เชียงใหม่กำลังจะมีอายุครบ 700 ปี ความเป็นศูนย์กลางธุรกิจภาคเหนือกำลังถูกควานหาความหมายอย่างคร่ำเคร่ง
จากเส้นทางเดินทางในประวัติศาสตร์ ที่ระบบเศรษฐกิจของเชียงใหม่ถูกครอบงำด้วยอิทธิพลต่างๆ
จากภายนอกนั้น ในอนาคตหลัง 700 ปีกลุ่มธุรกิจในเชียงใหม่ทั้งหลายจะสามารถสร้างโครงสร้างธุรกิจใหม่ที่เติบโต
และมีความเป็น "ไท" ในตัวเองอย่างแท้จริงหรือไม่!?"
ความเหิมเกริมของเจ้านายเมืองเหนือที่แข็งข้อก่อกบฏ "เงี้ยวเมืองแพร่"
ขึ้นในปี พ.ศ. 2443 สืบเนื่องจากความไม่พอใจต่อรัฐบาลกลางที่เข้ามายุ่มย่ามริดรอนสิทธิประโยชน์ต่างๆ
จากกิจการป่าไม้ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักที่ชนชั้นศักดินาส่วนนี้เคยย่ามใจ
กอบโกยกันมาอย่างชอบธรรมตามฐานะทางสังคม
แรงปะทุครั้งนั้นที่ต้องมีการกำราบปราบพยศกันอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ นับเป็นข้อต่อแรกที่เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจภาคเหนืออย่างแท้จริง
จากที่เคยสวม "หน้ากาก" ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนจากพม่าเป็นหลัก กลายมาเป็นความลำพองแข็งกร้าวจากกลุ่มพ่อค้าจีน
ที่ขยายอิทธิพลเข้ามาพร้อมๆ กับการสร้างทางรถไฟสายเหนือที่เริ่มสร้างไล่เลี่ยกับการปราบกบฏ
ซึ่งไปแล้วเสร็จปลายทางที่เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2464 และแปรรูปจากระบบผลิตพึ่งพามาเป็นระบบค้าด้วยเงินตราแทน
และนั่นก็เป็นการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ "เชียงใหม่"
เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของแผ่นดินล้านนาอย่างมั่นคงและหนักแน่นนับเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่ารูปลักษณ์ของการเติบโตจะถูกครอบงำด้วยอิทธิพลของทุนจากที่อื่นที่ไม่ใช่ทุนท้องถิ่นก็ตามที!!?"
อาการพลุ่งโพล่งทางการค้าของกลุ่มพ่อค้าคนจีนเติบใหญ่อย่างค่อนข้างก้าวร้าวมากขึ้น
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (2484-2488) ภาวะขาดแคลนสินค้าในช่วงเวลานั้น
ทำให้กลุ่มพ่อค้าคนจีนภาคเหนือฉกฉวยสถานการณ์สร้างความร่ำรวยกันมากหน้าหลายตา
โดยเปิดตลาดชายแดนเข้าไปในพม่ากับเมืองเชียงตุงเพื่อส่งมอบสินค้าแก่กองทัพญี่ปุ่นอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้ยังได้มีการค้า "ฝิ่นเถื่อน" อย่างเป็นล่ำเป็นสันเพิ่มมากขึ้นด้วย
เพราะฝิ่นจากอินเดียและอิหร่านที่เคยตีตลาดโลกปรากฏว่า ในภาวะสงครามไม่สามารถสนองตอบได้เต็มที่
ทำให้ฝิ่นไทยจากภาคเหนือกลายเป็นขุมใหญ่แทนขึ้นมาทันที บรรดาพ่อค้าทั้งหลายจึงหันมาค้า
"ฝิ่นเถื่อน" ควบคู่ไปกับการค้าขาย
กลวิธีอันแยบยลดังกล่าว ทำให้กลุ่มพ่อค้าที่เป็นคนจีนเสียส่วนใหญ่สามารถสะสมทุนขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว
จนแทบกล่าวได้ว่าความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในภาคเหนือปัจจุบันนี้นั้น
หลายรายทีเดียวที่ "หลังฉาก" เปื้อนคาวไปกับการค้าฝิ่น การขยายตัวดังกล่าวยังผูกโยงความสัมพันธ์ค่อนข้างเด่นชัดของกลุ่มทุนทางภาคเหนือ
กับกลุ่มการเมืองที่ทรงอิทธิพลบารมีในกรุงเทพฯ อีกด้วย
กลุ่มการเมืองที่ถูกหล่าวหาว่าเป็นผนังพิงต่อการค้า "ฝิ่นเถื่อน"
ได้แก่ กลุ่ม พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เจ้าของคำขวัญสะท้านเมือง
"ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" เป็นแกนนำกับกลุ่มจอมพลผ้าขะม้าแดง
สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ลงทุนตั้งฐานบัญชาการใหญ่ที่ลำปาง สองกลุ่มนี้ชิงดีชิงเด่นกันอย่างหนักหน่วง
เรียกได้ว่าชีวิตคนค้าฝิ่นช่วงนั้น บางครั้งแทบจะหาสนนราคาอะไรไม่ได้เลย!!!
รายงานขององค์การต่อต้านยาเสพติดโลกระบุว่า ความมั่นคั่งของพล.ต.อ.เผ่า
ศรียานนท์ และบรรดาผู้ที่ซื่อสัตย์จงรักภักดีทั้งในภาคเหนือ-กรุงเทพฯ เป็นจริงขึ้นมาได้นั้น
เป็นเพราะว่าสามารถสร้างสายงานลำเลียงฝิ่นที่ใหญ่ที่สุดของโลก เชื่อมต่อกับกลุ่มก๊กมินตั๋งได้สำเร็จเมื่อปี
พ.ศ. 2498
จะเห็นได้ชัดเจนว่าการสะสมทุนของกลุ่มภาคเหนือโดยส่วนใหญ่หลังปี พ.ศ.2464
เป็นต้นมานั้น มาจากเส้นทาง 3 สายใหญ่ๆ คือ หนึ่ง-จากป่าไม้ สอง-จากการค้าฝิ่นและต้มกลั่นเหล้า
สาม-จากการปล่อยเงินกู้โดยเฉพาะในกลุ่มพ่อค้าคนจีน อาทิเช่น ตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมา
ที่ปล่อยกู้เสียจนกลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ในเวลาถัดมา
ความเป็นคนที่มักจะเจ้าสำราญ ต้องใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายและเกินตัวของเจ้านายเมืองเหนือทั้งหลาย
ก็เป็นแรงหนุนเนื่อง สร้างความมั่นคั่งแก่กลุ่มพ่อค้าคนจีนช่วงหลังสงครามโลกเช่นกัน
ทั้งนี้ด้วยการปล่อยเงินกู้ให้บรรดาเจ้าฟุ่มเฟือยเหล่านั้น แล้วรับจำนำจำนอง
"ที่ดิน" เป็นประกัน
สุดท้ายก็สามารถลอบชิง "ที่ดิน" มาเป็นกรรมสิทธิ์ได้อย่างละมุนละม่อม
ทำให้ที่ดินซึ่งเกือบทั้งหมดที่เคยอยู่ในอุ้งมือชนชั้นศักดินาต้องแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ภาพสะท้อนนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในแง่ธุรกิจของกลุ่มชนชั้นศักดินาที่ไม่อาจพัฒนา
"ที่ดิน" ซึ่งได้อภิสิทธิ์มาอย่างเหนือฟ้าเหนือแผ่นดิน ให้เกิดดอกผลอย่างเป็นกอบเป็นกำได้เลย!!!!
โรงแรมสุริวงศ์โรงแรมชั้นหนึ่งของจังหวัดที่เคยเป็นของตระกูล "ณ เชียงใหม่"
ซึ่งถูกแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การเข้าควบคุมดูแลอย่างเด็ดขาดเมื่อเร็วๆ นี้
หลังพบยอดขาดทุนสะสมหลายร้อยล้านบาท นับเป็น "ตัวอย่าง" ที่บอกกล่าวได้ดี
เนื่องจากโดยตัวโรงแรมแล้วกิจการในระยะ 3-5 ปีหลังมานี้ดำเนินมาได้อย่างราบรื่น
ทว่าความล้มเหลวนั้นเป็นเพราะ...
"ความมั่วซั่วทางบัญชีเป็นสาเหตุใหญ่ มีการตกแต่งและหยิบยืมใช้สอยของบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหลายที่ส่วนใหญ่เคยมีเชื้อเจ้าจนวุ่นวาย
อย่างเจ้าไชยสุริวงศ์ที่เป็นประธานกรรมการ ตอนนี้ท่านก็มีความสุขดีกับการเล่นไพ่"
นายแบงก์ท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
นับเป็นเรื่องน่าเสียดาย-เสียใจไม่น้อย ที่กลุ่มชนชั้นศักดินาเมืองเหนือมิอาจแข็งกร้าวขึ้นมาได้ในทางธุรกิจ
ทั้งๆ ที่ถืออภิสิทธิ์ "ที่ดิน" และความได้เปรียบทางสังคมอย่างเหลือคณานับ!??""
กลุ่มพ่อค้าคนจีนเชียงใหม่ยังแตกร่อง ความเติบใหญ่ดุจใยแมงมุมด้วยความเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว
ด้วยการแต่งงานกันหลายๆ ตระกูล ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้พ่อค้าคนจีนถีบตัวเอง
ทิ้งพ่อค้าอินเดีย พม่า และพ่อค้าท้องถิ่นไปไกลลิบ
พ่อค้าคนจีนช่วงสงครามโลกครั้งที่สองที่มีบทบาทคุคลั่ง และถือได้ว่าเป็นฐานเบื้องต้นของการพัฒนากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ทางภาคเหนือมาสู่ปัจจุบัน
ในยุคสมัยนั้นก็มี อาทิเช่น
หลวงอนุสารสุนทรหรือสุ่นฮี้ ชั่วย่งเส็ง ต้นตระกูลชุติมา-นิมมานเหมินท์
ตาทวดของธารินทร์(น้อย) นิมมานเหมินท์ ผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์และศิรินทร์
(หนุ้ย) นิมมานเหมินท์ รองผู้ว่าการปตท.บุตรชายของไกรศรี นิมมานเหมินท์ บัณฑิต-คหบดีชื่อดังเชียงใหม่
ตัน ง่วน ชุน ต้นสกุลตันตรานนท์ ผู้ที่วางรากฐานให้ร้าน "ตันฮ่วนง้วน"
จนกลายมาเป็น "ตันตราภัณฑ์" ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของภาคเหนือในปัจจุบัน
โอว เซียวทั้ง หรือ ชู โอว เซียวทั้ง ต้นสกุลโอสถาพันธ์ อพยพขึ้นภาคเหนือพร้อมกัปตันง่วนชุน
ในช่วงสร้างทางรถไฟ แล้วประกอบกิจการโรงสีข้าว โรงน้ำแข็ง เป็นพ่อค้าจีนที่ค่อนข้างจะดุเดือดมีอำนาจ
และมีอิทธพลมาก แต่ต้องจบชีวิตลงโดยถูกคนร้ายลอบวาระเบิดในตลาดที่ตัวเองเป็นคนสร้าง
เชียง ชินวัตร ต้นสกุลชินวัตร ลูกของคูซุ่นเส็ง ผู้บุกเบิกการค้าไหมอย่างเป็นล่ำเป็นสันของเชียงใหม่
รุ่นของเชียงเป็นหัวเลี้ยวของการขยายตัวทำหัตถกรรมทอผ้าแบบครบวงจร (ปี พ.ศ.2475)
และยัง Diversify ไปเป็น Agency และกัมประโด (Comprador หรือนายหน้า) ให้กับแบงก์นครหลวงไทยแทนตระกูลนิมมานเหมินท์อีกด้วย!
เถ้าแก่หมาขาว หรือ วนิช ตันสุภายน กับเจ็กหมาแดง คนจีนที่ร่ำรวยแต่ขี้เหนียวที่สุดในยุคนั้น
จะติดต่อการค้ายังต้องขี่จักรยานปุเลงๆ "อั๊วพอใจขี่จักรยานหิ้วปิ่นโตแต่มีเงิน
ดีกว่าอ้ายพวกเจ้าบางคนนั่งรถยนต์โก้ๆ แต่บ่จี๊" ณรงค์ ศักดาทร เจ้าสัวใหญ่
"นิยมพานิช" เล่าความที่เจ๊กหมาแดงเคยคุยกับพ่อให้ฟัง
และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่รัฐบาลเริ่มประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
โดยกำหนด "เชียงใหม่" เป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือ นอกจากกลุ่มทุนพ่อค้าจีนจะขยายตัวอย่างไม่หยุดแล้วนั้น
เชียงใหม่ยังเป็นจุดกระจุกของทุนรอบนอกที่เริ่มหลั่งไหลเข้าไปมากขึ้น เช่น
กลุ่มทุนท้องถิ่นที่อื่นๆ เช่น
ตระกูลจันทรวิโรจน์ ตระกูลนี้สืบเชื้อสายชาวพม่าต้นกตระกูลคือ หม่องจันโอ่ง
และหม่องตาอู (พนาสิทธิ์ จันทรวิโรจน์) "ครองอาณาจักรยิ่งใหญ่กิจการป่าไม้ในเขตลำปาง
แล้วลุกลามเข้าไปครอบคลุมเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน
ตระกูลวงศ์วรรณ สายนี้เป็นคหบดีเก่าจากเมืองแพร่ สะสมทุนมาจาการทำป่าไม้ร่วมกับบริษัทอีสต์
เอเชียติ๊ก จำกัด ในรุ่นที่ 1 (แสน วงศ์วรรณ) และเปล่งปลั่งมากขึ้นในรุ่นที่
2 (ณรงค์ วงศ์วรรณ) ด้วยการทำยาสูบ จนสามารถตีกลุ่มพ่อค้ายาสูบดั้งเดิมของเชียงใหม่ให้ถอยกรูดไปอย่างบอบช้ำ!??""
