|
Antique Fever
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ช่วงหัวค่ำของทุกวันเสาร์ เวลา 18.00-19.00 น. สถานีโทรทัศน์กลางจีนช่องเศรษฐกิจ หรือ CCTV-2 มีรายการหนึ่งในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาถูกกล่าวขวัญกันมากว่า เป็นรายการที่ปลุกกระแส "ของเก่า" ให้ประชาชนคนจีนกลับมาให้ความสนใจในเรื่อง โบราณคดี และประวัติศาสตร์
"เจี้ยนเป่า " เป็นช่วงหนึ่งของรายการโทรทัศน์ "ลงทุนกับงานศิลปะ " ที่จับเอาผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณวัตถุ ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงของสะสม นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดี ในแต่ละสาขาให้มาประเมิน วัตถุโบราณที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในแต่ละสัปดาห์?
ทำไมรายการที่ดูเหมือนจะมีรูปแบบไม่ซับซ้อน สามารถครองเวลาทองช่วงหัวค่ำในสถานีโทรทัศน์กลางอันถือว่ายอดนิยมเนื่องจากมีการถ่ายทอดไปทั่วประเทศ แถมเรื่องที่ถกเถียงกันยังดูเหมือนว่าจะชวนส่งผู้ชมให้เข้านอน กลับสามารถดึงดูดความสนใจของผู้ชมให้หันมาสนใจรายการนี้ได้อย่างล้นหลาม?
คำตอบก็คือ วัตถุโบราณที่รายการนี้หยิบยกขึ้นมานั้นเป็น "ของเก่า" ที่ผู้ชมทางบ้านและประชาชน ทั่วไปแสดงเจตจำนงให้รายการช่วย "ตีราคา"
อย่างที่ทราบกันดีว่า จีน เป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำ อู่อารยธรรมของโลกมานานแสนนานไม่ต่ำกว่า 4,000 ปี ทั้งยังมีการบันทึกประวัติศาสตร์ และเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระบบ และตกทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์
แม้ในช่วงหลายพันปีที่ว่า จีนจะผ่านสงครามเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยมานับเป็นสิบเป็นร้อยครั้ง ตกอยู่ในวัฏจักรแห่งการเผาทำลายและสร้างขึ้นใหม่มานับครั้งไม่ถ้วน แต่มรดกตกทอดที่บรรพบุรุษหลงเหลือมาให้ชาวจีนในปัจจุบันก็นับว่ามากมายมหาศาล
ข้าวของเครื่องใช้ ของสะสม ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "วัตถุโบราณ" ที่มีอายุนับตั้งแต่หลักสิบ หลักร้อยหลายร้อยขึ้นไปจนถึงพันปี ไม่เพียงจะมีให้ชมแต่เพียงในพิพิธภัณฑ์ หรือตกอยู่ในมือของนักสะสมผู้ร่ำรวยเท่านั้น แต่วัตถุโบราณเหล่านี้ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันของชาวจีนจำนวนไม่น้อย.... เพียงแต่พวกเขา ไม่รู้ว่าสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ผ่านมายังพ่อ แม่ ตกลงมาถึงตัวเขา ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น เป็น "วัตถุโบราณ" เป็น "ของสะสม" ที่ในท้องตลาดนั้นอาจมีมูลค่ามหาศาล
กลางเดือนมกราคมเมื่อต้นปีนี้ คุณลุงผู้ร่วมรายการคนหนึ่งเล่าว่า เมื่อปี ค.ศ.1964 ตอนยังหนุ่มเริ่มทำงานได้ไม่นาน ไปเดินตลาดขายของเก่าแล้วถูกอก ถูกใจเข้ากับศิลปะการเขียนอักษรจีน (Calligraphy หรือ ) ของศิลปินจีนโบราณชิ้นหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยความอยากได้ แต่เนื่องจากราคาที่ร้านค้าของเก่าตั้งไว้สูงถึง 300 กว่าหยวน (ขณะนั้นเงินเดือนคนจีนทั่วไปตกเพียงไม่กี่สิบหยวน) แกจึงขอยืมเอาเงินมารดามาซื้อ และเก็บเอาไว้เป็นสมบัติส่วนตัว
ผ่านมา 40 ปี เมื่อทราบว่ามีรายการตีมูลค่าวัตถุโบราณทาง CCTV-2 แกจึงตัดสินใจเอาม้วนงานศิลปะการเขียนอักษรจีนชิ้นดังกล่าวเข้ามาร่วมรายการ
หลังผ่านสายตา และการวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของพิพิธภัณฑ์พระราชวังแห่งชาติจีนอย่างละเอียด ผู้เชี่ยวชาญจึงอธิบายว่า ศิลปะการเขียนอักษรจีนบนม้วนกระดาษความยาวประมาณ 120 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ที่คุณลุงสะสมเอาไว้นี้ก็เป็น ฝีมือของหนึ่งในศิลปินผู้มีชื่อเสียงของจีนในยุคกลางราชวงศ์หมิง เขียนในช่วงที่ศิลปินมีอายุ 86 ปี ก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อ 90 ปี... โดยตบท้ายด้วยว่า ปัจจุบันม้วนกระดาษนี้มีมูลค่าตามท้องตลาดถึงหนึ่งล้านหยวน!
