ผู้บริหารไทยหายากชินจ้างต่างชาติแทน


ผู้จัดการรายวัน(20 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

"ชินคอร์ป" จ้างเฮดฮันเตอร์ สิงคโปร์หาผู้บริหารระดับสูงมาทำงานในสายธุรกิจต่างๆ หลังไม่พบคนไทยที่ถูกใจ เผยสเปกถูกใจ "บุญคลี" ต้อง smart-easy-work hard ระบุประทับใจมืออาชีพเมืองลอดช่อง

นายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่ากลุ่มชินคอร์ปเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเฟ้นหาผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่ Vice President ขึ้นไปโดยใช้วิธีจ้างบริษัท Head Hunter ในประเทศสิงคโปร์เพื่อหาผู้บริหารชาวสิงคโปร์ที่มีความเหมาะสมในการเข้าทำงาน ในกลุ่มชินคอร์ป

เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มชินคอร์ปได้เฟ้นหาผู้บริหารระดับสูงที่จะมาเป็นเลือดใหม่เข้ามารับช่วงบริหารงานของกลุ่มในสายงานที่สำคัญต่างๆ มา ระยะหนึ่งแล้ว เริ่มจากที่เขาและทีมงานบางส่วนติดต่อนัดสัมภาษณ์เอง จนมาจ้างบริษัท head hunter ในประเทศไทยเพื่อดำเนินการมาช่วงหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้ผู้บริหารที่ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่ต้องการ

"ผมเปลี่ยนแผนใหม่แล้ว ตัวเลือกในประเทศมีน้อย และที่ผ่านมายังไม่เจอคนที่โดนมากๆ ผมอยากได้คนสิงคโปร์ ที่มีส่วนประกอบที่เราต้องการคือการเป็นคนเอเชียและมีทัศนคติในการทำงานเหมือนกันคือ easy, smart และ work hard"

นายบุญคลีกล่าวว่าที่ผ่านมาเคยประทับใจกับผู้บริหารจากสิงคโปร์ที่เคยร่วมงานในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส เช่น นายอลัน ลิว ที่รับผิดชอบเรื่อง Customer Relation Management หรือ CRM ของเอไอเอสช่วงแรกๆ จนถึงขนาดที่อยากจะเสนอให้ทำงานในประเทศไทยต่อ แต่นาย อลัน ลิวซึ่งเป็นผู้บริหารที่สิงเทลส่งเข้ามา จำเป็นต้องโยกย้ายไปประจำประเทศออสเตรเลียแทน

"คุณสมบัติอย่างอลัน เป็นแบบที่กลุ่มชินคอร์ป ต้องการ"

รวมทั้งในช่วงต้นปีตั้งแต่ที่กลุ่มชินคอร์ปได้ทำงานร่วมกับธนาคาร DBS ในการร่วมทุนทำธุรกิจ บริษัท แคปปิตอล โอเค ก็ได้เห็นคนที่น่าสนใจในระดับกรรมการบริหารที่มาจากฝ่ายสิงคโปร์อีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธว่าการที่มุ่งเป้าหมายไปที่ผู้บริหารชาวสิงคโปร์ไม่ใช่เป็นเพราะมีบริษัทสิงคโปร์เทเลคอมหรือสิงเทลเป็นผู้ถือหุ้นด้วย แต่มาจากวัฒนธรรมและธรรมชาติในการทำธุรกิจที่ตรงกับความต้องการมากกว่า

นายบุญคลีกล่าวว่า การที่กลุ่มชินคอร์ปแตกธุรกิจ (Diversify) ออกไปจากธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากเป็นเพราะไม่มั่นใจในการเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคตเนื่องจากการเกิดขึ้นของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) การเปิดเสรีโดยที่การเลือกแตกธุรกิจจำเป็นต้องทำในช่วงที่เอไอเอสมีความเข้มแข็ง

แต่หลังจากแตกธุรกิจแล้วปัญหาที่ตามมาคือการเฟ้นหาผู้บริหารที่จะเข้ามารับผิดชอบธุรกิจใหม่ๆ ที่กลุ่มชินคอร์ปเข้าไปร่วมทุน เพราะที่ผ่านมาผู้บริหาร จะเป็นกลุ่มที่ชำนาญด้านโทรคมนาคมมากกว่า

"ปัญหาด้านทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่เรากำลังเผชิญ ซึ่งไม่ใช่แค่กลุ่มชินคอร์ป แต่รวมทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และรัฐวิสาหกิจบางที่เช่นกัน"

เขากล่าวว่ากรณีนายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล ผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มชินคอร์ปได้เข้ามาพูดคุยถึงการย้ายไปบริษัท สามารถ ไอ-โมบายเช่นกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพการขาดแคลนผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรม

สำหรับนายสรรค์ชัย ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารชินนี่ ดอทคอม และกรรมการผู้จัดการแคปปิตอลโอเค เริ่มงานในกลุ่มชินคอร์ปในธุรกิจเปย์ทีวีของไอบีซีก่อนที่จะมีการควบรวมกิจการกับยูทีวีจนกลายเป็นยูบีซีในตอนนี้

หลังจากนั้น รับผิดชอบด้านการตลาดของ เอไอเอส ซึ่งประสบการณ์และความชำนาญที่โดดเด่น ของเขาคือการทำตลาดที่แหวกแนว สร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น รวมทั้งความรอบรู้เรื่องเทคโนโลยีบรอดแบนด์(อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ซึ่งตรงกับความต้องการของกลุ่มสามารถ ที่มีเป้าหมาย ให้บริษัท สามารถ ไอ-โมบายเป็นผู้นำในธุรกิจคอนเทนต์บรอดแบนด์ และคอนเทนต์บนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบซีดีเอ็มเอและจีเอสเอ็ม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.