ฟื้นอดีตสังคโลกโลกสยาม

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

แหล่งผลิต หรือแหล่งเตาเผา เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลที่สำคัญที่สุด หลักฐานทางโบราณคดี ได้ค้นพบศูนย์กลางผลิตเครื่องถ้วยที่สำคัญ คือ แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่เมืองศรีสัชนาลัย และกลุ่มเตาบ้านเกาะน้อย-บ้านหนองอ้อ ซึ่งเป็นแหล่งเตาสังคโลกที่กว้างขวางใหญ่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำยม การสำรวจและขุดค้นแหล่งเตาที่นี่ได้พบซากเตาเผา ทั้งที่มีอยู่บนผิวดินและอยู่ใต้ดินไม่น้อยกว่า 200 เตา ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พ.ศ.2520-2540 แหล่งเตาบ้านเกาะน้อย เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่พบหลักฐานใหม่เกี่ยวกับสังคโลกมากมาย

พัฒนาการของเทคโนโลยีเตาเผาสังคโลกที่บ้านเกาะน้อย แบ่งออกตามอายุสมัยและความซับซ้อนของรูปแบบเตาเผาได้เป็น 3 ระยะ คือ เตาใต้ดินรุ่นแรก (เตาเชลียง) เตาบนดินระยะกลาง และเตาอิฐบนดินรุ่นหลัง

ลักษณะของเครื่องถ้วยเชลียง มีลักษณะเด่นอยู่ที่เนื้อดินหยาบสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม มีแร่เหล็กผสมอยู่มาก เมื่อเผาแล้ว บริเวณที่ไม่เคลือบมีสีสนิมเหล็กเคลือบฉาบอยู่ ผิวภาชนะไม่เรียบมีรูพรุนมาก ในภาชนะประเภท ชาม จาน ส่วนใหญ่เคลือบเฉพาะด้านในด้านเดียว ด้านนอกปล่อยผิวเปลือย สีเคลือบส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มสีเขียวมะกอก สีเขียวแกมเหลือง สีเขียวแกมน้ำตาล สีน้ำตาลแกมเหลือง สีน้ำตาลเข้ม

ลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในเตาอิฐบนดินระยะที่ 2 ได้แก่ เครื่องเคลือบประเภทจานชาม จานเขียนลายสีดำใต้เคลือบสีเขียวใส ซึ่งเป็นต้นแบบของเครื่องสังคโลกกลุ่มชามลายปลาที่เป็นสินค้าส่งออก

ผลิตภัณฑ์ที่เผาในเตาอิฐระยะสุดท้ายมีมากมายหลายประเภท โดยเฉพาะเครื่องสังคโลกประเภทเคลือบสีเขียวไข่กา หรือเคลือบสีเขียวแบบเซราดอน ชนิดเขียนลายสีดำ สีน้ำตาลใต้เคลือบ

2. กลุ่มเตาบ้านป่ายาง ทางเหนือของแก่งหลวง และเมืองศรีสัชนาลัย ผลิตภัณฑ์ที่เจอ เช่น ประติมากรรมรูปยักษ์ เทวดา เครื่องประดับสถาปัตย์ เช่น ช่อฟ้า บราลี หัวมังกร หัวนาค กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น โคมไฟ รวมทั้ง ชาม กระปุก โถ ตลับ พาน เคลือบสีเขียวไข่กา รวมทั้งตุ๊กตา รูปคน รูปสัตว์

3. แหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่เมืองสุโขทัย ผลิตภัณฑ์จากแหล่งนี้ เป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง ส่วนมากเคลือบผิว และเขียนลวดลายสีดำใต้เคลือบใส เช่น จาน ชาม โถ ครก โคมไฟ และ

เครื่องสังคโลกลายเขียนสีดำ น้ำตาลบนพื้นสีขาวใต้เคลือบใส และเครื่องสังคโลกชนิดเคลือบสีขาวน้ำนมไม่มีลวดลาย

เครื่องถ้วยเวียงกาหลง เป็นมหัศจรรย์ของเครื่องถ้วยล้านนา ซึ่งมีชื่อเสียงและรู้จักกันมากที่สุด แหล่งเตาของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงนี้ กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย แหล่งใหญ่พบที่ตำบลหัวฝาย อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ไปจนถึงบริเวณลำน้ำลาว ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำแม่กก ใกล้กับเมืองโบราณใหญ่ชื่อ เวียงกาหลง จึงเป็นที่มาของเครื่องถ้วยชนิดนี้ สันนิษฐานกันว่าเมืองโบราณแห่งนี้จะมีอายุร่วมสมัยกับช่วงเวลาที่มีการผลิตเครื่องถ้วยชนิดนี้ คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 19-22 (จากหนังสือ มหัศจรรย์เครื่องถ้วยล้านนา ปริวรรต ธรรมาปรีชากร สมพจน์ สุขาบูลย์)

ลักษณะเด่นของเครื่องถ้วยเวียงกาหลงคือ มีน้ำหนักเบา บาง จะนิยมเคลือบถึงบริเวณเชิงของภาชนะ น้ำเคลือบใส มีทั้งสีฟ้าอ่อน สีเหลืองอ่อน รูปทรงส่วนใหญ่ จาน ชาม กระปุก คนที โถ เป็นต้น

นักวิชาการได้แบ่งเครื่องถ้วยเวียงกาหลง ออกเป็น 5 ประเภท คือ

1. ประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ

2. ประเภทเคลือบใส

3. ประเภทเคลือบน้ำตาล

4. ประเภทเคลือบสีเขียวทองแดง หรือตะกั่ว

5. ประเภทเคลือบสีเขียวแบบเซราดอน

ชื่อของเครื่องถ้วย เวียงกาหลง เริ่มเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี 2467 เป็นต้นมา นับตั้งแต่พระยานครพระราม (สวัสด์มหากายี) สำรวจพบซากเตาเผาจำนวนมากในพื้นที่ใกล้เคียงกับเมืองเวียงกาหลง และเก็บข้อมูลทางวิชาการเป็นครั้งแรก พร้อมเขียนบทความผลการสำรวจ และศึกษาวิเคราะห์ลงตีพิมพ์ ในวารสารของสยามสมาคม เมื่อปี 2480

ข้อมูลจากการสัมมนาเรื่อง สังคโลกสุโขทัย อยุธยากับเอเชีย โดย สายันต์ ไพชาญจิตร์ ภาควิชาการพัฒนาชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.