|
ไฟเขียว PA ควบ N-PARK รายย่อยซักบอร์ดแปซิฟิคฯละเอียดยิบ
ผู้จัดการรายวัน(15 กันยายน 2547)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ถือหุ้นเสียงส่วนใหญ่ N-PARK และ PA ไฟเขียว แผนปรับโครงสร้างควบ PA 3 ทั้งแลกหุ้น-จ่ายเงินสด แม้ "ศิริวัฒน์-แซนด์วิช" รายย่อยเข้าซักในที่ประชุม และไทยสมุทรฯถือหุ้น 5.5 ล้านคัดค้าน ขณะที่ "บอร์ด PA -เสริมสิน" รับศึกหนักรายย่อยซักละเอียดยิบจนต้องใช้เวลายาวนานในการประชุม แต่สุดท้ายก็โหวตผ่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14) บริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) N-PARK และบริษัท แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน ) PA ได้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติการควบรวมกิจการและการดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัท ซึ่งที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ N-PARK ในช่วงเช้าได้อนุมัติให้บริษัทมีการควบรวมกิจการกับบริษัท PA ด้วยเสียงข้างมาก 5.4 พันล้านหุ้น ขณะที่มีเสียง คัดค้าน 1 ราย บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต 5.5 ล้านหุ้น
อย่างไรก็ดีระหว่างการขออนุมัติ ได้มีนายศิริวัฒน์ วรเวทย์วุฒิคุณ นักลงทุนรายย่อย ได้ซักถามในประเด็นการแลกหุ้น 4 ต่อ 1 ซึ่งไม่ค่อยยุติธรรมกับผู้ถือหุ้นรายย่อย N-PARK ที่ถือหุ้นในราคาสูง ซึ่งภายหลังได้รับการชี้แจงจากนายวราห์ สุจริตกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ฟินันซ่า ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการ N-PARK ในการปรับโครงสร้างการถือหุ้นและการจัดการของบริษัทว่า การแลกหุ้นเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าผู้ถือหุ้น PA จะใช้สิทธินี้แค่ไหน แต่ในภาพรวมการควบกันแล้วจะส่งผลดีกับ N-PARK ซึ่งการทำธุรกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงของการลงทุนซึ่งต้องใช้เวลานานที่จะสร้างรายได้เข้าการรวมกับ PA ทำให้ N-PARK รับรู้รายได้ทั้งหมด จากเดิมที่สามารถรับรู้เพียง 63%
ขณะที่ในส่วนผู้ประชุมผู้ถือหุ้น PA มีการซักผู้บริหารแบบละเอียดก่อนมีมติให้ควบรวมกับ N-PARK ซึ่งในส่วนนี้บริษัท N-PARK ขอสละสิทธิ์ไม่ร่วมลงมติคิดเป็นจำนวนหุ้น 211,739,547 หุ้น หรือ 63.40% ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยสัดส่วน 80.47% หรือคิดเป็น 59.07 ล้านหุ้นมีมติให้ควบรวม
นายเสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท N-PARK และประธานบริหาร PA เปิดเผยว่าที่ประชุมทั้งสองแห่งได้เห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ PA ซึ่งการควบรวมเพื่อวัตถุประสงค์สูงสุดในการบริหารจัดการ และเพื่อประโยชน์ในการลดความซ้ำซ้อนในเชิงธุรกิจ ป้องกันปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์อันอาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังได้ขออนุมัติเพิ่มทุนออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 489,041,812 หุ้น เพื่อรองรับการชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท PA ที่เลือกใช้ทางเลือกที่ 1 คือ แลกหุ้นในอัตราส่วน 4 หุ้นใหม่ของบริษัท มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาทต่อ 1 หุ้นของบริษัท PA มูลค่าที่ตราไว้ 10 บาท และจัดสรรหุ้นใหม่จำนวน 1,000 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิ แปลงสภาพหุ้นกู้แปลงสภาพที่บริษัทจะออกมา
