|
โบกมือลา "ฌอน คอลลิกัน" หลังทำยอดโนเกียโต100%
ผู้จัดการรายวัน(15 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
โนเกียไทยเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ ฌอน คอลลิกัน ย้ายไปดูแลออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ในขณะที่ประเทศไทยรอผู้บริหารจากสิงคโปร์ เปิดผลงานประทับใจทำยอดขายโนเกียโตเท่าตัว ผลจากการปลดล็อกรหัสประจำเครื่องและการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมมือถือครั้งใหญ่ที่ให้เจ-มาร์ทและ บลิสเทล ขายโนเกียได้
นายฌอน คอลลิกัน กรรมการผู้จัดการ โนเกีย โมบาย โฟนส์ บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) กล่าวว่าจะเข้ารับตำแหน่ง Country Manager รับผิดชอบประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้ โดยตำแหน่งในประเทศไทยจะมีผู้บริหารระดับสูงที่ปัจจุบันประจำประเทศสิงคโปร์ในตำแหน่ง Regional Director เข้ามารับผิดชอบตลาดประเทศไทยแทน
"ผู้บริหารคนใหม่มีประสบการณ์ ในธุรกิจโทรคมนาคมกว่า 17 ปีทั้งในระดับโอเปอเรเตอร์และดูแลหลายแบรนด์ เพิ่งเข้ามาร่วมงานกับโนเกีย 2 ปี โดยจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. เช่นเดียวกัน"
ฌอนเข้ามาเป็นกรรมการ ผู้จัดการในประเทศไทยตั้งแต่ 1 มี.ค. 2545 โดยรับผิดชอบด้านการปฏิบัติการ การบริหาร และการตลาดของโทรศัพท์มือถือโนเกีย ทุกรุ่นในประเทศไทย ซึ่งในช่วง เกือบ 3 ปีของการบริหาร ฌอนทำให้ยอดขายของโนเกียเพิ่มขึ้นเท่า ตัวหรือ 100% โดยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ด้วยการปลดล็อกรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์มือถือหรืออีมี่ของโอเปอเรเตอร์ รวมทั้งการที่โนเกียปรับกลยุทธ์ทำงานใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ธุรกิจอย่างเจ-มาร์ทและบลิสเทล เป็น 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายโนเกียเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงระหว่างการบริหารงานของฌอน
เขากล่าวว่า การเติบโตของตลาดในประเทศไทยในช่วงต่อไปนี้จะมาจากปัจจัย 2 ด้านคือ 1.เทคโนโลยีใหม่ๆ ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าจะมีการให้ใบอนุญาตรวมทั้งจัดสรรความถี่ในย่าน 3 G ถึงแม้จะไม่มีผลในระดับให้บริการ แต่ก็น่าจะเกิดในระดับให้ใบอนุญาต และ 2.คนส่วนใหญ่ยังใช้การสื่อสาร ด้วยเสียง ซึ่งเป็นความท้าทายของโอเปอเรเตอร์ในการให้บริการด้วยโลว์คอสต์ โปรดักต์และค่าบริการที่ถูกลง ซึ่งเป็นตลาดที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองและมีโอกาสเติบโต
ในมุมมองของฌอน เห็นว่าตลาดประเทศไทยสามารถแบ่งได้ 2 กลุ่มคือกลุ่มผู้เริ่มใช้งานครั้งแรก หรือตลาดต่างจังหวัดหรือในพื้นที่ห่างไกลที่มีโอกาสขยายตัว และกลุ่มลูกค้าในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความต้องการเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือนในต่างประเทศ
"พฤติกรรมคนไทย ยังมีความต้องการโทรศัพท์แฟชั่น มีสไตล์ การออกแบบที่สวยงามและเทคโนโลยี ไม่ต่างจากต่างประเทศอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ หรือยุโรป และมีคนที่เปลี่ยนเครื่องเร็วกว่า 12 เดือนจำนวนมาก"
นายฌอน คอลลิกันกล่าวสรุปภาพการทำงานในประเทศไทยว่าการที่โนเกียมีส่วนแบ่งตลาดในตำแหน่งที่ดีและมีความใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์มาจากโนเกียประเทศไทย มีทีมงานที่มีศักยภาพ มีความรู้และเข้าใจตลาดประเทศไทยดี ซึ่งตอนแรกที่เข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทยก็จะต้องมีช่วงการเรียนรู้ ซึ่งเป็น ช่วงที่ตลาดประเทศไทยมีการเปลี่ยน แปลงมาก
กลยุทธ์หลักที่โนเกียใช้คือการปรับกลยุทธ์ที่เป็นนโยบายจากต่างประเทศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย โดยสิ่งที่โนเกียพยายามทำคือให้ ผู้บริโภคมีโอกาสสัมผัสกับแบรนด์โนเกียอย่างครบวงจรไม่ใช่แค่การซื้อผลิตภัณฑ์ แต่รวมถึงการให้บริการหลังการขาย โปรแกรมด้านบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าหรือ CRM รวมทั้งโครงการตอบแทนให้สังคม
"การก๊อบปี้นโยบายต่างประเทศมาทั้งหมดเป็นเรื่องง่ายแต่การสร้างสิ่งใหม่ๆเป็นเรื่องท้าทาย"
สำหรับงานใหม่ของฌอน ถือเป็นการทำธุรกิจในสภาพตลาดที่อยู่ในจุดอิ่มตัว (Matual Market) เพราะออสเตรเลียมีประชากรมือถือ 80% จำนวนประชากร 20 ล้านคนมีคนใช้มือถือถึง 16 ล้านคนแล้ว ตลาด ที่มีโอกาสคือ การเปลี่ยนเครื่อง (Replacement) ต่างจากประเทศไทยที่ตลาดยังมีโอกาสเติบโต ในขณะที่ความท้ทายในออสเตรเลียคือการเปิดบริการโทรศัพท์มือถือ 3G ในปี 2005
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|