มงฟอร์ตวิทยาลัย หลักสูตรอภิบาลการผสมผสานระหว่างคนกับท้องถิ่น

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

หลักสูตรอภิบาล การผสมผสานระหว่างคนกับท้องถิ่น

บราเดอร์อนุรักษ์ นิธิภัทราภรณ์ เพิ่งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ต เมื่อ 4 ปีก่อน แต่เขาได้เปลี่ยนแปลงหลายสิ่ง หลายอย่างในโรงเรียนแห่งนี้ให้ดีขึ้น

เขาจัดเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนที่ ยังหนุ่ม และมีแนวคิด แม้เขาไม่ใช่คนเชียง ใหม่ แต่ก็เข้าใจถึงคุณค่าของขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม ที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนี้ได้เป็นอย่างดี

"ในวัยเด็ก ผมโตมาโดยที่ไม่ค่อยได้พบเห็นวิถีแบบไทยๆ มากเท่าไร เมื่อได้มาเจอกับวิถีท้องถิ่นของคนเชียงใหม่แล้ว จึงมีความรู้สึกชื่นชม และดื่มด่ำกับสิ่งที่ได้พบ" เขาบอก "ผู้จัดการ"

บราเดอร์อนุรักษ์ เป็นนักการศึกษา ที่เห็นว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องอาศัยห้องเรียนเพียงอย่างเดียวจึงจะประสบผลสำเร็จ และสถาบันการศึกษาไม่ควรจะเคลื่อนไหวไปตามกระแสสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน

แต่สถาบันการศึกษา ควรจะเป็นสถาบันหลักที่มั่นคง สามารถนำการศึกษาให้เข้าไปถึงชุมชนได้ โดยไม่ให้วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านเปลี่ยนแปลง

"ระบบการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวแปรอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดการแบ่งแยก มีความเข้าใจกันว่าคนที่ไม่ได้เข้าโรงเรียน คือ คนไม่มีการศึกษา ขณะที่คนที่เข้าเรียนคือ คนมีการศึกษา ทั้งๆ ที่ในวิถีชีวิตเดิมๆ ของเรา การเรียนรู้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในระบบโรงเรียน แต่เป็นความพยายามที่จะดึงศักยภาพของคนออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด"

จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงที่บราเดอร์อนุรักษ์เดินทางขึ้นมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมงฟอร์ตเมื่อ 4 ปีก่อน วิถีชีวิตของคนในสังคม ถูกเปลี่ยนไปจากรากฐานดั้งเดิม อย่างมาก ตามกระแสโลกาภิวัตน์

เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นเสมือนกับการยัดเยียดในสิ่งที่คนรับ ไม่เต็ม ใจรับ แต่จำเป็นต้องรับ

สิ่งดีๆ ที่เคยมีอยู่ในชุมชนเชียงใหม่ในอดีต กำลังถูกพยายามลบเลือนให้หายไปจากแนวคิดของคนส่วนใหญ่ เพราะความกลัวที่จะถูกมองว่าไม่ทันสมัย

เขาถือว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น จะกลายเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ หากคนในเชียงใหม่ ละทิ้งขนบธรรมเนียม ประเพณีดั้งเดิม และหันไปรับวัฒนธรรมจากส่วนกลาง ที่ถูกส่งต่อมาจากทางชาติตะวันตกแทน

เขาจึงต้องการจะปลูกฝังวิถีความเป็นเชียงใหม่ดั้งเดิมให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยเริ่มต้นกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนมงฟอร์ต

เขากำหนดกิจกรรมให้เด็กนักเรียนชั้นประถม ต้องเรียนรู้ประเพณีของท้องถิ่น เช่นการตีกลองสะบัดชัย การทำโคมกระดาษ และการเล่นสะล้อ ซอ ซึง ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นเมือง

เด็กทุกคนจะต้องเรียนรู้ว่าในการใช้ชีวิตจริงของคนไทยในอดีตเป็นอย่างไร โดยให้หัดทำสวนครัว เลี้ยงไก่ และการนำสมุนไพรตามธรรมชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์