ทั้ง "จันทรวิโรจน์" และ "วงศ์วรรณ" ยังเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่สามารถให้อรรถาธิบายถึง
การพัฒนา-ขยายตัวออกไปสู่โลกกว้างทางธุรกิจร่วมกับกลุ่มมทุนข้ามชาติที่ดีอีกด้วย
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะตัวธุรกิจที่ทำอยู่คือ ป่าไม้ เหมืองแร่ ยาสูบ บีบบังคับให้ต้องเป็นไปตามวิถีเช่นนั้น
แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจัดเจนในเหลี่ยมคูทางการค้าของทั้งสองกลุ่มนี้ว่า
แพรวพราวและไม่ยอมเสียเหลี่ยมให้ใครง่ายๆ จริงๆ !!
ตระกูลสุภา สายนี้โยกย้ายทุนมาจากอำเภอเถิน ลำปาง เข้ามาวางรากฐานด้านการรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก
โดยเฉพาะช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่2 (พ.ศ.2508-2514) ที่มีการสร้างทางหลวงสายเหนือสำคัญหลายสายปรากฏว่า
กลุ่ม "สุภา" เข้าช่วงชิงงานได้ไม่น้อยกว่า 80% จนก่อตั้งบริษัทก่อสร้าง
"เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น" ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างใหญ่ที่สุดในภูมิภาคได้สำเร็จ
"เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น" ในรุ่นที่ 2 ของคะแนน สุภา ปัจจุบันเพิ่มความน่าเกรงขามมากขึ้น
ขนาดที่ว่ายักษ์ใหญ่อย่าง "อิตัลไทย" ของหมอชัยยุทธ กรรณสูต ยังต้องเสียวสันหลังวูบมาแล้ว
ในการประมูลงานใหญ่ของกรมชลประทาน "ถ้าเป็นงานในภาคเหนือแล้วกินเชียงใหม่คอนฯ
ยาก" คนในวงการกล่าว
การหลั่งไหลของกลุ่มทุนต่างๆ สู่เชียงใหม่และภาคเหนือ ยังผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจศักดินาแบบผลิตใช้เพื่อตนเอง
ผุกร่อนและดับสลายลงตามลำดับความสำคัญของ "พวกเจ้า" ที่แทบจะเคยชี้เป็นชี้ตายหมดความสำคัญลงเรื่อยๆ
กระทั่งแทบจะเก็บเข้ากรุแล้วในปัจจุบัน!!!
พัฒนาการของเชียงใหม่นับตั้งแต่ปี 2464 ซึ่ง "ผู้จัดการ" ถือว่าเป็นการเบิกโฉมหน้าใหม่ของธุรกิจสายใหม่ในภาคเหนือนั้น
เป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อนข้างขาดความเป็นอิสระ!!
และดูเหมือนว่าปัจจุบันพันธนาการต่างๆ เหล่านั้นยังคงความเหนียวแน่นเช่นเดิม
ทุนขนาดใหญ่จากส่วนกลางยังคงไหลบ่ารุกรานทุนท้องถิ่นเชียงใหม่อยู่ตลอดเวลา
ถึงขนาดที่ว่าพ่อค้าคนจีนที่กลายเป็นคนเมืองไปแล้วอย่าง "ศักดาทร"
, "ตันตรานนท์" หรือ."พุ่มชูศรี" (ชาระมิงค์) เคยเรียกร้องให้พ่อค้าเชียงใหม่ร่วมกันสำแดงพลัง
ปกป้องสิทธิประโยชน์อันชอบธรรมอย่างแข็งขันมาแล้ว!!!
"ถ้ายอมรับกันว่า การพัฒนาทุนท้องถิ่นเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
และอย่างยิ่งกับเชียงใหม่ที่ได้รับการยกยอว่าเป็นศูนย์กลางทางภาคเหนือ ก็น่าที่จะต้องมีการกระตุกขวัญนี้กันขึ้นมา
โดยธรรมชาติและความได้เปรียบแง่มุมต่างๆ แล้วผมไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงไม่ขยับไปมากนัก"
"จริงอยู่ว่าเมื่อก่อนเราอาจทำการค้ากันอย่างสบายๆ ได้ แต่ปัจจุบันและอนาคตที่ต้องโตตามระบบเศรษฐกิจโลกคงปักหลักกับแนวคิดเดิมไม่ได้
แต่หวังที่จะเห็นผลในรุ่นนี้ไม่ได้มากนัก ถึงอย่างไรก็ควรทำเพื่อไม่ให้เชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นทางเศรษฐกิจอีกต่อไป"
ณรงค์ ศักดาทร และวัชระ ตันตรานนท์ สองนักธุรกิจต่างวัยกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
โจทย์ข้อนี้นับว่าเป็นการท้าทายยิ่งนักว่า ทั้งกลุ่มทุนเก่าและใหม่ของเชียงใหม่จะสามารถต้านคลื่นทุนรุนแรงจากส่วนกลาง
เพื่อเขียนประวัติศาสตร์เชิง "วิศวกรรมธุรกิจ" (Business Engineering)
อันเป็นโครงร่างใหม่ต้อนรับ 700 ปีของเชียงใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้หรือไม่!!??
แม้ว่าการสะสมทุนขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเชียงใหม่ที่เป็นหัวขบวนสำคัญของการพัฒนาในภาคเหนือจะมาจาก
"ป่าไม้" , "ฝิ่น" และ "เงินกู้" แต่การเพิ่มผลผลิตของทุนเหล่านั้นให้ใหญ่ขึ้นอย่างแท้จริง
กลับเป็นบทบาทของเรื่องการเป็น "นายหน้า" ขายสินค้าต่างๆ มากกว่า
ความเป็นโบรคเกอร์ของพ่อค้าเชียงใหม่นั้น สร้างความร่ำรวยอย่างมหาศาลไปมากกว่าที่จะเป็นนักลงทุน
(Investor) อย่างเช่นกลุ่มทุนในภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น "ศักดาทร"
ที่เป็นตัวแทนขายรถให้ "ฮอนด้า" กับ "โตโยต้า" , "ตันตรานนท์"
ที่เป็น Distributer ให้กับ "บอร์เนียว" และ "ดีทแฮล์ม"
หรือแม้แต่ "นิมมานเหมินท์" ราชาเงินกู้ก็ยังเป็นนายหน้าค้าเงินให้
"แบงก์นครหลวงไทย"
"อาจเป็นเพราะว่าช่วงก่อร่างสร้างตัวดังกล่าว วิธีการนี้สุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด
เพราะการเป็นนายหน้าถ้ารู้จักช่องทางค้าขายที่ดีก็นอนสบายผิดกับที่จะลงทุนเอง
ปัจจุบันนี้ผมเองก็ยังเห็นว่า ระบบนายหน้ายังคงสำคัญในการทำธุรกิจทางภาคเหนือ,
ประเภท long term investment หาพบยากในรุ่นนี้ หรือเพราะว่านี่เป็น nature
habit อย่างหนึ่งของคนเหนือที่ไม่กล้าโลดโผน" ลือชัย จุลาสัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อคิดเห็นกับ "ผู้จัดการ"
ดิษฐ์ ลินพิศาล ทายาทตระกูล "ลินพิศาล" คนจีนรุ่นบุกเบิกก่อนรถไฟมาถึง
กับนิตย์ วังวิวัฒน์ เขยคนโปรดของประสิทธิ์ พุ่มชูศรี พ่อค้ายาสูบและใบชาชื่อดัง
ให้ทัศนะต่อเรื่องนี้ว่า "ธุรกิจกำหนดให้เป็นไปอย่างนั้น อีกอย่าง short
term investment ดูมีกำไรมากกว่า เอากันง่ายๆ เรื่องซื้อ-ขายที่ดินซึ่งฮือฮามากในเชียงใหม่จะไม่มีใครเก็บไว้นานๆ
ทำอย่างนี้เท่ากับปั่นราคาที่ให้สูงขึ้นด้วย"
ณรงค์ ศักดาทร เคยได้รับบทเรียนเจ็บปวดเกี่ยวกับการเล่นที่ดินแบบเก็งกำไรในระยะยาวมาแล้ว
โดยพยายามเก็บที่แปลงหนึ่งไว้ 4-5 ปี ปรากฏว่าพอขายออกไปได้กำไรไม่ถึง 10%
ไม่คุ้มกับที่ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งแนวคิดนี้ "ขัดแย้ง" กับจินดา
นิยมศิลป์ พี่สาวมาก เพราะรายนี้จับปุ๊ปขายปั๊บ ไม่เป็นเพียงแต่ "ราชินที่ดิน"
เท่านั้น ยังทำกำไรมหาศาลกับการขายที่ดินในลักษณะ short term investment
ที่ดีด้วย
แต่รูปแบบในอนาคตหลายคนมองว่า "มันคือความเปราะบาง"!!!
นโยบายค้าเสรีของจอมพลผ้าขะม้าแดงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เปิดช่องให้ทุนใหญ่และทุนต่างชาติขยายตัวได้อย่างอิสระ
ทำให้เชียงใหม่ตกเป็นเป้าจับจองของบริษัทการค้าตะวันตกและญี่ปุ่น ได้เข้าร่วมทุนกับกลุ่มทุนท้องถิ่นอย่างกว้างขวางและคงสายสัมพันธ์มาจนถึงปัจจุบัน
บริษัทบอร์เนียว จำกัด ที่ร่วมกับตระกูล "ตันตรานนท์" เนื่องจาก
"ตันง่วนชุน" เคยเป็นพนักงานเก่าของบอร์เนียวมาก่อน และบริษัทบอมเบย์เบอร์ม่า
จำกัด เป็นสองบริษัทแรกที่เข้ามามีอิทธิพลในระบบนายหน้า เรียกว่าใครร่วมกับ
2 บริษัทนี้ต่างร่ำรวยไปตามๆ กัน
"บอมเบย์เบอร์มานั้นมีอิทธิพลสูงมากในรัฐบาลยุคนั้น ครั้งหนึ่งเคยบีบให้รัฐบาลจำนนต้องปล่อยป่าไม้ในเขตลำปางให้เป็นกรรมสิทธิ์ไปอย่างน่าเจ็บใจ"
คนเชียงใหม่รุ่นเก่าคนเหนึ่งเล่า
กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2509 จึงมีบริษัทการค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 8 บริษัทที่ร่วมทุนกับคนท้องถิ่น
คือ บริษัทซิงเกอร์โซอิ้งแมชชีน จำกัด (ร่วมกับบ้วนฮกเส็ง หรือกลุ่มศักดาทร),
บริษัทดีสแฮล์ม จำกัด, บริษัทโตโฮซันโย ไทยแลนด์ จำกัด (ร่วมกับกลุ่มตันตรานนท์),
บริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด, บริษัทแมสซีย์ เฟอร์กูสัน จำกัด และบริษัทแองโกลไทย
คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (อ่านเพิ่มเติมในเรื่องของแต่ละกลุ่ม)
ทำไมความเป็นนายหน้าของพ่อค้าเชียงใหม่ถึงใหญ่ได้!"
ถึงแม้ว่าการพัฒนาทุนของกลุ่มพ่อค้าเชียงใหม่จะดำรงตนเป็นนายหน้า ทว่าก็มีลักษณะเด่นพิเศษแตกต่างจากความเป็นพ่อค้าในที่อื่น
อย่างมากในเรื่องของ "การมองการณ์ไกล" และเข้าใจลึกซึ้งถึง "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์"
ให้ขึ้นมารับช่วงอย่างไม่มีข้อบ่กพร่อง
พลิกปูมของแต่ละตระกูลธุรกิจ สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือเรื่อง Human Resource
เช่น ในรุ่นที่ 2 ซึ่งเป็นตัวบุกทางธุรกิจอยู่ในขณะนี้ แต่ละคนได้รับการวางพื้นฐานทางด้านการศึกษามาเป็นอย่างดี
แม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งลักษณะนี้พบไม่บ่อยนักในภาคอื่นๆ
รุ่นที่ 2 ที่พอกล่าวอ้างได้ อาทิเช่น ไกรศรี นิมมานเหมินท์ เป็นลูกหลานทางเหนือคนแรกที่จบจากฮาร์วาร์ด
สหรัฐอเมริกา และยังพาดพิงถึงน้องๆ คนอื่นๆ ที่ก็จบขั้นสูงๆ ในต่างประเทศทั้งสิ้น
หรืออย่างณรงค์ ศักดาทร ก็จบบริหารธุรกิจ-บัญชีจากอเมริกา, ประวิทย์ อัครชิโนเรศ-ประธานหอการค้าฯ
ก็จบด้านบริหารจากอเมริกา, ณรงค์ วงศ์วรรณ ก็จบเศรษฐศาสตร์การเกษตร จากเคนตักกี้
สหรัฐอเมริกา
ความเข้าใจอย่างดีในเรื่อง human resource ยังถ่ายมาถึงรุ่นที่ 3 ที่จะก้าวเข้ามามีบทบาทในอนาคตอันใกล้ด้วย
เพราะรุ่นที่ 3 ของแต่ละตระกูลถูกส่งไปชุบตัว ฝึกฝนความชำนิชำนาญในการทำธุรกิจยังสถาบันมีชื่อในต่างประเทศเกือบทุกคน
และทุกคนต้องคืนถิ่นล้านนา ถูกจับวางลงในตำแหน่งสำคัญๆ ขององค์กรธุรกิจที่มีอยู่แล้ว
รุ่นที่ 3 เหล่านี้พวกเขาอาจเป็นความอุ่นใจ และพอที่จะคาดหวังได้ว่า ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับนั้น
อาจทำให้ได้เห็นการค้า-การลงทุนแปลกๆ ใหม่ๆ หลีกหนีไปจากความจำเจที่สั่งสมมานานนับศตวรรษก็เป็นได้!?
