JAK-KA-JEE CLUB

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

เย็นวันหนึ่งลูกชายวัย (มหา) ซน ถือถุงเค้กเล็กๆ ของ S&P มายื่นให้แล้วบอกว่า "วันนี้ภามกับเพื่อนทุกคนในห้องได้เรียนแต่งหน้าเค้ก สนุกมากๆ"

เป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดอย่างหนึ่งของ S&P ที่ไม่ว่าผู้บริหารจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ได้ทำให้ชื่อนี้เป็นที่รู้จักและสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับเด็กๆ ซึ่งก็สอดคล้องกับวิธีคิดในการเริ่มทำกิจการนี้เมื่อ 31 ปีก่อน โดยภัทรา ศิลาอ่อน ประธานกรรมการบริษัทที่ตัองการให้ S&P เป็นร้านอาหารของเด็กๆ และทุกคนในครอบครัว

การสอนแต่งหน้าเค้กตามโรงเรียนเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ทำภายใต้ชื่อ S&P JAK-KA-JEE CLUB (จั๊ก-กับ-จี๋ คลับ) ซึ่งมีนักเรียนชั้นประถม 3 ของโรงเรียนใน กทม. 40 โรงเรียนของแต่ละปีเป็นกลุ่มเป้าหมาย

วิฑูรย์ ศิลาอ่อน ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจลูกชายคนโตของ อมเรศและภัทรา ปัจจุบันเป็นคุณพ่อลูกสามของน้องเอม, อิม, และอ็อม เล่าให้ฟัง ถึงวิธีคิดในการตั้งคลับนี้เมื่อปี 2539 ว่าคุณประเวศวุฒิ ไรวา ผู้ริเริ่มมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อความผูกพันระหว่างลูกค้าที่เป็นเด็กด้วยกันภายใต้ชื่อ "S&P จูเนียร์คลับ" กิจกรรมในช่วงแรกๆ จะเน้นไปในเรื่องของกีฬา เช่น เทนนิสแคมป์

ปี 2541 S&P จูเนียร์คลับเปลี่ยนชื่อเป็น "จั๊กกับจี๋คลับ" โดยมีลูกของวรากร ผู้เป็นอาคือ วิสาขา ไรวา ผู้รับผิดชอบทางด้านออกแบบแพ็กเกจ จิ้งต่างๆ ของ S&P เป็นผู้ตั้งชื่อให้ใหม่ จั๊กกับจี๋คลับ มีกิจกรรมต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้นในเรื่องของศิลปะ ดนตรี กีฬา วิชาการ การแต่งหน้าเค้กและการทำอาหาร (Cooking Class)

กิจกรรมทางด้านอาหารนั้นได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง เปิดสอนทุกวันเสาร์ที่ 1 ของเดือน ที่ร้าน S&P สาขา RCA

เด็กๆ แต่ละคลาสมีประมาณ 14 คน ทั้งหญิงและชาย วัย 7-14 ปี มีรายการอาหารที่น่ารับประทาน เป็นหลักสูตรครั้งละ 3 เมนู เช่น แพนเค้ก+ไส้กรอก ออมเลต+แฮม และไข่ดาว เบคอนหรือ ข้าวผัดอเมริกันจูนียร์ มะกะโรนีผัดแฮม ซุปข้าวโพด เต้าหู้ทอดซอสปลาย่าง ยากิโซบะไก่ และยำปูอัด

ทุกคนลงมือทำอาหารอย่างสนุกสนาน พร้อมๆ กับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นท่ามกลางคุณครู 3-4 คนที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด

2 ชั่วโมงผ่านไป อาหารทุกอย่างแล้วเสร็จ ทุกคนจัดอาหารใส่กล่อง แล้วตกแต่งเพิ่มเติมอย่างสวยงาม บางคนเอาไปฝากน้อง บางคนเอาไปฝากคุณพ่อ คุณแม่ แต่บางคนบอกว่า กลิ่นหอม มันเย้ายวนมากทนไม่ไหวแล้วขอทานตอนนี้เลย ซึ่งก็เท่ากับเป็นอาหารเที่ยงไปเลยเช่นกัน

วิฑูรย์เล่าว่าจุดประสงค์หลักของการเรียนคือต้องการให้เด็กสนุกสามารถช่วยตัวเองในการทำอาหารง่ายๆ ได้ หากจะจุดประกายให้เด็กรักในการทำอาหารจนอยากศึกษาต่อเป็นอาชีพก็เป็นผลพลอยได้ที่ดี

แต่ที่แน่ๆ ชื่อ S&P ได้ตอกย้ำลงไปในใจเด็กๆ และผู้ปกครองเรียบร้อยแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.