เด็กทุกคนจะต้องรู้จักการปล่อยปลา การดูแลรักษาคุณภาพของแม่น้ำปิง และการ นำขยะกลับมารีไซเคิล โดยทำเป็นกระดาษ หรือปุ๋ยหมัก และฟืน

"เรามีการตั้งธนาคารขยะให้เด็กได้บริหารกันเอง มีหลักออกมาเลยว่าใบไม้ห้ามเผา กิ่งไม้เล็กห้ามเผา กิ่งไม้ใหญ่ใส่เตาหุงข้าว ส่วนที่เป็นของเล็กๆ เอาไปเก็บ ไปกลบ สอนให้เด็กรู้ว่างานเก็บขยะคือ งานที่มีศักดิ์ศรี มีเกียรติยศ การเก็บขยะไม่ใช่การลงโทษ เพราะที่ผ่านมาเราทำกันผิดๆ เด็กคนไหนทำผิด เราลงโทษให้ไปเก็บขยะ ทั้งที่ความจริงแล้วนั่นคือการทำความดี แต่คอนเซ็ปต์การรับรู้ของเด็ก กลายเป็นการลงโทษ"

สำหรับเด็กชั้นมัธยม เขากำหนดกิจกรรมให้เด็กต้องออกไปสัมผัสกับชีวิตภายนอก โดยจัดอาจารย์ 1 ชุด เป็นอาจารย์ ที่ไม่มีชั่วโมงการสอนในห้องเรียน ให้เข้ามารับผิดชอบงานนี้โดยเฉพาะ

"เราต้องการให้เด็กได้ไปสัมผัสกับชีวิตที่มีหลายมิติ และสามารถผสมผสานชีวิต เหล่านั้น จนเกิดเป็นตัวตนของเด็กขึ้นมาให้ได้"

กิจกรรมที่จัดตามหลักสูตรนี้ เด็กจะได้มีโอกาสออกไปรู้จักกับชีวิตของผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่เขามีโอกาสได้สัมผัสน้อยมาก เช่นเด็กกำพร้า คนพิการ ผู้สูงอายุ แม้กระทั่งชาวนา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่นำให้เด็กได้ไปศึกษาการใช้ชีวิตของชนเผ่าปะกาเกอ ญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยง เพื่อให้เด็กได้เรียน รู้ถึงการดำรงชีวิตของคนที่แตกต่างเผ่าพันธุ์กันว่าเป็นอย่างไร

การออกไปสัมผัสกับชีวิตของคนเหล่านี้ กระทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเด็กจะได้มีเวลาศึกษาชีวิตของคนที่ได้ไปพบพอสมควร ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้รับกลับมารายงานให้อาจารย์ได้ทราบ

"สิ่งเหล่านี้ เป็นการศึกษาอีกแบบหนึ่ง เป็นการศึกษาแบบแอบแฝง"

กิจกรรมนี้ได้เริ่มทำมาหลังจากบราเดอร์อนุรักษ์เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 4 ปีก่อน โดยช่วงแรกเป็นเพียงกิจกรรม แต่เมื่อปีที่แล้ว นี้ได้ถูกบรรจุให้เป็นหลักสูตรของมงฟอร์ตที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง ตั้งชื่อว่า หลักสูตร อภิบาล

นอกจากนี้แล้ว เขายังเตรียมเปิดหลักสูตรเชียงใหม่ศึกษา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งกำหนดให้เด็กนักเรียนจะต้องเรียนรู้ประวัติความเป็นมา และเรื่อง ราวต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดให้เป็นหลักสูตรประจำโรงเรียน หลังจากพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่มีผลบังคับใช้

ตามหลักสูตรใหม่ที่เขาคิดไว้ ต่อไปเด็กนักเรียนมงฟอร์ต จะใช้เวลาในห้องเรียนเพียงครึ่งวัน ส่วนที่เหลือเป็นการเรียนรู้โดยการทำกิจกรรม

เป็นกิจกรรมที่ดึงความเป็นคนเชียงใหม่ให้กลับคืนมาสู่เด็กนักเรียนมงฟอร์ตอีกครั้ง ก่อนที่จะถูกกระแสโลกาภิวัตน์พัดจนเกือบหายไปเหมือนในอดีต



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.