|

"NFC"ลุยเคมี-ลอจิสติกส์หนุนรายได้เติบโต300%
ผู้จัดการรายวัน(8 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ปุ๋ยเอ็นเอฟซีปรับแผนธุรกิจใหม่ หันไปทำตลาด เคมีภัณฑ์และลอจิสติกส์โดยไม่เน้นการผลิตปุ๋ยเอ็นพีเคเหมือนในอดีต มั่นใจปีหน้าเดินเครื่องจักรเต็มที่ 100% หนุนรายได้โต 300% เทียบจากปีนี้ที่มีรายได้ 3 พันล้านบาท รวมทั้งสนใจดึงปตท.เข้ามาเป็นพันธมิตร ด้านกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขู่เร่งปรับโครงสร้างหนี้ก่อนตลาดเพิกถอนหุ้น
นายณัฐภพ รัตนสุวรรณทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุ๋ยเอ็นเอฟซี จำกัด (มหาชน) (NFC) เปิดเผยแนวทางการบริหารกิจการใหม่ หลังเข้ารับตำแหน่งซีอีโอเมื่อเร็วๆ นี้ว่า บริษัทฯจะปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ เพื่อให้เหมาะสม โดยจะดึงศักยภาพของแต่ละหน่วยผลิตมาสร้างรายได้เพิ่มจากผลิตภัณฑ์ของทุกหน่วยผลิตเป็น
บิซิเนสยูนิต เพื่อสร้างผลตอบแทน
ต่อบริษัท ส่วนการผลิตปุ๋ยเอ็นพีเคจึงถือเป็นผล พลอยได้จากกระบวนการผลิตไป ทำให้ NFC กลายเป็นบริษัทที่มีความโดดเด่นและเทียบเท่าบริษัทปิโตรเคมีในมาบตาพุด
จากการปรับนโยบายทางธุรกิจเป็นแบบบิสิเนส ยูนิต เพื่อสร้างผลตอบแทนจากหลายทิศทางด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดโครงการใหม่ๆเพื่อช่วยเกื้อหนุนธุรกิจ ซึ่งบริษัทฯจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตกรดซัลฟิวริก เพื่อนำความร้อนมาผลิตไฟฟ้า และตั้งโรงงานเพื่อปรับเกรดความบริสุทธิ์ของกรดฟอสฟอริก ป้อนตลาดภายในประเทศทดแทนนำเข้า รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากท่าเรือของปุ๋ยเอ็นเอฟซีด้วย
ทั้งนี้ บริษัทจะดึงกรดซัลฟิวริก และกรดฟอสฟอริก ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยมาเพิ่มมูลค่าหรือขายให้กับลูกค้าโดยตรง ส่งผลให้ปริมาณปุ๋ยเคมีที่จะออกสู่ตลาดเพียง 300,000 ตันในปี 2548 กอปรกับบริษัทฯได้ปรับรูปแบบการทำตลาดปุ๋ยเอ็นพีเคจากเดิมที่เน้นขายตลาดขายส่งและขายปลีก มาเป็นการขายแบบซัปพลาย เซลส์ให้โรงผสมปุ๋ยในตลาดเพื่อทดแทนการนำเข้าประมาณ 80% ของกำลังการผลิต และที่เหลือจะเน้นตลาดนิชมาร์เกต โดยอาศัยความได้เปรียบด้านการขนส่งเพื่อรักษาแบรนด์ปุ๋ยแห่งชาติไว้ทำให้บริษัทฯไม่ต้องต่อสู้ในตลาดผู้ใช้ปุ๋ยเคมีโดยตรงเหมือนในอดีต เพราะปุ๋ยมีราคาต่ำ
ขณะเดียวกันจะปรับองค์กรให้มีความกระชับขึ้น โดยลดบุคลากรฝ่ายบริหาร และลดการเช่าโกดังที่ไม่จำเป็น เพื่อให้สอดคล้องกับขนาดขององค์กร ซึ่งจะทำให้สามารถปรับลดต้นทุนลงได้ถึง 20-25 ล้านบาทต่อปี
"เดิมเราเอาของมีมูลค่าไปทำปุ๋ยแล้วขายในราคาถูก ยิ่งทำมากยิ่งขาดทุน ดังนั้นเราจะเปลี่ยนโดยดึงส่วนที่มีมูลค่าออกมาทำตลาด ส่วนผลพลอย ได้คือปุ๋ยเคมี จะขายในราคาตลาด"
นายณัฐภพ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าปุ๋ยเคมีที่ผลิต ได้มีเพียง 3 แสนตัน แต่ก็ถือว่าโรงงานเดินเครื่องเต็มที่ 100% จากเดิมที่ใช้กำลังการผลิตเพียง 35% ของกำลังผลิต 1 ล้านตัน เพราะถือว่าเคมีภัณฑ์ที่ดึงมาทำตลาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งกำลังการผลิตปุ๋ย ส่งผลให้ปี 2548 บริษัทจะมีรายได้เติบโตถึง 300% เมื่อเทียบจากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท คิดเป็น 9 พันล้านบาท และในปี 2550 รายได้จะเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากโครงการขยายธุรกิจต่างๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์ด้านลอจิสติกส์จะแล้วเสร็จ ทำให้พื้นที่ที่เหลืออยู่ประมาณ 600 ไร่ในมาบตาพุดมีการใช้หมด ส่งผลให้ NFC พลิกโฉมกลายเป็นโรงงานเคมีภัณฑ์ที่มีปุ๋ยเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต
ด้วยศักยภาพด้านแฟซิลิตี้ด้านลอจิสติกส์ของปุ๋ยเอ็นเอฟซี จะมีการนำศักยภาพของโรงงานใกล้เคียงมาร่วมกันทำธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สำคัญ โดยพันธมิตรใหม่ที่จะร่วมมือนั้นอาทิ บริษัทในเครือปตท. เป็นต้น
