|

บอร์ดกรุงไทยลอยแพวิโรจน์"อุ๋ย"ฉวยจังหวะรัฐบาลขาลง
ผู้จัดการรายวัน(8 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
บอร์ดกรุงไทยกลับหลังหัน ยอมผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ไม่ให้ "วิโรจน์ นวลแข" รับตำแหน่งเอ็มดี "ชัยวัฒน์" อ้างขัดธปท.ไม่ได้ "ศุภรัตน์" ยอมรับคุณสมบัติเหมาะสม แต่เจอประกาศแบงก์ชาติย้อนหลัง ต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ หวั่นผู้บริหารแบงก์พาณิชย์ผวาอำนาจผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ กลัวถูกเล่นงาน ส่งผลเศรษฐกิจโดยรวมเสียหาย ชี้ "หม่อมอุ๋ย" ฉวยจังหวะรัฐบาลคะแนนตกต่ำเล่นงาน "วิโรจน์" สกัดแบงก์กรุงไทยปล่อยกู้สนองนโยบายรัฐ
วานนี้ (7 ต.ค.) คณะกรรม-การธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหา-ชน) (KTB) แถลงข่าวผลการประชุมเพื่อพิจารณาหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการแต่งตั้งนายวิโรจน์ นวลแข เป็นกรรมการผู้จัดการ ท่ามกลางสื่อมวลชนที่ไปทำข่าวอย่างคับคั่ง ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงไทย ตึกคิวเฮาส์ สุขุมวิท
หลังการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกรรมการเปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือตอบรับ ธปท. ที่ประชุมจึงมีมติเป็นเอก-ฉันท์ไม่ให้นายวิโรจน์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ซึ่งรายละเอียดใน หนังสือได้ระบุว่า นายวิโรจน์เป็นบุคคลต้องห้าม และมีคุณสมบัติขัด กับประกาศของธปท. ตามมาตรา 4.2 (8) ซึ่งว่าด้วยการปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารได้รับความเสียหาย และขาดความเชื่อมั่นในระบบ สถาบันการเงิน คณะกรรมการธนา-คารจึงไม่สามารถแต่งตั้งให้นายวิโรจน์ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งได้อีกครั้ง
"แม้กรรมการได้พิจารณาและยืนยันว่าคุณวิโรจน์เหมาะสมแล้วในหลักการเบื้องต้น และได้เสนอ ต่อแบงก์ชาติเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2547 หลังจากนั้นแบงก์ชาติได้มีการประกาศคุณสมบัติผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถาบันการเงินออกมา ทำให้คณะกรรมการต้องมีการ ตรวจสอบและสอบถามคุณวิโรจน์ในเรื่องดังกล่าวเพื่อยืนยันอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อได้รับหนังสือตอบรับจากแบงก์ชาติซึ่งมีข้อสรุปว่าไม่สามารถรับและแต่งตั้งได้ ดังนั้น คณะกรรมการจึงต้องปฏิบัติตามความ เห็นของแบงก์ชาติ" นายศุภรัตน์กล่าว
สำหรับขั้นตอนต่อไป ธนาคารจะแจ้งต่อกระ-ทรวงการคลังเพื่อขอนุมัติแต่งตั้งกรรมการสรรหาชุดใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นคณะกรรมการสรรหาชุดเดิมก็ได้ แต่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาได้ แต่โดยทั่วไปแล้วกระบวนการสรรหาจะใช้เวลาประมาณ 7-8 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังจะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยด้านการปฏิบัติโดยใช้หลักธรรมาภิบาล พื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำหลังจากนั้นจึงจะตรวจสอบใน เชิงปฏิบัติต่อไป เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะรายงานผลต่อธปท. ภายใน 2-3 วัน
นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า คณะกรรมการธนาคารไม่ได้มีความ ผิดพลาดในการคัดเลือกตัวบุคคล แต่ไม่ว่าธปท. จะมีความเห็นชอบอย่างไร ธนาคารก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตาม ซึ่งคณะกรรมการยืนยันว่า ไม่สามารถแต่ง ตั้งนายวิโรจน์ กลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการได้อีกครั้ง
"ที่ผ่านมาคุณวิโรจน์ได้ทำบันทึกวิสัยทัศน์ และการดำเนินงาน ในฐานะกรรมการผู้จัดการ ธนาคารตั้งแต่ช่วงปี 2544-2547 เสนอต่อคณะกรรมการธนาคารและผู้ที่เกี่ยวข้องในการพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าปฏิบัติหน้าที่ดีมาโดยตลอด และทางคณะกรรมการขอขอบคุณคุณวิโรจน์ ที่ช่วยเหลือให้ธนาคารก้าวมาไกลถึงขนาดนี้ ส่วนเรื่อง ที่ไม่สามารถแต่งตั้งได้ เป็นเรื่องของแบงก์ชาติ คิดว่าธนาคารได้ให้ความยุติธรรมในการพิจารณาตามข้อเท็จจริง" นายชัยวัฒน์กล่าว
นอกจากนี้ ส่วนกรณีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 14 ราย คณะกรรมการตรวจสอบ ได้สรุปผลเรียบร้อยแล้ว และจะส่งให้แก่ธปท. ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ตามที่ ธปท.กำหนดไว้ หม่อมอู๋ยขู่บอร์ด
ก่อนประชุมบอร์ดกรุงไทย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯการธปท. เปิดเผยว่าได้ส่งหนังสือคัดค้าน การแต่งตั้งนายวิโรจน์ไปให้บอร์ดธนาคารกรุงไทยพร้อมให้เหตุผลและชี้แจงอย่างชัดเจน
"แม้จะไม่ใช่คำสั่งแต่ผมคิดว่าบอร์ดกรุงไทยต้องทำตาม เพราะไม่เช่นนั้นคงต้องใช้มาตรา 22(8) เข้ามาดำเนินการ"
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่าได้ลงนามในหนังสือ ก่อนเวลา 12.00 น. และส่งกลับไปให้บอร์ดธนาคารกรุงไทยผ่านพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานบอร์ดกรุงไทย หนังสือดังกล่าวมีทั้งผลการพิจารณา และข้อเท็จจริงที่เกิดจากการดำเนินงาน ซึ่งเห็นว่านายวิโรจน์ไม่เหมาะสมที่จะกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย เนื่องจากมีคุณสมบัติที่ผิดกฎเกณฑ์คุณสมบัติของผู้บริหารสถาบันการเงิน
"แบงก์ชาติได้ให้เหตุผลที่ชัดเจนในหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถชี้แจงต่อสาธารณชนได้ เนื่อง จากจะไปกระทบต่อบุคคลที่ 3 ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา นายศุภรัตน์และนายชัยวัฒน์ เข้าพบม.ร.ว.ปรีดิยาธรที่ธปท. ใช้เวลาเข้าพบประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนเดินทางกลับ สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ชะงัก"
เอ็มดีแบงก์ผวา "อุ๋ย" เล่นงาน
แหล่งข่าวธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่าการที่ธปท. เล่นงานนายวิโรจน์ ไม่เพียงส่งผลต่อการทำงานของกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทยคนใหม่และผลการดำเนินงานของธนาคารในอนาคต แต่ยังทำให้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบหวาดเกรงว่าจะถูกผู้ว่าฯธปท.เล่นงานเหมือนกรณีนายวิโรจน์ การปล่อย สินเชื่อในระบบธนาคารก็จะชะงัก ในที่สุดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
ทั้งนี้ การที่ธปท.สั่งให้ธนาคารกรุงไทยจัดชั้นหนี้ลูกค้าจำนวน 14 ราย เป็นหนี้เสีย 4.6 หมื่นล้านบาทและต้องกันสำรองเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ร่วม (ซินดิเคต โลน)กับธนาคารกรุงไทย มีลูกค้ารายเดียวกัน ต้องจัดชั้นหนี้และตั้งสำรองในสัดส่วนที่เท่ากัน ดังนั้นหนี้เสียทั้งระบบจะเพิ่มขึ้น
