2หุ้นฝ่าคอมพ์ล่มเหนือจอง


ผู้จัดการรายวัน(6 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

2 หุ้นน้องใหม่ฝ่าด่านระบบซื้อขาย 19 โบรกฯล่มเหลือเทรดได้แค่รอบบ่าย ปิดตลาดเหนือจอง โกลเบล็กฯ เพิ่มขึ้น 40% โฟคัส เพิ่มขึ้น 5.11% "ช่วงชัย" ชี้กระทบหุ้น ขณะที่บล.กิมเอ็ง แกนนำขายหุ้น GBX เชื่อระยะยาวธุรกิจโตต่อ ด้านโฟคัส คาดปีหน้ากำไรขั้นต้น 8-15% หลังเข้าตลาด MAI สามารถรับงานได้เพิ่มเป็น 1,000 ล้านบาท

เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.) หุ้นบริษัทโฟคัส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอน-สตรัคชั่น (FOCUS) และหุ้นบริษัทโกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เป็นวันแรก ซึ่งเดิมถูกมองว่าเข้าซื้อขายถูกจังหวะเนื่องจากดัชนีตลาดหุ้น ไทยปรับตัวขึ้นเฉียด 680 จุด มูลค่าการซื้อขายก็หนาแน่น 3 หมื่นกว่าล้าน นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อสุทธิอีกเกือบ 3 พันล้านบาท แต่เมื่อถึงเวลา 10.00 น. กลับปรากฏว่าตลาดหลักทรัพย์ฯไม่สามารถเปิดให้ทำการซื้อขายได้ เนื่องจากระบบการส่งคำสั่งซื้อขายของ โบรกเกอร์จำนวน 19 รายมีปัญหาขัดข้องเป็นผลต้องมีการเลื่อนเวลาการซื้อขายหุ้นออกมาในช่วงบ่ายเวลา 14.30 น.

หุ้น FOCUS ซึ่งเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ใหม่ หรือ MAI เปิดตลาดซื้อขายที่ 5.15 บาท ปิดที่ 4.52 บาท เพิ่มขึ้น 0.22 บาท หรือ 5.11% จากราคาจอง 4.50 บาท และหุ้น GBX เปิดตลาดซื้อขายที่ 3.90 บาท ปิดที่ 3.22 บาท เพิ่มขึ้น 40% จากราคาจอง 2.30 บาท

นายอนุชา สิหนาทกถากุล ประธานกรรมการ บริษัทโฟคัส เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การที่ระบบการส่งคำสั่งซื้อขายมีปัญหานั้นไม่มีผลกระทบต่อหุ้นของบริษัทแต่อย่างใด เพราะไม่ใช่แต่หุ้นของบริษัทเท่านั้นที่ไม่มีการซื้อขายแต่หุ้นทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่สามารถซื้อขายได้เช่นเดียวกัน โดยมีความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้สินแต่อย่างใด และราคาจอง หรือไอพีโอ ที่หุ้นละ 4.50 บาทนั้นเป็นการกำหนดในช่วงที่ดัชนีอยู่ที่ระดับ 600 จุด และค่าพี/อี เรโชก็อยู่ในระดับต่ำ แต่ปัจจุบันดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับภาวะตลาดหุ้นโดยรวมในช่วงที่ผ่านมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

นอกจากนี้การที่บริษัทขายหุ้นเพียง 25 ล้านหุ้น หรือ 20% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก เนื่องจากบริษัทไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยปัจจุบันนี้บริษัทมีงานที่เซ็นสัญญาไปแล้วจำนวน 560 ล้านบาทและยังมีงานก่อสร้างอีก 6 โครงการคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ที่เตรียมจะเซ็นสัญญาภายในเร็วๆ นี้ โดยรายได้ดังกล่าวจะสามารถรับรู้รายได้ภายในปีหน้า สำหรับในปีหน้าบริษัทยังมีโอกาสที่จะรับงานเพิ่มขึ้น โดยงานที่บริษัทรับจะมีอัตรากำไรขั้นต้นประมาณ 8-15% ซึ่งบริษัทคาดว่าหลังจากที่บริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะทำให้บริษัทมีความสามารถ ในการรับงานปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงคาดว่าผลประกอบการของบริษัทจะเพิ่มขึ้น

นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ โกลเบล็ก โฮลดิ้งแมเนจเม้นท์ ถือหุ้นอยู่ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบซื้อขายทำให้เลื่อนเวลาซื้อขายหุ้นออกไปเชื่อว่ามีผลกระทบต่อหุ้นโกลเบล็กฯ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงเช้าตลาดหลักทรัพย์จะไม่สามารถเปิดซื้อขายหุ้นได้ แต่ด้วยศักยภาพของบริษัทโกลเบล็กฯทำให้ราคาหุ้นโกลเบล็กมีการเปิดขึ้น เหนือราคาจอง

ทั้งนี้ การระดมทุนของโกลเบล็กฯก็เพื่อขยายธุรกิจ โดยขณะนี้บริษัทประกอบธุรกิจอยู่ 2 ประเภท คือ ธุรกิจหลักทรัพย์ ดำเนินการโดยบริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก จำกัด ประกอบด้วย ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจการค้าหลักทรัพย์ ทั้งตราสารทุนและตราสารหนี้ รวมถึงบริการจัดจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ และธุรกิจ ที่ปรึกษาทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ดำเนินงานโดยบริษัท โกลเบล็ก แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด ทั้งการออก และขายหลักทรัพย์ การจัดทำแผนดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูกิจการ และการปรับโครงสร้างทางการเงิน

สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ โกลเบล็กฯ ประกอบด้วย ตระกูลคูหาเปรมกิจ ถือหุ้นในสัดส่วน 79.81% ของทุนจดทะเบียนหลังไอพีโอและมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้น บมจ.โกลเบล็กฯ กล่าวว่า การหยุดการซื้อขายในช่วงเช้าอาจจะส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาหุ้น แต่ทั้งนี้ด้วยศักยภาพของบริษัททั้งการดำเนินงาน บุคลากร เชื่อว่าราคาหุ้นจะสามารถปรับขึ้นได้ และจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนได้แม้ว่าจะไม่สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ควบคุมไม่ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.