แน่ละหากเป็นอย่างนั้นจริงๆ พวกเขาอาจให้คำตอบใหม่ก็ได้ว่า บางทีการไม่เดินตามผู้ใหญ่เฉไฉออกไปในแนวอื่นบ้าง
หมาก็ไม่อาจกัดได้เหมือนกัน!! ทั้งนี้ทั้งนั้น ข่าวสาร ข้อมูลและความสุขุมคัมภีรภาพต้องหนักแน่นพอ!!?
เพื่อฉายภาพของการสะสมทุน-พัฒนาทุน อีกทั้งทิศทางการเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มทุนในอนาคตให้แจ่มชัด
"ผู้จัดการ" จึงขอแยกแยะแต่ละส่วนของแต่ละตระกูลที่จะเป็นพลังสำคัญของท้องถิ่นดังนี้
นิมมานเหมินท์-ชุติมา
สุขุมลุ่มลึกแต่ไม่ขยายตัว!!!
นิมมานเหมินท์-ชุติมา สองตระกูลใหญ่ภาคเหนือ ที่สามารถป้อนนักการเงินที่เลื่องชื่อมาตั้งแต่ยุคไกรศรี
นิมมานเหมินท์ อดีตผู้จัดการบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม หรือพิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์
อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติผู้น้อง หรือ ศจ.อั๋น นิมมานเหมินท์ สถาปานิกชื่อดังผู้น้องอีกคน
จวบกระทั่งในรุ่นที่ 3 ถ้าไม่เคยได้ยินกิตติศัพท์ความสามารถของธารินทร์
นิมมานเหมินท์ ผู้จัดการใหญ่แบงก์ไทยพาณิชย์ หรือศิรินทร์ นิมมานเหมินท์
รองผู้ว่าปตท. ที่เก่งกาจในเรื่องบริการเงินแล้ว ก็คงจะเชยมากๆ
ธารินทร์ (น้อย) กับ ศิรินทร์ (หนุ้ย) เป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของไกรศรี-จรรยา
ซึ่งถูกส่งให้ไปเรียนที่โคโรลาโดตั้งแต่วัยแตกพาน สองพี่น้องอดีตนักเรียนเก่ามงฟอร์ตคู่นี้ชื่นชอบการเป่าแคลิเนต
พอๆ กับคุ้นเคยการคิดดอกเบี้ยร้อยชัก 5 ของผู้เป็นแม่ที่ทำให้ที่ทำให้นิมมานเหมินท์กลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ของภาคนี้!!
ลำดับความเป็นมาของนิมมานเหมินท์-ชุติมาที่เกี่ยวดองเป็นญาติกันอย่างลึกซึ้งนั้นค่อนข้างจะสับสน
แต่ที่แน่ๆ สองตระกูลนี้เป็นกลุ่มพ่อค้าคนจีนรุ่นบุกเบิกที่มาเชียงใหม่พร้อมกับการสร้างทางรถไฟในปี
พ.ศ.2464 โดยเริ่มจากการตั้งรกรากค้าขายตามริมแม่น้ำปิง
สุ่นฮี้ ชุติมา หรือหลวงอนุสารสุนทร เป็นคนแรกที่วางรากฐานธุรกิจของตระกูลด้วยการนำรถยนต์โดยสารรับจ้างเข้ามาวิ่งเป็นรายแรก
พร้อมกับก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลอนุสารเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.
2477 โดยทำหน้าที่ปล่อยเงินกู้เป็นหลัก (การรสะสมทุนใน รุ่นแรกนี้ร่ำรวยได้เพราะเป็นเจ้าภาษี
อาชีพหนึ่งที่คนจีนนิยมทำ แต่ต้องมีเส้นใหญ่เข้ากับเจ้าได้อย่างแน่นแฟ้น)
คนในตระกูลนิมมานเหมินท์-ชุติมาไม่ว่ารุ่นไหนๆ ต่างได้ชื่อว่าเป็น "นายทุนเงินกู้"
ที่ชั้นเชิงแพรวพราวทุกๆ คน สิ้นยุคของสุ่นฮี้มาถึงยุคของกี นิมมานเหมินท์
ที่เป็นทั้งหลานและลูกเขย (กีแต่งงานกับกิมฮ้อเป็นพ่อ-แม่ของไกรศรี) การปล่อยเงินกู้ยิ่งรุ่งเรืองมากขึ้น
และอาจพูดได้ว่ารุ่งโรจน์ที่สุดก็ในยุคของไกรศรี-จรรยา
"ภาพของอาจารย์ไกรศรีต่อสายตาของคนภายนอกนั้นเต็มไปด้วยความสมถะ สงบเสงี่ยม
ดุจดังปราชญ์แห่งล้านนา แต่ประตูหลัง คนที่เป็นเมียอย่างแม่จรรยานั้นทั้งเผ็ด
ทั้งร้อน และเฉียบขาดมากในเรื่องปล่อยเงินกู้ ที่ตระกูลนี้มีธุรกิจมากมายเป็นเพราะเทคนิคต่อเงินของแม่จรรยา"
คนเก่าๆ ของเชียงใหม่เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
บางคนบอกว่า ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งแต่ละกลุ่มสะสมทุนกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่งโดยมีเส้นทางรายได้จาก
3 สายใหญ่นั้น นิมมานเหมินท์-ชุติมา ก็มีส่วนเกี่ยวพันในเรื่องนี้ไม่น้อย
แต่เรื่องนี้ไกรศรียืนยันว่า "ความมั่นคงของนิมมานเหมินท์-ชุติมานั้นไม่เคยเปื้อนคาว"!?
นิมมานเหมินท์-ชุติมา นับเป็นตระกูลที่คาดการณ์ไกลในเรื่องการศึกษาอย่างมาก
ลูกๆ หลานๆ ของตระกูลจะได้รับการเพาะบ่มในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี ทั้งๆ
ที่ในยุคนั้นพ่อค้าต่างเมืองในหลายภาคยังไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากนัก
ก่อนสงครามโลกจะระเบิดนิมานเหมินทร์-ชุติมา ได้ติดต่อซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อจัดตั้งธนาคารท้องถิ่นโดยมีปรีดี
พนมยงค์ อดีตนายกรัญมนตรีสนับสนุน แต่ต้องเป็น "หมัน" เพราะเกิดสงครามเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นแล้วสารบบแบงก์พาณิชย์อาจตัองบันทึกชื่อธนาคารที่ว่านี้เพิ่มอีกหนึ่ง!!!
ใช่ว่าจะสิ้นความพยายามในช่วงที่บริษัทเงินทุนฟูเฟื่อง นิมมานเหมินท์-ชุติมาก็มีบริษัทเงินทุนของตัวเองชื่อ
"ไทยเงินทุน" มีสาขาทั่วภาคเหนือ ผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างดีทำให้มีการเสนอที่จะจัดตั้งธนาคารท้องถิ่นอีกครั้ง
(ไทยเงินทุนต่อมาถูกขายออกไปให้กับกลุ่มสากลเคหะและเข้าไปอยู่ในโครงการ 4
เมษาในที่สุด)
รูปแบบการพัฒนาทุนเงินกู้ของนิมมานเหมินท์-ชุติมา หลังพลาดเรื่องตั้งแบงก์ท้องถิ่นก็หันไปเป็นตัวแทน
(Agency) ให้กับแบงก์นครหลวงไทย ก่อนที่จะมีเรืองราวขัดแย้งกันจนแทบผีไม่เผา
เงาไม่เหยียบกับผู้ถือหุ้นใหญ่บางคน จนต้องหันไปร่วมงานกับแบงก์กรุงเทพฯ
พาณิชย์การแทน ขณะที่แบงก์นครหลวงไทยนั้นได้ตระกูลชินวัตรเข้ามาสานงานต่อ
"อาจารย์ไกรศรีนั้นสนิทสนมกับโกวเจ่งจุ้ย หรือฉวี โกมลกิติ ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งจึงร่วมสังฆกรรมกับแบงก์นครหลวงไทย
งานตอนนั้นเงินเดินสะพัดมากปีหนึ่งๆ (ราวปี 2494) ปริมาณเงินไหลผ่านแบงก์นี้ร่วมร้อยล้านบาทเทียบจากผลผลิตเกษตร
400 ล้าน นับว่าสูงพอดู แต่แล้วก็มีเรื่องจนได้ เรื่องนี้คนในตระกูลนิมมานเหมินท์ฝังใจจำมากทีเดียว"
นายแบงก์ท้องถิ่นที่สืบสายคนเมืองเล่าให้ฟัง
ธุรกิจของนิมมานเหมินท์-ชุติมาผ่านพ้นวังวนของการพัฒนาแบบอนุรักษ์ เมื่อแตกหน่อเข้าไปในธุรกิจยาสูบ
(แจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ น้องสาวไกรศรีดำเนินงาน) และภาคการบริการโรงแรม-ท่องเที่ยว
(ไกรศรี กับอุณณ์ น้องสาวอีกคนดูแล) โดยสร้างโรงแรมชั้นหนึ่งขนาดใหญ่ขึ้นชื่อ
"รินคำ"
โรงแรมรินคำนั้นฮือฮามากในเรื่องความทันสมัยที่ประสานเข้ากับงานศิลปินล้านนาได้อย่างกลมกลืน...
และฮือฮาอีกหนเมื่อหุ้นในมือทั้งหมดของนิมานเหมินทร์ตกไปอยู่ในมือของหมอชัยยุทธ
กรรณสูต และนี่เป็นงานบริหารที่ฮือฮาอีกเรื่องหนึ่งของนิมมานเหมินท์
ความบอบบางของนิมมานเหมินท์ ที่ไม่อาจใช้ฐานการเงินพัฒนาการบริการให้ใหญ่ขึ้นมาได้นั้นมาจากสาเหตุที่ว่า
แม้ไกรศรีที่เป็นเฟืองสำคัญจะช่ำชองในเรื่องการเงินอย่างหาตัวจับยาก แต่ในเรื่องการค้า-การบริหารงานบุคคลแล้วเขากลับมีจุดอ่อนด้อยอย่างน่าวิตก!!!
"คนไหนเอาใจก็จะรักคนนั้น ทั้งๆ ที่ทำงานไม่ได้เรื่องอะไรเลย ข้อผิดพลาดนี้เป็นอุทาหรณ์ที่ดีไม่เช่นนี้นิมมานเหมินท์คงเติบใหญ่กว่านี้อีกมากมาย
สำหรับลูกชาย 2 คนถึงจะเก่ง ทว่าอาจารย์ไกรศรีไม่อยากให้เข้ามายุ่งมากนัก"
คนสนิทของตระกูลนี้เล่า
นอกจากเรื่องการปล่อยเงินกู้ที่ยังรักษาสมรรถนะของการตามเก็บหนี้ที่เฉียบขาดอยู่ได้นั้น
กิจการอื่นๆ ที่เคยทำให้นิมมานเหมินท์-ชุติมารุ่งเรือง วันนี้ค่อนข้างจะเหงาหงอย
ขณะที่ไกรศรีเองวัยชราที่เข้ามาทำให้สนใจด้านประวัติศาสตร์ทดแทน จนแทบไม่เหลือร่องรอยเดิมไว้เลย
ที่เจ็บหนักอีกเรื่องก็คือตลาดอนุสาร ซึ่งเดิมทีนิมมานเหมินท์-ชุติมาต้องการทำเป็นศูนย์การค้ากลางคืน
ทว่าเข็นเท่าไรก็ไม่ขึ้นถูกรัศมีไนท์บาร์ซาร์กลบไปหมด จนเดี๋ยวนี้กลายเป็นคิวจอดรถทัวร์ไปเสียแล้ว!?
ตำนานอีกเรื่องหนึ่งของนิมมานเหมินท์ที่คงพูดกันไม่รู้จักจบสิ้น ก็คือเรื่องของ
"ตลาดวโรรส" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตลาดที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย
มีการแบ่งชั้นขายของอย่างเป็นระเบียบ และยังมีบันไดเลื่อน การกล้าท้าท้ายพฤติกรรมแบบใหม่ของไกรศรีเรื่องนี้จบลงด้วยโศกนาฏรรม
เพราะตลาดวโรรสที่กว่าจะแย่งชิงมาได้จากตระกูล ณ เชียงใหม่นั้น บันไดเลื่อนที่มีก็มีไว้แค่ได้โชว์
ไม่มีคนสนใจใช้ "เราคาดการณ์ผิดว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมคนในเรื่องตลาดสดได้"
ไกรศรีเคยรับการเดินหมากผิดอย่างตรงไปตรงมา แต่ยังดีที่ปัจจุบันตลาดนี้ยังมีคนมาเช่าของขายพอที่จะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของตระกูลต่อไปได้
(คนทางเหนือถือว่าการได้เป็นเจ้าของตลาดถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างเอกอุ)
ล่าสุดที่ "ผู้จัดการ" ขึ้นไปเชียงใหม่ทราบว่า ได้มีการขึ้นค่าเช่าแผงภายในตลาดวโรรสส่งท้ายปีท่องเที่ยวเล่นเอาพ่อค้า-แม่ค้าบ่นอุบไปตามๆ
กัน!!
