|
เอเชียกับการอยู่รอดในโลกที่น้ำมันแพง
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
เอเชียเริ่มตระหนักแล้วว่าจะต้องมีชีวิตอยู่ในโลกที่น้ำมันจะแพงตลอดไป แม้ราคาน้ำมันในขณะนี้จะลดลงจากระดับสูงสุดเกือบ 50 ดอลลาร์ในช่วงเดือนสิงหาคม แต่ราคาน้ำมันในปัจจุบันซึ่งยังเกินกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ยังแพงกว่าราคาน้ำมันที่เคยเป็นมาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานยังทำนายด้วยว่า ราคาน้ำมันคงจะไม่มีวันจะลดลงไปต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้อีกแล้ว ทั้งยังจะคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งขึ้นต้นด้วยเลข 3 หรือ 4 อย่างนี้ต่อไปอีกนาน
ทำให้เอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่นำเข้าน้ำมันเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้ว ยังมากกว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปถึง 3 เท่า เริ่มตระหนักว่าถึงเวลาที่จะต้องเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกที่ราคาน้ำมันจะแพงอยู่อย่างนี้ตลอดไป
แม้ว่าราคาน้ำมันแพงจะยังไม่กระทบเศรษฐกิจเอเชียในปีนี้ โดย Merrill Lynch คาดว่า เอเชียจะเติบโตถึง 7% ในปีนี้ ส่วนกำไรของบริษัททั่วเอเชียในปีนี้ก็ยังแข็งแรงดี แต่ Merrill Lynch ก็คาดว่า การเติบโตของเอเชียจะชะลอช้าลงในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยจะเหลือต่ำกว่า 6% ในปีหน้า ส่วนกำไรของบริษัทก็จะลดลงในปีหน้าเช่นกัน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ประเมินว่า ทุกๆ 5 ดอลลาร์ของราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้น จะส่งผลให้ GDP ของเอเชียลดลง 0.2%
และเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักของเอเชียก็เริ่มส่งสัญญาณตึงเครียดแล้ว เมื่อราคาน้ำมันแพงได้ส่งผลกระทบให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และทำให้ต้นทุนด้าน supply chain ของเอเชียเพิ่มขึ้น
สิ่งที่เอเชียวิตกเป็นพิเศษคือ ผลกระทบของราคาน้ำมันแพง ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากจีนได้กลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านในแถบนี้ไปเสียแล้ว เมื่อเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีน ได้ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่เกิดความต้องการบริโภคอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า หรือข้าวของเครื่องใช้อำนวยความสะดวกต่างๆอย่างรถยนต์ โทรศัพท์มือถือ
เศรษฐกิจจีนกับราคาน้ำมัน ยังกลายเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อกันและกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน ทำให้จีนนำเข้าน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดยมีสัดส่วนถึง 30% ของการบริโภคน้ำมันของโลกที่เพิ่มขึ้น 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี และการที่จีนนำเข้าน้ำมันถึงวันละ 6.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งทำให้จีนแซงหน้าญี่ปุ่น กลายเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ มีส่วนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกแพงขึ้นด้วย
แม้ว่า GDP ไตรมาสสองของจีนยังคงชี้ว่า เศรษฐกิจจีนยังเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 9.6% แต่หากจีนยังคงบริโภคน้ำมันอย่าง บ้าคลั่งถึง 89,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 5.3% ของ GDP ราคาน้ำมันแพงจะต้องกระทบกับการเติบโตของจีนอย่างแน่นอน
และหากราคาน้ำมันที่แพงกระทบการเติบโตของจีน ประเทศในเอเชียที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักตามไปด้วยก็คือญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากการตกต่ำ ที่ดำเนินมายาวนานเป็นทศวรรษได้ ก็เพราะดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของจีนนั่นเอง ที่เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยฉุดดึงเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลักของญี่ปุ่นให้ฟื้นตัวได้สำเร็จ
Alan Greenspan ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยเตือนว่า ราคาน้ำมันแพงอาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงอย่างมาก และ GDP ในไตรมาสสองของญี่ปุ่น ก็ลดลงเหลือเพียง 1.7% จากไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ 6.6% ในขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เงินเฟ้อ การว่างงาน และการใช้จ่าย ผู้บริโภคล้วนแต่อ่อนแอกว่าที่คาด
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ไม่เชื่อว่า ราคาน้ำมันแพงจะทำให้ญี่ปุ่นกลับไปสู่ความตกต่ำอีกครั้ง เนื่องจากญี่ปุ่นมีการปรับตัวรับ oil shock มาตลอด นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา โดยญี่ปุ่นได้พยายามแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น พลังงานนิวเคลียร์ และก๊าซธรรมชาติ ทำให้ในปีที่แล้วญี่ปุ่นบริโภคน้ำมันลดลงเมื่อเทียบกับระดับการบริโภคน้ำมันในปี 1993
เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียที่พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันอย่างสูง โดยเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสี่ของโลกปีที่แล้วเกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันถึง 23,100 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 4.4% ของ GDP (เทียบกับไต้หวันซึ่งนำเข้าน้ำมันเป็นสัดส่วน 2.9% ของ GDP) นอกจากนี้ เกาหลีใต้ยังไม่ได้มองหาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ เตรียมไว้อย่างญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกาหลีใต้อ่อนไหวต่อ oil shock มากกว่าประเทศใดๆ ในเอเชีย
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาผู้บริโภคเกาหลีใต้พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายผู้บริโภคชะงักงันตามไปด้วย และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
ตัวเลขล่าสุดยังชี้ว่า เกาหลีใต้อาจกำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า stagflation ซึ่งหมายถึงภาวะที่ผลผลิตทางเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ต้นทุนกลับสูงขึ้น นอกจากนี้ การส่งออกของเกาหลีใต้ยังตกต่ำลงกว่า 30% ในเดือนสิงหาคม ทำให้ไม่มีโอกาสเลยที่เกาหลีใต้จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ที่ตั้งไว้ที่ 5% ได้ และน่ากลัว ว่าหากราคาน้ำมันยังแพงต่อไป อาจผลักให้เกาหลีใต้จมลงไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้
แม้ว่า Merrill Lynch จะคาดว่าราคาน้ำมันในอนาคตจะลดลงมาต่ำกว่า 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่เอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อราคาน้ำมันแพงมากกว่าภูมิภาคอื่นใดในโลก เนื่องจากแทบไม่มีแหล่งสำรองน้ำมันเลย และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางเพียงอย่างเดียว หาควรนิ่งนอนใจไม่ เพราะ oil shock อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ในโลกที่ยังคงวุ่นวายด้วยความไม่สงบในอิรัก ความขัดแย้งทางการเมืองในรัสเซียและเวเนซุเอลา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|