สุรศักดิ์ รัศมีรัถยาธรรม ด้วยใจและความเป็นไทย

โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

ทุกครั้งที่ถูกถามถึงจุดเริ่มต้น สุรศักดิ์มักจะบอกใคร ๆ ว่าทั้งหมดเป็นเพราะดวง ดวงของคนที่จะต้องกาวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่หลังจากนั้นคือความทุกข์และบทเรียนที่เคี่ยวกรำก่อนที่เขาจะมายืนอยู่ในจุดนี้

"ผมจบแค่ชั้นประถม" สุรศักดิ์ รัศมีรัถยาธรรม บอก "ผู้จัดการ" อย่างอารมณ์ดี ก่อนจะย้อนอดีตของเส้นทางการเรียนรู้ที่ตกผลึกเป็นตัวตนของเขาในวันนี้

สุรศักดิ์เกิดและเติบโตในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีน ซึ่งมีโรงงานผลิตส่วนประกอบของกระเป๋าเดินทาง หลังจากจบการศึกษาระดับประถมในเมืองไทย เขาถูกส่งให้ไปเรียนระดับมัธยมในไต้หวัน ตามค่านิยมของชาวจีนโพ้นทะเลในยุคนั้น

ไต้หวันในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ซึ่งสุรศักดิ์เดินทางไปร่ำเรียนนั้น ยังอยู่ในสภาพที่กำลังพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ท่ามกลางปัจจัยความตึงเครียดของระบบ การเมืองระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันเยาวชนไต้หวัน ภายใต้การนำของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ก็ถูกปลุกให้พร้อมรับมือจากการรุกรานของจีนแผ่นดินใหญ่ที่เป็นสังคมนิยม ในฐานะที่เป็นภัยคุกคามหลัก

"คล้ายกับการถูกส่งไปฝึกวินัย เพราะช่วงนั้นการเรียนการสอนในโรงเรียนไต้หวัน เหมือนการฝึกทหาร คือนอกจากทุกคนต้องตัดผมสั้นเกรียนหมด ยังมีการเรียน วิชาทหารด้วย"

แต่ด้วยเหตุที่สุรศักดิ์เป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ทางการไต้หวันจึงไม่ได้เข้มงวดกับนักเรียนกลุ่มนี้นัก ขณะที่ความรู้สึกต่อกฎเกณฑ์ที่เคยกดทับจากระดับมัธยม เริ่มคลี่คลายเมื่อเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย พร้อมๆ กับการเติบโตเข้าสู่การเป็นวัยรุ่น วันเวลาของสุรศักดิ์ในช่วงอุดมศึกษา จึงดำเนินไปในลักษณะของการเรียนรู้เรื่องราวความเป็นจริงของชีวิตนอกห้องเรียน มากกว่าการเก็บรับวิชาการในห้องเรียน

สุรศักดิ์เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่ Feng Chia College of Engineering and Business เมือง Taichung ในช่วงที่วิทยาลัยแห่งนี้กำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สถานะของการเป็นมหาวิทยาลัย (Feng Chia University) ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1980 โดยเขาเลือกเรียนสาขาช่างไฟฟ้า และ studio science ซึ่งดูห่างไกลจากธุรกิจของเขาในปัจจุบันเหลือเกิน

หลังสำเร็จการศึกษาจากไต้หวัน สุรศักดิ์มิได้กลับมาประกอบอาชีพหรือรับช่วงต่อกิจการของครอบครัวในเมืองไทย หากแต่เดินทางติดตามพี่ชายมายังประเทศญี่ปุ่น

"ตอนนั้นอายุ 20 ต้นๆ ทางบ้านมองว่ามีแนวโน้มจะเหลวไหล ยังไม่ได้รับผิดชอบอะไรเลย การมาญี่ปุ่นจึงเหมือนการมาฝึกความรับผิดชอบ โดยมีพี่ชายเป็นคนคอยดูแล"

นอกเหนือจากการเพิ่มพูนความรู้ด้วยการเรียนภาษาญี่ปุ่นแล้ว สุรศักดิ์มีโอกาสได้สัมผัสชีวิตจริงอีกด้านหนึ่ง ด้วยการรับจ้างทำงานในร้านอาหาร ทั้งในฐานะบริกรและลูกมือคนครัว ซึ่งแม้จะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่ก็นับเป็นช่วงเวลาที่ช่วยก่อรูปความคิดหลากหลายให้กับผู้ชายคนนี้