ทิศทางเดินของนิมมานเหมินท์-ชุติมา จากยุคของสุ่นฮี้ ชุติมา กิมฮ้อ-กี
ผ่านมาจนถึงยุคของไกรศรี-แจ่มจิตต์-อุณณ์ กล่าวโดยในพื้นที่เชียงใหม่แล้วนั้น
หลายคนมีความรู้สึกว่า "ใกล้จะปิดฉาก" ความรุ่งโรจน์ที่เคยมีมาแล้ว
ขณะที่พัฒนาการของระบบเศรษฐกิจส่วนรวมกำลังเคลื่อนไปข้างหน้า ทว่าสายนิมมานเหมินท์-ชุติมากลับหยุดนิ่งไม่กระพือฮือโหมอย่างเคย
หรือเป็นเพราะว่า กงเกวียนกำเกวียน ที่เคยปล่อยกู้-แทรกแซงแล้วเข้าเทคโอเวอร์กิจการต่างๆ
ที่สร้างความมั่งคั่งในอดีตกำลังถึงบทที่จะย้อนรอยเข้าให้บ้าง!!
คำตอบนี้รุ่นที่ 3 ชื่อดังอย่างธารินทร์-ศิรินทร์ น่าจะเป็นผู้ขยายความได้ดีที่สุด!!!
เพราะหลายคนยังเชื่อว่าหากนิมมานเหมินท์-ชุติมา จะวัดดวงการค้าอย่างจริงจังอีกสักหนก็ไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรง
เพราะดอกผลจากเงินกู้และทรัพย์สินที่ดินของกลุ่มนี้ยังได้ชื่อว่า แน่นหนาและรวยเงียบๆ
ไม่กระโตกกระตากกว่ากลุ่มใดๆ!!?
"วงศ์วรรณ" กับ AGRO-INDUSTRY
การต่อสู้ที่พลั้งพลาดไม่ได้
ไม่มีคนไหนในเมืองแพร่ไม่รู้จัก "วงศ์วรรณ" !!
สุภาพบุรุษนักเลงตระกูลนี้อิทธิพลบารมีคับเมืองจริงๆ ถึงขนาดณรงค์ วงศ์วรรณ
อดีตรัฐมนตรีเกษตร ตัวแกนสำคัญทั้งการเมือง-ธุรกิจ พอที่จะคุยได้อย่างไม่เขื่องโขว่า
"ผมไปสมัคร ส.ส.ไม่ต้องไปหาเสียงก็ได้วันยังค่ำ"
ความสำเร็จของ "วงศ์วรรณ" ไม่ว่าเรื่องใดๆ "ต้องเป็นหนึ่งเสมอ"
!!
พฤติกรรมของ "วงศ์วรรณ" เท่าที่ผ่านมาอธิบายได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพัฒนาธุรกิจซึ่งก้าวกระโดดร่วมทุนกับต่างชาติอย่างจริงจัง-การนำธุรกิจของกลุ่มเข้าไปผูกพันกับงานการเมืองได้อย่างแยบยล
ความกล้าได้กล้าเสียที่จะขยายตัวออกไปให้มากแขนง ขณะที่ยังไม่เบี่ยงเบนเป้าหมายหลักที่กำหนดไว้ว่า
"จะต้องเป็นหนึ่งในโลก AGRO-INDUSTRY ของวันนี้ให้จงได้"
ความอ่อนนุ่มที่ซ่อนความแข็งกร้าวอยู่ในทีของการขยายตัวทางธุรกิจในปัจจุบัน-อนาคตของกลุ่มนี้
ถูกท้าทายมากว่า "จะไม่มีวันรู้จักคำว่าพลาดพลั้งบ้างเลยเชียวหรือ"!?
ตระกูลวงศ์วรรณหยั่งลึกมาจากการทำป่าไม้ก่อนที่จะมายิ่งใหญ่ในโลกการค้าใบยาสูบ
เริ่มต้นที่แสน วงศ์วรรณ พ่อของณรงค์ ถูกชักชวนจากเจ้าวงศ์ แสนศิริพันธ์
เจ้านายฝ่ายเหนือคนหนึ่งเข้าทำงานป่าไม้ให้กับบริษัทอีสต์เอเชียติก ซึ่งแสนได้รับการยกย่องมากว่าเป็นลูกช่วงทำไม้หมายเลขหนึ่ง
บริษัทบอร์เนียว จำกัด ซึ่งมีอิทธิพลด้วยการทำไม้มากในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นผู้ชุบความสำเร็จให้กับแสนและ "วงศ์วรรณ" อย่างแท้จริง เมื่อสนับสนุนให้แสนทำป่าไม้เป็นของตัวเองให้กับเชียงใหม่
โดยลากไม้ขาย 10 กว่าปีร่วมกับนิมานเหมินทร์
แสน ตั้งบริษัทเทพวงศ์ จำกัด ซึ่งเป็น HOLDING COMPANY ของบริษัทในเครือ
"เทพวงศ์" มาจนปัจจุบันเมื่อปี 2486 พร้อมกับตั้งโรงเลื่อยขนาดใหญ่ที่บ้านม่อนป่ากอย
อ.เด่นชัย จ.แพร่ โรงเลื่อยนี้มีอิทธิพลจนทำให้ทุกคนรู้จักเจ้าแสน วงศ์วรรณ
กับแม่พลอย วงศ์วรรณ เป็นอย่างดี
ปี 2503 เทพวงศ์ถูกยึดสัปทานป่าไม้คืนเกือบทุกแห่ง สร้างความไม่พึงพอใจให้กับณรงค์
ลูกชายคนโตของแสน ที่เรียนจบการเกษตร จากอเมริกาและเข้ามาดูแลกิจการแทนพ่อเป็นอย่างมาก
ณรงค์ หรือพ่อเลี้ยงณรงค์ในวันนี้ ซึ่งติดลักษณะนักเลงเมืองแพร่อย่างสมบรูณ์แบบ
โผงผาง ดุดัน จึงตัดสินใจทิ้งป่าไม้หันมาเล่นใบยาสูบแทน โดยเริ่มสร้างโรงบ่มที่แพร่
2 โรง
ในปีเดียวกันนี้ณรงค์ได้ขยายกิจการขึ้นมาที่เชียงใหม่ด้วย เนื่องจากที่นี่เป็นศูนย์กลางของใบยาเวอร์จิเนีย
ซึ่งเชียงใหม่ช่วงนั้นมีบริษัทส่งเสริมใบยาสูบไทย จำกัด ที่มีประสิทธิ์ พุ่มชูศรี
(คนตั้งชาระมิงค์) โอภาส ฤกษ์พฤกษ์ วาทย์ สาหร่ายทอง น.พ.นพรัตน์ บุญเสริม
อดีตพนักงานเก่าของ บี.เอ.ที. (บริษัทผูกขาดการผลิตใบยาเวอร์จิเนียในประเทศไทย)
รวบรวมผู้บ่มอิสระตั้งบริษัทดำเนินงานเป็นของตัวเอง
ส่งเสริมใบยาสูบขณะนั้นมีบทบาทสูงสามารถตอบโต้กับโรงงานยาสูบในหลายๆ เรื่องได้อย่างไม่ลดราวาศอก
โดยเฉพาะเรื่องเกรดใบยา ที่บริษัทยาสูบกำหนดออกมา " ฆ่า" จนทำให้ส่งเสริมฯ
ฝันสลายกับการเป็นผู้ส่งออกใบยาไทย
แต่เป็นเพราะความใจถึงของณรงค์ที่ไม่ยั่นในเรื่องราคา กับมีการจัดระบบงานเกษตรกรรมใหม่ด้วยการตั้งผู้ช่วยชาวไร่
50 ไร่/คน จึงทำให้เทพวงศ์ตัดหนทางทำมาหากินของส่งเสริมฯ ได้โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี
และชื่อของส่งเสริมฯ ก็เหลือเพียงธุลีเถ้าให้นึกถึงเท่านั้น
คนเก่ากรมสรรพสามิต บอกเล่าว่าความสัมพันธ์ของเทพวงศ์กับชาวไร่ยาสูบนั้นรุนแรงมาก
หากชาวไร่คนไหนบิดพลิ้วขายให้คนอื่น หรือมีพ่อค้ารายอื่นล่วงล้ำเข้าไปซื้อขายในพื้นที่เทพวงศ์แล้วล่ะก็
เป็นต้องได้พบกับมาตรการตอบโต้ที่ร้ายกาจไม่ใช่น้อย!!!
"ผมอาจพูดจาแข็งกระด้างออกไปทางนักเลงนิดๆ แต่เรื่องค้าขายบอกตรงๆ
ว่า เราไม่เคยใช้วิธีป่าเถื่อนแน่นอน" ณรงค์ แก้ข้อกล่าวหานั้นกับ "ผู้จัดการ"
จุดพลิกผันของวงศ์วรรณที่ทำให้ใหญ่จริงๆ ขึ้นมาได้นั้น ควรจะเป็นเหตุการณ์ที่ณรงค์เข้าไปโต้แย้งกับกรมสรรพสามิต
เพื่อแก้ไขให้มีการส่งออกใบยาได้ ไม่จำเป็นต้องขายให้กับโรงงานยาสูบเพียงฝ่ายเดียว
จนเป็นผลสำเร็จเมื่อปี 2505 ซึ่งทำให้คนของโรงงานยาสูบไม่ชอบขี้หน้าพ่อเลี้ยงรายนี้เท่าใดนัก
"เขาถือว่าเส้นใหญ่ รู้จักคนในรัฐบาลดี มาจากการทำป่าไม้" คนของกรมสรรพสามิตสรุป
แต่ที่แน่ๆ บทเรียนครั้งนั้นทำให้ณรงค์และเครือญาติรู้ซึ้งว่า หากรักจะริค้าใบยาสูบจำต้องมีฐานการเมืองเป็นของตัวเอง
ดังนั้นจึงได้ส่งผจญ ถาทอง เข้าสมัครเป็น ส.ส. และตามด้วยณรงค์เองในเวลาต่อมา
ณรงค์นั้นเป็น ส.ส.ผูกขาดของเมืองแพร่ และถ้ามีโอกาสร่วมรัฐบาล กระทรวงที่ณรงค์ต้องการมากที่สุด
คือ " เกษตร" ตัวเขาเองบอกว่า " เหนื่อยไม่คุ้มธุรกิจแย่"
แต่หลายคนกลับบอกว่า "ณรงค์สามารถวางหมากการเมืองเข้ากับธุรกิจได้อย่างดี
ไม่มีที่ติ และเป็นตัวเสริมศักยภาพของกลุ่มวงศ์วรรณมากขึ้น"
เทพวงศ์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งออกใบยาสูบรายแรกของประเทศไทย โดยร่วมงานกับบริษัททรานส์คอนติเนนตัลของสหรัฐอเมริกา
ที่ณรงค์รู้จักตัวประธานดี เปิดตลาดใบยาในอเมริกา-ยุโรป และร่วมกับมิตซุยเปิดตลาดในญี่ปุ่น
ออร์เดอร์ใบยาไม่น้อยกว่า 50% ของไทยไปจากเทพวงศ์
นับแต่ที่ขยายโรงบ่มใบยาเวอร์จิเนีย (Siam Tobacco Exporter Corperation)
อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2507 เดี๋ยวนี้ในวันที่ตลาดใบยาเริ่มซบเซา เทพวงศ์มีโรงบ่มในเขตแพร่
เชียงใหม่ เชียงราย ไม่น้อยกว่า 140 โรง แต่ละโรงมีมูลค่า 5-15 ล้านบาท
"อนาคตใบยาไทยมันวูบแน่ แต่ถ้าจะถอย เราต้องเป็นรายสุดท้าย"
ณรงค์ย้ำสัจธรรมอย่างหนักแน่น!!
การขยายโรงบ่มของเทพวงศ์ทำควบคู่ไปกับการซื้อ-ขายที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ได้มาจากชาวไร่นั่นเอง
เพราะด้านหนึ่งณรงค์ทำตัวเป็น Banker แก่ชาวไร่ด้วย กลวิธีนี้ทำให้ "วงศ์วรรณ"
กลายเป็น "ราชาที่ดิน" ตัวจริงของภาคเหนือ เพราะมีที่ดินมากมายใน
3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย แพร่
แต่แปลกว่า กลุ่มนี้ไม่เคยขายที่ดินในมือ ทว่าเก็บไว้เพื่อการลงทุนขยายธุรกิจ
อันเป็นข้อต่างไปจากนักเล่นที่ดินทั้งหลายในภาคเหนือ.....
ความตกต่ำของตลาดใบยาไทยจนมองเห็นความหายนะรออยู่เบื้องหน้า ทำให้เทพวงศ์ต้องดิ้นเพื่อการอยู่รอดอย่างสุดเหวี่ยง
โดยดึงเอากลุ่มศรีกรุงวัฒนา-กลุ่มมิตซุย-กลุ่มทากาซาโก (สองกลุ่มหลังเป็นบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่น)
ให้เข้ามาร่วมในโครงการปลูกผักขายโดยทำกันในพื้นที่ภูเขาเป็นลูกๆ เลยทีเดียว
โครงการวัดอัตราเสี่ยงนี้ แค่งบทดลองก็หมดไปแล้วหลายล้าน จะเป็นการขุดหลุมฝังความยิ่งใหญ่ของเทพวงศ์หรือไม่นั้น
อีกไม่ช้าคงได้รู้!?
