อำลา-อาลัย? เมื่อสุรัตน์ ลงจากเวที


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

เปล่าเลย มิใช่เป็นการหมิ่นประมาทคนระดับรัฐมนตรี -- มิบังอาจ แต่อาจโค้ดมาจากถ้อยคำของรัฐมนตรีเอง ที่กล่าวต่อหน้าธารกำนัลคนสื่อข่าว และจอทีวีทั้ง 5 ช่องที่แพร่ภาพออกไปทั่วประเทศ ตะหาก ... ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ผู้นั้นปรารภในวันประชุม ครม. ตอนหนึ่งในช่วงที่กำลังมีเรื่องของตัวเองเข้าไปเกี่ยวพันในกรณีอื้อฉาวไม้ซุงเถื่อนจากพม่าว่า

“... กระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างที่เขากล่าวว่า ต้องคนหน้าหนาหน่อย ต้องทนได้ เพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ทั้งนั้น อยู่เฉยเมื่อมีปัญหา ไม่แก้ปัญหาก็ต้องโดน (ด่า) ถ้าแก้ปัญหาทางซ้าย ทางขวาเสียผลประโยชน์ ก็ต้องโดน (ด่า) เดินอีกทาง อีกทางเสียผลประโยชน์ก็ต้องโดน (ด่า) ... ก็ต้องทนเอาหน่อย…”

คงต้องให้รางวัลเแชมป์ “โดนด่า” รัฐมนตรีที่มาจากอาชีพพ่อค้าผู้นี้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งจริงๆ เพราะนับตั้งแต่ที่ท่านเข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์ ในระยะปลายรัฐบาลเปรม 4 ภายหลังที่ “นักเลงโบราณ” -โกศล ไกรฤกษ์ ลุกออกไปด้วยความคับแค้นเป็นต้นมา ก็ปรากฏว่าส่ำเสียงโจมตีในด้านลบที่มีต่อสุรัตน์ดังขึ้นอยู่ไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตามที่เจ้าตัวมีหน้าที่ต้องเข้าไปจัดการปัญหานั้น ๆ

ปัญหาการประกันราคาข้าวเปลือกของชาวนาก็ดี ปัญหาเรื่องมันสำปะหลังที่ต้องไปเซ็นสัญญาโควตากับอีอีซี. ก็ดี (ที่วิจารณ์กันว่าเป็นสัญญาทาส) ปัญหาการอนุมัตินำเข้ากากถั่วเหลือง กระทั่งปัญหาการโยกย้ายข้าราชการในกระทรวงฯ จนมาถึงรายการโดนด่าล่าสุดที่ไปอนุญาตให้สองบริษัทเอกชนนำเข้าไม้ซุงที่มีใบรับรองถิ่นกำเนิด เนื่องจากเป็นของกองกำลังกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลร่างกุ้งเป็นจำนวนกว่า 8 หมื่นลูกบาศก์เมตร มูลค่าหลายร้อยล้านบาท กลายเป็นข้อครหาและเคลือบแคลงในเบื้องหน้าเบื้องหลังขึ้นมา

สำหรับสื่อมวลชนที่จับเรื่องนี้แบบไม่ปล่อยนั้น ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือไทย-พม่า ที่คนในรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศเป็นห่วง อาจไม่หนักหนาเท่ากับความรู้สึกคลางแคลงที่ว่า อาจมีเงื่อนงำในการคอร์รัปชั่นแอบแฝงอยู่ในการอนุมัติดังกล่าว เพราะผลประโยชน์มหาศาลทีเดียว

ท่ามกลางความสนใจในห้องแถลงข่าวบ่ายวันนั้น ซึ่งพุ่งไปที่จุดเดียวกัน คือตัวสุรัตน์ ที่มาจากพรรคกิจสังคมผู้นี้อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างกับการถูกปล่อยเกาะ ขาดผู้ช่วยเหลือสนับสนุน แม้แต่ผู้ให้ความเห็นใจโฆษกรัฐบาล-มีชัย วีระไวทยะเอง ซึ่งมีหน้าที่สร้างความเข้าใจ และปกป้องคนของรัฐเมื่อจำเป็น กลับเหมือนจงใจที่จะวางเฉย และแสดงท่าทีราวกับธุระไม่ใช่อย่างเห็นชัด

ทันทีที่บ่ายสามโมงตามกำหนดแถลงข่าวทุกวันอังคารของการประชุม ครม. ได้พบแต่รัฐมนตรีสุดารัตน์ พร้อมด้วยผู้ใกล้ชิดไม่กี่คนก้าวเข้ามาในห้องด้วยทีท่าเคว้งคว้าง โฆษกมีชัยก็ยังไม่มา สุรัตน์จึงได้แต่อ้อมๆ แอ้มๆ กับผู้สื่อข่าวที่มานั่งคอยอยู่ก่อนจำนวนหนึ่ง ในเชิงขอให้เขียนคำถามล่วงหน้า เพื่อที่ตัวเขาจะได้เตรียมคำตอบได้ถูกต้อง แต่ก็ไม่สู้จะได้รับความร่วมมือสักเท่าไหร่