ต่อไปผู้บริหารแบงก์จะพะวงกับการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากกลัวว่าจะไม่ถูกใจแบงก์ชาติ โดยเฉพาะการนำหลักเกณฑ์ใหม่ที่อ้างกฎบาเซิล ทู ที่ยังไม่มีความชัดเจน คำถามก็คือการปล่อยสินเชื่อแต่ ละครั้งต้องถามแบงก์ชาติก่อนหรือไม่ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติต้องชี้แจงประเด็นและปัญหาเหล่านี้ให้ชัดเจน
นอกจากนี้ การแต่งตั้งผู้บริหารฝ่ายจัดการของ ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารของรัฐก็จะต้องให้ธปท.เป็นผู้ชี้ขาด คณะกรรมการธนาคารก็คงจะต้องลดบทบาท แฉออกกฎขวางนโยบายรัฐ
เชือดวิโรจน์จังหวะรัฐขาลง
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังกล่าวว่าในช่วงแรกของการทำหน้าที่ผู้ว่าฯธปท. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร สนองนโยบายรัฐบาลทักษิณ แต่มักไม่ได้รับความสนใจในบทบาทของธปท.เกี่ยวกับการกำกับดูแลเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้กำกับทั้งเศรษฐกิจมหภาคและสถาบันการเงิน โดยกระทรวงการคลังใช้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐอย่างธนาคารกรุงไทยก็เดินหน้าปล่อยกู้ตามนโยบายรัฐ โดยไม่จำเป็นต้อง ฟังหรือรอให้ธปท.สั่งการ ทำให้การดำเนินนโยบายและมาตรการของธปท. ที่พยายามควบคุมหรือแตะเบรกไม่สามารถทำได้
"จริงๆ แล้วหม่อมอุ๋ยเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาตั้งแต่ต้น พยายามออกมาตรการที่ค้านกับนโยบาย แต่ในช่วงแรกรัฐบาลยังแข็งแกร่งและได้รับความนิยมจากประชาชน เมื่อเอกชนโวยมาตรการของแบงก์ชาติ หม่อมอุ๋ยจึงต้องถอยฉากเป็นระยะๆ"
กระทั่งช่วงหลัง เมื่อรัฐบาลเริ่มมีคะแนนความ นิยมลดลง ความชัดเจนในการคุมสินเชื่อธุรกิจอสังหาฯของธปท.เริ่มออกมาอีกครั้ง ล่าสุดหยิบยกสินเชื่อที่อ้างว่ามีปัญหาตามเกณฑ์ใหม่ ได้แก่ บาเซิล ทู ซึ่งเป็นกติกาที่จะนำมาใช้ในปี 2550 เน้นการกันสำรองที่เข้มงวดมากขึ้นหรือแม้แต่ข้ออ้างเรื่องกระแสเงินสดที่ไม่มีมาตรฐาน โดยพุ่งเป้าไปที่ธนาคาร กรุงไทยช่วงที่นายวิโรจน์กำลังจะกลับมาเป็นกรรมการผู้จัดการรอบ 2
แหล่งข่าวกล่าวว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรใช้ข้อมูลฝ่ายตรวจสอบของธปท.เกี่ยวกับลูกค้าสินเชื่อของธนาคารกรุงไทย 14 รายขึ้นมา เพื่อเอาผิดกับผู้บริหาร ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเล่นบทบาทเป็นแกนนำในการปล่อยสินเชื่อสนองนโยบายรัฐบาล แต่ผลการตรวจสอบล่าสุดจากคณะตรวจสอบของธนาคารระบุว่าสิน เชื่อส่วนใหญ่ยังปกติ มีเพียงสินเชื่อกลุ่มกฤษดามหา-นครที่เข้าข่าย แต่ก็กำลังแก้ไขให้กลายเป็นสินเชื่อปกติ
"มาถึงขั้นนี้แล้วหม่อมอุ๋ยไม่ยอมเสียหน้าจึงเดินหน้าเล่นงานคุณวิโรจน์ ในฐานะฝ่ายจัดการ โดยยังไม่รอผลตรวจสอบสินเชื่อทั้ง 14 รายจากแบงก์กรุงไทยในวันที่ 10 ต.ค.นี้ และแทนที่หม่อมอุ๋ยจะเล่น งานบอร์ดกรุงไทยด้วย กลับไม่กล้าเพราะรู้ดีว่าบอร์ด เป็นตัวแทนกลุ่มผู้มีอำนาจและการเมือง ดังนั้นคุณวิโรจน์คือแพะ"
แหล่งข่าวยืนยันว่าการที่สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบชะงัก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของ ประเทศ เป็นเป้าหมายของการทำลายและเล่นงานรัฐบาลโดยใช้อารมณ์และวาระซ่อนเร้น ในจังหวะที่รัฐบาลอ่อนแอ
