|
หวังหุ้นขึ้นปิดดีล "ไตรภพ" ITVมั่นใจตอบ2ปัญหาคาใจกองทุน
ผู้จัดการรายวัน(22 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ไอทีวีหอบข้อมูลเสนอกองทุนต่างชาติในงานไทยแลนด์โฟกัสวันนี้ เตรียมตอบ 2 คำถามคาใจ "แผนงาน-พันธมิตร" ยันดีลซื้อขายหุ้น "ไตรภพ-กันตนา" ไม่ล้มรอได้ถึงสิ้นปี แต่แบะท่าเปิดกว้างเจรจารายใหม่ มั่นใจฐานะปีนี้มีกำไรเป็นครั้งแรก หลังได้ลดค่าสัมปทานจ่าย 230 ล้านบาทเป็นปีแรก วงในเผยวางเงื่อนไขราคาหุ้นไอทีวีช่วงปลายปีจะเป็นตัวตัดสินดีลอยู่หรือไป โดยราคาต้องสูงกว่า 20 บาท
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (22 ก.ย.) ไอทีวีจะนำเสนอข้อมูลต่อกองทุนต่างประเทศในงานไทยแลนด์โฟกัส ซึ่งสิ่งที่จะนำไปเสนอต่อนักลงทุนและผู้จัดการกองทุนต่างประเทศคือข้อมูลพื้นฐานของบริษัท ผลการดำเนินงาน และแผนงานในระยะยาว ซึ่งในปัจจุบันมีกองทุนถือหุ้นของบริษัทอยู่แล้วกว่า 10% แต่ส่วนใหญ่เป็นกองทุนในประเทศ ส่วนนักลงทุนต่างประเทศยังมีเป็นจำนวนน้อย
โดยบริษัทหวังว่าจะสามารถนำเสนอและเปิดเผยข้อมูลให้แก่นักลงทุนต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ประเมินว่าสิ่งที่นักลงทุนต้องการทราบ และจะต้องเกิดคำถามคือ ความคืบหน้าของพันธมิตรทั้ง 2 ราย คือนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ และบริษัทกันตนา ซึ่งผู้บริหารเตรียมที่จะชี้แจงว่า ทั้ง 2 ราย ยังมีระยะเวลาที่จะตัดสินใจจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นกำหนดเวลาตามที่เคยเซ็นสัญญาบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น (เอ็มโอยู)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพันธมิตรจะตัดสินใจไม่จ่ายเงินค่าหุ้นก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากไอทีวีมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นกว่าก่อนหน้านี้มาก และมีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจ หลังจากที่คณะอนุญาโตตุลาการตัดสินชี้ขาดให้ไอทีวีได้ปรับลดค่าสัมปทาน ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นมาก โดยในปีนี้จะเป็นปีแรกที่ไอทีวีจ่ายสัมปทานในอัตราใหม่คือ 230 ล้านบาท จากปีก่อนที่บริษัทมีภาระจ่ายค่าสัมปทานกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งจะทำ ให้ปี 2547 ไอทีวีจะมีผลการดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ไอทีวีสามารถทำกำไรได้ประมาณ 50 ล้านบาทและถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นพันธมิตรกันในแง่ของการร่วมทุน แต่ในเอ็มโอยูยังมีข้อตกลงในการร่วมมือกันในด้านของการผลิตรายการ ซึ่งจะยังคงดำเนินต่อไป
"ที่ผ่านมาเค้าก็ไม่เคยเข้ามาคุยกับผมในเรื่องนี้ และไม่ได้มีการต่อรองราคาซื้อหุ้นกันตามที่เป็นข่าว ซึ่งตามสัญญาก็ยังมีเวลาจนถึงสิ้นปีและตอนนี้เราก็แข็งแกร่งขึ้นมากแล้วจากการจ่ายค่าสัมปทานลดลง ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เงินจากพันธมิตรก็ไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก" นายนิวัฒน์ธำรง กล่าวและว่า ปัจจุบัน ITV ยังมีผลขาดทุนสะสมอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้เงินจากพันธมิตรเข้ามาก็สามารถนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นมาชดเชยขาดทุนสะสมได้ แต่หากดีลล้มไปก็จะต้องใช้เงินจากกำไรจากการดำเนินงานมาหักล้าง ซึ่งยังไม่มีนโยบายว่าจะล้างขาดทุนสะสมหมดภายในระยะเวลากี่ปี
