เยี่ยมพิพิธภัณฑ์สังคโลกของ สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ประธานกรรมการ บริษัทโอสถสภา จำกัด เป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่า มีเครื่องสังคโลกชิ้นเยี่ยมอยู่ในครอบครองมากที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย

ความสุขในวัย 72 ปี ของเขาก็คือ การได้ นั่งดู จับต้องศิลปวัตถุที่เต็มไปด้วยคุณค่าจากภูมิ ปัญญาของบรรพบุรุษไทยที่มีอายุถึง 700 ปี หลายครั้งหลายคราได้มีโอกาสต้อนรับพูดคุยกับ ผู้คนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ร่วมกันถกเถียง แลกเปลี่ยนความรู้กับบรรดานักวิชาการ และคน รุ่นใหม่ ซึ่งสนใจศึกษาเครื่องถ้วยชามอันเป็น สัญลักษณ์ของศิลปะและอารยธรรมที่ทรงคุณค่า ของมนุษย์ จนกระทั่งลืมเวลาที่ผ่านไปอย่างไม่รู้เบื่อ

ดังนั้นบ้านพักในพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ในหมู่บ้านนวธานี ซึ่งกำลัง อยู่ในการซ่อมแซมและก่อสร้างครั้งใหญ่ เพื่อจะจัดให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของ บ้านเป็นพิพิธภัณฑ์เครื่องสังคโลก จึงไม่เคยร้างผู้คนที่แวะเยือน

เครื่องสังคโลกเหล่านี้ส่วนหนึ่งวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบใน ห้องรับแขก ห้องทำงาน อีกกว่าพันชิ้นกำลังอยู่ระหว่างจัดเรียงเข้าตู้ใน ห้องที่ใช้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยที่อีกหลายร้อยชิ้นยังคงวางกระจัดกระจาย อยู่ตามพื้นห้อง

ทั้งหมดนี้ สุรัตน์ยืนยันว่าไม่ต่ำกว่า 3 พันชิ้น เป็นของที่เก็บสะสม มานานตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี

ในวัยเด็กที่บ้านสุรัตน์จะมีเครื่องถ้วยชามของเมืองจีนมากมาย เพราะสวาสดิ์ โอสถานุเคราะห์ ผู้เป็นบิดานั้นเป็นนักสะสมที่มีชื่อคนหนึ่ง เช่นกัน แต่พอถึงรุ่นลูก สุรัตน์กลับชอบเครื่องสังคโลกไทยมากกว่า โดย เขาบอกว่าดูแล้วราวกับว่าช่างฝีมือได้ใส่วิญญาณเข้าไปในเนื้องาน ทำให้ ดูสวยงามลึกซึ้ง และยังมีเสน่ห์ตรงที่คนทำได้พยายามใส่เรื่องราวของ วัฒนธรรมพื้นบ้าน และวิถีชีวิตของคนไทยสมัยนั้นแทรกเข้าไปด้วย

การซึมซับงานศิลปะเหล่านี้มาตั้งแต่เล็กๆ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เขาสนใจและเริ่มสนใจซื้อหาตั้งแต่ปี พ.ศ.2504 แต่จุดที่ทำให้เขาต้องลง มือเก็บสะสมอย่างจริงจังก็เมื่อพบว่างานชิ้นที่ดีๆ และสมบูรณ์ไม่แตกหัก บุบสลายแต่อย่างใดนั้นได้ตกไปอยู่ในมือของนักสะสมชาวต่างชาติเกือบ หมดแล้ว

"ต่างชาติเขาซื้อเครื่องสังคโลกไทยเก็บเพราะมองว่าเป็นสุดยอดของงานศิลปะที่น่า เก็บไว้ ทำให้คนไทยแทบจะไม่มีของดีๆ ไว้ดู ผมเลยตั้งใจว่าจะต้องสะสมให้ได้ดีกว่าฝรั่ง พอคิด ได้อย่างนี้ก็เริ่มลุยเลย ทุกเสาร์-อาทิตย์ต้องขึ้นล่องไปยังจังหวัดสุโขทัย เพื่อหาของเก่าตามบ้าน ชาวบ้าน บางครั้งก็ขับรถเข้าไปในป่าแต่ของที่ได้บางครั้งมีแต่ของที่เสียหายแตกพังอยู่ในเตา หาสวยๆ สักใบไม่เจอ ถูกส่งออกหมด

อย่างงานสังคโลกที่เป็นรูปช้างศึก เมื่อ 20 ปีก่อนจะหาดูยากมาก ผมได้ชิ้นหนึ่งที่ตาก แต่ต้องบินไปดูที่อินโดนีเซียไปศึกษาของไทยแบบนี้ที่โน่น"