แต่การขยายแขนขา ที่ณรงค์ทุ่มเทความคิด-กำลังกายลงไปวัดดวงเป็นอย่างมาก
คือการเลี้ยงโคเนื้อแบบครบวงจร โดยตั้งบริษัทเกษตรกรรมสมบรูณ์แบบ จำกัดขึ้นมาดูแล
โคเนื้อที่เลี้ยงนี้ทำกันในฟาร์มที่ อ. แม่จัน จ.เชียงราย ในเนื้อที่ร่วม
2,000 ไร่ แม่วัวแต่ละตัวมีราคาสูงถึง 7 แสนบาท
ขั้นแรกที่มีวัวเพียง700 ตัว ก็ปาเข้าไปหลายร้อยล้านแล้ว และโครงการนี้ลูกๆ
ของณรงค์ที่ต้องเข้ามารับช่วงในรุ่นที่ 3 บอกว่า "จุดสุดสุดเราจะต้องมีโรงฆ่าสัตว์ทันสมัยที่สุดในเอเชียเป็นของตัวเอง"
(ตอนนี้เทพวงศ์เข้าไปมีหุ้นในโรงฆ่าสัตว์ของมาบุญครอง (ไทยอาร์เอฟเอ็ม.)
แล้ว 10% ซึ่งณรงค์บอกว่าเข้าไปเพื่อช่วยเหลือศิริชัย บูลกุล แต่คนในวงการบอกว่า
ถ้าฟาร์มโคเนื้อของเทพวงศ์สมบรูณ์แบบเมื่อไร อาจจะเป็นไปได้ที่โรงฆ่าของมาบุญครองจะต้องมีการเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่)
วันนี้ของณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรัฐมนตรีเกษตรหลายสมัย มีความสุขอย่างง่ายๆ
กับทุ่งหญ้าและวัวที่ต้องออกแรงช่วยกันกับภรรยาในพื้นที่หุบเขาของฟาร์ม ไม่จำเป็นแล้วเขาไม่ต้องการรับรู้ข่าวสารใดๆ
ทั้งสิ้น มีเพียงตำราเลี้ยงวัวที่ต้องอ่านอย่างหนัก!!
ณรงค์ บอกว่ามันเป็นความสุขในบั้นปลายของชีวิต!!
แต่สุขนี้ทำไมสาหัสสกรรจ์นักก็ไม่รู้ เพราะทางที่ต้องดิ้นเหล่านี้กำลังจะพิสูจน์ความเป็นเจ้าเกษตรของเทพวงศ์ว่า
พร้อมหรือยังที่จะก้าวไปเป็นหนึ่งในโลก AGRO-INDUSTRY อย่างที่หวัง!?
รุ่นที่ 2 ของเทพวงศ์ที่มีณรงค์-สังวาล วงศ์วรรณ เป็นหลักกำลังจะเปิดหมวกอำลา
รุ่นที่ 3 ลูก 8 คนของณรงค์ ต่างได้รับคำถามจากพ่อแล้วว่า "รุ่นที่
2 ข้าฯ ทำเพียงไม่กี่คน แต่รุ่นเอ็งร่วมกันทำถึง 8 คน และหลานๆ อีกนับสิบ
ให้มันรู้ไปว่าจะทำได้ดีหรือเลวกว่า"
ณรงค์บอกว่าเขาไม่เป็นห่วงเรื่องมรดก เพราะจัดสรรปันแบ่งให้แต่ละคนแล้ว
แต่สิ่งที่เป็นกังวลมากก็คือการที่เทพวงศ์ได้แตกกิ่งก้านสาขาตัวเองออกไปมากมายในปัจจุบัน
ภาระเหล่านี้รุ่นที่ 3 จะทำให้มันดีแค่ไหน!"
แต่วงศ์วรรณก็เป็นเหมือนนิมมานเหมินท์-ชุติมา หรืออีกหลายตระกูลธุรกิจในภาคเหนือ
ที่เน้นการลงทุนเรื่อง Human Resource มากๆ ณรงค์ส่งลูกๆ ไปเรียนเมืองนอกเกือบทุกคน
และต้องผ่านการทดสอบการทำงานกับบริษัท ที่ร่วมทุนกับเทพวงศ์ด้วย ประสบการณ์เหล่านี้แหละที่พอประกันความมั่นใจให้ได้ว่า
"รุ่นที่3 ของวงศ์วรรณไม่ควรพลาด"
ทายาท 8 คนของณรงค์ที่ถูกวางบทบาทก้าวเดินไว้แล้วมีดังนี้คือ
อนุสรณ์ วงศ์วรรณ หรือ "โอน" ลูกชายคนโตจบด้านวิศวกรรมโรงงาน
จากนอร์ทคาโรไลน่า สหรัฐอเมริกา คุมกิจการเทพวงศ์ทั้งหมดที่เชียงใหม่ และยังถูกกำหนดให้เป็น
"ทายาททางการเมือง" อีกด้านหนึ่งด้วย ณรงค์ปูพื้นฐานให้เขาก้าวเข้าไปเป็นสมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่
เพื่อกุมคะแนนท้องถิ่นให้ได้เสียก่อนแล้วในชั้นนี้
อนุสรณ์เป็นแกนสำคัญของกลุ่ม "ประชาสันติ" ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองฝ่ายค้านของเชียงใหม่
เขาเป็นคนหนุ่มที่แม้จะติดมาดพ่อเลี้ยงอยู่บ้าง แต่ก็เป็นคนใจถึงแบบพ่อ จุดเด่นอยู่ที่การประชาสัมพันธ์ตัวเองที่ดี
เขาเป็นนายทุนหนังสือพิมพ์ "ข่าวสยาม" ที่หวังใช้เป็นกระบอกเสียงระยะยาวอีกด้วย
"โอนอาจจะไม่มีบทบาทเด่นชัดนักในเรื่องธุรกิจ แต่เรื่องในอนาคตเขาเป็นหมากตัวสำคัญที่จะเข้าไปเป็นตัวรองในถนนการเมืองที่จะสะท้อนมายังธุรกิจ
พ่อเลี้ยงเชื่อใจในความเป็นคนหนุ่มที่ใจนักเลงของเขามาก" คนสนิทของตระกูลนี้กล่าว
อนุวัช วงศ์วรรณ หรือ "เอน" จบวิศวเกษตรจากสหรัฐอเมริกา เป็นคนที่ณรงค์บอกว่า
"ไอ้เอนมันเก่งการค้ามากที่สุด เหลี่ยมคูมันสู้คนอื่นได้สบาย"
อนุวัชคุมงานที่เชียงรายเป็นหลัก และยังมีธุรกิจทำกระเทียมผงส่งนอกเป็นของตัวเองอีกด้วย
ในแง่การกล้าได้-กล้าเสียลงทุน เขามีมากว่าคนอื่นๆ ในครอบครัว อนุวัชมีโครงการที่จะทำโรงแรมขนาด
400 ห้องริมแม่น้ำกก ให้เป็นโรงแรมใหญ่ที่สุดของภาคเหนือในเร็วๆ นี้ ชีวิตของอนุวัชค่อนข้างหรูหรากว่าใครๆ
เช่นกัน บ้านพักส่วนตัวที่เชียงรายสามล้อทุกคนรู้จัก ปกติเป็นคนใช้ชีวิตราตรีเก่งจนถูกเตือนจากณรงค์บ่อยๆ
ว่า "อย่าเป็นพ่อเลี้ยงมากนัก กูรู้นะว่าเงินในบัญชีแบงก์พวกมึงมีคนละเท่าไร"
นริศ วงศ์วรรณ หรือ "เบิ้ม" คนๆ เดียวในวงศ์วรรณที่มีความเป็นลูกทุ่งที่สุด
จบด้านการบริหารธุรกิจ จากวอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ คุมงานโรงบ่มที่เชียงราย
ชอบล่าสัตว์ และยิงปืนจนเป็นผู้นำยิงปืนของครอบครัว
นริศเป็นคนใจกว้างกับลูกน้องมากในจำนวนพี่น้องทั้งหมด แต่ละปีโรงบ่มที่เขาคุมอยู่จะต้องมีการปันผลกำไรให้ลูกน้องเข้ามาถือหุ้นหรือรับเป็นโบนัส
ซึ่งไม่มีใครทำ อาจเป็นเพราะว่าผ่านมาทางด้านนี้โดยตรง ทว่านริศเป็นลูกที่ณรงค์บอกว่า
"ไอ้เบิ้มนี่มันแล้วแต่อารมณ์ ถ้าทำมันก็ทำจริง แต่บทจะไม่เอาก็ปล่อยเฉยๆ
อย่างงั้นแหละ มันเก่งและเข้าใจจิตใจคนดี แต่ยังแกนนำไม่ได้"
อัศวิน วงศ์วรรณ หรือ "เอ็ด" จบเกษตรกรรมจากกรีนส์โบโร สหรัฐอเมริกา
เป็นคนที่ชอบวัวเหมือนกับณรงค์ สมัยเด็กๆ เคยซื้อวัวมาเลี้ยงแล้วหนีไปเรียนต่อ
ทุกวันนี้ขลุกอยู่ในฟาร์มเสียเป็นส่วนใหญ่ เขาน่าจะเป็นผู้บอกได้ดีที่สุดว่า
การที่วงศ์วรรณถีบตัวเองออกไปเลี่ยงสัตว์มันจะส่งผลคุ้มค่าแค่ไหน
นอกจากนี้ยังคุมงานด้านการทดลองและผลิตในโครงการปลูกผักขายด้วย เอ็ดเป็นคนที่ณรงค์บอกว่า
"มันบ้างานที่สุด"
เนาวรัตน์ วงศ์วรรณ หรือต้อย จบด้านกฏหมาย มหาวิทายาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยงานที่โรงบ่มเชียงใหม่และดูแลการบริหารภายใน
ค่อนข้างเป็นคนนุ่มนวลและไม่เปิดเผยตัวเองมากนัก
นิลุบล วงศ์วรรณ จบด้านเลขานุการจากอังกฤษ บทบาทในการทำธุรกิจของครอบครัวไม่เป็นที่เด่นชัดนัก
อัศนีพร วงศ์วรรณ จบด้านบริหารธุรกิจ ปริญญาโท จากนิด้า แม้จะเป็นผู้หญิงแต่ถ่ายเชื้อในด้านความเป็นคนเด็ดขาด
กล้าสู้มาจากพ่อมากมาย รับผิดชอบด้านการส่งออกและหาตลาดใหม่ๆ ให้กลับกลุ่ม
เป็นคนที่จะมีความสำคัญสูงต่อการขยายในปัจจุบัน
ณัฐนันท์ วงศ์วรรณ หรือ "อาร์ต" ยังศึกษาด้านคอมพิวเตอร์อยู่ที่สหรัฐเมริกา
วงศ์วรรณ เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นกลุ่มเดียวที่มีพื้นฐานมาจากคนท้องถิ่นโดยตรง
และสามารถพัฒนาตัวเองไปได้ไกลกว่าทุกกลุ่ม จนมาถึงรุ่นที่3 กำลังจะเข้าไปสวมบทบาทและรับหน้าที่ต่างๆ
พวกเขาและเธอจะประคับประคองหรือสร้างสรรค์ความอหังการได้เป็นคำรบสองไหม!?
"ศักดาทร" แบบฉบับ Mordern Management
รู้ดีว่าน่าจะขยาย แต่ทำไมยังรอ?
สี่แสนบาทสำหรับการว่าจ้างบริษัทเอสจีวี. ให้วางโครงสร้างการทำงานของบริษัทใหม่
ทำให้ "นิยมพานิช" ของ "ศักดาทร" ถูกยอมรับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจแรกในภูมิภาคที่ตะหนักภัยดีว่า
หากไม่ MODERN MANAGEMENT กันแล้ว.... ฮวงซุ้ยก็เบิกประตูค้อมรับด้วยความยินดี!!
ณรงค์ ศักดาทร คีย์สำคัญในรุ่นที่ 3 ภาคภูมิใจกับผลงานนี้มาก เพราะ "คน"
ของ "นิยมพานิช" ไม่เพียงแต่ขีดวงเล่นเฉพาะคนในครอบครัวเท่านั้น
หากเปิดโอกาสให้พนักงานที่มีความสามารถพร้อมที่จะถูกผลักดันให้อยู่สูงขึ้นไปอีก
ณรงค์เป็นศิษย์เก่าพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากจุฬาฯ เป็นเพื่อนนิสิตที่ซี้ปึ๊กกับ
พล.ต.ท.วิสิษฐ์ เดชกุญชร รองอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นรุ่นพี่ที่รักใคร่กับอำนวย
วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารแบงก์กรุงเทพเป็นอย่างดี (สมัยอำนวยยังอยู่สหยูเนี่ยน
ก็ณรงค์นี่ละที่ชวนให้สหยูเนี่ยนเข้ามาทำไนท์ บาร์ซาร์)
เขาน่าเป็นตัวแทนที่ดีว่า ทำไมการเป็นนายหน้าขายสินค้าจึงสำเร็จแลัะร่ำรวยเกินกว่าที่คิด...