สำหรับราคาหุ้นไอทีวีที่ปรับสูงขึ้นจากการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุน ช่วงก่อนนี้ นายนิวัฒน์ธำรงกล่าวว่า ยังไม่ทราบถึงสาเหตุการเข้ามาเก็งกำไร เพราะในด้านปัจจัยพื้นฐานของบริษัทยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยการได้ลดค่าสัมปทานเป็นเรื่องที่ทราบกันมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ในฐานะของผู้บริหารก็พยายามที่จะบริหารให้ดีที่สุด เพื่อให้ ITV มีเรตติ้งเพิ่มขึ้น และมีรายได้เข้ามามากขึ้น
ส่วนกระแสข่าวลือว่าจะมีการร่วมทุนกับเวิร์คพอยท์นั้นไอทีวีเองไม่ได้ปิดกั้นโอกาสที่จะมีผู้ผลิตรายการเพิ่ม ซึ่งเวิร์คพอยท์เองก็เคยผลิตรายการให้กับไอทีวี แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเจรจาตกลงกันในประเด็นดังกล่าว
อนาคต "ต๋อย" อยู่ที่ราคาหุ้นปลายปี
แหล่งข่าวในธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์ กล่าวว่า สถานการณ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯปลายปี และราคา หุ้นของไอทีวี จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินว่านายไตรภพ ลิมปพัทธ์ จะยังคงซื้อหุ้นสถานีโทรทัศน์ ไอทีวีหรือไม่ หลังจากการขายหุ้นของไอทีวีให้กลุ่มกันตนาและนายไตรภพตั้งแต่ต้นปียังไม่มีรายการซื้อขายจริงเกิดขึ้น และดีลครั้งนี้ถือว่าเลยกำหนดมา 2-3 เดือนแล้ว โดยที่กลุ่มชินคอร์ปยังให้เวลากับนายไตรภพจนถึงสิ้นปี เพราะถือว่าอุตสาหกรรมบันเทิงต่างจากอุตสาหกรรมทั่วไป ที่มีเรื่องของน้ำใจ และมิตรภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่พิจารณาบนหลักการธุรกิจที่เข้มงวด
"หากเป็นธุรกิจอื่นดีลนี้จบไปแล้ว แต่เมื่อเป็นเรื่องบันเทิง จึงมีการยืดเวลาให้จนถึงสิ้นปี"
อย่างไรก็ตาม การที่นายไตรภพเข้ามาในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งการเปลี่ยนผังรายการต่างๆ ในส่วนที่เป็นรายการของนายไตรภพเองทำให้เรตติ้งไอทีวีดีขึ้นจนอยู่ในอันดับ 3 ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการต่ออายุดีลออกไป แต่ทุกอย่างจะต้องชัดเจนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหากยังไม่มีการซื้อขายหุ้นเกิดขึ้น ก็เท่ากับจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับโครงสร้างบริหารไอทีวีอีกครั้ง
จากปัจจุบันที่นายไตรภพถือเป็นผู้บริหารระดับสูงในไอทีวีที่มีอำนาจในการจัดผังรายการทั้งหมด ก็จะหมดไป เหลือเพียงแค่เป็นผู้ผลิตรายการป้อนให้ไอทีวีเท่านั้น ซึ่งไอทีวีมีสิทธิที่จะเลือกแพร่ภาพเพียงรายการที่มีเรตติ้งดีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มกันตนาคาดว่าจะได้ข้อสรุปและมีการซื้อขายหุ้นภายในระยะเวลาที่ยืดออกไป
"ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การซื้อขายหุ้นไม่เกิดขึ้นเป็นเพราะภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ไม่สดใสตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เพราะกลุ่มนายไตรภพ ได้สิทธิในการซื้อหุ้นที่ราคา 10 บาท ซึ่งหลังจากมีการเซ็นเอ็มโอยู ราคาหุ้นปรับขึ้นต่อเนื่องและมากเกือบ 30 บาท แต่ในช่วงต่อมาราคาลดลงมาอยู่ระดับ 15 บาท ซึ่งหากภาพรวมตลาดหลักทรัพย์ฯดี หรือพูดให้ตรงคือราคาหุ้นไอทีวีทยอยปรับขึ้นมาสูงกว่า 20 บาท โอกาสการซื้อขายหุ้นจริงก็น่าจะเกิดขึ้นได้" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นไอทีวีวานนี้ (21 ก.ย.) ปิดที่ระดับ 15.60 บาท ลดลง 0.50 บาทจากวันก่อนหน้าด้วยมูลค่าการซื้อขาย 322 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กลุ่มชินคอร์ปก็ยังให้ความสนใจ ผู้จัดรายการรายอื่นอย่าง นายปัญญา นิรันดร์กุล ซึ่งมีรายการยอดนิยมทั้ง "แฟนพันธุ์แท้" "เกมทศกัณฐ์" เพียงแต่กรณีนายไตรภพเป็นการเดินเข้ามาคุยกันก่อนซึ่งเป็นมารยาททางธุรกิจที่ทำให้กลุ่มชินคอร์ปไม่สามารถเจรจากับรายอื่นได้หากดีลยังไม่จบ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|