|
7 สัปดาห์ร้อน ๆ กับบทบาทของ "เอกยุทธ"
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ปี 2528
หนีออกนอกประเทศในช่วงประกันตัว หลังถูกจับกุมตามความผิดใน พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน แต่ยังมาปรากฏตัวในการปฏิวัติ 9 กันยายนที่มี พ.อ.มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในขณะนั้น) เป็นหัวหน้าคณะ ในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงินแก่คณะปฏิวัติ แต่ต้องหนีไปอีกเมื่อการปฏิวัติไม่สำเร็จ
ปี 2547
10 ส.ค.
กลับมาปรากฏตัวต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก หลังจากหนีไปอยู่ต่างประเทศถึง 19 ปี โดยร่วมคณะกับประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และอมรินทร์ คอมันตร์ เดินทางไปพบบัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจสำหรับใช้ในการหาเสียงสู้กับพรรคไทยรักไทย
เขาได้ให้สัมภาษณ์ในวันนั้นว่าพร้อมให้การสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และแสดงความสนใจจะเข้ามาทำงานการเมือง โดยก่อนหน้านั้นเคยมีแนวคิดจะร่วมกับนักวิชาการจัดตั้งพรรคประชาธรรมขึ้นเป็นพรรคทางเลือกที่ 3 แต่แนวทางดังกล่าวได้ล้มเลิกไปหลัง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ตัดสินใจไปเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน
12 ส.ค.
มีรายงานข่าวว่า เอกยุทธเตรียมให้เงินสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เป็นจำนวนถึง 1,000 ล้านบาท แต่ข่าวนี้ได้รับการปฏิเสธจากประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เลขาธิการพรรคฯ
13 ส.ค.
บัญญัติกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อน เพราะในการพบกับเอกยุทธไม่มีการพูดถึงเรื่องเงิน แต่เอกยุทธให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันถึงเรื่องเงิน 1,000 ล้านบาทว่า เป็นการลงขันกันของกลุ่มนักธุรกิจชาวไทยในต่างประเทศที่เห็นว่าการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เป็นผลดีกับประเทศในระยะยาว จึงพยายามระดมทุนเพื่อหาช่องทางสร้างฐานทางการเมืองขึ้นมาต่อสู้กับพรรคไทยรักไทย ขณะเดียวกันได้ปฏิเสธที่จะกล่าวถึงกรณีของแชร์ชาร์เตอร์ โดยอ้างว่าเป็นเรื่องเก่า และไม่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ส.ส.ไทยรักไทย เริ่มเคลื่อนไหวขุดคุ้ยความผิดของเอกยุทธในอดีต กรณีแชร์ชาร์เตอร์
14 ส.ค.
เริ่มเปิดประเด็นเรื่องการปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยอ้างว่ามีข้อมูลที่พร้อมจะเผยแพร่ แต่สื่อมวลชนตีประเด็นนี้ว่าเป็นการตอบโต้ที่ถูกขุดคุ้ยประวัติ และการคัดค้านของ ส.ส. ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากเขา เพราะถูกมองว่า เป็นเงินไม่บริสุทธิ์
16-20 ส.ค.
ประเด็นช่วงนี้เป็นความพยายามของสื่อในการนำเสนอข้อมูลในอดีต เพื่อขยายผลหลังจากเรื่องเงิน 1,000 ล้านบาทเริ่มไร้น้ำหนัก โดยเน้นนำเสนอข้อมูลช่วงที่หนีไปอยู่อังกฤษ ที่มีนักการเมืองไทยหลายคนได้ไปพบ อาทิ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รวมถึงช่วงที่กลับมาเมืองไทยเมื่อ 3 ปีก่อน และได้นำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้น จนมีความรู้เรื่องหุ้นเมืองไทยเป็นอย่างดี
ขณะที่เอกยุทธก็ออกมาให้สัมภาษณ์เป็นรายวัน เรื่องที่จะแฉความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของรัฐบาล ที่มีภาคเอกชนหลายกลุ่มได้รับผลประโยชน์ ส่วนการตอบโต้จากฝ่ายรัฐบาล ไม่มีท่าทีที่รุนแรง เพราะความสนใจในช่วงนั้นอยู่ที่ นโยบายประหยัดพลังงาน การตัดสินใจเรื่อง GMO และการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่กำลังจะมาถึงในวันอาทิตย์ที่ 29 ส.ค. ส่วนความสนใจของประชาชนอยู่ที่ผลการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก
23-29 ส.ค.
เป็นสัปดาห์ที่ข่าวเกี่ยวกับเอกยุทธเงียบหายไป เนื่องจากความสนใจของประชาชนไปอยู่ที่การคาดหวังเหรียญที่นักกีฬาของไทยจะได้รับจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ที่ในที่สุด อภิรักษ์ โกษะโยธิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ตอกย้ำกระแส "ขาลง" ของพรรคไทยรักไทย
3 ก.ย.
ถูกเชิญจากสถานีวิทยุจีจีนิวส์ ให้ไปพูดในหัวข้อ "เอกยุทธบินลัดฟ้า ล้มทักษิณ" ภายในงาน "ไทยแลนด์ เพรส แฟร์" ที่อิมแพค เมืองทองธานี โดยได้พูดถึงความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น SCIB-C1 ว่ามีนักการเมืองซีกรัฐบาลที่มีชื่อย่อ ป. และ ส. มีส่วนเข้าไปสร้างราคา และจะเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ทั้งหมดในวันที่ 6 ก.ย.
6 ก.ย.
เดินทางไปตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบ การซื้อขายหุ้น SCIB-C 1 ในช่วงวันที่ 11-16 ส.ค.ที่มีพฤติกรรมสร้างราคา แต่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่มีผลต่อบรรยากาศการซื้อขายหุ้น โดยดัชนีในวันนั้น ปิดเพิ่มขึ้น 1.79 จุด
7 ก.ย.
พ.ต.ท.ทักษิณเริ่มมีท่าทีไม่พอใจความเคลื่อนไหวของเอกยุทธออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ดิสเครดิต พร้อมทั้งเชิญชวนให้คนที่ได้รับความเสียหายจากแชร์ชาร์เตอร์เมื่อ 20 ปีก่อนมาร้องทุกข์กับตำรวจ เพื่อให้รื้อคดีขึ้นมาใหม่ ขณะเดียวกัน ปปง.เริ่มรวบรวมข้อมูลกรณีแชร์ชาร์เตอร์ว่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายฟอกเงินหรือไม่
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ได้ทำหนังสือเชิญเอกยุทธมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องการปั่นหุ้น SCIB-C1 ในวันรุ่งขึ้น แต่เอกยุทธ บอกว่าจดหมายจาก ก.ล.ต.เหมือนกับมีผู้มีอำนาจสั่งการมา ดังนั้นจะไม่ไปพบ เพราะเขาไม่ใช่ผู้ต้องหา
ตลาดหุ้นยังไม่ตอบสนองความเคลื่อนไหว โดยปิดตลาดดัชนียังบวกต่ออีก 0.53 จุด
8 ก.ย.
พ.ต.ท.ทักษิณได้กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกการนับอายุความในคดีสำคัญ โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ผู้กระทำความผิดมักใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเอาตัวรอด
ก.ล.ต.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 264 (7) พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สั่งให้เอกยุทธส่งเอกสารหลักฐาน และมาให้ถ้อยคำแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในวันที่ 13 ก.ย. หลังจากเอกยุทธปฏิเสธการเข้าไปให้ข้อมูลในครั้งแรก
9 ก.ย.
มือกฎหมายของรัฐบาล ทั้งวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รวมทั้ง ปปง.แสดงท่าทีมั่นใจว่าสามารถยึดทรัพย์ย้อน หลังเอกยุทธจากคดีแชร์ชาร์เตอร์ได้ แม้จะหมดอายุความไปแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณตอบคำถามผู้สื่อข่าวโดยใช้คำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง และบอกว่าสื่อไม่ควรให้ความสำคัญกับคนอย่างเอกยุทธ รวมทั้งประกาศว่าจะให้สัมภาษณ์เรื่องเอกยุทธเป็นวันสุดท้าย ต่อไปนี้ใครถามเรื่องนี้จะไม่ตอบอีก
เอกยุทธเปิดแถลงข่าวโดยมีผู้ให้การสนับสนุนไปแสดงตัว ประกอบด้วยประชัย เลี่ยวไพรัตน์, อมรินทร์ คอมันตร์, น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ รวมทั้งแกนนำสหภาพ กฟผ.โดยเขากล่าวว่าเขากำลังถูกผู้มีอำนาจกลั่นแกล้ง
ตลาดหุ้นวันนี้ตอบสนองต่อความเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงข้ามกับเอกยุทธ โดยปิดตลาดดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 10.83 จุด
10 ก.ย.
คณะกรรมการ ปปง.มีมติเห็นชอบให้เข้าตรวจสอบทรัพย์สินของเอกยุทธ ในกรณีฉ้อโกงประชาชนในคดีแชร์ชาร์เตอร์ ขณะที่เอกยุทธกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าถ้า ปปง.มีปัญญาก็เชิญมาตรวจสอบได้เลย เพราะคดีของเขาจบไปแล้วอย่างสมบูรณ์
12 ก.ย.
ได้ออกมาเปิดประเด็นใหม่ขึ้นมาอีกว่า กำลังมีผู้เคลื่อนไหวเพื่อหวังคุกคามทางร่างกายกับเขา
13 ก.ย.
เดินทางมาให้ข้อมูลกับ ก.ล.ต.ตามหมายเรียก หลังจากนั้นธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่าข้อมูลที่ได้รับไม่มีหลักฐานที่ระบุถึงพฤติกรรมการปั่นหุ้น และไม่มีชื่อหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นข้อสันนิษฐานจากความเห็นส่วนตัวของเอกยุทธ
ขณะเดียวกันภัทรียา เบญจพลชัย รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงผลการตรวจสอบการซื้อขายหุ้น SCIB-C1 ระหว่างวันที่ 9-13 ส.ค.ว่าราคาหุ้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพตลาด
ดัชนีราคาหุ้นยังเดินหน้าบวกต่อขึ้นมาอีก 9.33 จุด
14 ก.ย.
เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ว่ามีคนต้องสงสัยติดตามเขามาเป็นเวลา 3 วันแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไปจับกุมตัวมา พบว่าเป็นเจ้าหน้าที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 2 คน ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
15 ก.ย.
พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเป็นผู้สั่งการให้สำนักข่าวกรองติดตามเอกยุทธเพื่ออารักขา เพราะเกรงว่าจะมีมือที่ 3 หรือคนไม่ปรารถนาดีทำอะไรขึ้นมา เพราะผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือรัฐบาล
16 ก.ย.
เดินทางไปร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ว่าถูกคุกคาม รวมทั้งยังไปพบประธานคณะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการ ทุจริต วุฒิสภา เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตของ ก.ล.ต.
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|