และในมุมตรงข้ามฐานะที่เคยออกมาเรียกร้องให้กลุ่มทุนท้องถิ่นเร่งพัฒนาตัวเอง
เพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของทุนท้องถิ่นนั้น "ศักดาทร" ของเขาพร้อมไหมที่จะเป็น
PIONEER
ศักดาทรนั้นมีอดีตมาจากเอียวฮก แซ่เอ็ง คนจีนอพยพขึ้นมาจากเชียงใหม่ และแต่งงานกับแม่สายสุดาภรณ์
ซึ่งเป็นแม่ค้าชื่อดังของเชียงใหม่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สองคนได้ตั้งร้านบ้วนฮกเส็งขึ้นมาขายสินค้าทั่วๆ
ไป ก่อนที่จะเริ่มหันมาสะสมทุนอย่างจริงจังในรุ่นที่ 2 (ริ้ว ศักดาทร) ซึ่งส่งหนังสัตว์ไปขายในตลาดฮ่องกงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ศักดาทรและบ้วนฮกเส็ง จึงน่าจะเรียกได้ว่าเป็นคนท้องถิ่นที่เปิดประตูการค้ากับต่างแดนเป็นคนแรก
หลังจากนั้นก็รับเป็นตัวแทนขายจักรเย็บผ้าให้กับซิงเกอร์ พร้อมเปลี่ยนชื่อ
"บ้วนฮกเส็ง" มาเป็น "นิยมพานิช" เมื่อปี 2492 และยังรับเป็นตัวแทนขายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าและรถยนต์โตโยต้าอีกด้วย
กลยุทธ์การขายที่ยังผลสำเร็จให้ "นิยมพานิช" เป็นกรณีศึกษาทางการตลาดที่น่าสนใจมากคือ
ไม่เพียงแต่ขายในระบบผ่อนส่งเท่านั้น ยังได้มีการจัดตั้ง Sub-dealer ขึ้นตามอำเภอต่างๆ
ด้วย โดยที่ sub-dealer เหล่านั้นอาจเป็นคนที่มีอาชีพขายอะไรก็ได้ จนมองว่าเป็น
"สาขา" ย่อยๆ
ตัวแทนเหล่านั้นนอกจากจะติดตามหนี้ได้คล่องตัวกว่าบริษัทแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตใจกับลูกค้าที่แน่นแฟ้นมากกว่าตัวบริษัทฯ
เองด้วย กุสโลบายทางการค้าเช่นนี้ทำให้ "นิยมพานิช" ที่หันมาบุกหนักในยุคของณรงค์
ก้าวทะยานพรวดพราดจนสามารถตั้งสำนักงานสาขาเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง เช่นที่ลำปาง
ซึ่งในปัจจุบันมีพนักงานไม่ต่ำกว่า 1,000 คน (เฉพาะพนักงานประจำ)
อีกประเด็นที่น่ามองก็คือ แม้จะเป็นตัวแทนเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายยี่ห้อ ทว่าในแง่การขายก็ไม่ทำให้แต่ละยี่ห้อผิดหวัง
ทุกตราเข้าเป้าเกือบทุกปี "ผมจะดูว่ายอดขายของบริษัทเขาตั้งไว้เท่าไร
เราก็พยายามทำให้ได้ทุกๆ ยี่ห้อ แค่นี้ก็ไม่มีปัญหาสามารถเป็นตัวแทนได้ทุกยี่ห้อ"
ณรงค์กล่าวถึงเคล็ดข้อนี้
ศักดาทร นั้นเคยคิดที่จะก้าวกระโดดเข้าไปลงทุนด้านอุตสาหกรรมและการเงินมาแล้ว
แต่ก็ไปไม่ได้ดีนักทำให้ต้องล่าถอยออกมา
หนึ่ง ร่วมทุนกับยูเนียนโซดาทำน้ำโซดา ตอนแรกๆ ที่เบียร์สิงห์ยังไม่ขึ้นมาตีตลาดทางภาคเหนือ
ปรากฏว่าน้ำโซดาของศักดาทรขายดิบขายดีเป็นอันมาก แต่เมื่อโซดาสิงห์มาถึง
วันหนึ่งณรงค์เดินเข้าไปในร้านอาหารได้ยินคนขายบอกว่า "ลูกค้าเขาไม่ต้องการดื่มน้ำคุณอีกแล้ว"
แค่นั้นแหละก็ทำให้ศักดาทรกระโจนหนีออกมาทันที!!
สอง ร่วมทุนกับพอล สิทธิอำนวย ตั้งบริษัทเชียงใหม่เครดิต ทั้งคู่ร่วมงานกัน
5 ปี กิจการรุดหน้าไปพอสมควร แต่แล้วจู่ๆ ณรงค์ก็ถอนหุ้นออกมาทั้งหมดด้วยเหตุผลสั้นๆ
ว่า เขาไม่อาจทำงานร่วมกับพอลที่นิยมความสุ่มเสี่ยงมากเกินไป
บางคนว่าณรงค์ "ปอดแหก" เขาเป็นพ่อค้ามากกว่าที่จะเป็น "นักลงทุน"
คิดแต่ผลได้อย่างเดียว แต่ 5 ปีหลังถอนหุ้น "เชียงใหม่เครดิต"
ก็ร่วงผลอย พอลหลบลี้หนีหน้า ไม่พบกันอีกเลย ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าที่เขาปอดแหกนั้นเพราะมองไกลหรือเปล่า!?
ศักดาทรโดยเฉพาะกับณรงค์นั้นพยายามทำตัวที่จะเป็นนักลงทุนอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นหุ้นที่คนในครอบครัว
"ศักดาทร" ได้ชื่อว่าเป็นเสือเล่นหุ้นของเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเพราะความไม่จัดเจนทำให้ศักดาทรระบมซมซานกับตลาดหุ้นไปแล้วไม่น้อย
ณรงค์เคยได้รับการทาบทามจากแบงก์พาณิชย์หลายแห่ง ให้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในภาคเหนือ
ซึ่งเขามองว่านี่ควรจะเป็นก้าวขยับในการแตกหน่อธุรกิจของ "ศักดาทร"
แต่แนวคิดนี้ยังไม่ได้สนองรับจากคณะกรรมการบริษัทฯ "ผมบอกทุกคนแล้วว่า
ใครมีความคิดอะไรดีก็เสนอมาจะได้ลงทุน เราไม่อาจยึดความเป็นนายหน้าได้ตลอดไป"
เขากล่าว
นอกจากตัวณรงค์ที่มีบทบาทสูงใน "ศักดาทร" แล้วนั้น เขายังมีพี่สาวอีกคนหนึ่ง
คือจินดา นิยมศิลป์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักจัดสรรที่ดินมือหนึ่งของเชียงใหม่
แต่คนคู่นี้แตกต่างกันมากตรงที่ณรงค์ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไรในระยะยาว แต่จินดาจะถือที่ดินไว้ไม่นานนักจะปล่อยไป
ศักดาทรกำลังจะผ่านพ้นรุ่นที่ 3 แล้วในปีหน้า เมื่อณรงค์บอกว่า เขาจะขึ้นไปเป็นประธานมองดูนโยบายส่วนบนมากกว่าที่จะลงมาปฏิบัติด้วยตนเอง
รุ่นที่ 4 ก็มีภาณุพงศ์ ศักดาทร ลูกชายโทนของเขาเป็นแกนนำ
การที่ศักดาทรสะสมทุนจนเป็นทุนขนาดใหญ่ได้นั้น ว่ากันว่าเป็นเพราะความใจสปอร์ตของณรงค์เป็นสำคัญ
อย่างเช่นการตั้งซับดีลเลอร์ในต่างอำเภอ ณรงค์จะปล่อยให้สาขาย่อยเหล่านั้นดำเนินการไปอย่างมีอิสระ
ยืดเวลาชำระจ่ายนานกว่าที่กำหนด รูปแบบการทำงานอย่างนี้ทำให้ sub-dealer
ทั้งหลายเกรงใจไม่กล้าผิดนัดกันเท่าไรนัก!
" แกเป็นคนใจสปอร์ต สมัยเป็นหนุ่มๆ เที่ยวกลางคืนเป็นประจำ แก่ๆ ก็ตามทีเถอะ
เวลาไปเที่ยวนักเร้องคนไหนเข้ามาประกบเป็นต้องได้ใบสีม่วงไปทุกคน ยิ่งใครร้องเพลง
"จงรัก" กับ "รักเอย" ให้ฟังด้วยแล้ว ยิ่งทิปหนัก เพื่อนฝูงของณรงค์เผยความเป็นณรงค์ในบางแง่มุมของเขาให้รู้
ทุกวันนี้ณรงค์ทำงานค่อนข้างสบาย เพราะระบบที่วางใหม่ป้องกันความลักหลั่นได้เกือบทุกจุด
ทำให้ช่วงบ่ายๆ มีเวลาที่จะปลีกไปเล่นไพ่นกกระจอกได้อย่างสำราญใจ หรือไม่ก็ต้องดื่มเหล้าจอห์นนี่ฯ
ตราดำ อย่างน้อยวันละกั๊ก เพื่อให้หายจากโรคความดันโลหิด
"นิยมพานิช" จะรักษาความเป็นยอดนักขายไว้ได้หรือไม่ และจะมีอะไรใหม่ๆ
ที่หวือหวามากขึ้นในรุ่นที่ 4 หรือไม่นั้น ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อย!?
ตันตรานนท์
ใหญ่เสียจนต้องแยกมาตีกัน!!
ตันง่วนชุน อดีตพนักงานขายสินค้าของบอร์เนียว เขาขึ้นมาตั้งรกรากเปิดร้านขายของชำ
ชื่อ "ตันฮ้วนง้วน" ในยุคสร้างทางรถไฟ อาศัยที่เป็นคนนอบน้อมถ่อมตน
ขยันขันแข็ง จึงได้เข้าไปตีสนิทชิดเชื้อกับเจ้านายฝ่ายเหนือจนได้เป็นนายอากรผูกขาดขายสินค้าจนร่ำรวย
และมีอิทธิพลกว้างในเวลาไม่นาน
ตันง่วนชุนมีเมียที่เปิดเผยจริงๆ 2 คน คนหนึ่งเป็นแม่ของประสงค์, ธวัช,
ประวิทย์ และน้องผู้หญิงอีก6 คน ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นแม่ของวัชระ ตันตรานนท์
กับน้องสาวอีก 3 คน ในสายแรกนั้นตันง่วนชุน ส่งเสริมให้ลูกๆ 3 คน คือ ประสงค์
ธวัช และประวิทย์ ร่วมกันตั้งห้างหุ้นส่วนตันตราภรณ์เมื่อปี 2492 ซึ่งเป็นร้านใหญ่ที่กลายมาเป็น
"ห้างตันตราภัณฑ์" ห้างสรรพสินค้าใหญ่ที่สุดของภาคเหนือในขณะนี้
ส่วนอีกสายหนึ่งนั้นเขาสนับสนุนในลูกๆ อย่างวัชระก้าวไปสู่สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
(วัชระจบจากเศรษฐศาสตร์จากเชียงใหม่) เพื่อนำความรู้มาช่วยพี่ชายต่างมารดาประกอบธุรกิจ
นับเป็นการวางแผนทั้งเชิงบุ๋นและบู๊ที่กว้างไกลของนายห้างภูธรคนหนึ่ง!!
ห้างตันตราภรณ์ที่ตั้งขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นนายหน้า (ต้นแบบของการสะสมทุนในภาคเหนือ)
ขายสินค้าแล้ว ยังดำเนินธุรกิจโพยก๊วนที่เลื่องชื่อด้วย โดยตั้งฐานใหญ่ในตลาดวโรรสและที่ร้านถนนวิชยานนท์
ก่อนที่จะขยายตัวมาสู่ถนนท่าแพเมื่อกิจการใหญ่โตขึ้น
ทุนของกลุ่มตันตรานนท์เป็นปึกแผ่นและครอบคลุมธุรกิจต่างๆ ในเชียงใหม่มากขึ้นในช่วงหลังปี
2500 ซึ่งมีการลงทุนก่อสร้างตลาดช้างเผือก ปั๊มน้ำมันตามจุดใหญ่ๆ หลายแห่ง
รับเป็นตัวแทนขายวัสดุก่อสร้างที่ขายดีมาก เนื่องจากการก่อสร้างช่วงนั้นในเชียงใหม่มีอยู่ในปริมาณค่อนข้างสูง
แต่ความเป็นใหญ่ของตันตรานนท์กลับเป็นอันตราย เมื่อตันง่วนชุนสิ้นชีวิตลงปรากฏว่า
พี่น้องในสายแรกต่างแยกย้ายกันทำการค้า ด้วยความกินแหนงแคลงใจกันอย่างสุดประมาณ
โดยเฉพาะธวัช กับ ประวิทย์ ซึ่งประกาศตัดเป็นตัดตายไม่นับญาติกันอีกต่อไป!!!
