|

สำรวจครัวโลกในตลาดญี่ปุ่น
โดย
สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเปลี่ยนแปลงของญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากจะมีฐานะเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ที่ต้องตกอยู่ภายใต้อาณัติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลกระทบในเชิง การเมือง เศรษฐกิจและสังคมแล้ว กรณีดังกล่าวยังส่งผลกระทบ เกี่ยวเนื่องไปสู่ประเด็นของวัฒนธรรมการบริโภคอาหารด้วย
วัฒนธรรมของสังคมอเมริกันที่ส่งผ่านมาพร้อมกับการคงอยู่ของกองกำลังทหารอเมริกัน ได้เข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง อาหารจานด่วนแบบอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hamburger ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ขณะที่อาหารจานพื้นฐานจากตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น Spagetti Gratin หรือ Beef Stew เริ่มแทรกตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งใน menu อาหารให้ชาวญี่ปุ่นได้เลือกบริโภคด้วย
นอกจากนี้ Curry และ Omelete Rice ซึ่งเป็นอาหารต่างสัญชาติได้รับการปรับแต่งรสชาติให้มีความเป็นญี่ปุ่นมากขึ้น จนปัจจุบันข้าวราดแกง (Ca-Re-Rai-Su) และข้าวห่อไข่ (O-Mu-Rai-Su) กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมนูพื้นฐานประจำร้านอาหารและวัฒนธรรมการบริโภคอาหารแบบญี่ปุ่นไปแล้ว
การเคลื่อนตัวเข้ามาของอาหารต่างประเทศในช่วงปี 1945 ถึงทศวรรษที่ 1960 ดำเนินไปท่ามกลาง menu อาหารอเมริกันและอาหารประเภทที่ประกอบและบริโภคง่าย ไม่มีพิธีการมากนัก แต่ผลพวงของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1970 ทำให้ร้านอาหารที่มีลักษณะหรูหรา และมีรสชาติ exotic ไม่ว่าร้านอาหาร ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน รวมถึงอาหารจีนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง
แต่ร้านอาหารซึ่งจัดว่าเป็นร้านที่มีสนนราคาค่อนข้างสูงและสะท้อนรสนิยมวิไลกลุ่มนี้ คงความนิยมอยู่ได้ไม่นานก็เข้าสู่ภาวะซบเซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ในสภาพถดถอยนับตั้งแต่ช่วงกลางของทศวรรษที่ 1980 ร้านอาหารสัญชาติเอเชีย ทั้งอาหารเวียดนาม อินเดีย ไทย และเกาหลี จึงมีโอกาสเบียดแทรกเข้าสู่ความนิยมของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมากขึ้น
ขณะเดียวกัน การเดินทางท่องเที่ยวต่างแดนของชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขยายตัวอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้เกิดรายการสารคดีทางโทรทัศน์ ซึ่งนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวในเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและสถานที่ที่น่าสนใจของแต่ละประเทศแล้ว ยังแทรกรายการแนะนำอาหาร และประชาสัมพันธ์ร้านอาหารของแต่ละชาติที่มีอยู่ในญี่ปุ่นให้ลิ้มลอง สร้างความคุ้นชิน ประหนึ่งการเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางด้วย
นอกจากนี้ มหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นโอลิมปิก ฟุตบอลโลก หรือแม้กระทั่งฟุตบอลชิงชนะเลิศแห่งชาติยุโรป ต่างมีบทบาทกระตุ้นให้เกิดความโน้มเอียงในรูปแบบความนิยมบริโภคอาหารของชาวญี่ปุ่นอย่างมากเช่นกัน
การได้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดฟุตบอลโลก 2002 นอกจากจะทำให้อาหารเกาหลีได้รับความนิยมในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้ว ความสำเร็จของบราซิล ในฐานะ World Champion 5 สมัย หรือในกรณีของตุรกี ซึ่งครองอันดับ 3 ในการแข่งขัน ล้วนมีส่วนหนุนนำให้เกิดความนิยมในอาหารของทั้งสองชาติเป็นลำดับ ควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อรักษาระดับความนิยมให้ต่อเนื่องที่น่าสนใจยิ่ง
ขณะที่กระแสความนิยมในอาหารกรีซ กำลังเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางอานิสงส์จากการเป็นผู้ชนะเลิศฟุตบอลยุโรป และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2004 ซึ่งสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นที่สนองตอบต่อกระแสและสถานการณ์แวดล้อมในระดับที่เพิ่มมากขึ้น
บางทีปรากฏการณ์และความเป็นไปเช่นว่านี้ อาจก่อให้เกิดมาตรการส่งเสริมให้เกิดความนิยมในอาหารไทย โดยกลไกภาครัฐ ในลักษณะที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ ใครจะรู้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|