|

แกะรอยชาวมายาที่ทิคัล
โดย
วิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ฉบับก่อนเล่าเรื่องกัวเตมาลาให้คุณผู้อ่านฟัง แต่กลับไม่ได้แนะนำ "ทิคัล" (Tikal) สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศเล็กๆ แห่งนี้ ก็เลยเหมือนกับยังพาคุณผู้อ่านไปไม่ถึงที่ ฉบับนี้เลยขออนุญาตย้อนกลับไปยังกัวเตมาลาอีกครั้ง ไปตามแกะรอยชาวมายาที่ทิคัลกันสักนิดนะคะ
ทิคัลเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่ของชาวมายาในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองยาวนานเป็นเวลาอย่างน้อย 1,200 ปี ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศกัวเตมาลา ใกล้กับชายแดนของประเทศเบลิซ (Belize) จริงๆ แล้วอารยธรรมมายาพบได้ทั่วบริเวณแหลมยูคาตัน (Yucatan Peninsula) ซึ่งคลุมพื้นที่ของประเทศเม็กซิโกตอนใต้ กัวเตมาลา เบลิซ และฮอนดูรัส อารยธรรมของชาวมายา นี้เริ่มตั้งรากฐานเป็นรูปเป็นร่างเมื่อ 2,600 ปีก่อนคริสตกาล (4,600 กว่าปีก่อน) ก่อนที่จะมาสิ้นสุดลงด้วยน้ำมือของชาวสเปน ซึ่งเริ่มล่าอาณานิคมในแถบละตินอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1517 และพยายามยึดแผ่นดินของชาวท้องถิ่นพร้อมกับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมายาที่ไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างของชาวสเปน สเปนไม่ได้นำแต่เรือรบมาเทียบท่าเท่านั้น แต่ยังนำโรคภัยไข้เจ็บที่ชาวมายาไม่เคยรู้จักมาก่อนมาฝากเขาอีก ไม่ว่าจะเป็นโรคฝีดาษ ไข้หวัดใหญ่ หรือหัด ผลจากการรุกรานของชาวสเปนครั้งนี้ทำให้ประชากรชาวมายากว่า 90% ต้องล้มหายตายจากจนเกือบจะสูญเผ่าพันธุ์ไปภายในเวลาแค่ 100 ปีเท่านั้น
ในบรรดาเมืองต่างๆ ที่ชาวมายาสร้างเอาไว้ ทิคัลเป็นเมืองอันยิ่งใหญ่แห่งแรกของชาวมายาที่สร้างขึ้น เมื่อประมาณปี ค.ศ.500 หรือ 1,500 กว่าปีมาแล้ว อารยธรรมของชาวมายาเมื่อสมัยก่อนจะรุ่งเรืองแค่ไหน ดูได้จากซากปรักหักพังมากมายที่มีหลงเหลือให้เห็นภายในบริเวณอุทยานแห่งชาติทิคัล พีระมิดและพระราชวังของทิคัลถูกสร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-8 และครอบคลุมพื้นที่ 222 ตารางไมล์ ในป่าทึบ แต่สถาปัตย กรรมหินแกะสลัก และพีระมิดของทิคัลสูญหายไปจากสายตาของผู้คนนานนับร้อยๆ ปี หลังจากที่สเปนบุก สิ่งก่อสร้างที่เคยยิ่งใหญ่ตระการตา จึงกลายเป็นเพียงเนินดินสูงที่มีแมกไม้ปกคลุมในป่าลึกของกัวเตมาลาเท่านั้น ทิคัลเพิ่งจะมาถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ.1877 (พ.ศ. 2420) โดยชาวสวิสที่ชื่อ กุซตาฟ เบอโนลี่ (Gustav Bernoulli) แต่ผู้ที่เริ่มทำการขุดซากปรักหักพังของทิคัลอย่างจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรกคือชาวอังกฤษชื่ออัลเฟรด มอดสลีย์ (Alfred P. Maudslay) เมื่อปี ค.ศ.1881-1882 (พ.ศ.2424-2425)
ทิคัลได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์แบบจนเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็นทุกวันนี้ก็ด้วยน้ำพักน้ำแรงของทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มงานขุดเจาะทิคัล ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956-1970 (พ.ศ. 2499-2513) รวมใช้เวลาประมาณ 14 ปี แต่ก็ขุดได้บริเวณ พื้นที่แค่ 10 กว่าตารางไมล์เท่านั้น ทุกวันนี้ภายในทิคัลยังมีเนินดินที่ซ่อนพีระมิดเอาไว้รอคอยการค้นพบอยู่อีกไม่น้อย แต่รัฐบาลขาดกำลังคนและทุน ไม่อาจทำการขุดและบูรณะได้ เพราะถ้าเริ่มขุดเมื่อไร พวกขโมยแถวนั้นจะคอยย่องมาชุบมือเปิบ ขุดเอาสมบัติโบราณเหล่านี้ไปขายเมื่อนั้น
