|
smart purse เมื่อเทคโนโลยีใหม่ อะไร ๆ ก็ต้อง "มาก" กว่าเก่า
โดย
ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เป็นโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่าเก่า หลังจากตัดสินใจเปลี่ยนมาเลือกใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ หรือที่เรียกว่า contract less ให้กับ "smart purse" เพียงแค่แตะก็ชำระเงินได้ทันที
"2 ปีที่ก่อนเราอยู่ในยุคของสมาร์ท การ์ดธรรมดา โดยร่วมมือกับบริษัท Next ที่สิงคโปร์ เวลานั้นถือว่าดีที่สุดในเอเชีย พอดีมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนออกไป เลยมีโอกาสเห็นยุคของบัตรแบบ contract less ทำให้เรากลับมาทบทวนใหม่" นฤมล วังศธรธนคุณ Chief Operating Officer บริษัทไทยสมาร์ทการ์ด บอกถึงสาเหตุการเปลี่ยนแปลง
ในฐานะของตัวกลางวางระบบ "smart purse" เพื่อใช้แทนเงินสดสำหรับซื้อสินค้า ทำให้บริษัทไทยสมาร์ทการ์ด ต้องมองไปให้ไกลถึงอนาคต ขณะเดียวกัน การตัดสินใจต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวัง และทำให้กำหนดเปิดให้บริการถูกเลื่อนออกไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ข้อดีของบัตร contract less อยู่ที่ผู้ใช้จะได้รับความสะดวกในการใช้งานเพียงแค่แตะเบาๆ ข้อมูลจะถูกอ่านส่งเข้าเครือข่าย นอกจากสะดวกและรวดเร็วกว่าแล้ว ความปลอดภัยในเรื่องถูกขโมยข้อมูลก็มีน้อยกว่าระบบ contract ที่ต้องเสียบไปในเครื่องอ่าน แต่ข้อเสียของบัตรชนิดนี้คือ โอกาสที่ระบบจะล่มย่อมมีมากกว่า
เมื่อประเมินแล้วว่าผลดีมีมากกว่าเสีย พวกเขาตัดสินใจเลือก "บริษัท วีซ่าการ์ด" เข้ามาช่วยให้คำปรึกษา และในฐานะของผู้รับผิดชอบด้านเทคโนโลยี นฤมลต้องศึกษาว่า บริษัทใดในโลกที่เคย มีประสบการณ์ทำระบบ contract less มาแล้วบ้าง ในที่สุดมาได้ข้อสรุปที่บริษัท PCC ของไต้หวัน โดยมีบริษัท Hywed รับหน้าที่เป็น System Integrator ดูแลเรื่องซอฟต์แวร์
การติดตั้งระบบไอทีหลังบ้าน เลือกวิธีการ outsource ใช้ บริการดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัท อินเตอร์เน็ต ประเทศไทย ซึ่งต้องติดตั้งเครื่อง server รองรับกับระบบ application ควบคุมข้อมูล ที่บรรจุอยู่ในสมาร์ทการ์ด หมายเลขบัตร รวมถึงการบริหารเครือข่าย (network access) ในการเติมเงิน และการหักเงินระหว่างธนาคารและร้านค้า
พันธมิตรที่คร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจไอทีอย่างเอสวีโอ ล็อกซบิล และทรู มีส่วนช่วยในการเลือกประเภท "เครื่องอ่านบัตร" ส่วนทางด้านทรูที่รับผิดชอบในเรื่องการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายแล้ว และในอนาคตพวกเขายังมองถึงการรองรับกับบริการโทรศัพท์มือถือของทีเอ ออเร้นจ์
"แทนที่ลูกค้าของออเร้นจ์จะต้องไปซื้อบัตรเติมเงิน แต่สามารถซื้อผ่านเครื่องอ่านบัตร พิมพ์เป็นใบเสร็จออกมา" นฤมลยกตัวอย่าง
รูปแบบของ "smart purse" จะมี 2 ประเภท ชนิดแรกเรียกว่า "unlink card" บัตรเติมเงิน (prepaid) ไม่รู้ว่าใครคือเจ้าของ บัตร แต่สามารถเติมเงินได้ที่เครื่องเอทีเอ็ม และเครื่อง post terminal ที่ติดตั้งอยู่ในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ส่วนอีกระบบคือ "link card" บัตรนี้จะต้องออกโดยธนาคารที่ผู้ซื้อมีบัญชีอยู่เท่านั้น
แม้ว่าบัตรทั้งสองประเภทจะมีรูปแบบการใช้งานไม่ต่างกัน แต่การที่ link card สามารถรู้ข้อมูลของลูกค้า การใช้งานมีขอบเขตที่กว้างกว่าการใช้บัตรเติมเงิน
ส่วนเครื่องอ่านบัตร ยังอยู่ในขั้นของการ "คัดเลือก" ยังไม่ลงตัวว่าจะเป็นยี่ห้อใด โจทย์ใหญ่อยู่ที่ว่าเครื่องรูดบัตรเหล่านี้จะต้องรองรับบัตรได้ 3 ประเภท คือ แมกเนติก สมาร์ทการ์ด ที่เป็น contract card และ contract less ในเครื่องเดียวกัน
