เบื้องหลังของเครื่องแก้วเจียระไนที่มีระดับราคาสมคุณค่าความหรูหรา ก็คือช่างฝีมือที่สืบทอดประเพณีการเป่าขึ้นรูปและการสลักลาย
ที่สืบทอดกันมากว่า 2 ศตวรรษ
ความยิ่งใหญ่เป็นอมตะของ WATERFORD ผู้นำธุรกิจคริสตัลสัญชาติไอร์แลนด์
อาจเป็น ที่กังขาของหลายๆ คนที่ยังไม่รู้จักธุรกิจส่งออกรายใหญ่แห่งนี้ดีพอ
แต่อาคารทันสมัยหลังใหญ่ที่ดูไม่มีอะไรสะดุดตา ท่ามกลางสวนที่จัดอย่างประณีตแถบตะวันออกเฉียงใต้ของไอร์แลนด์แห่งนี้เอง
คือที่ตั้งของโรงงานคริสตัลที่สร้างงานเลื่องชื่อมาร่วม 2 ศตวรรษและดึงดูดคนมากกว่า
350,000 คนให้มาเยี่ยมชมทุกปี
ออกจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับช่างฝีมือของ WATERFORD ที่ต้องทำงานภายใต้การตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
ตรงกลางห้องใหญ่ที่พนักงานเรียกว่า "แถบร้อน" ของธุรกิจนั้น บรรดา ช่างเป่าผู้เชี่ยวชาญจะนั่งล้อมเตาหลอมใหญ่เป็นกลุ่ม
กลุ่มละ 3-4 คนเพื่อทำหน้าที่สำคัญ ภายใต้อุณหภูมิที่สูงถึง 760 องศาเซลเซียส
ส่วนผสมต่างๆ อันได้แก่ ทรายซิลิกา, โปแตช (โป แตสเซียมคาร์บอเนต) และลิธาจ
หรือสารประกอบเคมีประเภทออกไซด์ตะกั่ว จะรวมตัวกันและเปลี่ยนเป็นคริสตัลตะกั่วเหลว
จากนั้นบรรดาช่างเป่าจะใช้เครื่องมือดั้งเดิมของตน อันได้แก่ แท่งโลหะยาว
และแม่พิมพ์ไม้ที่ทำขึ้นเอง เพื่อตักคริสตัลเหลวออกจากเตา แล้วนำมาเป่าให้ได้รูปทรงตามแบบของ
WATERFORD สินค้าของบริษัทมีตั้งแต่เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ไปจน ถึงถ้วยรางวัลราคาสูง
การเป่าแก้วนั้นต้องอาศัยพลังปอดที่ดี ประสบการณ์ และความชำนาญ อีกทั้งมือและ
ตาก็ต้องทำงานประสานกันเป็นอย่างดี John O'Neill นักเป่าผู้เชี่ยวชาญกำลังเป่าแก้วให้เป็นรูปเหยือก
จากนั้นเขาก็ต้องตัดแต่งปากเหยือกและเพิ่มมือจับเข้าไป งานนี้ต้องใช้ผู้ช่วยอีก
2 คน คนหนึ่งนำเหยือกไปอังที่เตาหลอมเล็กเพื่อเพิ่มความร้อนที่ขอบเหยือก
แล้วถือเหยือกค้างไว้ให้ O'Neill ตกแต่งปากเหยือกด้วยแท่งเหล็ก อีกคนช่วยตักคริสตัลเหลวมาช้อนหนึ่งเพื่อทำเป็นที่จับ
O'Neill ต้องติดฐานที่จับเข้ากับเหยือก และทำให้ที่จับโค้งงอสวยงามโดยใช้แท่งเหล็ก
เขาต้องกะความสูงและตำแหน่งให้ดี ก่อนจะตัดแต่งส่วนเกินออกด้วยเครื่องตัด
จากนั้นก็ติดส่วนบนของที่จับเข้ากับตัวเหยือก งานนี้ถ้าพลาดไปนิดเดียว ก็หมายถึงต้องโยนทิ้งทั้งชิ้น
Gary Cunningham หัวหน้าคนงานเล่าให้ฟังว่า "บางวันเราต้องโยนของที่ทำแล้วเข้าเตาหลอมใหม่ถึง
40%" เขาอธิบายต่อว่า "นักเป่าแต่ละคนต้องใช้เวลาถึง 7 ปีจึงจะก้าวขึ้นมาเป็นนักเป่าที่เชี่ยวชาญ
แต่เวลาเท่านั้นก็ไม่ทำให้คุณรู้ไปหมดทุกอย่างหรอก เพราะคุณต้องทำงานกับวัตถุที่มีชีวิต