"มันเป็นเรื่องมรดก ซึ่งประวิทย์ในฐานะน้องชายคนเล็กได้รับมากกว่า
ทีนี้นิสัยส่วนตัวของธวัชเป็นคนที่ไม่ยอมใครง่ายๆ เลยไม่สู้จะพอใจ สองคนนี้แขาแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันมาตลอด
แต่ในแง่การค้าแล้วธวัชค่อนข้างประสบความสำเร็จมากกว่า" พ่อค้าในรุ่นเดียวกันบอกกล่าว
(ทางการเมือง ธวัชเป็นคนอยู่เบื้องหลังกลุ่มอานันทภูมิที่คุมเทศบาลอยู่ ขณะที่ประวิทย์เป็นหัวเรือใหญ่ของกลุ่มประชาสันติ
ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน บทสรุปของความขัดแย้งของ 2 คนนี้พูดกันว่า ถ้าดวลปืนกันได้ไม่ผิดกฏหมายคงลั่นกันสนั่นเมืองไปแล้ว"
ทั้ง 3 คนมีห้างสรรพสินค้าเป็นของตัวเองคือ ประสงค์ตั้งร้านชุณหภัณฑ์ ธวัชตั้งร้านตันตราภัณฑ์
ประวิทย์ตั้งห้างตันติยานันท์ (แต่เลิกกิจการไปแล้วเมื่อปลายปี 2529 โดยประวิทย์หันไปทำโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกใหญ่ที่สุดในภาคเหนือแทน)
แต่ที่ใหญ่และคนรู้จักกันมากคือ ห้างตันตราภัณฑ์ของธวัช
ธวัช มีลักษณะเหมือนเตี่ยที่เข้าผู้หลักผู้ใหญ่ได้เก่ง ประกอบกับเป็นคนกล้าบ้าบิ่น
จึงทุ่มขยายห้างตันตราภัณฑ์จนใหญ่โตเป็นห้างเดียวที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบัน
และเครดิตนี้ก็ทำให้ธวัชสามารถที่จะกลายเป็น ดร.กิตติมศักด์อย่างเงียบๆ ของมหาวิทยาลัยแบรนด์ฟอร์ด
สหรัฐอเมริกา
"ได้อย่างไรไม่ทราบ เพราะทำพิธีกันเงียบเชียบเหลือเกิน มาเป็นข่าวก็เมื่อผ่านไปแล้ว
2 ปี" บางคนยังไม่วายตั้งข้อสงสัย แต่ที่แน่ๆ ธวัชได้รับการยกย่องมากว่าเป็นยอดของนักวางแผนและมีความอดทนมาก
ดังจะเห็นว่าเขาใช้เวลานานถึง 15 ปี ต่อการผลักดันให้กลุ่มอานันทภูมิขึ้นมาครองเมืองเชียงใหม่
"ใจนักเลงงานของทางราชการนี่ บริจาคไม่อั้นเลย ทำให้เจ้านายชอบ จะขยายอะไร
แม้จะติดขัดบ้างก็ได้รับการผ่อนปรนเป็นพิเศษ แต่เป็นคนที่อารมณ์ไม่แน่นอนและพิศดาร
ลูกน้องคนไหนที่ถูกด่าจะจ่ายเงินให้เป็นพิเศษ เรียกว่าใครถูกด่าคนนั้นก็โชคดี
ตอนหนุ่มๆ โผงผางมาก แก่แล้วดูสุขุมขึ้น" แหล่งข่าวอีกท่านหนึ่งกล่าว
ธวัช ไม่เพียงแต่เป็นนายห้างสรรพสินค้าใหญ่เท่านั้น ช่วงปี 2510 ที่มีการตั้งบริษัทเงินทุนมากมายรวมถึง
"ไทยเงินทุน" ของกลุ่มนิมมานเหมินท์-ชุติมา เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรวบรวมพ่อค้าคนดังของเชียงใหม่
ตั้ง "เชียงใหม่ทรัสต์" (มีตระกูลรอดเจริญ พ่อค้าไม้จากภาคกลางเข้าร่วมด้วย)
ขึ้นมาและยังอยู่ได้ยืนยง!!
ปัจจุบันในส่วนของธวัชเขาเริ่มมอบกิจการบางส่วนให้วรกร ตันตรานนท์ เป็นคนดูแลแทน
(วรกร ปัจจุบันป็นนายกเทศมนตรีของเชียงใหม่ด้วย) แต่การตัดสินใจเด็ดขาด ว่ากันว่าเขายังไม่ปล่อยให้ลูกชายสุดที่รักคนนี้คอนโทรลเดี่ยวๆ!?
"ถึงแม้จะเป็นนักเรียนนอกแต่สภาพที่ถูกฟูมฟักมายังกับไข่ในหิน ทำให้ทัศนะของวรกรค่อนข้างแคบไปสักนิด
สมัยเรียนมงฟอร์ตฯ เป็นคนติ๋มๆ ระดับการเรียนปานกลางค่อนข้างปลายแถว แต่พอมาเป็นนายกฯ
ท่าทีเปลี่ยนไปมาก แค่ลูกถูกครูตีถึงกับเอาเรื่องซึ่งทำให้ภาพพจน์ถูกมองติดลบ
อันนี้อาจเป็นเพราะเขาตามใจเมียมากก็เป็นไปได้" เพื่อนนักเรียนเก่าของวรกรบอกกับ
"ผู้จัดการ"
แต่ข่าวคราวการรุกคืบของเซ็นทรัล กรุ๊ป ที่จะขึ้นเชียงใหม่คงกระตุ้นให้ธวัช-วรกรอยู่ไม่เป็นที่แน่
และเมื่อถึงเวลานั้นจะพิสูจน์ได้ดีว่า วรกรแหลมคมเหมือนปู่กับพ่อหรือเปล่า...?
ตันตรานนท์สายที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีความทันสมัยก้าวหน้าในการทำธุรกิจมากที่สุด
น่าจะเป็นสายประสงค์ที่มีบุญทวี ตันตรานนท์ เมียคนเก่งรับช่วงงานต่อหลังสามีเสียชีวิต
โดยดึงเอาวัชระ ตันตรานนท์น้องชายต่างสายเข้ามาช่วย
คนคู่ๆ นี้เด่นกันไปคนละแบบ บุญทวีเป็นนักธุรกิจหญิงที่กล้าเสี่ยงต่อการลงทุน
ในเวลาเพียงไม่กี่ปีได้ขยายการลงทุนคลุมไปหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขายส่งสินค้า
คอนซูมเมอร์ ขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนตร์มิตซูบิชิ (นอร์ทเทิร์น
มาร์เก็ตติ้ง) ค้าพืชผล ทำโรงแรม จัดสรรที่ดิน ส่วนวัชระเป็นนักธุรกิจไฟแรง
มีความคิดตื่นตัวตลอดเวลา นอกจากเป็นเสธฯ ให้พี่สะใภ้แล้ว ยังเป็นเสธฯ ของกลุ่มบี.12
(กลุ่มธุรกิจของเชียงใหม่ที่รวมตัวกันขึ้นเพื่อต้านคลื่นทุนนิยมต่างถิ่น
และเป็นเจ้าของโครงการมงฟอร์ต วิลล่า บ้านจัดสรรที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ)
วัชระในวันนี้ท่ามกลางข่าวลือที่ว่า "ถูกที่ดินแม่ริมกลืนกลบลบหายไปจากบัญชรธุรกิจ"
แล้วนั้น แท้ที่จริงเขากำลังเริ่มงานเงียบๆ ในเรื่องที่ดินกับประสงค์ พาณิชยภักดี
พ่อค้าข้าวชื่อดังของกรุงเทพฯ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากว่า "จะใหญ่ในโลกของที่ดิน-บ้านจัดสรรในอนาคตอันใกล้
(สองคนนี้ร่วมงานแรกชื่อ บ้านสวนริมปิง ที่แม่ริม เป็นบ้านจัดสรรที่เป็นไม้สักทั้งหลัง
ในเนื้อที่ไร่ครึ่ง อยู่ติดกับบ้านพักของบิ๊กจิ๋ว จะเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้)
นักธุรกิจหลายรายของเชียงใหม่พูดถึงทายาทตันง่วนชุนคนนี้ว่า "เขาเป็นคนหนุ่มหัวดี
แต่ก้าวไวไปหน่อย กล้าเกินตัวจนกลัวว่าจะเจ็บเสียก่อน อย่างมงฟอร์ต วิลล่า
วัชระสู้แทบตายกว่าที่จะพ้นภาวะเลวร้ายมาได้ แต่คนที่สบายไม่ใช่เขาจนดูเหมือนถูกหลอก"
สายบุญทวี-วัชระยังได้ร่วมทุนกับตระกูลโอสถานุเคราะห์ ในนามบริษัทเจเนอรัลไฟแนนซ์
คอปอเรชั่น จำกัด และบริษัทพรีเมียร์ซัพพลาย จำกัด ก่อตั้งบริษัทนอร์ทเทิร์นซัพพลายส์
จำกัด ขึ้นมาเพื่อให้บริการเช่าซื้อและลงทุน มีสำนักงานทั้งที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่
และลำปาง
แต่การดำเนินงานในลักษณะต้องพึ่งพิงทุนจากกรุงเทพฯ ทำให้บริษัทไม่ก้าวไกลเท่าที่ควรนัก
จนทำให้วัชระเริ่มที่จะหาหนทางอื่นมาพัฒนาให้ดีขึ้นบ้างแล้ว
สำหรับตันตรานนท์ สายประวิทย์นี่ต้องม้วนเสื่อไปกับห้างตันตรานนท์ จนตกเป็นเรื่องคุยสนุกๆ
กันในสายธวัช ดูไม่มีอะไรโดดเด่นขึ้นมาในช่วงนี้ ประวิทย์เองก็กลายเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัวไม่ค่อยสุงสิงกับใคร
เพียงแต่ป้อนข้อมูลลึกๆ ให้ประชาสันติ อัดอานันทภูมิในเกมการเมือง
"แกไม่ได้เจ๊งอย่างที่ใครบางคนในตันตรานนท์เข้าใจ ทว่าสถานการณ์การทำห้างสรรพสินค้าในเชียงใหม่ที่ผ่านมา
มีแต่ทรงกับทรุด ที่ขยายกันอย่างคึกคักก็ยังไม่รู้ว่าหมู่หรือจ่า พอดีคุณประวิทย์แกมีช่องทางดีกว่าในเรื่องทำโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูป
เลยหันไปเล่นทางนั้น" คนในสายประวิทย์แก้ข้อต่างที่กล่าวหาว่าลูกพี่พังไม่เป็นท่าว่าไม่เป็นความจริง
ก็ต้องดูกันต่อไปว่าพริกเม็ดไหนจะร้อนแรงกว่ากัน!?
ยังดีที่ความขัดแย้งของพี่น้องตันตรานนท์นั้นเป็นเรื่องคุกรุ่นในใจที่ทำร้ายกันด้วยสายตา
ถากถางกันด้วยความคิด เย้ยเยาะกันด้วยการกระทำตามเกมธุรกิจ การเมืองที่ยังไม่ต้องเล่นกันถึงขั้นเลือดตกยางออกเหมือนบางกลุ่มตระกูล
ทว่าแค่นี้ก็ปวดแสบปวดร้อนกันไม่น้อยทีเดียว!!!
ภาพสะท้อนอย่างหนึ่งของตันตรานนท์ ไม่ว่าสายใดก็คือ การที่พยายามลากเอาธุรกิจเข้าไปในวังวนการเมือง
จนแทบจะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองที่สมบรูณ์แบบไปแล้ว และคล้ายกับว่าแต่ละคนก็พร้อมที่จะอัดฉีดเงินไม่อั้น
โดยเฉพาะธวัชเพื่อสร้างกลุ่มการเมืองของตนให้ใหญ่ขึ้นมา (บุญทวีเป็นคีย์ของหอการค้าจังหวัด)
ทั้งนี้เพราะแต่ละคนมีความคิดที่ว่า การเมืองเท่านั้นที่จะบำรุงธุรกิจในส่วนภูมิภาคให้โตได้ทันใจทันควัน!!!??
จันทรวิโรจน์
เลือดหม่องที่ร้อนแรงและซับซ้อน!!??
เชียงใหม่ก่อนที่จะเปลี่ยนโฉมผู้ครอบครองเศรษฐกิจเป็นคนจีนโพ้นทะเล ที่อพยพขึ้นมาพร้อมกับการสร้างทางรถไฟปี
2464 นั้น เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพม่า-อังกฤษเป็นสำคัญ การค้าขายไปยังเมืองมะละแหม่งนั้นสูงกว่ามากรุงเทพฯ
หลายร้อยเท่าตัว!!
ถึงแม้ว่าหลังปี 2464 ความใกล้ชิดพม่าจะถูกทำลายลงไปมาก แต่อำนาจบารมีของ
"จันทรวิโรจน์" ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในเขตลำปาง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน
ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกระทบประวัติศาสตร์จากด้านนี้ได้อย่างเด่นชัด
และถ้านำไปเปรียบกับกลุ่มวงศ์วรรณ อาจกล่าวได้ว่า "จันทรวิโรจน์"
เริ่มเดินตามเข้าไปสู่ระบบธุรกิจ-การเมืองอย่างเต็มตัว ในรุ่นหลานที่มีพ่อเลี้ยงเพลย์บอย
อย่างอุดรพันธุ์ จันทรวิโรจน์เป็นตัวนำ!!
จันทรวิโรจน์ เริ่มสะสมทุนขั้นต้นจากการทำป่าไม้ของหม่องจันโอ่งและหม่องตาอู
(พนาสิทธิ์ จันทรวิโรจน์) ที่ร่อนเร่มาจากเมาะลำเลิง หม่องตาอูที่แต่งงานกับนางเต่า
ลูกสาวของหม่องยี (ต้นตระกูลบริบูรณ์) ซึ่งเป็นกัมปะโดของแบงก์ไทยพาณิชย์นั้น
เป็นผู้กรุยทางความยิ่งใหญ่ให้กับตระกูล
หม่องตาอูรับจ้างทำไม้ให้กับอีสต์เอเชียติกส์ ก่อนที่จะได้สัมปทานป่าเป็นของตัวเอง
ที่ป่าแม่ลาว เวียงป่าเป้า เชียงราย และป่าไม้กว่าครึ่งในเขตแม่ฮ่องสอน "จันทรวิโรจน์"
นั้น คนเก่าที่มีอาชีพเดียวกันเล่าว่า เกิดจากการที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
เส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนไม่สะดวก หม่องตาอูยอมตัดเยื่อตัวเองสร้างทางเชื่อมให้
และรับอาสาตัดไม้ลากซุงให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.)