นายณัฐภพ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการนำหุ้น NFC กลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นอีกครั้งนั้น ขึ้นอยู่กับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะได้ตั้งเงื่อนไข ให้บริษัทแก้ปัญหาเรื่องที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยเสียหายจากการลดทุน หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ก็จะสามารถกลับเข้าซื้อขายได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้ทาง บริษัทได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาแนวทาง ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีนายวิชัย ทองแตง เป็นผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ปัญหาผลกระทบ ของรายย่อยนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 26 ต.ค.นี้ พร้อมทั้งการขอมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 1.5 พันล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียน 4 พันล้านบาท และการแตกพาร์จากเดิมมีมูลค่าหุ้นตามบัญชีหุ้นละ 10 บาทเป็น 1 บาทด้วย ซึ่งหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวในความส่วนตัวต้องการขายให้ประชาชนทั่วไป (PO) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอขายได้ประมาณเดือนม.ค. 2548 ซึ่งเงินที่ได้จากการ เพิ่มทุนจะนำมาใช้ในโครงการลงทุนใหม่ดังกล่าวข้างต้น และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปชำระหนี้ของบริษัท ท่าเรือระยอง จำกัด (อาร์บีที)ให้กับการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จำนวน 258 ล้านบาท ส่วนเงิน ทุนหมุนเวียนอยู่ระหว่างการเจรจากู้เงินจากธนาคาร กรุงศรีอยุธยาจำนวน 2.5 พันล้านบาท คาดว่าจะได้ข้อสรุปอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
"ขณะนี้ทางบริษัทได้ฟ้องกนอ.เพื่อเรียกค่าเสียหายของอาร์บีทีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประมาณ 6 พันล้านบาท หลังจากกนอ.ได้ฟ้องแพ่งอาร์บีทีเรียก ชำระหนี้ สูงถึง 3 พันกว่าล้านบาท พร้อมทั้งจะยึดท่าเรือ ทั้งที่บริษัทอาร์บีทีเป็นหนี้กนอ.แค่ 258 ล้านบาท ส่วนที่กล่าวว่าอาร์บีทีจะขอปรับจากท่าเทียบเรือเฉพาะกิจที่รับสินค้าของปุ๋ยและปูนซิเมนต์ไทย เป็นท่าเรือพาณิชย์นั้น ความจริงบริษัทฯได้ปฏิบัติตาม ข้อกำหนดกนอ.มาตลอด หากต้องการขนสินค้านอกเหนือจะขออนุญาตจากกนอ.ก่อน" "โต้ง" ขู่เร่งแก้หนี้ก่อนเพิกถอน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซีจะต้องรีบดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งจะต้องคำนึงถึงนักลงทุนรายย่อยด้วย ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขตลาดหลักทรัพย์ก็จำเป็นที่จะดำเนินการเพิกถอนหุ้นบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซีออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์ก็ได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซี ซึ่งถ้าผู้ถือหุ้นให้ความร่วมมือดีตลาดหลักทรัพย์ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ
"การหารือระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับกลุ่ม ผู้ถือหุ้นของบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซีช่วงที่ผ่านมา กลุ่ม ผู้ถือหุ้นสอบถามว่าถ้ากลุ่มตนเองพร้อมให้ความร่วมมือ แต่อีกกลุ่มไม่ให้ความร่วมมือจะเป็นอย่างไร ก็ได้ให้คำตอบไปว่าตลาดหลักทรัพย์ก็คงจะต้องเพิกถอนบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนซึ่งก็ถือว่าเป็นความโชคร้ายของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ไม่สนใจนักลงทุนรายย่อยโดยกลุ่ม ที่ไม่ให้ความร่วมมือนั้นตลาดหลักทรัพย์ก็พร้อมที่จะขึ้นบัญชีดำซึ่งจะทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่สามารถเป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนได้อีกต่อไปส่วนกลุ่มที่ให้ความร่วมมือก็จะไม่ถูกขึ้นบัญชีดำแต่อย่างใด" นายกิตติรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ ช่วงที่ผ่านมาบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซีได้มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยได้มีการแปลงหนี้เป็นทุนและมีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเข้ามาถือในสัดส่วนต่างๆ โดยหลังบริษัทปุ๋ยเอ็นเอฟซีดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิมลดลงเหลือ 2.7% จาก 100% ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของรายย่อยโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยซึ่งเป็นตัวเชื่อมระหว่างนักลงทุนรายย่อยได้พยายามที่จะทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมซึ่งถือเป็นการทำงานที่น่าพอใจ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|