ลูกค้าบัตรเครดิตอ่วมธปท.เล็งปรับดบ.เพิ่ม


ผู้จัดการรายวัน(24 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ชาติ เตรียมเรียกธนาคารพาณิชย์หารือเรื่องการขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตภายในสิ้นเดือนก.ย.นี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% พร้อมทบทวนค่าธรรมเนียมปรับในกรณีลูกค้า บัตรเครดิตผิดนัดชำระก่อนจะเสียภาพลักษณ์สถาบันการเงินไทย ระบุเบื้องต้นแบงก์ชาติมีกรอบไว้เรียบร้อยแล้ว

นายเกริก วณิชกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ต้องการหารือกับธปท. เกี่ยวกับการขอขยายเพดานอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิตจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 18% ว่า ธปท.เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าธปท.จะเรียกผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์เข้ามาหารือร่วมกัน ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้

พร้อมกันนี้ ธปท. จะหารือเกี่ยวกับการคิดค่าธรรมเนียมปรับในกรณีที่ลูกค้าบัตรเครดิตผิดนัดหรือชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนดด้วย เพราะหากเรียกเก็บมากเกินไปจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเสียภาพลักษณ์ ซึ่งได้เตรียมแนวทางในการหารือไว้แล้ว แต่จะต้องรับฟังความคิดเห็นของทางธนาคารพาณิชย์ด้วย

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. ออกประกาศโดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ให้ลูกค้ารับทราบก่อนที่จะมีการเรียกเก็บจริง แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องคิดในอัตราเท่าใด เนื่องจาก ธปท.ต้องการให้ประชาชนที่ต้องการกู้เงินทราบถึงค่าธรรมเนียมต่างๆของธนาคาร พาณิชย์แต่ละแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบกันก่อนจะตัดสินใจใช้บริการบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ แต่ละแห่ง

จากประกาศฉบับดังกล่าวทำให้ธนาคารพาณิชย์มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการใช้บัตรเครดิตสูงเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาได้ แม้ว่าอัตราค่าธรรมเนียมที่ประกาศไว้จะไม่ได้นำมาใช้เรียก เก็บจริงก็ตาม แต่ ธปท.ก็ต้องเรียกมาหารือ และหาแนวทางแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้ประชาชนที่ใช้บริการบัตรเครดิตได้รับความเสียหาย

"ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทยอยปรับค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารที่คิดค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระสูงที่สุด คือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด นครธน โดยเรียกเก็บ 75% ธนาคารไทยพาณิชย์ 48% และธนาคารซิตี้แบงก์ 45.63% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเบี้ยปรับแต่อย่างใด"

สำหรับปริมาณการให้บริการบัตรเครดิต ณ ไตรมาสที่ 2 สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2547 มียอดรวมทั้งสิ้น 8,021,238 บัญชี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ที่อยู่ในระดับ 7,359,906 ถึง 661,332 บัญชี ส่วนปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตรวมทั้งสิ้นมีจำนวน 128,198.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ในระดับ 120,071.16 ล้านบาทถึง 8,127.29 ล้านบาท ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อรวมมีจำนวน 103,585.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่มีจำนวน 97,119.87 ล้านบาท ถึง 6,465.65 ล้านบาท โดยภาพรวมของธุรกิจบัตรเครดิตมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงซึ่งถือว่ามาตรการควบคุมธุรกิจบัตรเครดิตที่ ธปท.ประกาศในช่วงต้นปีที่ผ่านมาค่อนข้างได้ผล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.