นั่นเป็นจุดเริ่มแรกที่ทำให้สัมพันธ์ระหว่างจันทรโรจน์กับทางการแน่นแฟ้น
ก่อนที่พม่าจะชักโสร่งเข้าไปกุมหัวใจคนใหญ่คนโตในกรมป่าไม้ได้สำเร็จ และมีน้ำเสียงที่เด็ดขาดพอกับการให้เจ้าหน้าที่บางคนยอมรับการดำเนินการของบริษัทในเวลาต่อมา
ที่สืบสานต่อจนถึงปัจจุบัน!!
"คนในกรมป่าไม้ ออป. พอเอ่ยชื่อจันทรวิโรจน์ก็รู้แล้วว่าเขาควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จากกลุ่มนี้"
อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 คนหนึ่งเคยพูดเอาไว้
กิจการป่าไม้ของจันทรวิโรจน์ประสบความสำเร็จมาก หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่
2 ทั้งนี้เพราะได้เแรงช่วยเหลืออย่างเอาเป็นเอาตายจาก ออป. นั่นเอง ซึ่งทำให้ทุนของกลุ่มนี้สามารถแผ่ขยายเข้าไปยังกิจการอื่นๆ
ได้อีกเช่น เหมืองแร่ ยาสูบ โรงแรม (อุดรพันธุ์ มีหุ้นใหญ่อยู่ในโรงแรมเชียงใหม่ออคิด)
ไนท์คลับ หรือแม้แต่เขาหุ้นกับกลุ่มสารสินสร้างศูนย์กลางค้าราชดำริอาเขต
(สายธุรกิจตระกูลนี้ดูตารางประกอบ)
ความสัมพันธ์กับกลุ่มสารสินโดยผ่านทาง พ.อ.จินดา ณ สงขลา ประธานฯ ศูนย์การค้าราชดำริอาเขต
ทำให้จันทรวิโรจน์กระโจนเข้าไปสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว หลังจากที่นิกร
จันทรวิโรจน์ ทายาทคนหนึ่งเคยได้รับการเลือกตั้ง ส.ส แม่ฮ่องสอนมาแล้วเมื่อปี
2501
จันทรวิโรจน์เลยกลายเป็นฐานเงินฐานใหญ่ของพรรคกิจสังคมทางภาคเหนือในปัจจุบัน
แต่อิทธิพลที่เคยมีมาในยุคของหม่องตาอูไม่สามารถทำให้อุดรพันธุ์ จันทรวิโรจน์
สมใจได้ในการสมัครเป็น ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา แต่พ่อเลี้ยงหนุ่มคนนี้ก็ยังปูพรมหาเสียงควบคู่ไปกับการดูแลธุรกิจอย่างหนักหน่วง
ธุรกิจของจันทรวิโรจน์ทั้งหมดจะมี "บริษัทสหพนาสิทธิ์" เข้าไปถือหุ้น
มีชื่อเรียกรวมกันว่า "เครือสหพนาสิทธิ์" ASSET ของกลุ่มนี้ประมาณว่าไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท
เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับเทพวงศ์ของวงศ์วรรณ"
แต่หลายธุรกิจของกลุ่มนี้ก็ค่อนข้างลึกลับซับซ้อนพอตัว โดยเฉพาะธุรกิจบันเทิงที่เป็นเจ้าพ่อทั้งในภาคเหนือและกรุงเทพฯ"
แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว (อุดรพันธุ์เป็นเจ้าของฮันนี่ไนท์คลับ ซึ่งใหญ่และมีอิทธพลมากในเชียงใหม่)
รุ่นที่ 3 ของจันทรโรจน์เดินมาถึงเล้วในยุคของพ่อเลี้ยงอุดรพันธุ์ จันทรวิโรจน์!!!
อุดรพันธุ์เป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธ และจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ จากนิวซีแลนด์
เขาถูกกล่าวขานมากว่า เป็นพ่อเลี้ยงเพลย์บอย เมื่อก่อนนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเที่ยวราตรี
กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยทุ่มเงินหลายสิบล้านบาท เพื่อให้ได้มาซึ่งตัวนักร้องสาวเสียงใส
นัยน์ตาสวยซึ้งคนหนึ่ง ที่เคยอยู่ในบริษัทเทปอโซน่า จนเป็นที่กล่าวขวัญกันมาแล้ว
นักร้องสาวผู้นั้นขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ และเป็นนักร้องประจำฮันนี่ไนท์คลับของอุดรพันธุ์ไปด้วยในตัวหลายปี
ก่อนแยกทางกันเดิน
นับว่าอุดรพันธุ์เป็นนักวางแผนธุรกิจชั้นยอดทีเดียว ได้ทั้งเมีย-ได้ทั้งเงิน...(ลับๆ)
แต่ตัวเขาเองมักปฏิเสธ "ไม่มีมูลความจริง เป็นเพียงผลประโยชน์แลกเปลี่ยนทางธุรกิจเท่านั้น"
หลังพ่ายเลือกตั้ง เวลาส่วนใหญ่ของเขาหมดไปกับการดูแลธุรกิจในเครือที่มากกว่า
17 แห่ง และใช้เวลาว่างเก็บตัวอย่างสันโดษ ไม่มีเค้าหนุ่มราตรีหลงเหลือ บางคนพบเห็นเขาแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเรียบง่ายและกางเกงยีนส์ในหมู่บ้านโชตนานิเวศน์
ริมถนนสายเชียงใหม่- แม่ริม
แต่อุดรพันธุ์ก็ยังมีบุคลิกพ่อเลี้ยงติดตัว เพราะนาฬิกาที่เขาใช้ต้องเป็นกุชชีส์
หรือโรเลกซ์ บุหรี่ต้องเป็นวินสตัน หรือไม่ก็เป็นซิการ์เดวิด๊อปจากคิวบา
ที่มีราคาแพง รถยนต์ที่ใช้ขับก็เป็นเบนซ์สปอร์ต 350 เอส.แอล.ซี. หรือไม่อาจเป็นมอเตอร์ไซด์ฮอนด้า
750 ซีซี
ภายในบ้านของพ่อเลี้ยงหนุ่มหัวจักร " สหพนาสิทธิ์" มีครบครันเยี่ยงบ้านคนมีอันจะกินพึงจะมีได้
ไม่ว่าจะเป็นบ้านสไตล์ยุโรป ที่หมดค่าตกแต่งหลายสิบล้านบาท ข้างในมีทั้งห้องเล่นสนุ๊ก
ตู้วิดีโอเกมส์ สระว่ายน้ำ หรือบาร์เหล้า ห้องทำงานที่เป็นสัดส่วน ซึ่งบางครั้งใช้เป็นที่วางแผนทั้งงานธุรกิจ-การเมือง!!
นอกจากนี้เขายังชื่นชอบเลี้ยงสัตว์ดุๆ เช่น หมี เสือ และเหยี่ยว โดยให้เหตุผลว่า
"สัตว์พวกนี้มันปราดเปรียว คล่องแคล่วดี" และยังเป็นคนที่ชอบสะสมปืน
โดยมีปืนทั้งโบราณและใหม่ไว้ในครอบครองมากกว่าร้อยกระบอก!!
สำหรับการก้าวย่างการพัฒนาธุรกิจของ "สหพนาสิทธิ์" ในยุคสมัยของอุดรพันธุ์มีข่าวว่า
จะร่วมทุนกับบริษัทออสเตรเลียและเยอรมันทำเหมืองแร่ที่เขต อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
โดยมีการศึกษางานในขั้นตอนแรกไปเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการนี้ไม่น้อยกว่า
400 ล้านบาท
"นอกจากนี้อุดรพันธุ์กำลังคิดที่จะนำสหพนาสิทธิ์กลับคืนสู่วงการการก่อสร้างอีกครั้งหนึ่ง
โดยจะใช้โรงโม่หินที่มีอยู่ทำคอนกรีตผสมเสร็จ โดยจะร่วมกับบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนตร์รายใหญ่รายหนึ่ง
ซึ่งอุดรพันธุ์มีความสัมพันธ์โดยผ่านทางสารสิน" แหล่งข่าวกล่าว
อุดรพันธุ์นั้นยังมีเวลาอีกมากนักที่จะทำให้ทุกคนได้รู้ว่า คนอย่างเขานั้นเป็นนักธุรกิจ-นักการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากคนหนึ่ง
ไม่ใช่เป็นเพียงพ่อเลี้ยงอุดรพันธุ์ที่เคยถูกกล่าวขานว่า " ยอดเพลย์บอย"
อย่างที่เคยเป็นมา!!!
สายเลือดเก่า-ใหม่
รอพร้อมเติบโต
ศูนย์กลางธุรกิจภาคเหนืออย่างเชียงใหม่ยังมีกลุ่มสายเลือดเก่าและใหม่ที่น่าสนใจอีกหลายกลุ่ม
อาทิเช่น
ตระกูลเลียว อุย แซ่เลียว พ่อค้าเรือ สัญชาติอังกฤษที่เข้ามาพร้อมหลวงอนุสารสุนทร
เป็นนายทุนเงินกู้สำคัญ ที่สะสมความร่ำรวยให้กับตระกูลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
และเป็นคนก่อตั้งร้านค้า "เหลียวย่งง้วน" (ปัจจุบันเป็นที่ตั้ง
ส.การค้าท่าแพ)
พ้นจากยุคของอุยพี่น้องต่างแยกย้ายกันประกอบธุรกิจส่วนตน แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ
เป็นตัวแทนรายใหญ่ของจังหวัด กิจการของตระกูลเลียวแตกแขนงออกไปเป็นสกุลเลียววิริยะกุล,
เรี่ยวเธียรชัย, เลียวสวัสดิพงษ์ และสุจริตรักษ์
ถ้าจับเข้ามารวมกันก็นับว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่ไม่แพ้ใคร (เรี่ยวเธียรชัยตั้งบริษัทธารา
จำกัด เป็นตัวแทนขายรถยนต์อีซูซุให้กับบริษัทตรีเพชรอีซูซุ จำกัด รายใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ
และยังสนิทสนมกันดีมากกับวรรณ ชันซื่อ ประธานใหญ่ของอีซูซุ)
ตระกูลชินวัตร กิจการหลักของตระกูลนี้เป็นเรื่องของการผลิตและค้าไหม ในรุ่นที่สามซึ่งเป็นรุ่นลูกของเชียง
ชินวัตร ผู้ก่อตั้งที่ช่วยกันดูแลกิจการมีทั้งหมด 12 คน โดยมีจันทร์สม ชินวัตร
เป็นหัวขบวน สายชินวัตรนี้แตกกระจายมากมาย อย่างเช่น พ.ต.อ.ทักษิณ ชินวัตร
เจ้าของชินวัตรคอมพิวเตอร์ก็เป็นเครือญาติคนหนึ่ง
ชินวัตรเคย DIVERSIFY เข้าไปในธุรกิจการเงิน โดยร่วมกับตระกูลพรหมชนะรับเป็นตัวแทนให้กับแบงก์นครหลวงไทย
ต่อจากตระกูลนิมมานเหมินท์ แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจนี้ก็ต้องเลิกราไปในที่สุดเมื่อขัดแย้งกับสำนักงานใหญ่ฯ
ตระกูลนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่คนหนึ่ง ราคาที่ดินที่สูงร่วมไร่ละล้านบาทในเขตพื้นที่สันกำแพงนั้นเป็นของชินวัตรอยู่ไม่น้อย
และมีข่าวว่าสุรพันธ์ ชินวัตร รมช.คมนาคม พยายามลุ้นให้มีการตัดเส้นทางสายเชียงใหม่-พะเยาสายใหม่ผ่านสันกำแพง
ถ้าสำเร็จชินวัตรจะรวยจากการตัดหน้าดินขายอีกหลายสิบล้านบาท
ตระกูลบูรณปกรณ์ ตระกูลนี้เป็นสายเลือดใหม่ที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะในเรื่องการจัดสรรที่ดิน-และทำหมู่บ้านจัดสรร
มีประพันธ์ บูรณปกรณ์ นักเรียนเก่ามงฟอร์ตเป็นกำลังหลัก คนในวงการแบงก์เชียงใหม่ยอมรับเครดิตของกลุ่มนี้อยู่ในแถวหน้าอันดับต้นๆ
เลยทีเดียว
กลุ่มบี.12 แนวคิดการรวมตัวกันของนักธุรกิจกลุ่มนี้ที่มีนิตย์ วังวิวัฒน์แห่งชาระมิงค์
กับวัชระ ตันตรานนท์ เป็นตัวตั้งตัวตีเพื่อสกัดกั้นการไหลบ่าของทุนถิ่นอื่นนั้นเป็นมิติใหม่
ทว่าจากเหตุผลที่คนที่มาร่วมมีฐานะทางธุรกิจแตกต่างกัน เลยทำให้การรวมตัวเป็นไปอย่างหลวมๆ
ยังไม่มีพลังต่อรองกันมากนัก โครงการที่ดูเด่นเห็นจะมีเพียง "มงฟอร์ตวิลล่า"
ซึ่งกว่าจะยิ้มได้ก็เต็มกลืน
เชียงใหม่ที่กำลังจะมีอายุขัยครบ 700 ปี วัฏจักรของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ยังคงเคลื่อนไหวต่อเนื่อง
และทุกกลุ่มก็หวังว่าน่าจะถึงวันที่เชียงใหม่จะเป็น "ไท" ได้รับเอกราชทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริงเสียที!!!