เมื่อบรรดาพวกพ่อค้าแม่ค้าขายของเก่าในจังหวัดสุโขทัยเริ่มรู้ว่า สุรัตน์ เป็นนักสะสม ของเก่าคนหนึ่งที่มีเงินซื้อจริง ดังนั้นทุกอาทิตย์ ก็จะมีคนขายกลุ่มหนึ่งประมาณ 7-8 คน หิ้ว ของมาให้เขาเลือกซื้อเป็นจำนวนมาก นอกจากออกไปหาซื้อเอง สุรัตน์เลยมีของเข้ามา ในคอลเลกชั่นของเขาด้วยวิธีการนี้อย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2527 เป็นปีที่นักสะสมของเก่าเรียกว่า "อุ้มผางแตก" เมื่อชาวเขา กลุ่มหนึ่งได้พบเครื่องสังคโลกจำนวนมากมายหลายหมื่นชิ้น ฝังอยู่ในดิน ที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก และช่วงนั้นเองที่ทำให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับเครื่องสังคโลกอย่างมาก พร้อมกับ การเกิดนักสะสมหน้าใหม่ๆ สุรัตน์เองก็ได้ของส่วนใหญ่ในยุคนี้เช่นกัน เขาได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงบรรยากาศในช่วงนั้นว่า

"บรรดาพ่อค้าจากกรุงเทพฯ ที่เป็นเจ้าของร้านค้าในโอเรียนเต็ล แถวสี่พระยา สุริวงศ์ ตอนนั้นริเวอร์ซิตี้ยังไม่มี ก็จะไปรวมกันที่จังหวัด ตาก แย่งซื้อกันชุลมุน ผมก็ต้องแย่งซื้อกับพวกเขา แล้วก็ซื้อมามาก ไม่แพ้ร้านค้า 2 ร้าน 3 ร้าน เลยทีเดียว"

เมื่อซื้อของมาเยอะ ของบางชิ้นเลยถูกพ่อค้าหัวใส สอดไส้ของ ปลอมเข้ามาเช่นกัน โดยยุทธวิธีต่างๆ จนกระทั่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาดู และคัดออก และยังมีของบางชิ้น ที่ยังเถียงกันไม่จบว่าของจริงหรือ ของปลอม

"ตอนนั้นผมเองพยายามเข้าไปให้ถึงที่มีการขุด แต่ก็ถูกกันให้ อยู่ด้านนอก ขึ้นไปบนเขาไม่ได้ ชาวบ้านจะขุดของทั้งหมดมารวมไว้ ที่บ้านของหัวหน้า มีอยู่ครั้งหนึ่งขอเข้าไปเพราะซื้อเป็นล็อตใหญ่ ก็เลย บอกว่าอยากรู้จักผู้ใหญ่ของเขาเหลือเกิน เขาก็อนุญาตให้ผมได้เข้าไป ก็พบว่าบนชานบ้านนั่นน่ะของวางเต็มไปหมดเลย แต่พอจะให้พาเข้าไปที่มีการขุดจริงๆ ก็ไม่พาไปสักที จนขุดกันเกือบ หมดแล้วนั่นล่ะถึงได้เข้าไป"

งานหลายชิ้นของสุรัตน์ จะผ่านการซ่อมมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งแน่นอน เนื้อดินที่มาซ่อม บางครั้งเป็นดินคนละยุคคนละสมัยกับเนื้องาน ตอนนี้เขากำลัง รวบรวมของเหล่านั้นให้ผู้ที่ชำนาญมาดูแล้วมาแกะเอาส่วนที่ซ่อมออกให้หมด เหลือแต่ของแท้ทั้งหมด เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการศึกษาต่อไป ได้ศึกษากันจริงๆ

ในจำนวนเครื่องสังคโลกหลายพันชิ้นนี้ หากถามว่าชิ้นไหนที่รักมากที่สุด เขาบอกว่า ตอบได้ยากมาก เพราะเมื่อเวลาลูบคลำแล้วรักมากทุกชิ้น โดยเฉพาะ ของชิ้นเล็กมูลค่าไม่สูง แต่หาดูได้ยาก

ทุกวันนี้ สุรัตน์ไม่ได้ตามซื้อเครื่องถ้วยชามเหล่านี้แล้ว เพราะเป็นของที่หายากขึ้นทุกที มีเพียงบางครั้งคนขายที่มีสายสัมพันธ์อันดีมานานเอาของมาให้ดูถึงบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของดี หาได้ยาก ก็อาจจะรับซื้อไว้บ้าง กลุ่มคนขายเก่าแก่เหล่านี้คือแหล่งข้อมูลที่สำคัญของสุรัตน์

เครื่องสังคโลกที่มีเกือบทั้งหมดนั้น สุรัตน์เตรียมจะมอบให้กับมหาวิทยาลัย กรุงเทพ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาและร่วมกันภาคภูมิใจในความสามารถของบรรพบุรุษไทยที่สามารถ ผลิตของส่งออกจนมีชื่อเสียงมานานหลายร้อยปี

ส่วนตัวเขาเองกำลังหลงใหลได้ปลื้มกับการสะสมและศึกษาของชิ้นใหม่คือ กล้องถ่ายรูป และงานถ่ายภาพ ที่หากใครได้เห็นกล้องเก่า-ใหม่ จำนวนมาก ที่เขาสะสมไว้อย่างมากมาย แล้วบอกได้คำเดียวว่า ต้องตะลึง เพราะมันมีมากอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.