|
ลูกค้าระดับกลางลงล่างกระอักแบงก์พาเหรดขึ้นดอกเบี้ย-จัดสรรเร่งยอดขายลดความเสี่ยง
ผู้จัดการรายวัน(20 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ชี้ผลกระทบจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นส่งผลกระทบลูกค้าระดับกลางลงล่างหนักสุด พบหากอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1% ผู้กู้ต้องแบกรับภาระผ่อนรายเดือนเพิ่มอีกประมาณ 7-8% เตือนผู้กู้ ต้องเข้มวินัยการเงินอย่าใช้เกินตัว แนะผู้ประกอบการจับมือแบงก์ออก โปรโมชันทางการเงินร่วมกัน
จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยปรับขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ย เงินฝากรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เริ่มส่งสัญญาณที่บ่งชี้ชัดว่าจากนี้ไปถึงปี 2548 เป็นช่วงขาขึ้นของดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งภาวะดังกล่าว จะส่งผลดีและผลเสีย คือผู้ที่มีเงินออมกับธนาคารพาณิชย์ได้ดอกเบี้ยเพิ่ม แต่ผู้ที่มีเงินกู้โดยเฉพาะกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องแบกรับภาระการผ่อนชำระเพิ่มขึ้นโดยที่ผ่าน มาธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ขึ้นมา 0.25% แต่ธนาคารบางแห่งยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยเพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจโครงการจัดสรรที่มุ่งเน้นระดับกลาง-ล่าง กล่าวว่า จากสภาวะอัตราดอกเบี้ยผันผวนที่เกิดขึ้นยอมรับว่าผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านอย่างแท้จริงบ้าง แต่ก็ไม่มากจนเกินไป เพราะแม้ว่าผลกระทบดังกล่าวจะมีอยู่ แต่ความต้องการที่อยู่อาศัยซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญทำให้บ้านยังสามารถขายได้อยู่
ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องดอกเบี้ยที่จะปรับขึ้นนั้น ช่องทางในการแก้ไขของผู้ประกอบการอาจจะทำอะไรได้ ไม่มากนัก เพราะยังต้องอาศัยเงินกู้ของสถาบันการเงินในการก่อสร้าง โครงการเพื่อให้มีสินค้าป้อนตลาด วิธีเดียวที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้คือ ต้องบริหารการขายให้มียอดเร็วขึ้น ส่วนปัญหาของลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย ในปี 2548 หากดอกเบี้ยสูงขึ้นบริษัทอาจจะต้องมีการเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นพันธมิตรกับบริษัทเพื่อช่วยสร้างสภาพคล่องให้ลูกค้ามีกำลังความสามารถผ่อนบ้านได้ โดยการร่วมกับสถาบันการเงินออกแคมเปญ ใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการชะลอตัวของยอดขาย
ส่วนการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งกระทบกับผู้บริโภคกลุ่มใดนั้น นายรัตน์ พานิชพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการจัดสรรระดับบน กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สินเชื่อบ้านจริงๆ จะเป็นกลุ่มลูกค้า ระดับกลาง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นคน ทำงานรับเงินเดือนประจำ เพราะต้องการวงเงินกู้สูงจากสถาบันการเงินในการซื้อบ้าน ส่วนกลุ่มผู้บริโภค ระดับบนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน เนื่องจากกลุ่ม นี้จะมีเงินออมจำนวนมากแม้ว่าจะซื้อ บ้านราคาแพง แต่เมื่อเทียบสัดส่วน การกู้แล้วน้อยกว่า ซึ่งบางรายซื้อเงินสด หรือวางเงินดาวน์เกินกว่า 50%
นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะส่งกระทบกับกลุ่มผู้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านที่ไม่มีเงินออม ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้วงเงินกู้สูงทำให้ การผ่อนชำระรายเดือนสูงตามไปด้วย สำหรับกลุ่มที่มีเงินออมก็จะสามารถวางเงินดาวน์มาก วงเงินกู้น้อยลง การผ่อนชำระรายเดือนก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจาก ธนาคารพาณิชย์ ระบุว่า จากแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อผู้กู้เท่านั้น แต่ในฟากของผู้ประกอบการเองก็จะได้รับผลกระทบทั้งทาง ตรงและทางอ้อม โดยทางตรงเมื่อแบงก์เพิ่มดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก ผู้ประกอบการจะต้องแบก รับต้นทุนทางการเงินที่กู้แบงก์มา หากยอดขายช้าก็จะส่งผลให้การคืนเงินกู้ช้าออกไปด้วย นั่นหมายถึงผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อกำไรได้ หรือหากเลวร้าย กว่านั้นก็จะส่งผลให้ขาดทุนเลยก็ว่าได้
ส่วนผลกระทบทางอ้อม คือเมื่อดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นผู้บริโภคจะเกิดความไม่มั่นใจและจะลังเลที่จะซื้อบ้าน ทำให้ผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านชะลอการตัดสินใจออกไปเพื่อ รอดูความแน่ชัด เนื่องจากมีเวลาที่จะเลือกโครงการและธนาคารที่จะขอสินเชื่อมากขึ้น
ในส่วนของผู้กู้ที่เป็นลูกค้าซื้อที่อยู่อาศัย แหล่งข่าวแจกแจงผล กระทบให้เห็นว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ย ปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะส่งผลให้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระเพิ่มจากจำนวนที่ผ่อนเดิม 8% ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.25% ก็จะทำให้ผู้กู้ต้องผ่อนชำระรายเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 2%
ทั้งนี้จากการคำนวณการผ่อน ชำระของสถาบันการเงินทั่วไป ที่จะคิดค่างวดในช่วงอัตราดอกเบี้ยคงที่ แม้ว่าจะกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันเฉลี่ย 3 ปีแรกประมาณ 3.0% แต่สถาบันการเงินจะคำนวณ เพื่อความเสี่ยงด้วยการให้ลูกค้าผ่อน ชำระที่อัตราดอกเบี้ย 6-7% อยู่แล้ว ซึ่งในส่วนที่เกินมานั้นจะนำไปหักเงินต้น เพราะสถาบันการเงินเล็งเห็น ว่า หากช่วงอัตราดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งมีอัตราเฉลี่ย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6-7% ลูกค้าจะยังคงรับภาระการผ่อนชำระได้ นอกจากนี้การ พิจารณาปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ยังใช้พื้นฐานค่าผ่อนชำระไม่เกิน 30-40% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อป้องกันความเสี่ยงได้อีกทาง
สำหรับข้อกังวลที่ว่า การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระของผู้กู้น้อยลง หรืออาจไม่สามารถผ่อนชำระได้จนเข้าสู่วงจรของการเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในที่สุด ซึ่ง สมมติฐานข้อนี้ ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า การที่อัตราดอกเบี้ย ปรับเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้กู้ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระรายเดือนนั้น อัตราดอกเบี้ยจะต้องปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 7% ขึ้นไป แต่จากการประเมินของสถาบันการเงิน คาดว่าการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะไม่เกิน 1-2% ในช่วง 1-2 ปีนี้
แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงนี้จะไม่เกิน 1-2% แต่ผู้บริโภคก็ควรจะต้องระมัดระวังในเรื่องของค่าใช้จ่ายให้ดี และควรประหยัดเพื่อรองรับการใช้จ่ายในอนาคต เพราะจากสถิติที่ผ่านมาพบว่าคนไทยเริ่มมีหนี้ภาคครัวเรือน เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งจากการผ่อนซื้อสินค้า บัตรเครดิต อีกทั้งค่านิยมฟุ้งเฟ้อเพราะด้วยสภาพของอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเกินตัว ซึ่งหากมีหนี้เพิ่มมากขึ้นก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอลในภายหลังได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|