นี่จึงเป็นงานที่ท้าทายตลอดเวลา" เสร็จขั้นตอนการเป่า ชิ้นงานก็จะผ่านสายพานสู่เตาเย็นที่จะค่อยๆ
ลดความร้อนของคริสตัลสู่อุณหภูมิปกติ เมื่อคริสตัลที่ยังไม่ได้ตกแต่งได้รับการขัดและล้างทำความสะอาดแล้ว
พนักงานตรวจคุณภาพที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบในขั้นแรก
คนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์อาจไม่สังเกตเห็นความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ของงาน
อาทิ "เป็นเม็ด" (มีฟองอากาศเล็กๆ), "เป็นฟอง" (ฟองอากาศใหญ่) และ "เป็นเส้น"
(มีรอยแตกบางๆ) รวมไปถึงความหนาบางของ คริสตัลต้องเท่ากันทั้งใบ พนักงานตรวจสอบ
นั้นมองแวบเดียวก็รู้ว่า งานนี้เป็นฝีมือใคร
งานตรวจสอบคุณภาพที่ WATERFORD ประกอบด้วย 16 จุดที่ต้องใช้แรงงานคนทั้ง
สิ้น ถึงแม้ชิ้นงานจะผ่านฉลุยมาตลอดทุกจุดจนถึงจุดสุดท้ายก่อนบรรจุหีบห่อ
หากพบว่างานมีข้อบกพร่องก็จะต้องส่งกลับเข้าเตาหลอมใหม่ทันที จะไม่มีการนำคริสตัลเหล่านี้มาใช้เด็ดขาด
แม้แต่จะมาใช้เองในห้องพักรวม หรือพนักงานเอากลับบ้านก็ไม่ได้ John Foley
ประธานคณะผู้บริหาร (CEO) ของ WATERFORD ให้เหตุผลว่า "ถ้าเราไม่รักษามาตรฐานให้ดี
เราก็จะไม่เหลืออะไรเลย"
หลังจากผ่าน "แถบร้อน" ที่อึกทึกและร้อนอ้าวแล้ว ก็เป็นงานของ "แถบเย็น"
ที่เกี่ยวกับการเจียรและตะไบคริสตัล ทีมตัดแต่งจะออกแบบโครงสร้างในรายละเอียด
ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ WATERFORD คริสตัลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยใช้ล้อประดับเพชร
เป็นเครื่องมือแทนที่ล้อเหล็กและเซรามิกที่เพิ่งเลิกใช้ไปเมื่อปลายปี 1987
Jim O'Shea นักตัดผู้เชี่ยวชาญ คร่ำหวอดในงานนี้มาถึง 29 ปี จนรอบรู้แบบทุกแบบของคริสตัล
WATERFORD "เราอาศัยความจำในการตัดแต่งงาน ผมมีรูปแบบอยู่ในหัวถึง 400 รูปแบบ
ในจำนวนนี้เป็นคริสตัล ที่มีขาตั้งอยู่ถึง 89 รูปแบบ" ในกรณีที่ O'Shea เกิดหลงลืมรูปแบบใดหนึ่งรูปแบบใดไป
(ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก) เขาก็สามารถเข้าไปสืบ ค้นที่ห้องสมุดระบบคอมพิวเตอร์ที่เก็บแบบสินค้าไว้ถึง
21,000 รายการ บางแบบอาจจะล้าสมัยไปแล้ว แต่ WATER- FORD ไม่เคยเลิกผลิตสินค้าแบบหนึ่งแบบใดโดยสิ้นเชิง
เพียงแต่อาจจะเปลี่ยนมาผลิตปีละ 1-2 ครั้งตามแต่ความต้องการของลูกค้า
Peter Foskin อดีตนักตัดผู้เชี่ยวชาญของ WATER- FORD ที่ทำงานกับบริษัทมาหลายปีแล้ว
ปัจจุบันผันตนเอง มาดูแลด้านการแกะสลักโดยใช้ล้อทองแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดเป็นเครื่องมือในการตกแต่งชิ้นงาน
เล่าว่า "แม้จะมีประสบการณ์มาถึง 13 ปีแล้ว ผมก็ยังรู้สึกเครียดเพราะต้องการทำงานออกมาให้ดี