สถานะของการเป็นชาวต่างชาติ ทำให้สุรศักดิ์เผชิญกับแรงกดดันในการทำงานในร้านอาหารพอสมควร เพราะไม่มีใครมาคอยบอกกล่าวหรือสอนงาน หากแต่ทั้งหมดดำเนินไปท่ามกลางการเฝ้าสังเกตด้วยตัวเองและการสร้างการยอมรับด้วยการขยันทำงานอย่างหนัก ซึ่งนับเป็นเกราะคุ้มภัยการถูกรังแกที่มีประสิทธิภาพไม่น้อย

สุรศักดิ์มิได้พึงใจอยู่ที่การเป็นลูกจ้างชั่วคราวในร้านอาหาร เขาได้เพิ่มพูนความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการด้วยการเข้าเรียนวิชาการโรงแรมเพิ่มเติม ควบคู่กับการเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะผู้ประสานงานสำหรับคณะลูกค้า incentive tour จากเมืองไทย ซึ่งระยะเวลากว่า 8 ปีในธุรกิจนี้นับเป็นช่วงที่เขาได้สั่งสมทั้งประสบการณ์และเงินทุน รวมถึงเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้คนอย่างกว้างขวางด้วย

"ลูกค้ามีความพึงพอใจ เพราะไปกับผมลูกค้าขออะไรส่วนใหญ่จะได้หมด คือต้องเข้าใจว่าคนไทยเน้นการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ซึ่งการที่เราจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องคาดการณ์ปัญหา และตระเตรียมหนทางไว้ล่วงหน้า การประสานงานกับร้านอาหาร โรงแรมที่พัก สถานที่ที่จะไป ทุกอย่างต้องพร้อม โดยผลที่ได้ทันทีคือคำชื่นชม และความสุขใจที่ได้รับจากลูกค้า"

word of mouth จากกลุ่มลูกค้า incentive tour ของสุรศักดิ์ ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบกับ incentive tour รายอื่น และทำให้บริษัทที่เขาทำงานอยู่ มีลูกค้ามากขึ้น พร้อมกับการเรียกร้องจากลูกค้าให้สุรศักดิ์ เป็นผู้รับผิดชอบคณะทัวร์แต่ละรายบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณงานและค่าตอบแทนที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับเขาด้วย

นอกเหนือจากเงินทุนที่เขาสามารถเก็บออมได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว ความรับผิดชอบและความรอบคอบที่ได้จากประสบการณ์ 8 ปีในธุรกิจ incentive tour ยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เขาได้เก็บรับและมีผลอย่างมาก ต่อธุรกิจร้านอาหารของเขาในปัจจุบัน

"หัวใจของงานบริการอยู่ที่การเอาใจใส่ลูกค้า ต้องช่างสังเกตว่าแต่ละคนชอบหรือไม่ชอบอะไร ขณะที่ความอ่อนน้อมและอัธยาศัยไมตรีเป็นคุณสมบัติพิเศษของความเป็นไทย ที่คนชาติอื่นเทียบไม่ได้เลย"

สุรศักดิ์เริ่มหันเหเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร เมื่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารรายหนึ่ง เชิญชวนให้เขาเข้ามารับจ้างบริหารร้านอาหารไทย ในฐานะผู้จัดการร้าน ซึ่งนอกจากเขาจะต้องประกอบธุรกิจให้ได้กำไรแล้ว เขายังมีโอกาสในการออกแบบตกแต่งสถานที่และตั้งชื่อร้านด้วย

ใจไทย เป็นชื่อที่สุรศักดิ์เลือกใช้สำหรับร้านอาหารไทยแห่งใหม่ใน Kichijoji ย่านชานเมืองของกรุงโตเกียวแห่งนี้ พร้อมๆ กับฐานลูกค้าที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับและอนาคตทางธุรกิจที่น่าพึงพอใจ

จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้น เมื่อสุรศักดิ์เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับการมีชีวิตอยู่ในต่างแดนและกำลังได้รับข้อเสนอ ใหม่จากบริษัทในประเทศไทย แต่ขณะที่เขาเตรียมตัวเดินทางกลับมาตุภูมิ นักธุรกิจญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของร้านใจไทย ได้ประกาศขายธุรกิจในห้วงเวลาใกล้เคียงกัน

"เขาตั้งใจจะขาย โดยไม่ได้บอกกับผมโดยตรง แต่ในแวดวงผู้ประกอบการร้านอาหารต่างรู้ข่าวนี้หมด ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจอะไร เพราะคิดว่าเราเองก็คงจะกลับเมืองไทยแล้ว แต่มีผู้ปรารถนาดีหลายคน ทั้งยุและผลักดันว่า น่าจะทำต่อ เพราะเราเป็นผู้สร้างชื่อสร้างร้านใจไทยมากับมือ"

แรงปรารถนาดีของผู้คนรอบข้าง ซึ่งบางรายดำเนินไปไกลในระดับที่พร้อมจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับการต่อรองซื้อขาย ทำให้สุรศักดิ์ตัดสินใจเจรจาซื้อกิจการร้านใจไทยจากผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่น ภายใต้ความเชื่อที่ว่ามีแหล่งเงินทุนพร้อมแล้ว เพียงแต่เขารับช่วงการบริหารต่อไปเท่านั้น

แต่การณ์ไม่เป็นไปตามคาด เพราะเมื่อเจรจาได้ผลสำเร็จ ปรากฏว่าแหล่งเงินทุนที่คิดว่ามีพร้อมจากผู้ปรารถนาดีกลับมลายหายไปพร้อมกับลมปาก สุรศักดิ์ จึงต้องเปลี่ยนสถานะจากผู้รับจ้างบริหาร มาสู่การเป็นผู้ลงทุนและผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ตั้งแต่เมื่อปี 1993 เป็นต้นมา

"ต่อรองราคาเสร็จสรรพ มันเหมือนกับเราไม่ซื้อเขาไม่ได้แล้ว ไม่ใช่เด็กเล่นขายของ เงินที่เก็บออมมาในช่วงก่อนหน้ามีอยู่บ้าง แต่มันยังไม่พอ ก็ติดต่อทางบ้าน ขอยืมมาก่อน อธิบายเรื่องราวให้ฟังว่า เราจะขอลองดู เขาก็ให้มา โดยที่ก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไร เพียงแต่บอกว่าถ้าไม่ไหวก็หยุดไว้แค่นั้น"

หลังจากที่สุรศักดิ์ซื้อกิจการร้านอาหารได้เป็นที่เรียบร้อย เรื่องราวของร้านอาหารไทยแห่งนี้น่าจะผูกพันอยู่กับการเพิ่มยอดขาย หรือการขยายสาขาไปยังแห่งอื่นๆ แต่บนเส้นทางธุรกิจในชีวิตจริงไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวังนัก

สัญญาซื้อขายกิจการที่สุรศักดิ์ลงนามกับเจ้าของกิจการเดิม กลายเป็นปัญหาที่ต้องพึ่งอำนาจศาลในการตัดสินคดีอยู่นานถึง 9 ปี ด้วยเหตุที่เจ้าของกิจการเดิมมิใช่ผู้ครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นตัวอาคารอย่างแท้จริง การครอบครองพื้นที่ร้านใจไทยของสุรศักดิ์ จึงยังไม่มีผลในทางนิตินัย เพราะเจ้าของที่ดินตัวจริงไม่ได้ร่วมรับรู้ในนิติกรรม

"ช่วงแรกๆ ที่ต้องขึ้นลงสู้ในศาล เป็นช่วงเวลาที่แย่มากๆ ลูกก็ยังเล็ก ธุรกิจก็เพิ่งเริ่ม โอกาสที่จะหมดตัว มีสูงมาก แต่จะให้ทิ้งไปง่ายๆ ไม่ใช่วิสัยที่เราจะทำเพราะผมทำอะไรทำจริงตั้งใจ ขอสู้ก่อน ลองดูให้มันถึง ที่สุด"

แม้จะติดปัญหาเป็นคดีความให้ต้องต่อสู้ในศาลโดยยังไม่สามารถคาดการณ์ผลหรือบทสรุปได้ แต่ในปี 2000 สุรศักดิ์ตัดสินใจขยายการลงทุนด้วยการเปิดร้านใจไทยแห่งที่สอง ขึ้นที่ Okinawa ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของภริยา

การเปิดร้านใจไทย สาขา Okinawa เป็นทั้งการรุกและรับทางธุรกิจสำหรับสุรศักดิ์ เพราะนอกจากจะเป็นการหาฐานที่มั่นแห่งใหม่ผ่านเครือข่ายการเป็นคนในพื้นที่ของภริยา เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากคำตัดสินของศาลแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการเปิดตลาดร้านอาหารไทยเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูงด้วย

"เราได้ทำเลซึ่งจัดว่าอยู่ในขั้นที่ดีทีเดียว เพราะอยู่หน้าฐานทัพทหารอเมริกัน ซึ่งจากการสำรวจตลาดยังไม่มีร้านอาหารที่มีมาตรฐานดีๆ เข้าไปเปิดมากนัก"

ในช่วงปี 2002 มรสุมร้ายที่เคยโหมกระหน่ำเข้าใส่สุรศักดิ์ เริ่มคลายตัวลง เมื่อคดีความที่ยืดเยื้อมานานปีได้บทสรุป โดยศาลตัดสินให้สุรศักดิ์เป็นฝ่ายชนะคดี พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของโอกาสใหม่ๆ โดยเขาได้รับการเชื้อเชิญจาก Sapporo Breweries ผู้ผลิตเบียร์ Sapporo และ Yebisu ในฐานะเจ้าของโครงการ Yebisu Garden Place โครงการพัฒนาที่ดินกลางกรุงโตเกียวให้ใจไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหาร ในพื้นที่โครงการ

นอกจากนี้ ปัญหาข้อจำกัดด้านเงินลงทุนที่สุรศักดิ์ต้องเผชิญในระยะเริ่มต้นของการประกอบธุรกิจ ซึ่งดูจะเป็นสถานการณ์ร่วมที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องประสบไม่แตกต่างกันมากนัก เริ่มลดความตึงเครียดลงไปเมื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเขาทำได้สะดวกมากขึ้นจากผลของธุรกิจที่ดำเนินไปด้วยดี โดยมีธนาคารท้องถิ่นของญี่ปุ่นพร้อมที่จะปล่อยกู้ในอัตราร้อยละ 1.9 เป็นส่วนหนุนนำสำคัญ ขณะที่หน่วยงานของภาครัฐไทย โดยเฉพาะ SME Bank (ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ถึงร้อยละ 5.75-6 ซึ่งดูจะเทียบกันไม่ได้เลย

การเกิดขึ้นของ Jai Thai Palace ร้านใจไทยแห่งที่ 3 ซึ่งเปรียบเสมือนเรือธง ที่ช่วยยกสถานะของใจไทย ให้เป็นหนึ่งในร้านอาหารไทยระดับนำในกรุงโตเกียวอย่างรวดเร็ว ก่อนที่ร้านใจไทยจะได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับรางวัล Prime Minister Award (PM Award) ประเภท Service Provider ประจำปี 2004 โดยมีพิธีประกาศเกียรติคุณที่ทำเนียบรัฐบาลไปเมื่อไม่นานมานี้

ขณะเดียวกัน สุรศักดิ์ยังมีแผนที่จะเปิดร้าน Jai Thai Express ในรูปแบบของ booth จำหน่ายอาหารไทยจานด่วน ภายในบริเวณอาคารสนามบิน Narita โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งถือเป็นการขยายตลาดและโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อย

หากชีวิตเป็นประหนึ่งการเดินทางที่ยาวไกล การได้รับรางวัล PM Award ย่อมมิใช่จุดหมายปลายทางของสุรศักดิ์ หากเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหมุดหมายที่บ่งบอกพิกัดตำแหน่งของการเดินทางในห้วงเวลาปัจจุบัน ก่อนการก้าวเดินบนเส้นทางธุรกิจที่เขาได้ขีดวาดไว้ในอนาคต ซึ่งสิ่งที่เขาคิดฝันและตั้งใจจะทำอีกประการหนึ่ง คือการกลับมาเปิดร้านอาหารแห่งใหม่บนแผ่นดินถิ่นเกิดของเขาเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.