัก
"หลังจากที่เก็บตัวมาระยะหนึ่ง วันนี้ผมอยาก พูดแบบลูกผู้ชายที่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ วันนี้ผมยังไม่ตอบโต้หรือฟ้องร้องใคร ขอให้เป็นเรื่อง อนาคต อาจต้องรออีกระยะหนึ่ง" นายวิโรจน์กล่าว
นอกจากนี้ นายวิโรจน์จะชี้แจงรายละเอียดในหนังสือหนังสือปกขาวหรือ "บันทึก วิสัยทัศน์และการดำเนินการในฐานะกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ปี 2544-2547" ที่ได้จัดทำเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา
โดยเนื้อหาในสมุดปกขาว เป็นบันทึกผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยตลอด 3 ปี ที่รับหน้าที่ กรรมการผู้จัดการ นายวิโรจน์กล่าวว่า ได้ทำหน้าที่เต็มความสามารถ ทำให้ธนาคารขยายสินเชื่อกว่า 4 แสนล้านบาท ในระหว่างไตรมาส 2 ของปี 2544 ถึงไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2545 ซึ่งธนาคารกรุงไทยขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดการขยายสินเชื่อเกือบ 1.5 แสนล้านบาท ธนาคารกรุงไทยยังเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกที่สามารถทำกำไรได้ในปี 2545 และผลักดันให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นสูงกว่า 10% ตั้งแต่ปี 2545
"ผมถือว่าเป็นผลงานของผู้บริหารและพนักงาน กรุงไทยทุกคน ทำให้ธนาคารกรุงไทยสามารถตอบสนองภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้มีการพัฒนาระบบงานและบุคลากรมีความเป็นเอกภาพ ทำให้เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่จะตอบสนองต่อความต้องการของระบบเศรษฐกิจ และเป็นรากฐานที่จะพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผมมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่ได้ทำมา และขอยืนยันว่าได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ โดยตั้งอยู่ในความสุจริต"
ทั้งนี้ ธปท. โดยม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯธปท. ได้คัดค้านและสั่งการห้ามมิให้บอร์ดธนาคารกรุงไทย แต่งตั้งนายวิโรจน์เป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย โดยใช้ประกาศตามมาตรา 4.2 (8) ว่าด้วยการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารได้รับความเสียหาย และขาดความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน โดยคุณสมบัติต้องห้ามของผู้บริหารสถาบันการเงินดังกล่าว ข้อที่ 8 ระบุว่ามีการบริหารงานที่แสดงถึงการละเลยการทำหน้าที่ตามสมควรในการกลั่นกรองหรือตรวจสอบดูแลมิให้บุคคลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืน หรือปฏิบัติไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขาดจรรยาบรรณ นอกจากนี้ยังเข้าข่ายมาตรา 22 (8) พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ เกี่ยวกับเงินสดสำรองและการปล่อยสินเชื่อ มีผลให้นายวิโรจน์ไม่สามารถเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินใดๆ ได้อีก
ธปท.พิจารณาลูกหนี้ 11 รายยึดเจตนาปล่อยกู้เป็นหลัก
ขณะที่วานนี้ (11 ต.ค.) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด มีเพียงนางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าฯธปท. ออกมาเปิดเผยว่า คณะกรรมการธนาคารกรุงไทยได้ส่งหนังสือรายงานผลการตรวจสอบสินเชื่อที่มีปัญหา 11 ราย กลับมายังธปท.แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของฝ่ายตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ หากมาถึงตนและพิจารณาเสร็จ จะส่งกลับไปยังคณะกรรมการของธนาคารกรุงไทย โดยไม่มีการชี้แจงต่อสาธารณชน เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบบุคคลที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามต่อไปว่า ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการปรับปรุงการปล่อยสินเชื่อให้ถูกต้องและเหมาะสมตามขั้นตอนหรือไม่ ทั้งนี้หากจำเป็นต้องมีการกล่าวโทษฟ้องร้องธนาคารกรุงไทยก็จะเป็นผู้ดำเนินการ
"ในการตรวจสอบนั้น จะต้องหาคนรับผิดชอบ ในกรณีที่เจอการปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีการวิเคราะห์อย่างเหมาะสมหรือไม่ทำตามขั้นตอนของการปล่อยสินเชื่อซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารกรุงไทย นอกจากนั้นทางกรุงไทยจะต้องรายงานกลับมาด้วยว่าจะแก้ไขขั้นตอนการปล่อยสินเชื่อที่มีความหละหลวมแต่ละรายอย่างไร" นางธาริษากล่าว
ทั้งนี้ การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมนั้น แม้หนี้เสียจะกลายเป็นหนี้ดีในภายหลัง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาในเรื่องของเจตนาด้วย เนื่องจากการอนุมัติกับการชำระคืนเป็นคนละเรื่องกัน
นางธาริษากล่าวว่า จะดำเนินการหาผู้รับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อที่หละหลวมเป็นกรณีๆ ไป เช่น ถ้าเป็นเรื่องของบริหารการจัดการ ก็ต้องให้ฝ่ายบริหารจัดการ หรือหากเป็นนโยบายซึ่งระดับคณะกรรมการรับผิดชอบก็ต้องดูแล
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|