อวสานชั่วโมงอินเทอร์เน็ต

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

ดูเหมือนว่า นับจากนี้ บริการอินเทอร์เน็ตประเภทชุด kits หรือการขายชั่วโมงอินเทอร์เน็ตจะลดความนิยมลงไปเรื่อยๆ เพราะมันกำลังถูกแทนที่บริการสมาชิกรายเดือน ด้วยอัตราค่าสมาชิกไม่ถึง 300 บาทที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค

ในแง่มุมของผู้บริโภคแล้ว นับเป็นข้อดีที่พวกเขาจะได้ใช้อินเทอร์เน็ตได้จุใจมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องไปซื้อชั่วโมงอินเทอร์ เน็ตมาเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราค่าบริการ รายเดือนในเวลานี้ ที่อยู่ช่วงระหว่าง 400-300 บาท ก็นับว่าจูงใจไม่น้อย ยิ่งเมื่อถัวเฉลี่ยออกมาเป็นรายชั่วโมงด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาของการใช้งานในแต่ละครั้ง ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามไอเอสพีแต่ละแห่ง เช่น เคเอสซี กำหนดว่า ให้ใช้งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 5 ชั่วโมง บางรายก็อาจกำหนด 2 ชั่วโมง เพราะ หากให้ใช้ไม่จำกัด ไอเอสพีก็คงต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น

ประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ ก็คือ กำหนดแผนการตลาดในระยะเวลาที่ยาวขึ้น หรือการเพิ่มเติมบริการต่างๆ ที่ให้กับลูกค้าที่มีระยะเวลา และความแน่นอนในการใช้งานจะมีมากขึ้น หากเป็นบริการแบบรายชั่วโมง การตัดสินใจของลูกค้ามักจะขึ้นอยู่กับค่าบริการ การหมุนเวียนของลูกค้าจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จะส่งผลต่อการกำหนดแผนการตลาดในระยาว ย่อมยากขึ้นไปด้วย

รูปแบบการใช้งานจะเปลี่ยนไป แทนที่จะซื้อแพ็กเกจชั่วโมงมาใช้ และใช้ร่วมกันครั้งละหลายๆ คน จะเปลี่ยนมาสู่การ ใช้เป็นรายบุคคลมากขึ้น 1 คน ต่อ 1 account "เป็นไปตามแนวโน้มที่เหมือนกับในต่างประเทศ" ดร.ธัชพงษ์ โหตรภวานนท์ ประธาน กรรมการบริหาร บริษัทล็อกซอินโฟ เซอร์วิส จำกัด

เมื่อบริการรายเดือนมาแทนที่บริการชั่วโมงอินเทอร์เน็ต จะใช้งานน้อยลง จะกลาย เป็นการใช้งานเฉพาะกรณีฉุกเฉินหรือสำหรับ ผู้ที่เริ่มทดลองใช้ และจะเหมาะสำหรับชาวต่าง ประเทศที่เดินทางมาเมืองไทยแบบไม่นาน

อย่างไรก็ตาม ดร.ธัชพงษ์เชื่อว่าผลต่อเนื่องที่จะตามมาจากระยะเวลาการใช้ อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ก็คือ ช่วงเวลาและโอกาสของธุรกิจ e-commerce และการสอนทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-learning จะได้รับความนิยมมากขึ้น โรงเรียนกวดวิชาแทนที่จะไปตั้งสาขาก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

"แต่เดิมเขาต้องเสียทั้งค่าเรียน และค่าชั่วโมงอินเทอร์เน็ต ซึ่งบางทีแพงกว่าค่าเรียนเสียอีก เขาก็เสียเป็นเดือนๆ ไม่กี่ร้อย บาท ความนิยมจะเพิ่มขึ้น" ดร.ธัชพงษ์บอก

ทั้งนี้ กลไกสำคัญที่เป็นแรงขันดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ น่าจะมาจากบริการ 1222 ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศ ไทย ที่ใช้โครงข่าย IP network ที่ทำขึ้นเพื่อประหยัดค่าโทรศัพท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตครั้งละ 3 บาททั่วประเทศ

นอกเหนือจากทศท.จะเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีภายใต้ชื่อบริการ totonline.net ให้กับลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์พื้นฐาน แล้ว ทศท. ยังเปิดให้ไอเอสพีมาเช่าใช้เพื่อนำไปให้บริการ แก่ลูกค้าอีกด้วย

ผลที่ตามมา ก็คือ จากเดิมที่ไอเอสพีแต่ละรายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าคู่สาย โทรศัพท์ ตามจำนวน และปริมาณการใช้งาน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก "ถ้าเช่า 100 คู่สาย ก็ให้บริการพร้อมๆ กันได้แค่ 100 รายเท่านั้นจะเกินกว่านี้ไม่ได้ ดังนั้น ก็ต้องเพิ่มการเช่าคู่สายเพิ่มขึ้น ตามจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น" ดร. ธัชพงษ์บอก

นอกจากนี้ ยังประหยัดต้นทุนในเรื่องการจัดตั้ง Node ตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าหมุนโทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์ของไอเอสพี ในอัตราครั้งละ 3 บาท ไม่ต้องเสียค่าโทรศัพท์ ทางไกล ซึ่งการติดตั้ง Node ในต่างจังหวัด แต่ละแห่งจะต้องใช้เงินประมาณ 1 ล้านบาทต่อ 1 Node

ส่วนรูปแบบของบริการรายเดือน ของแต่ละค่ายจะมีเงื่อนไขและรูปแบบที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้งานก็ต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละราย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.