DEผวาพิษน้ำมันฉุดกำลังซื้อเล็งขยายเวลาผ่อนชำระสินค้า


ผู้จัดการรายวัน(11 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

DE ผวาพิษน้ำมันพุ่งฉุดกำลังซื้อ "ราชาเงินผ่อนฎ ปี'48 เตรียมงัดกลยุทธ์ขยายเวลาผ่อนชำระ ให้กับลูกค้าที่ผ่อนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้ากับบริษัท จากเดิม 24 เดือนเพิ่มเป็น 28 เดือน ส่วนแนวโน้มผลประกอบการ ไตรมาส 3 คาดสูงกว่าเป้า 5% ดันรายได้รวมทั้งปีสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่คาดว่าจะมีรายได้เพียง 1,620 ล้านบาท

นายวัฒน ตรีคันธา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี อี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัญหาราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคของประชาชนทั่วไป และถ้าหากยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นปัจจุบันไปจนถึงต้นปี 2548 อาจทำให้ความสามารถในการซื้อของประชาชนลดลง ซึ่งส่งผล กระทบโดยตรงกับการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว โดยจะมีการขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ผ่อนชำระสินค้าเงินผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าของบริษัท

สำหรับลูกค้าที่ผ่อนชำระสินค้ากับ ดีอี ภายใต้สินค้ายี่ห้อ Distar เดิมระยะเวลาการผ่อนชำระจะอยู่ที่ 24 เดือน บริษัทอาจเพิ่มเวลาการผ่อนชำระเป็น 28 เดือน เพื่อดึงลูกค้า

"แม้เศรษฐกิจอาจชะลอตัวจากปัญหาราคาน้ำมัน แต่ธุรกิจลีสซิ่งของเราน่าจะไปได้ดี เพราะเราอาจมีการขยับระยะเวลาการผ่อนชำระออกไป จากเดิม เพราะความสามารถในการเช่าซื้อสินค้าของลูกค้าอาจลดลง แต่ถ้าขยายเวลาการผ่อนชำระออกไป ก็จะทำให้ความสามารถการผ่อนมีมากขึ้น ซึ่งจุดนี้น่าจะดึงลูกค้าได้"

นอกจากนี้ การที่บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง และบางส่วนจ้างผลิต จึงทำให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ แม้จะได้รับผลกระทบจากการที่ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันก็ตาม

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 3 ของปีนี้ คาดว่าจะสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมถึง 5% และทำ ให้ยอดขายรวมทั้งปีสูงกว่าที่ประมาณ การไว้เดิมที่ 1,620 ล้านบาท เนื่องจากภายหลังจากระดมทุนจากตลาดหลัก- ทรัพย์ ทำให้บริษัทมีเงินทุนในการขยายสาขามากขึ้น

สำหรับความคืบหน้าในการเปิด สาขา สแตนด์อะโลน ในปี 2548 ที่ตามแผนเตรียมเปิดในต่างจังหวัด 2 แห่งคาดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถ เปิดสแตนด์อะโลน ที่ภาคใต้ 1 แห่ง ได้สำเร็จ โดยต้นทุนในการเปิดอยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อแห่งต่อปี ส่วนครึ่งปีหลังจะเปิดอีก 1 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสแตนด์ อะโลน ที่จะเปิดในภาคใต้อยู่ระหว่างเลือกว่าจะ เปิดที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่, นครศรีธรรมราช หรือที่ภูเก็ต โดยการ เช่าตึกที่มีขนาดพื้นที่ 3 พันตารางเมตร เน้นกลุ่มลูกค้า C+ ถึง B ซึ่งมีรายได้ 1 หมื่นบาทขึ้นไป โดยคาดว่าสาขาที่เปิดจะสร้างรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อสาขาต่อปี

นายวัฒนกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ ตัดสินใจเปิดสแตนด์ อะโลนในภาคใต้ ก่อน เนื่องจากมีกำลังซื้อมาก และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทอยู่ใน ภาคใต้ และที่สำคัญราคายางพาราที่ยังคงสูง ทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระลูกค้ามีมาก ขณะเดียวกันภาคใต้ก็ไม่ได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก

ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายสินค้าของบริษัทมี 2 ส่วนคือ ผ่านสาขา ซึ่งจะมีพนักงานบริษัทเป็นผู้ดำเนินการ ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง และขายผ่านตัวแทน ซึ่งปัจจุบันมีสาขา 70 แห่ง และตัวแทน 329 แห่ง ตามแผน งานจากนี้ไปถึงปี 2550 จะเพิ่มจำนวน สาขาเป็น 150 สาขา และตัวแทนจะเพิ่มจาก 315 ราย เป็น 600 ราย ภายใน 2 ปีข้างหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.