|
ทรูผนึกทีเอฯดิ้นรีไฟแนนซ์หนี้3.4หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(1 ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
TRUE เดินหน้าผนึก "ทีเอ ออเร้นจ์" ด้วยการจัดหาแหล่งเงินกู้ระยะยาว เพื่อรีไฟแนนซ์หนี้มูลค่ากว่า 3.4 หมื่นล้านบาท ทั้งจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ พร้อมอัดฉีดเงินกว่า 6 พันล้านบาท ดันทรูถือหุ้นในทีเอ ออเร้นจ์เพิ่มเป็น 83% ส่วนแผนเพิ่มทุนของ TRUE ยังคงชะลอออกไปอีก เนื่องจากภาวะตลาดไม่เอื้อ ขณะที่ผู้บริหาร KTB แขวะแบงก์ชาติปล่อยกู้ 8.6 พันล้านบาทให้ TRUE ไม่เสี่ยงอย่างที่กังวล
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และบริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด เปิดเผยว่า TRUE ได้จัดหาเงินกู้ระยะยาวประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท ให้กับทีเอ ออเร้นจ์ เพื่อปรับโครงสร้างแหล่งเงินกู้ (รีไฟแนนซ์หนี้) จากเดิมภาระดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.2% หลังจากรีไฟแนนซ์หนี้ครั้งนี้แล้วดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.75% ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาวมีกำหนดชำระในปี 2554 โดยเริ่มชำระหนี้งวดแรกในปี 2549
สำหรับเงินกู้ระยะยาวจำนวน 3.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยหนี้ที่เป็นสกุลเงินบาท 26,968 ล้านบาท และหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีเจ้าหนี้สถาบันการเงินในประเทศ 5 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย,ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารคไทยพาณิชย์ และธนาคารนครหลวงไทย เป็นผู้ปล่อยกู้ ส่วนเจ้าหนี้ต่างประเทศประกอบด้วย บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี), KfW, COFACE และ WestLB เป็นผู้ปล่อยกู้
ทั้งนี้ ในการจัดหาเงินกู้ระยะยาวครั้งนี้ สามารถลดภาระดอกเบี้ยของทีเอ ออเร้นจ์ ลงได้ประมาณปีละ 150 ล้านบาท และยังเป็นการช่วยเพิ่มกระแสเงินสดในการขยายบริการของ ทีเอ ออเร้นจ์ ในอนาคตอีกด้วย ส่วนเงื่อนไขการคืนเงินกู้จะมีระยะเวลาปลอดการชำระคืนหนี้ 2 ปีแรก โดยเริ่มต้น ชำระคืนเงินกู้เป็นรายปีตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2549 เป็นต้นไป และกำหนดชำระคืนเงินกู้ครั้งสุดท้าย คือวันที่ 31 ธันวาคม 2554 โดยจะชำระเงินกู้คืนในอัตราระหว่าง 1,815 ล้านบาท ถึง 4,785 ล้านบาทต่อปี สำหรับ 3 ปีแรกและระหว่าง 6,270 ถึง 8,580 ล้านบาทต่อปี สำหรับ 3 ปีหลัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดภายใต้สัญญาเงินกู้ที่มีอยู่กับกลุ่มเจ้าหนี้
นายศุภชัย กล่าวว่า การจัดหาแหล่งเงินกู้ให้กับทีเอ ออเร้นจ์ ครั้งนี้จะทำให้ทรูสามารถเพิ่มทุนจดทะเบียนในทีเอ ออเร้นจ์ จำนวน 6 พันล้านบาท ได้ โดยขณะนี้ได้เพิ่มทุนไปแล้วจำนวน 4 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 พันล้านบาท จะเพิ่มทุนภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2548 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ TRUE ในทีเอออเร้นจ์ เพิ่มเป็น 83% จากเดิม 39%
"การที่ ทีเอ ออเร้นจ์ เข้ามาเป็นครอบครัวเดียวกับกลุ่ม TRUE ทำให้สามารถนำเสนอแพกเกจสินค้า และบริการต่าง ๆ ทั้งของทรู และทีเอ ออเร้นจ์ ตอบสนองตรงใจ และตรงตามไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เราต้องการที่จะผนวกบริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ตแบบไร้สายและมีสาย บริการด้านข้อมูล รวมทั้งบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก เพื่อให้ทรูเป็น "One Stop Lifestyle Service Shop" ของลูกค้าและชุมชนต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้นจะให้บริการรวมบิล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่ใช้บริการของกลุ่มบริษัท"
นายศุภชัย กล่าวว่า หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ของ ทีเอ ออเร้นจ์ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเปิดทางเจรจากับพันธมิตรที่สนใจร่วมทุนในสัดส่วน 20-25% รวมทั้งการเปิดทางให้พันธมิตรเข้าร่วมทุนใน TRUE ซึ่งต้องเน้นว่าพันธมิตรที่จะเข้ามานั้นจะสามารถร่วมงาน และเดินตามนโยบายที่ TRUE และทีเอ ออเร้นจ์วางไว้ได้หรือไม่
นอกจากนี้ทีเอ ออเร้นจ์ มีแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำหนดเวลาที่ชัดเจนนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัท และเข้าเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด คือต้องมีกำไร 1 ปี และในเบื้องต้น ประเมินว่า ทีเอ ออเร้นจ์ อาจสามารถเข้าตลาดหุ้นได้ในปี 2548 ด้วยจำนวนลูกค้า 4 ล้านเลขหมาย ปัจจุบันที่มี 2.7 ล้านเลขหมาย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านเลขหมายในปี 2547 และยังมีแผนลงทุน 12,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายจนถึงสิ้นปี 2548
ส่วนแผนเพิ่มทุนของ TRUE นายศุภชัยกล่าวว่า ยังคงตั้งใจที่จะเพิ่มทุนภายในสิ้นปีนี้ แต่ภาวะตลาดปัจจุบันยังไม่เอื้อ ทำให้ต้องชะลอแผนเพิ่มทุนในช่วงนี้ เพื่อรอดูภาวะตลาดและรอจังหวะราคาหุ้นที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น
ขณะที่ นายดุสิต เต็งนิยม รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) กล่าวในพิธีลงนามปล่อยกู้ให้กับทีเอ ออเรนจ์ว่า ธนาคารมีความมั่นใจในตัวบริษัท โดยจะเห็นได้จากรายได้ที่ดีขึ้น และจากความสำเร็จในการปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารชั้นนำแห่งอื่นสะท้อนให้เห็นว่า การที่ทางการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับฐานะของบริษัทอาจจะไม่น่าจะเป็นความจริง โดยจะเห็นได้จากธนาคารต่างประเทศ 4 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย International Finance Corporation (IFC), KfW, Coface และ WestLB ที่ยังอนุมัติเงินให้กู้อย่างต่อเนื่อง แสดงว่าต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นในบริษัท
"ความสำเร็จในการปล่อยกู้ครั้งนี้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ควบคุมที่มองว่า บริษัทอาจจะมีปัญหาต่อระบบสถาบันการเงินไทยอาจจะไม่เป็นอย่างที่ตั้งข้อสังเกต เนื่องจากทุกแบงก์ทั้งใน และต่างประเทศชั้นนำยังคงมั่นใจในบริษัทและปล่อยเงินกู้ระยะยาว แสดงให้เห็นว่าบริษัทยัง มีอนาคตที่สดใส และมีความมั่นใจในตัวบริษัท เช่นเดียวกับธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ KTB ลงนามปล่อยกู้ให้กับทีเอ ออเร้นจ์ วงเงินประมาณ 8.6 พันล้านบาท"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|