พลอย จริยะเวช คอนเซ็ปต์ดีไซเนอร์ เทวารัณย์ สปา

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

พ่อบอกว่าอาชีพใหม่ของ พลอยคือ คอนเซ็ปต์ดีไซเนอร์ พลอย จริยะเวช หญิงสาวร่างเล็ก แก้มใส เริ่มต้นเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ด้วยบุคลิกที่ร่าเริง

การออกแบบแนวความคิดของ "เทวารัณย์ สปา" ให้กับโรงแรมดุสิตธานี ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นอีกผลงานหนึ่งที่เธอภูมิใจอย่างมาก

พลอยคือลูกสาวของศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Tourism Management, THT Klessheim Salzburg Austria ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานที่ บงล.นครหลวงเครดิต จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายวาณิชธนกิจ ปัจจุบัน เป็นนักเขียน นักแปล อิสระ ที่มีผลงานในนิตยสารมากมายหลายเล่ม รวมทั้งผลงานแปลเรื่อง บริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจนต้องพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 12

สำหรับเธอ งานชิ้นนี้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ดังนั้น กว่าจะมาเป็นสปาที่สวยงามอย่างนี้ได้ เธอต้องทุ่มเทความคิดและเวลาให้กับมัน ราวกับเป็นวิทยานิพนธ์ชิ้นเอกชิ้นหนึ่งทีเดียว

พลอยเล่าว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นเธอได้รับโจทย์จากชนินทร์ โทณวนิก ผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานี ว่าต้องการได้สปา ที่มีความสวยงาม โดดเด่น คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ในขณะเดียวกันต้องมีความทันสมัย สั้นๆ ฟังไม่ยาก แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย ชนินทร์นั้นหวังอย่างยิ่งว่า ความเป็นนักคิด นักอ่าน และนักเขียนของเธอจะทำให้ทำงานได้ตรงใจเขามากกว่าการที่จะมอบหมายงานชิ้นนี้ให้ สถาปนิกไปเลย

"ตอนที่คิด เราก็ต้องการได้อะไรที่สอดคล้องกับคำว่า "ดุสิต ธานี" ซึ่งหมายถึงสวรรค์ชั้นหนึ่ง ก็เลยไปหาในหนังสือวรรณคดีว่า มีเรื่องไหนที่เอ่ยถึง สวรรค์บ้าง โชคดีที่พลอยชอบไปหาหนังสืออ่านที่ สยามสมาคมบ่อยๆ ที่นั่นมีหนังสือเก่าไว้ให้อ่านเยอะมาก ทีนี้ไปเจอในไตรภูมิพระร่วง ตอนแรกดูเรื่องกามนิตวาสิฏฐีก่อน เพราะตอนนั้นพุ่งประเด็นไปที่สวรรค์แล้ว แต่พออ่านไตรภูมิก็ใช่เลย เพราะเขาบรรยาย ภาพสวรรค์ไว้ชัดเจนมากว่า เป็นความสงบที่รื่นรมย์ ไม่มีกลางวัน กลางคืน ดูสว่างไปหมด ซึ่งชอบมาก และยังสอดรับกับสปาในทางสากลด้วย คือสปาต้องเป็นสถานที่ที่เข้ามาแล้ว คนที่ออกไปสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส จะต้องปลอดโปร่ง เช่นบนสวรรค์ น้ำต้องมีกลิ่นหอม มีการตกแต่ง ด้วยสีเงิน สีทอง ทางเดินจะต้อง มีลำธาร มีโขดหิน ร่มเย็น และมีเสียงพิณบรรเลง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราได้ดึงเอามาใช้ทั้งหมด"

ทุกอย่างในเทวารัณย์ สปา จึงมีเรื่องราว มีเหตุมีผล และมีที่มา แม้แต่ชื่อซึ่งเป็นคำไทยสันสกฤต ก็แปลว่าสวนในสวรรค์ หรือสถานที่แห่งหนึ่งในสวรรค์ คำนี้สามารถออกเสียงเป็นภาษาอังกฤษได้ง่ายและไพเราะว่า De-Va-Ra-Na ส่วนชื่อสวนในแต่ละชั้นของสวรรค์ ได้กลายมาเป็นชื่อห้องทรีตเมนต์ต่างๆ ที่บริการลูกค้าบนดิน

นอกจากการศึกษาข้อมูลในหนังสือ พลอยต้องลงไปดูสปา ทั้งในประเทศและต่างประเทศถึง 19 แห่ง อ่านบรรทัดนี้หลายคน คงนึกอิจฉา เพราะนึกเห็นภาพว่าเธอคงได้นวดตัว นวดหน้า อบตัว ด้วยน้ำมันหอม ในสปาดังๆ ทั่วเอเชียอย่างมีความสุข แต่เมื่ออ่าน บรรทัดต่อไปจะรู้ว่าไม่น่าอิจฉาเลยจริงๆ

"ก็พลอยไปทำงาน" เธอเล่าเสียงอ่อยๆ อย่างน่าเห็นใจ

"ทุกวันศุกร์ ต้องเก็บกระเป๋าแล้ว และช่วงนั้นกำลังเร่งงาน แปลบริดเจ็ท โจนส์ ไดอารี่ ด้วย เลยต้องหอบงานไปแปลที่บาหลีด้วย อาทิตย์นี้ไปบาหลี อาทิตย์หน้าไปภูเก็ต ภูเก็ตนี่ไปเช้าเย็นกลับ อาทิตย์โน้นไปสิงคโปร์ ฮ่องกง งานแปลก็ต้องกระเตงไปทำด้วย งานเรื่องสปาก็ต้องทำให้ดี ทั้ง 19 แห่งที่พลอยไปต้องลองนวดตัว ทุกแห่ง แทนที่จะคลายเครียดกลับต้องเครียดเพิ่ม เพราะรู้ตัวเองว่า ไปทำงานนี่คะ เลยจะต้องคอยถามโน่นถามนี่ และบันทึกไว้ตลอด ไม่ได้บำบัดความเครียดหรอกค่ะ เหนื่อยมาก ลองจนเกือบจะไม่สบาย ก็คนธรรมดานวดอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งก็โอเคนี่เราวันเดียว เจอ 2-3 ที่"

พลอย จริยะเวช ใช้เวลาในการหาข้อมูลทำวิจัยทั้งหมดประมาณ 6 เดือน เมื่อเป็นที่พอใจของคณะกรรมการบริหารของ ดุสิตธานีแล้ว ก็ได้ทำงานร่วมกับบริษัทอินทีเรียร์ และสถาปนิก เพื่อช่วยกันรังสรรค์สวนสวรรค์ในจินตนาการ จนกระทั่งทุกอย่างออกมาเป็นเทวารัณย์ สปาแห่งใหม่ในสังคมเมืองไทย ที่กำลังได้รับการการกล่าวขาน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.