|
"ยานภัณฑ์" ตัวเลือกใหม่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์
โดย
สุธี ชยะสุนทร
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากปล่อยให้อาบิโก ไฮเทค เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ครบวงจรรายเดียวที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มานานเกือบ 2 ปี อีกไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ก็จะมีสีสันเพิ่มขึ้น เมื่อหุ้นของยานภัณฑ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ ป้อนให้ค่ายโตโยต้า กำลังจะเข้าไปซื้อขายเพิ่มขึ้นอีก 1 บริษัท
ยานภัณฑ์ได้ยื่นไฟล์ลิ่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนก่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบขั้นสุดท้ายจาก ก.ล.ต. โดยคาดว่าจะกระจายหุ้น (IPO) ได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน
ตามแผนยานภัณฑ์จะนำหุ้นเพิ่มทุน จำนวน 68 ล้านหุ้น ราคาพาร์ 5 บาท ออกมาขาย ในจำนวนนี้ 7 ล้านหุ้นจะขาย ให้พนักงานและกรรมการบริษัท ในราคาหุ้นละ 13 บาท ส่วนอีก 61 ล้านหุ้น จะขายให้กับประชาชนทั่วไป โดยเงินที่ได้จะนำไปใช้หนี้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน
ถึงแม้ว่ายานภัณฑ์จะมีมูลค่าตลาดพอๆ กับอาบิโก แต่ประวัติความเป็นมา ประเภทของผลิตภัณฑ์ และโครงสร้างรายได้ของทั้ง 2 บริษัทค่อนข้างแตกต่างกัน
ยานภัณฑ์เติบโตมาจากบริษัทขนส่งขนาดเล็ก ที่ก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี ด้วยพนักงานแรกเริ่มเพียง 7 คน จากยอดขาย เริ่มต้นที่มีเพียง 2-3 ล้านบาท จนถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท ในปี 2546 โดยกว่า 43% ของจำนวนนี้เป็นยอดขายที่ขายให้โตโยต้า ซึ่งเป็นคู่ค้ากันมานานกว่า 30 ปี
นับว่าเป็นข้อดีอย่างหนึ่งของยานภัณฑ์ที่ "ผูกติด" กับโตโยต้า ค่ายรถยนต์ที่มียอดขายสูงที่สุดในประเทศ ประมาณ 20,000 คันต่อเดือน ซึ่งหลังจากเข้าไปเป็น supplier list แล้ว หน้าที่หลักของยานภัณฑ์คือแสดงให้เห็นถึงความมีมาตรฐาน ผ่านการทำงานร่วมกับโตโยต้า ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคู่ค้า
ผลิตภัณฑ์หลักของยานภัณฑ์ ประกอบไปด้วยชุดท่อไอเสีย ขาเบรกและขาคลัตช์ และชิ้นส่วนรถยนต์ประเภทอื่นๆ อีกกว่า 1,500 รายการ เพื่อส่งให้กับบริษัทผลิตรถยนต์ข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งนอกเหนือจากโตโยต้าแล้ว ยังมีอีซูซุ ฮอนด้า ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ฮีโน่ และที่ได้ เสนอราคาเข้าไปแล้ว คือ นิสสัน หลังจากที่บริษัทแม่จากญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินกิจการ
"โครงสร้างรายได้ของเราหลากหลายกว่า" สัมพันธ์ พันธ์พาณิชย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทยานภัณฑ์ บอกกับ "ผู้จัดการ"
ในปีนี้ยานภัณฑ์ได้เข้าไปซื้อโรงงาน แห่งหนึ่งที่เพิ่งเลิกกิจการ เป็นการขยายพื้นที่รองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากกำลังผลิตที่มีอยู่เดิมใช้เต็มหมดแล้ว