ผังเมืองของใจกลางเมืองทิคัลประกอบไปด้วย โบสถ์ที่ 1 (Temple 1) และ 2 (Temple 2) ซึ่งก็คือพีระมิดที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พีระมิดทั้งสองตั้งหันหน้าเข้าหากัน โดยมีสนามว่างเปล่ากั้นไว้ตรงกลาง ส่วนทางซ้ายและขวา คือ พระราชวัง (Central and North Acropolis) สร้างด้วยหินแกะสลักลวดลายต่างๆ ตามขอบตึก เป็นที่พำนักของกษัตริย์ ขุนนางชั้นสูง และพระ ส่วนชาวบ้านทั่วไปอยู่ได้แต่ในกระต๊อบชานเมือง การที่พีระมิดถูกสร้างให้สูงชะลูด (บางแห่งสูงถึง 70 เมตร) แต่พระราชวังกลับเรียบไปตามแนวราบเป็นการส่อให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องความแตกต่างระหว่างพระเจ้าผู้เป็นอมตะบนสรวงสวรรค์กับปุถุชนทั่วไปบนพื้นโลก ซึ่งต้องเผชิญความตายเข้าสักวัน ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์และขุนนาง
พีระมิดของชาวมายาต่างไปจากของอียิปต์ตรงที่ สำหรับชาวมายาแล้วพีระมิดเป็นสถานที่สำหรับสักการะพระเจ้า เมื่อพระเดินขึ้นไปตามบันไดสูงของพีระมิด ก็เหมือนกับได้เดินขึ้นสู่สวรรค์ไปคุยกับพระเจ้า พีระมิดของมายาจึงเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสวรรค์กับโลก ผิดกับของอียิปต์ที่ไม่ได้ถูกสร้างเพื่อจุดประสงค์ทางศาสนา ส่วนข้อที่เหมือนกันระหว่างสถาปัตยกรรมของทั้ง 2 อารยธรรมนี้ก็เห็นจะเป็นการใช้ฐานของพีระมิดเป็นสุสาน เก็บศพกษัตริย์เท่านั้น ต่อมาเมื่ออารยธรรมมายารุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ กษัตริย์ยุคหลังๆ ก็เริ่มสร้างพีระมิดเพื่อโอ่อำนาจของตัวเอง ไม่ได้สร้างเพื่อสักการะพระเจ้าอย่างเดียวเหมือนในสมัยแรกๆ พีระมิดหลายแห่งในทิคัลเปิดให้นักท่องเที่ยวปีนขึ้นไปชมวิวรอบๆ บริเวณได้ แต่บันได สูงชันมาก แต่พอปีนขึ้นไปก็หายเหนื่อยเพราะจะเห็นทิวไม้เขียวขจีของป่าสุดลูกหูลูกตา แถมยังเห็นยอดของพีระมิดแห่งอื่นภายในบริเวณเดียวกันที่โผล่พ้นยอดไม้ขึ้นมา เป็นภาพที่ประทับใจ
ชาวมายามีความรู้และเทคโนโลยีที่ทุกคนเห็นแล้วจะต้องทึ่ง และเป็นคนกลุ่มแรกในโลกที่คิดค้นนำเลขศูนย์มาใช้ในการคำนวณ (ก่อนชาวอินเดียตั้ง 300 ปี) ปัจจุบันเราใช้เลขฐาน 10 แต่ชาวมายาจะใช้เลขฐาน 20 คือนับ 1 ถึง 20 แล้วจึงเริ่มต้นใหม่ สัญลักษณ์ของเลขศูนย์คือรูปคล้ายๆ เปลือกหอย เลข 1 แทนด้วยจุด 1 จุด สำหรับเลข 5 ชาวมายาใช้เส้นแนวนอนสั้นๆ เป็นสัญลักษณ์แทน ดังนั้นถ้าเห็นจุด 4 จุดอยู่บนเส้นแนวนอน 1 เส้น นั่นหมายถึงเลข 9 นอกจากนี้ชาวมายายังมีเทคนิค การคำนวณปฏิทินของตัวเอง ซึ่งนักโบราณคดีพบว่าจำนวนวันในรอบ 1 ปีที่คำนวณตามกฎของชาวมายาโบราณนั้นมีความถูกต้องตามหลักดาราศาสตร์ปัจจุบันมากกว่าระบบปฏิทินแบบเกรกอเรียนที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เสียอีก
จากที่เคยรุ่งเรืองมีอารยธรรมเป็นของตัวเองชาวมายาที่เหลืออยู่ 8-9 ล้านคนใน 4 ประเทศของแหลม ยูคาตันทุกวันนี้กลับกลายเป็นประชาชนชั้นสองที่ถูกลืมของประเทศนั้นๆ ไป ซึ่งไม่ต่างจากชนท้องถิ่น (Indigenous people) กลุ่มอื่นๆ ในอีกหลายประเทศของละตินอเมริกา เช่น ชาวคิชัว (Quichua) ในเอกวาดอร์ เพราะเศรษฐกิจการเมืองและสังคมของทุกประเทศ ในแถบนี้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของคนผิวขาวเกือบหมด สังเกตได้จากการที่ประธานาธิบดีและผู้นำทาง การเมืองของละตินอเมริกาเกือบทุกประเทศเป็นชาวละติน หรือยุโรป น้อยคนนักที่จะมีเลือดชาวบ้านท้องถิ่นเต็มตัว ยกเว้นประธานาธิบดีอเลฮานโดร โทเลโด (Alejandro Toledo) ของเปรู ส่วนชาวมายาแท้ๆ ที่นำชื่อเสียงระดับ โลกมาสู่กลุ่มตัวเองได้เห็นจะมีแต่ ริโกเบอร์ตา เม็นชู (Rigoberta Menchu) เท่านั้น ซึ่งเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมายาและชาวบ้านยากจนในกัวเตมาลา จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.1992 แต่ชาวมายาส่วนใหญ่ก็ยังยากจนและถูกสังคมกดขี่ข่มเหงเหมือนเดิม ไม่ต่างอะไรจากยุคที่สเปนล่าอาณานิคมเมื่อ 500 กว่าปีก่อน
น่าเสียดายกับการสูญเสียอารยธรรมอันล้ำค่าของชาวมายาและของโลก และน่าสงสารชาวมายาที่ยังถูกรังแกอยู่ จากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|