ทั้งนี้ ในภาวะที่รัฐบาลอยู่ในช่วงขาลง ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ได้ออกมาใช้จังหวะออกมาตรการหรือนโยบายต่างๆ ที่สวนทางกับนโยบายการแก้ไขปัญหา เศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะช่วงปี 2547 เช่น วันที่ 25 ส.ค. 47 ธปท.ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น (อาร์/พี) 14 วัน จาก 1.25% เป็น 1.50% เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยอาร์พีถือเป็น การส่งสัญญาณนโยบายการเงินของประเทศ และทำให้แนวโน้มปีหน้าคาดว่าทิศทางดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจุดนี้จะกระทบกับความมั่นใจในการบริโภค และจะทำให้ความสามารถการชำระหนี้ของประชาชนลดลง จากที่ก่อนหน้ารัฐบาลได้ส่งเสริมการอุปโภค ภายในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการคุมเข้ม ธุรกิจบัตรเครดิต การออกหลักเกณฑ์คุมเข้มภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีมูลค่าโครงการ 100 ล้านบาท ขึ้นไปต้องรายงานข้อมูลให้กับธปท. พร้อมกำหนดให้ลูกค้าที่ซื้อบ้านราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางเงินดาวน์สูงถึง 3 ล้านบาท
แหล่งข่าววงการอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า การคุมเข้มสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธปท. ที่อ้างว่าเพื่อเป็นการชะลอความร้อนแรงของธุรกิจ ได้ส่งผลกระทบกับการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ไม่กล้าปล่อยกู้สินเชื่ออสังหาฯทันที ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดยเฉพาะมาตร-การการวางเงินดาวน์ 3 ล้านบาท ทำให้ยอดขายบ้าน สะดุด
"กระทรวงการคลังไม่ค่อยพอใจ กับการที่ธปท. ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พี เพราะแนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตาม จะทำให้ความสามารถในการซื้อของคนไทยลดลง"
นอกจากเรื่องอสังหาริมทรัพย์แล้วยังมีเรื่องการ ลดเป้าตัวเลขจีดีพี และการควบคุมบัตรเครดิต โดยธปท.ก็เริ่มเข้ามาคุมธุรกิจบัตรเครดิตปลายปี 2545 โดยได้ออกประกาศคุมเข้มธุรกิจบัตรเครดิต กำหนดให้ผู้ที่จะทำบัตรได้ต้องมีรายได้ 1.5 หมื่นบาทขึ้นไป พร้อมกับกำหนดเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตให้สถาบันการเงิน ผู้ออกบัตรเครดิตคิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 18% ส่วนวงเงินชำระขั้นต่ำกำหนดไว้ที่ 5% ของยอดหนี้คงค้าง
รายงานข่าวกล่าวว่า การเข้ามาคุมเข้มบัตรเครดิตของธปท.ถือเป็นสัญญาณแรกที่ผู้กุมนโยบาย เริ่มเข้ามาดูแลในฐานะผู้กำกับ และล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ธปท.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประ-กอบธุรกิจบัตรเครดิตอีกครั้ง โดยการเพิ่มอัตราการผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ จากเดิมไม่น้อยกว่า 5% มาเป็นไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น โดยให้ถือปฏิบัติสำหรับผู้ถือบัตรรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 และผู้ถือบัตรรายเก่าตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2550 เป็นต้นไป และให้ยกเลิกการใช้บัตรเครดิตกรณีผู้ถือบัตรมีการผิดนัดชำระหนี้เกินกว่า 3 เดือน นับแต่วันครบกำหนดชำระ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|