เช่นเดียวกับความแห้งแล้งน้ำใจที่ได้รับจากผู้ใหญ่กระทรวง เท่าที่เห็นมีตั้งแต่ระดับว่าที่ปลัดกระทรวง--พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา, อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ-- อรนุช โอสถานนท์ และอธิบดีอีกท่านหนึ่งที่บังเอิญ “ผู้จัดการ” สายทำเนียบรัฐบาลไม่คุ้นหน้า ซึ่งสุรัตน์อุตส่าห์ขนมาช่วยชี้แจง กลับนั่งเรียงกันเป็นพระอันดับ สงบปากสงบคำ อยู่ทางปีกซ้ายของฟลอร์แถลงข่าว อย่างดีก็ฉีกยิ้มเป็นครั้งคราวเท่านั้น

นักข่าวสายตาดีบางคนกระซิบให้ “ผู้จัดการ” ฟังว่า เห็นท่านอธิบดีอรนุช เธอหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่าน
ฆ่าเวลาระหว่างที่รัฐมนตรีกระทรวงฯ เธอกำลังขึ้นเขียงอยู่ด้วยซ้ำไป มิไยที่สุรัตน์เองจะหันรีหันขวางอยู่หลายครั้ง ทำนองขอให้ลูกน้องขึ้นมาช่วยพูดบ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากสวรรค์

รัฐมนตรีสุรัตน์ได้แต่ปลอบใจตัวเองด้วยการหัวเราะกลบเกลื่อนเป็นพักๆ ระหว่างที่ตัวเองกำลังตอบคำถามนักข่าว ยังไงก็ตามต้องยกย่องในความยืนหยัด และมีน้ำอดน้ำทนโดยแท้ในครั้งนี้ของสุรัตน์ แม้จะเป็นการยืนหยัดอย่างอ้างว้างอยู่สักหน่อย

“รัฐมนตรีช่วยฯ ของผมมีอะไรที่จะเพิ่มเติมหรือเปล่า” สุรัตน์ หันไปทางชูชีพ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยต่างพรรคที่เพิ่งเข้ามานั่งร่วมฟังในช่วงหลัง คำตอบที่ได้คือการหัวเราะแหะๆ

ในความรู้สึกของนักข่าวด้วยกันที่ฟังคำชี้แจงของสุรัตน์ โดยตลอดส่วนหนึ่งเข้าใจและยอมรับในเหตุผลของ
รัฐมนตรีที่พยายามชักจูงให้เห็นถึงผลประโยชน์ของชาติที่จะได้รับจากไม้ซุงล็อตนี้ แม้จะเป็นไม้ผิดกฎหมายก็ตาม “ทุกประเทศเขาไม่ถามกันหรอกว่าของเถื่อนเข้ามาได้อย่างไร เพราะประเทศเขาได้ประโยชน์ ผมอยากถามว่าทำไมที่กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ไปต้องกลายเป็นความผิด” ตอนหนึ่งที่สุรัตน์ ชี้แจง

สุรัตน์ ยังได้กล่าวถึงสภาพการณ์ที่เมืองไทยนับวันจะขาดแคลนไม้มากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมด้านนี้นำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 3 พันล้านบาท นี่คือผลประโยชน์ที่ไทยต้องช่วงชิงและรักษาไว้ทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ ถึงแม้จะไปกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเข้าบ้าง เป็นหน้าที่ที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องไปดำเนินการ "โอ้โลมปฏิโลม" ให้ได้

"คนไทยเรานี่ใจดีเกินไปในเรื่องความสัมพันธ"์ (กับต่างประเทศ) เรากลัวแขก กลัวประเทศโน้นประเทศนึ้เขาจะว่าเอา แล้วพยายามเอาอย่างประเทศร่ำรวย.. ดูอย่างเกาหลี ไต้หวันซิ หนังสือพิมพ์เขาก็ก๊อปปี้ (สินทรัพย์ทางปัญญา) สหรัฐฯ ว่ายังไงเขาก็เฉย ญี่ปุ่นเองแม้บัดนี้เขายังมีบางพวกที่ไม่ยอมให้สินค้าหลายอย่างของสหรัฐฯ เข้า แต่คนไทยเรานั้นยอมเสียหมด ผมว่าไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง"

สุรัตน์เรียกร้องว่า "คนไทยควรเหี้ยมกว่านี้หน่อย ดูให้ถึงเนื้อแท้ว่าตกกับผลประโยชน์ส่วนรวมของ
คนไทยหรือเปล่า? อย่างไรก็ตาม ข้อยกเว้นของสุรัตน์ก็มีอยู่เหมือนกัน นั่นคือ "ถ้าทำไปแล้วเกิดผลในทางความมั่นคงของประเทศ ก็ไม่ควรกระทำ"