ถ้ามีอะไรผิดก็ต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ทว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง คุณจะสามารถรับรู้ได้ด้วยความรู้สึก
โดยฟังจากน้ำเสียงล้อที่ครูดกับแก้ว"
70% ของต้นทุนการผลิตของ WATERFORD คือส่วนของค่าแรง จึงไม่น่าแปลกที่สินค้าของบริษัทมีราคาสูงระยับ
เช่น แก้วบรั่นดีราคา 100 เหรียญ แจกันเซนต์แพททริกที่ผลิตจำนวนจำกัด ตั้งราคาไว้ที่
1,250 เหรียญ หรือโคมระย้า (chandelier) 6 แฉกที่ราคาแพงถึง 2,400 เหรียญ
ปีที่แล้ว WATERFORD มีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 88.6 ล้านดอลลาร์ สูงจากปี
1999 ถึง 25% ด้วยยอดขายที่ 870 ล้านดอลลาร์ ตลาดใหญ่ของธุรกิจคือสหรัฐอเมริกา
ที่ครองตลาด ถึง 2 ใน 3 ของยอดขายทั้งหมด ทั้งยังเป็นตลาดที่โตเร็วที่สุด
โดยมียอดรายได้พุ่งลิ่วถึง 45% ในปี 2000 จากการสำรวจชาวอเมริกันโดยองค์กรวิจัยอิสระเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
พบ ว่า ผู้บริโภคแดนลุงแซมลงคะแนนให้ WATERFORD เป็นสินค้ายี่ห้อคุณภาพสูงสุดเป็นอันดับ
4 รองจากโรลส์รอยซ์, โกดัก และนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิค
แม้ว่า WATERFORD จะยังดำเนินกิจกรรมการผลิตในแบบดั้งเดิม แต่ WATERFORD
ก็มิได้ละเลยที่จะก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างมั่นคง สายการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกแบบโดย
John Rocha นักออกแบบชื่อดัง ได้ขยายตลาดสู่กลุ่มคนซื้อวัยหนุ่มสาวที่มีสัดส่วนราว
1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมด บริษัทยังคิดจะขยายธุรกิจสู่ธุรกิจเครื่องเพชร และเครื่องนอนในอนาคต
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ของ WATERFORD ในชื่อ www.waterfordcrystal.com คาดว่าจะเปิดตัวภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้
อย่างไรก็ดี เว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นแค่เครื่องมือด้านการตลาด มากกว่าเป็นร้านค้าเสมือน
เนื่องจาก CEO ของบริษัท ยังเชื่อมั่นว่า การเลือกซื้อคริสตัลต้องอาศัยประสบการณ์จริงจากการเยี่ยมชม
และสัมผัสด้วยตนเอง มิใช่คลิกดูทางอินเทอร์เน็ต WATERFORD ยังทุ่มทุน 7.5
ล้านเหรียญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบบริหารซัปพลาย-เชน อันจะช่วยให้
WATERFORD สามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้รวดเร็วขึ้นผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์
บริษัทยังพยายามลด ต้นทุนแรงงานลงด้วยการติดตั้งระบบอัตโน มัติในงานเป่าเครื่องแก้ว
และมีการว่าจ้างธุรกิจภายนอกคือโรงงานแถบยุโรปกลางเพื่อให้รับผิดชอบด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
และผลิตภัณฑ์เก่าบางส่วนด้วย