PAPลงทุนศูนย์กระจายสินค้าตั้งเป้าดันยอดขายปีหน้าโต30%


ผู้จัดการรายวัน(20 กันยายน 2547)



กลับสู่หน้าหลัก

แปซิฟิกไพพ์ (PAP) เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจะทำ IPO ในช่วงปลายเดือนตุลาคม หวังนำเม็ดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปคืนหนี้สถาบันการเงิน หลังผุดศูนย์กระจายสินค้าบางนา-ตราด ที่มีมูลค่าลงทุนกว่า 50 ล้านบาท คาดหลังเปิดดำเนินการในปี 48 ดันรายได้รวมเพิ่มขึ้นกว่า 30% "สมชัย"เผยเป็นยุทธศาสตร์ 3 ปี ที่จะทำให้ระบบ "ลอจิสติกส์" มีความสมบูรณ์ ส่วน แนวโน้มรายได้รวมปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 20% หรือมีมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านบาท

นายสมชัย เลขะพจน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปซิฟิกไพพ์ จำกัด (มหาชน) (PAP) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะเพิ่มทุนจาก 500 ล้านบาท เป็น 660 ล้านบาท และนำหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 15.3 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 10 บาท เสนอขายกับประชาชนทั่วไป (IPO) ภายในเดือนตุลาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ

สำหรับเงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุน บริษัทจะนำไปคืนหนี้บางส่วนให้กับสถาบันการเงิน และนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจ โดยที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนสร้างศูนย์กระจายสินค้าบริเวณ บางนา-ตราด มูลค่าการลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งกระจายสินค้า โดยมีพื้นที่เก็บสินค้า 4,000 ตัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ในต้นปี 2548 นี้

"หลังเปิดศูนย์กระจายสินค้าในต้นปีหน้า เราคาดว่าจะทำให้ยอดขายรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นกว่า 30% และการเปิดศูนย์กระจายสินค้าถือเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจในระยะสั้นช่วง 3 ปีนี้ของบริษัท เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อจำกัดในระบบการขนส่งสินค้า (ลอจิสติกส์) ทำให้เราต้องเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้า และลดต้นทุนการดำเนินงานให้ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ของบริษัท ซึ่งเป็นตัวแทนขายสามารถเข้าถึงสินค้าได้ง่าย และเป็นการลดต้นทุนการขนส่ง"

นายสมชัย กล่าวว่า ระบบลอจิสติกส์ถือว่ามีส่วนสำคัญกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทมาก หากไม่มีการวางแผนในการกระจายสินค้าที่ดี จะทำให้เป็นข้อจำกัดในการจำหน่ายสินค้า โดยในปี 2546 บริษัทมีรายได้รวม 2,022 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะโต 20% หรือมีรายได้รวมประมาณ 2.2 พันล้านบาท โดยในครึ่งปีแรกของปีนี้มีรายได้รวม 1,161 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มในปี 2548 หลังระบบลอจิสติกส์มีความสมบูรณ์ จะทำให้รายได้รวมเพิ่มขึ้นอีก 30% PAP เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจและจำหน่ายท่อเหล็ก มีกำลังการผลิตสูง 1 ใน 3 อันดับแรกของประเทศ เป็นผู้นำตลาดอันดับหนึ่งสำหรับท่อเหล็ก มาตรฐาน ประมาณการส่วนแบ่งตลาด 80% สำหรับท่อเหล็ก มอก. ประมาณการส่วนแบ่งตลาด 60% สำหรับท่อเหล็กมาตรฐาน โดยรวม เป็นผู้ผลิตท่อเหล็กขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ท่อกลม 200 มม. และท่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส 200x200 มม.) และสามารถเพิ่มการผลิตได้กว่า 50% เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

นายสมชัยกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตท่อเหล็กดำ 2 แสนตัน และท่อเหล็กสังกะสี 5 หมื่นตัน เพื่อป้อนตลาดลูกค้าในประเทศ 70-80% และ 20-30% สำหรับตลาดส่งออก เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ตะวันออกกลาง โดยปัจจุบันมีตัวแทนจำหน่ายประมาณ 500 ราย

สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลังของบริษัทมีกำไรสุทธิขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2544 กำไรสุทธิ 37 ล้านบาท ปี 2545 เพิ่มเป็น 109 ล้านบาท ปี 2546 กำไรสุทธิ เพิ่มเป็น 161 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2547 มีกำไรสุทธิกว่า 179 ล้านบาท หรือคิดเป็น 89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

"จุดแข็งที่มีของเราคือ การขายส่วนใหญ่จะผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายของเรา ซึ่งมีความสัมพันธ์กันดี ทำให้โอกาสที่จะเป็นหนี้เสียมีน้อยมาก ซึ่งเห็นได้จากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ที่บริษัทเหล็กหลายแห่งต่างประสบปัญหา เนื่องจากมีหนี้เสีย แต่ของเรามีต่ำมาก หรือคิดเป็น 0.1% เท่านั้น โดยในช่วงนั้นเรามีรายได้รวมประมาณ 1 พันล้านบาท แต่มีหนี้เสียเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น นี่ถือเป็นจุดแข็งของเรา"

ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้สินต่อทุนปัจจุบันเหลือเพียง 0.9 เท่า โดยเป็นหนี้กับสถาบันการเงินประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า โดยการระดมทุนครั้งนี้ ส่วนหนึ่งจะนำไปคืนหนี้ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ที่ 5% ต่อปี เมื่อเทียบกับปี 2544 ที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน อยู่ที่ 4.6 เท่า

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมท่อเหล็กในโครงการก่อสร้าง มีทิศทางเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ และท่อเหล็กมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อทดแทนการใช้วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ คอนกรีต หรือเหล็กประเภทอื่นๆ เช่น I-Beam,H-Beam เป็นต้น เนื่องจากท่อเหล็กมีความแข็งแกร่ง การขนส่งและเชื่อมต่อทำได้สะดวก และมีลักษณะสมมาตร ที่ทำให้สามารถกระจายการรับน้ำหนักได้ทุกทิศทาง ทำให้ประหยัดระยะเวลา และต้นทุนก่อสร้างโดยรวม

นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการใช้ท่อเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น สนามกีฬาสำหรับเอเชียนเกมส์ ที่ประเทศกาตาร์ หรือสนามกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศจีน เป็นต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.