สิ่งที่พลาดของสุรัตน์ ในการแถลงข่าววันนั้น คงจะเป็นความตรงไปตรงมามากเกินไป ทั้งที่สวมหัวโขนเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลอยู่ เขาไม่ควรเลยเถิดไปถึงการดึงเอาความไม่ถูกต้องทั้งหลายทั้งปวงในบ้านเมือง มาอ้างความชอบธรรมในการทำงานของตนเอง ซึ่งลงขนาดคนเป็นรัฐมนตรีไม่ยอมรับในกฏเกณท์ของสังคมเสียแล้ว คงเป็นเรื่องยากที่จะให้ประชาชนธรรมดาเคารพกฏบัตรกฏหมาย

ไม่มีใครปฏิเสธว่าการค้าขายริมถนนทุกวันนี้หรือประดารถสิบล้อ ต่างหลบเลี่ยงภาษีหลบเลี่ยงกฎหมาย หรือแม้แต่ความไม่ถูกต้องจะเข้าไปสิงสู่ในชีวิตประจำวันแล้วก็ตาม แต่เรื่องทำนองนี้ควรแล้วหรือ ที่รัฐมนตรีผู้ร่วมบริหารประเทศจะนำมาพูดในที่แจ้ง

ขณะเดียวกัน ประเด็นเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล ทำนองอาจมีการทุจริตคอรัปชั่น ไม่ว่าจะเรื่องไม้เถื่อนนี้หรือเรื่องอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ยากจะพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่เพียงไร สุรัตน์เองก็ไม่ได้ยืนยันหรือปฏิเสธ แต่สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งค่อนข้างปักใจว่า ต้องมีสิ่งไม่สะอาดซ่อนอยู่แน่ คำถามที่พยายามต้อนสุรัตน์เข้ามุมนี้จึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นี่อาจถือเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เรื่องทุกเรื่องลงได้สุรัตน์จับแล้วละก็ มักเกิดเป็นข่าวใหญ่โตแทบทุกครั้งไป

"ผมยืนยันได้ว่ายังไม่มีการนำไม้เข้ามาแต่อย่างใด" รัฐมนตรีพาณิชย์เน้นเสียงหนักแน่น เมื่อถูกซักไซ้จากนักข่าว ระดับ "เจ๊" รายหนึ่ง ให้ชี้แจงข่าวที่ว่า บริษัทที่ได้รับอนุญาตได้นำไม้เข้ามาแล้ว
3-400 ล้านบาท แม้ท้ายสุดจะคืนใบอนุญาตให้กับสุรัตน์ โดยอ้างว่าไม่สามารถนำไม้เข้ามาได้แล้วก็ตาม
ผลของการคืนใบอนุญาตนี้ก็ยิ่งทำให้หลายคนเข้าใจไปว่า มีสาเหตุมาจากแรงกดดันของพลเอกเปรม ที่แสดงความไม่พอใจในกรณีที่เกิดขึ้นถึงกับมีข่าวว่าได้เรียกสุรัตน์เข้าไปซักถามโดยตรง

แต่สุรัตน์ปฏิเสธแข็งขัน "กับผมไม่เคยเรียกเข้าพบ แต่กับคนอื่นผมไม่ทราบ"...แกมประชดประชันด้วย

สุรัตน์ไม่เพียงเจอศึกหนักตกเป็นเป้าโจมตีไม่เว้นวันในหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้น แต่ดูท่ายังโดนล้อมกรอบจากคนที่ร่วมชายคารัฐบาลเดียวกัน ไปจนถึงฝ่ายทหารบางกลุ่มในระดับบิ๊ก ที่นำข้อมูลหลายชิ้นแฉโพยแก่สื่อมวลชน รวมทั้งคอยสะกัดกั้นไม่ให้มีการนำเข้าไม้ล็อตนั้นด้วย สาเหตุจะด้วยขัดผลประโยชน์กันเอง หรือมีเจตนาบริสุทธิ์ก็สุดคาดเดา แต่กรณีอื้อฉาวหนนี้คงไม่จบง่าย ๆ

ก็ขนาดพูดกันให้แซ่ดในรังนกกระจอกที่ทำเนียบฯ ว่า คนนั่งในครม. และมีหน้าที่สร้างภาพพจน์รัฐบาลถึงกับโดดลงมาไกด์ประเด็นซักฟอกสุรัตน์ให้แก่นักข่าวบางฉบับ ยามค่ำคืนก่อนหน้าวันนั้น ด้วยชั้นเชิงจิตวิทยาประชาสัมพันธ์ที่ตนช่ำชองอยู่แล้วด้วยตัวเอง พร้อมทั้งใส่ไฟลับหลัง ก็มิพักต้องพูดกันละว่า - ไฉนสุรัตน์จึงหัวเดียวกระเทียมลีบนัก

แต่สุรัตน์ก็ได้ประกาศอย่างไม่ระย่อไว้แล้วว่า พร้อมจะไปตอบคำถามและชี้แจงในสภาผู้แทนราษฎร ทันทีที่ญัตติด่วนจากฝ่ายค้านบรรจุเข้าวาระการประชุม "ผมพร้อมจะเป็นหนูตะเภา"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.