กุญแจความสำเร็จของ "smart purse" อยู่ที่การใช้งานต้องแพร่หลาย เป็นความท้าทายของ เฉลิมชัย ฉัตรชัยกนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ ธุรกิจและการตลาดบริษัท ไทยสมาร์ทการ์ด มีหน้าที่ทำให้ smart purse ได้รับความนิยมมากที่สุด ตามที่เขาประเมินไว้คือ ต้องมียอดผู้ใช้ 5 ล้านใบ ภายใน 3 ปี
"เครดิตการ์ดทำมา 30 ปีกว่าจะได้รับความนิยมแพร่หลาย เราคิดว่า smart purse น่าจะใช้ไม่เกิน 2 ปี แต่ทีมงานก็ต้องทำงานหนักเพื่อ ให้มีการติดตั้งอุปกรณ์เทอร์มินัลมากที่สุด รวมทั้งบัตรต้องให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย"
ตลาดเป้าหมายของบัตร "smart purse" คือตลาดเงินสด สิ่งที่บริษัทไทยสมาร์ทการ์ดต้องทำคือ ทำให้ทุกคนใช้เงินสดน้อยลง และหันมาใช้ smart purse แทน และจากผลการศึกษาการใช้จ่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่ามีสัดส่วนของผู้ใช้เพียง แค่ 20% ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ส่วนอีก 80% ใช้จ่ายด้วยเงินสด ตัวเลขเหล่านี้เองที่สร้างความเชื่อมั่นว่าโอกาสของตลาดยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ราคาไม่สูง
นอกจากราคาบัตรต้องเหมาะสมแล้ว คือ มีราคาประมาณ 250 บาท ไม่เกิน 500 บาท
เงื่อนไขสำคัญอีกข้อคือ ต้องมีจุดรับชำระเงินมากที่สุด ไม่จำกัดเฉพาะการซื้อสินค้าในร้าน "เซเว่น-อีเลฟเว่น" แต่ต้องใช้ชำระค่าสินค้าและบริการอื่นๆ ที่ราคาไม่สูงมาก เช่น ชำระค่ารถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าใต้ดิน ตั๋วภาพยนตร์ ร้านฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างการเจรจา
รูปแบบของการร่วมมือจะเป็นลักษณะของการจัดโปรโมชั่นสะสมแต้ม หรือ loyalty program
"คะแนนสะสมที่ซื้อสินค้าในร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น อาจนำไปใช้สะสมซื้อแมคโดนัลด์ในราคาพิเศษ หรือซื้อในร้านแมคโดนัลด์ อาจนำไปสะสมเป็นส่วนลดเพื่อซื้อสินค้าในร้านเซเว่นฯ นี่คือประโยชน์ จากการใช้ฐานลูกค้าร่วมกัน"
ตามแผนที่วางไว้ บริษัทจะต้องติดตั้งเครื่องอ่านบัตร 9,000 จุด ส่วนเครื่องอ่านบัตรที่สามารถรองรับ "loyalty program" ต้องมีไม่ต่ำกว่า 20,000-30,000 จุด และเพื่อรองรับกับการใช้งานแพร่หลาย มาก
ทั้งนี้บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนติดตั้งเครื่องอ่านบัตรในร้านค้า ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากค่าทรานแซกชั่นจากการใช้งาน โดยบริษัทไทยสมาร์ทการ์ดจะได้รับค่าบริการประมาณ 1% ของราคาสินค้าและบริการที่ซื้อสินค้าด้วยบัตร smart purse
เฉลิมชัยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในครั้งนี้ นอกจากจะเพิ่มความสะดวกและปลอดภัย ผู้ใช้เพียงแค่สัมผัสเครื่องก็อ่านได้ โดยไม่ต้องเสียบเข้าไปในเครื่องอ่าน เช่นเดียวกับบัตร contract card รองรับกับธนาคารจะต้องเปลี่ยนจาก "บัตรแมกเนติก" ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมาเป็น บัตร "contract less"
ในแง่เจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ธุรกิจค้าปลีก" ที่มีสาขามากสามารถควบคุมไม่ให้เงินรั่วไหล และการทำโปรโม ชั่นส่งเสริมการขาย ด้วยการใช้กลยุทธ์ด้าน "ราคา" มาเป็นปัจจัย
"ถ้าจะโปรโมชั่นราคาสินค้า เช่นตั้งราคาเอาไว้ที่ 1 บาท 99 สตางค์ ก็ทำได้ ทำให้เรื่อง cash management ทำได้ดีขึ้นกว่าเดิม" เฉลิมชัยบอก
อีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้คนไทยจะมีทางเลือกใหม่ ไม่ต้องพกเงินสด แต่เปลี่ยนมาพกบัตร smart purse ในกระเป๋าเพิ่มขึ้นอีกใบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|