|

SCBพร้อมรับธปท.สอบNPL
ผู้จัดการรายวัน(28 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
"คุณหญิงชฎา" ยืนยันแบงก์ไทยพาณิชย์ ตั้งสำรองหนี้เอ็นพีแอลเพียงพอตามนิยามใหม่ของแบงก์ชาติที่เริ่มเน้นกระแสเงินสด เชื่อหลังธปท.เข้าตรวจสอบปลายปีนี้แบงก์ไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเหตุตั้งไว้สูงถึง 80% แล้ว หรือกว่า 72,000 ล้านบาท ระบุกรณีหนี้เน่ากรุงไทยเป็นผลมาจากการเข้าใจนิยามใหม่ไม่ตรงกัน
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) กล่าวถึงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ของธนาคารว่า ในส่วนของธนาคารยืนยันว่า ได้มีการตั้งสำรองเพียงพอกับสินเชื่อที่ธนาคารได้ปล่อยให้แก่ลูกค้าธุรกิจ โดยธนาคารมีการตั้งสำรองไว้ทั้งสิ้น 3 ประเภท คือ 1.ตั้งสำรอง 100% ตามเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด 2.การตั้งสำรองเฉพาะกิจ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของธุรกิจที่ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ เช่น บีทีเอส ที่ปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งสำรองครบทั้งเงินลงทุนและหนี้ โดยหนี้มีอยู่ 3,000 ล้านบาท ซึ่งทุกวันนี้บีทีเอสมีการจ่ายดอกเบี้ยปกติ แต่ธนาคารได้มีการตั้งสำรองไว้มาก และที่สำคัญธปท.ได้มีการเปลี่ยนคำนิยามในเรื่องดังกล่าว
ดังนั้น ธนาคารจึงได้มีการตั้งสำรองเผื่อเอาไว้ด้วย เพราะในอนาคตหากลูกค้ามีปัญหาเรื่องกระแสเงินสด ก็อาจกลายเป็นหนี้เสียได้ เพราะกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นการยืดหนี้ผ่อนชำระดอกเบี้ย เพราะมีบางรายที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ยังอ่อนแออยู่บ้าง ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้คือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของธปท.และธนาคารพาณิชย์ว่าจะยึดหลักใดในการตั้งสำรอง ธนาคารจึงพยายามป้องกันความเสี่ยงโดยตั้งสำรองให้เพียงพอ
ประเภทที่ 3 คือ การตั้งสำรองสินเชื่อปกติในสัดส่วน 2% ของสินเชื่อใหม่ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น ปัจจุบันธนาคารได้มีการกันสำรองทั้ง 3 ประเภทแล้วกว่า 80% ของหนี้ที่มีปัญหาของธนาคารหรือคิดเป็นประมาณ 72,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะมีหลักประกัน 60-70% ดังนั้น หากหนี้มีปัญหาเมื่อหักหลักประกันธนาคารก็จะได้รับเงินชำระหนี้คืนในสัดส่วนเกิน 50% สรุปแล้วว่าธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องการตั้งสำรอง ไม่ได้มีความเดือดร้อนและในช่วงปลายปีนี้ ธปท.จะเข้ามาตรวจคุณภาพสินเชื่อของธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบตามปกติของธปท. และเราก็เชื่อมั่นว่าเราไม่ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นอีก หลังจากธปท. เข้ามาตรวจสอบ
"ข้อเท็จจริง ณ วันนี้เชื่อว่าระบบธนาคารไม่ต้องมีการตั้งสำรองมาก เพราะที่ผ่านมาธนาคารส่วนใหญ่ได้มีการกันสำรองไว้มากเกินพอ โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ แม้ว่าฝ่ายดูแลหนี้จะดูแลเป็นพิเศษแต่ตนเองก็จะเข้าไปดูด้วยตัวเองซึ่งของแบงก์มีประมาณ 200-300 ราย ที่คาดว่าจะมีปัญหาโดยวงเงินที่ดูมีตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป สำหรับที่ธุรกิจที่ติดตามจะดูในทุกธุรกิจขึ้นกับความผันผวนของเศรษฐกิจ เช่น อสังหาริมทรัพย์ การระบาดของไก่ โรงงานเหล็ก" คุณหญิงชฎา กล่าว
สำหรับการเพิ่มขึ้นของหนี้ NPL ของธนาคารกรุงไทย คุณหญิงชฎา กล่าวแสดงความเห็นว่า เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงประธานบริหารซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษของธนาคาร แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบของธปท.แต่ละครั้งจะมีตัวเลขที่ไม่ตรงกับของธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะการพิจารณาสินเชื่อจะอยู่ในเงื่อนไข 2 อย่าง ได้แก่ เรื่องกระแสเงินสด และหลักประกัน ในธุรกิจบางประเภทเช่นอสังหาริมทรัพย์เรื่องหลักประกันก็มีความจำเป็นในการอนุมัติสินเชื่อ จึงต้องหารือกับธปท.ให้ชัดเจนในประเด็นดังกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|