ผลิตภัณฑ์จากไม้ตาล

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

นอกจากชาวบ้านอาจจะเอาไม้ตาลแห้งๆ มาสุมไฟ เป็นไม้ฟืนเคี่ยวน้ำตาลโตนด ส่วนกิ่งที่เหลือก็อาจจะกอง ทิ้งไว้ นานๆ เข้าอาจจะเผาไฟทิ้งเสียสักครั้ง

จนกระทั่งวันหนึ่ง พรประสิทธิ์ ดรุณปิยะชาติ ได้ ไปเจอเก้าอี้ไม้เล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่งในชนบทแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี ที่ดูสวยและแปลกตา เมื่อพูดคุยกับชาวบ้านที่เป็นเจ้าของ ทำให้เขาทราบว่างานชิ้นนี้ทำจากไม้ก้านตาลที่ใช้ มานานนับ 10 ปี

สวยและทนทาน เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่น่า เก็บรักษาไว้ในขณะเดียวกันน่าจะเป็นช่องทางในการสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านรวมทั้งตัวเขาได้ด้วย คือสิ่งที่เขาคิดในตอนแรก

พรประสิทธิ์ จบจากคณะศิลปศึกษาจากวิทยาลัยครูสวนดุสิต คลุกคลีมาทางด้านงานออกแบบ มานานกว่า 10 ปี เริ่มจากงานสิ่งพิมพ์ ซีดีรอม เว็บไซต์ และเสื้อผ้า รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ไผ่ ที่เคย ลองทำอยู่พักหนึ่งแล้วเลิกไปเมื่อพบว่าไม้ไผ่จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากมากมาย

จากนั้นเขาก็เริ่มศึกษาและออกแบบงานจากไม้ก้านตาล เริ่มจากการตัดก้านตาลสดข้างทาง มาตากแดด ตากฝน แช่น้ำ มานานกว่า 4 เดือน เพื่อติดตามผลว่าไม้จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากก้านตาลสด เปลี่ยนมาทดลองกับก้านตาลแห้ง จนพบว่าก้านตาลที่ดีที่สุดน่าจะเป็นก้านที่หมดอายุแล้ว แต่ยังห้อยค้างอยู่บนต้นยังไม่ร่วงลงมาสู่ดิน

พร้อมๆ กับหาวิธีการต่างๆ ที่จะรักษาเนื้อไม้ เช่น การตากแดด อบไล่ความชื้น และเริ่มงานทางด้าน การออกแบบ แรกเริ่มก็มีเพียงคนงานเพียง 2 คน เฟอร์นิเจอร์ชิ้นแรก ได้มีโอกาสไปออกร้านในงานของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งปรากฏว่าได้รับความสนใจ อย่างมาก

ผลตอบรับในครั้งนั้นทำให้พรประสิทธิ์ มั่นใจว่า งานชิ้นนี้สามารถทำตลาดได้แน่นอน หลังจากนั้นเขา ก็เริ่มมาทำโรงงานที่ตลาดบางใหญ่ และเริ่มต้นรับงาน อย่างจริงจังโดยซื้อไม้ก้านตาลที่ทิ้งแล้วจากชาวบ้านที่ จังหวัดเพชรบุรี

ไม้ก้านตาล และจาวตาล ได้ถูกออกแบบดีไซน์ เป็นเฟอร์นิเจอร์รูปทรงต่างๆ ของตกแต่งบ้านและเครื่อง ประดับ ของใช้บนโต๊ะอาหาร และของใช้บนโต๊ะทำงาน

ชายหนุ่มคนนี้มีพื้นเพเป็นคนต่างจังหวัดที่โยกย้ายตาม พ่อแม่ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ตามเส้นทางของภาคอีสาน มีโอกาสได้ เห็นงานหัตถกรรมมามาก และมีใจชอบงานประเภทนี้มา ตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ เมื่อได้มาเรียนทางด้านศิลปหัตถกรรม การปั้นแกะสาน เพิ่มเติมพื้นฐาน ที่เขาสามารถนำมาผนวกกับงาน ที่กำลังทำโดยเอางานพื้นบ้านของคนในชนบทมาประยุกต์

และกลายเป็นสินค้าส่งออกที่กำลังทำตลาดได้ดีในหมู่ชาวเอเชียและยุโรป และยังเป็นที่สนใจของตลาดรีสอร์ตใหญ่ๆ ในเมืองไทยอีกด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.