แบงก์มีสิทธิกันสำรองเพิมธปท.จี้แก้NPL-ยันไม่กระทบฐานะ


ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ธปท." แย้มอาจมีแบงก์พาณิชย์บางแห่งต้องกันสำรองเพิ่ม แม้ปัจจุบัน กันสำรองเกินเกณฑ์แล้ว หวังแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลให้ลดลงเหลือ 2% ภายในปี 2549 ระบุไม่กระทบการดำเนินงานแบงก์ เพราะแบงก์สามารถนำสำรองส่วนเกินมากันสำรองได้ ตัวเลขสำรองเกินเกณฑ์ทั้งระบบเฉลี่ยสูงถึง 40%

นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ประกาศตาม หนังสือเวียนที่ประกาศออกมาเมื่อ 26 สิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา เรื่องเกณฑ์การจัดการสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้นั้น เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์เร่งจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพี-แอล) หรือหนี้คงค้างที่ไม่ได้ดำเนินการ ให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้หนี้เอ็นพีแอลในระบบลดลงตามเป้าหมายตั้งไว้ให้เหลือ 2% ภายในปี 2549 ซึ่งคาดว่าอาจจะมีธนาคารพาณิชย์บางแห่งต้องกันสำรองเพิ่มในงวดสิ้นปีบัญชี 2547 แม้ว่าจะกันสำรองเกินเกณฑ์ตามที่ ธปท.กำหนดแล้วก็ตาม

"หากแบงก์พาณิชย์เร่งฟ้องลูกหนี้เพิ่มก็เท่ากับว่ามาตรการที่ออกไปได้ผลดี เพราะจะได้เร่งลดหนี้เสียในระบบได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงๆมาตรการหนี้นั้นต้องการบีบให้แก้ไขหนี้ แต่คงมีธนาคารบางแห่งอาจจะต้องกันสำรองเพิ่มจากมาตรการนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะทางแบงก์พาณิชย์สามารถนำเงินสำรองส่วนเกินมาสำรองได้" นายสามารถกล่าว

สำหรับตัวเลขกันสำรองเกินเกณฑ์ของระบบสถาบันการเงินในขณะนี้ โดยเฉลี่ยมีประมาณ 40% เนื่องจากเกือบทุกแห่งกันสำรองเกินเกณฑ์อยู่ที่ระดับ 135-140% ซึ่งสถาบันการเงินสามารถนำสำรองส่วนเกินมาใช้กันสำรองหนี้ที่เหลือคงค้างและจัดการได้ไม่เสร็จทันสิ้นปีนี้

ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้ออกประกาศหนังสือเวียนใน ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2547 เรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์เข้มแข็งและเร่งดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สำเร็จเร็วขึ้น ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยให้ปรับปรุงเกณฑ์การกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ กรณีที่ยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ด้วยการให้กันเงินสำรองเพิ่มสำหรับยอดคงค้างหลังหักเงินสำรองที่ธนาคารพาณิชย์กันไว้แล้ว ซึ่งอัตราส่วนขึ้นอยู่กับระยะเวลาการค้างชำระหนี้ และยกเลิกเกณฑ์การประเมิน สินทรัพย์ที่ตีราคาเกินกว่า 12 เดือน จากเดิมที่อนุญาตให้นำมาหักจากยอดคงค้างก่อนกันเงินสำรอง ได้ไม่เกิน 50% ของราคาประเมิน รวมทั้งห้ามโอนเงินสำรองพึงกันที่เกิดจากงวดบัญชีหลังของปี 2544 ไปเป็นรายได้

ทั้งนี้ สินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ ต้องกันเงิน สำรองในอัตรา 100% คือ 1.ลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้น เป็นระยะเวลารวมกันเกินกว่า 12 เดือน 2.ลูกหนี้เบิกเกินบัญชีที่ไม่มีวงเงิน แต่ยอดหนี้เกินวงเงินหรือครบกำหนดชำระแล้ว แต่ไม่มีเม็ดเงินนำเข้าบัญชีเกินกว่า 12 เดือน นับแต่วันที่ถูกยกเลิกวงเงิน 3.อสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการชำระหนี้ หรือซื้อจากการขายทอดตลาด กรณีที่ประเมินไว้หรือที่ตีราคาไว้ไม่เกิน 12 เดือน ให้นำมูลค่ามาหักได้ 100% และสำรองเพิ่มส่วนที่เหลือให้ครบ 100% ให้หักค่าประมาณการใช้จ่ายในการขายก่อนนำไปเปรียบเทียบ กับราคาตามบัญชี แต่ถ้ากรณีประเมินไว้เกิน 12 เดือน ให้นำมูลค่าที่ได้จากราคาประเมินมาใช้ได้เพียง 50% และส่วนที่เหลือต้องสำรองเพิ่มให้ครบ 100% และ 4.สินทรัพย์อื่นเฉพาะส่วนที่เป็นผลต่างของราคาตามบัญชีที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรม 5.สินทรัพย์หรือสิทธิเรียกร้องที่คาดว่าจะเรียกคืนไม่ได้ทั้งจำนวน 6.ส่วนสูญเสียที่เกิดจากการปรับปรุง โครงสร้างหนี้ 7.มีเหตุประการอื่นที่แสดงว่าสินทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องนั้นจะไม่ได้คืนทั้งจำนวนตามที่แบงก์ชาติสั่ง

นอกจากนี้ หนี้ที่ไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องและปรับโครงสร้างหนี้ ก็ต้องตั้งสำรองตามเกณฑ์ดังนี้ คือ หนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 เดือนแต่ไม่เกิน 24 เดือน ต้องกันสำรอง 100% หนี้ค้างชำระเกินกว่า 24 เดือน แต่ไม่เกิน 36 เดือน กันสำรองเพิ่มไม่ต่ำกว่า 125% หนี้ค้างชำระเกินกว่า 36 เดือน แต่ไม่เกิน 48 เดือน กันสำรองเพิ่มไม่ต่ำกว่า 150% และหนี้ค้างชำระเกินกว่า 48 เดือน กันสำรองเพิ่มจากกรณีที่ 1 เต็มจำนวนหลังหักหลักประกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.