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าแต่เพียงคนมีของเก่า-สะสมของเก่าจะนำมาร่วมรายการได้ เพราะของสะสมอย่างเหรียญ แสตมป์ แผนที่ ของใช้ที่หายาก หรือของรักของหวงที่ผู้เข้าร่วมสมัครเสนอเข้ามา ถ้าทางรายการเห็นว่าน่าสนใจก็สามารถนำมาร่วมรายการได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะโชคดีอย่างคุณลุงข้างต้น มีบางคนควักกระเป๋า-ประมูลของเก่ามาได้ในราคาแพงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญในรายการ ระบุก็ไม่น้อย ดังนั้น ของที่นำมาร่วมในรายการเมื่อมีการตีราคาออกมาแล้วก็อาจจะมีมูลค่าตั้งแต่ไม่กี่ร้อยหยวนไปจนถึงเป็นล้าน หรือหลายล้านหยวน
ความฉลาดของผู้สร้างสรรค์รายการเจี้ยนเป่า ไม่ได้อยู่แต่เพียงว่า การนำเอาประชาชนทั่วไปมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม หรือการเปิดให้ผู้ชมมีการคาดเดาราคาสิ่งของ ของเก่า ของสะสม เท่านั้น แต่สิ่งที่ทำให้รายการนี้สร้างปรากฏการณ์ก็คือ เป็นการปลุกกระแสความสนใจของเก่าขึ้นในเมืองจีน
กระแสดังกล่าวส่งผลกระตุ้นต่อมายังการศึกษา หาความรู้การเรียนการสอนในสาขาประวัติศาสตร์ โบราณคดี และสาขาที่เกี่ยวข้องของจีนที่ซบเซาอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้ฟื้นคืนความคึกคักขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้เนื่องจากศาสตร์ของการตีราคาของเก่า หรือวัตถุโบราณนั้นต้องมีการผสมผสานเอาความรู้ในประวัติศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เข้ากับความรู้ในสภาพของตลาด-ความต้องการต่อสินค้าชนิดนั้นๆ ในช่วงเวลาปัจจุบันเป็นอย่างดี
เมื่อราว 5-6 ปีก่อน ขณะที่ผมกำลังเรียนอยู่ในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นในสังคมเมืองไทยกำลังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้อาจารย์-นิสิต-นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปร้อนใจก็คือ การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัย
การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ หรือการแปลงสภาพให้มหาวิทยาลัยรัฐกลายเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เป็นหนึ่งในผลจากการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ที่ติดมากับโลกานุวัตร (Globalization) และระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
ปัญหาหนึ่งของการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ที่มีการถกเถียงกันอย่างจริงจังก็คือ เมื่อออกนอกระบบแล้ว สาขาวิชาที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตลาด ไม่สามารถเปิดคอร์สภาษาอังกฤษ คอร์สพิเศษปริญญาโท คอร์ส MBA นอกเวลา หรือไม่สามารถหาเงินเข้ามาหล่อเลี้ยงตนเองได้ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ บริสุทธิ์ ศิลปะ (บางแขนง) ประวัติศาสตร์ โบราณคดี จะยืนอยู่ในฐานะเช่นไร?
กระแสโลกานุวัตร โถมทับสังคมทุกหนแห่งในโลก จะแตกต่างก็เพียงว่า คนในสังคมนั้นๆ จะเลือกหาทางออกในการรักษาวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาดั้งเดิมของสังคมตนเช่นไร จับมือร่วมกันต้าน กระแสโลกานุวัตร ปรับตัวให้สอดคล้อง-ไหลเลื่อนคู่ไปกับโลกานุวัตร หรือจะปล่อยให้ทุกอย่างถูกกลืนและลบเลือนไปในที่สุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|