"ที่ผ่านมาผลิตให้ Tiger ประมาณปีละ 120,000 คัน แต่ตัว VIGO นี้ โตโยต้าให้ forecast ปี 2549 มาที่ 500,000 คัน" สัมพันธ์บอก นอกจากนี้ยังมีที่ต้องส่งออกเป็นชิ้นส่วนเพื่อนำไปประกอบในประเทศที่มีปัญหาเรื่องกำแพงภาษี ซึ่งเป็น ไปตามที่โครงการ IMV (Innovative Inter-national Multi-purpose Vehicles) ได้วางไว้ โดยไทยถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 4 ฐานการผลิตที่สำคัญนอกเหนือจากอินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา
ในแผนงานที่ยานภัณฑ์ได้ยื่นต่อ ก.ล.ต. นั้นมี 2 โครงการที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการเติบโตของยานภัณฑ์ในอนาคต
การร่วมทุนกับ DAISO ก่อตั้งบริษัท ยานภัณฑ์ ไดโสะ และโครงการเซ็นสัญญา ความช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance) กับ Five Star Tooling ผู้ผลิตแม่พิมพ์จากประเทศออสเตรเลีย
DAISO เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำสี EDP จากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นงานที่ยานภัณฑ์ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีพื้นที่เพียงพอ และขาดความชำนาญในเรื่องนั้น นอกจากนี้ DAISO ยังมีความเชี่ยวชาญในเรื่องปั๊มขึ้นรูปพิเศษได้รางวัลจากฮอนด้า ทั้งในเรื่องของปริมาณการผลิตและคุณภาพ
นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมทุนกับฮอนด้า ในการประกอบรถฮอนด้าบางรุ่นที่ญี่ปุ่น ซึ่งถือว่า DAISO มีความสนิทสนมกับ Honda Japan เป็นอย่างมาก
"การเข้าหุ้นกับ DAISO นอกจากจะทำให้ได้ EDP ที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ยังเป็นสะพานเข้าสู่ฮอนด้าได้ดีขึ้น" สัมพันธ์ บอกถึงอีกเหตุผลของการร่วมทุน โดยยานภัณฑ์จะเข้าไปถือหุ้น 30% ในบริษัทร่วมทุน
ส่วนโครงการร่วมมือกับ Five Star Tooling นั้น เกิดจากความต้องการของยานภัณฑ์ที่จะส่งแม่พิมพ์ไปขายที่ออสเตรเลีย ซึ่งคุณสมบัติของแม่พิมพ์ที่ตลาดออสเตรเลีย ต้องการนั้นแตกต่างจากแม่พิมพ์ที่ญี่ปุ่นต้องการ โดยแม่พิมพ์ของญี่ปุ่น จะเน้นแข็งแรงปานกลาง ความเร็วสูง ส่วนของออสเตรเลียนั้นจะเน้นความแข็งแรงมากๆ
"ถ้าทำแม่พิมพ์ส่งออสเตรเลียคงลำบาก"
ยานภัณฑ์จึงติดต่อผ่านสถานทูต จนในที่สุดก็ได้บริษัท Five Star Tooling ซึ่งเป็นผู้ผลิตแม่พิมพ์ที่มีความชำนาญมาให้ความช่วยเหลือในด้านเทคนิค ทำให้ยานภัณฑ์สามารถผลิตแม่พิมพ์ส่งไปขายที่ออสเตรเลีย โดย Five Star Tooling จะมีหน้าที่หาลูกค้าและช่วยเหลือยานภัณฑ์ในเรื่องการออกแบบแม่พิมพ์
ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต้องอาศัยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเป็นตัวขับเคลื่อนกำลังไปได้สวย ทั้งในเรื่องของแรงสนับสนุนจากภาครัฐและความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ยานภัณฑ์ที่มีสายสัมพันธ์กับผู้เล่นรายหลักๆ และความร่วมมือจากผู้ชำนาญงานด้านอื่นๆ น่าจะเป็นหุ้นทางเลือกที่น่าสนใจอีกตัวหนึ่ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|