ส่วนทางเลือกที่ 2. บริษัทจะเสนอค่าตอบแทนเป็นเงินสด โดยราคาเสนอซื้อหุ้นจะเท่ากับ 5.86 บาทต่อหุ้น เป็นราคาตลาดฯถัวเฉลี่ยน้ำหนัก 5 วันทำการ ก่อนวันประชุมคณะกรรมการ ส่วนนี้ผู้ถือหุ้นต้องรับภาระค่าธรรมเนียมในการขายหุ้น 0.25% และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของค่าธรรมเนียมการขายหุ้น
สำหรับทางเลือกที่ 3 ขอรับเป็นเงินสด เมื่อมีการโอนทรัพย์และเลิกบริษัทของPA ในส่วนนี้บริษัท จะว่าจ้างผู้ประเมินจากต่างประเทศที่มีประสบการณ์จำนวน 2 รายมาประเมิน หากมีส่วนต่างจากการตีราคาทรัพย์ บริษัท N-Park จะเป็นผู้ชำระเงินส่วนต่างให้กับผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนหุ้นที่ถือหุ้นจากจำนวน หุ้นที่เหลืออยู่ และผู้ถือหุ้นต้องเป็นผู้รับภาระจ่ายภาษีเงินได้หากมี
ยันโครงการต่าง ๆ ราบรื่นให้บ.ลูกกู้เพื่อความคล่องตัว
ต่อข้อซักถามกรณีที่บริษัท N-PARK ได้มีการปล่อยให้บริษัทลูกกู้เงินไปหลายแห่งและอาจจะเกิดการยักย้ายถ่ายเทผลประโยชน์หรือไม่นั้น นายเสริมสินกล่าวว่าการนำเงินไปลงทุนหรือปล่อยเงินกู้ให้แก่บริษัทลูก ไม่ใช่กู้ไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งมีบางบริษัทลูกในอดีตที่ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ และมีหนี้อยู่ในส่วนนี้ได้มีการลงบัญชีและตั้งสำรอง ซึ่งในส่วนนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น
"บริษัทลูกแต่ละแห่งอย่ามองว่าเป็นบริษัทกระดาษ และสาเหตุที่ไม่ให้บริษัทลูกเหล่านี้อยู่ใน N-PARK เพราะเราต้องการให้ธุรกิจมีความสะดวก ทำให้ภาระผูกพันอยู่ในบริษัทเดียว และหากในอนาคตต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนก็สามารถขายบริษัท หรืออาจจะผลักดันเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับการควบรวมกับ PA จะมีการนำทรัพย์สินหลังจากควบรวมเสร็จ จะนำทรัพย์สินของ PA มาปรับปรุงให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และในอนาคตจะมีการระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ โดยจะดำเนินการขายสินทรัพย์ของ N-Park ที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะทำการับโอนมาจาก PA เข้ากองทุนรวมอสังหาฯ เป็นต้น" นายเสริมสินกล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการร้อยชักสามของกรมธนารักษ์ นายเสริมสินกล่าวว่าล่าสุดทางกรมธนารักษ์ได้สอบถามว่าบริษัทมีความพร้อมที่จะดำเนินการโครงการต่อไปหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ได้ยืนยันไปแล้ว อีกทั้งทางธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้ออกแบงก์การันตีวงเงิน 1,900 ล้านบาทให้กับบริษัท "เรื่องนี้ไม่มีใครบอกว่าจะชัดเจนแค่ไหน เพราะเป็นโครงการที่ใหญ่ซึ่งต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ก็ต่อเมื่อมีการเซ็นสัญญา"
ส่วนเรื่องที่รัฐบาลยืนยันที่จะเข้าถึงหุ้นในบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (รฟม.) นายเสริมสินกล่าวว่าเหตุผลที่ราคาหุ้นของรฟม.ควรอยู่ที่ 3 บาทนั้น เนื่องจากเป็นราคาที่บริษัทผู้ประเมินได้คำนวณราคาเมื่อผลักดันบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ใช่ราคาที่จะเสนอขายให้แก่รัฐบาล ซึ่งราคาจะเป็นเท่าไหร่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลจะมาเสนอกับบริษัท N-PARK แต่ต้องไปเจรจาบริษัท บีเอ็มซีแอล จำกัด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่บริษัทเข้าลงทุนใน รฟม.ราคาอยู่ที่ 1.50 บาท ซึ่งขณะนี้โครงการรถไฟใต้ดินยังอยู่ในช่วงรอยต่อว่าจะสร้างหรือไม่ แต่เมื่อลงทุนแล้วโครงการเกิดเดินหน้าทำให้ราคาการลงทุน นั้นครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่ามาก ทั้งนี้ ในช่วงเปิดเดินรถไฟใต้ดินจำนวนผู้โดยสารได้ถึง 2 แสนคนต่อวัน แต่เป็นราคาพิเศษ 10 บาท แต่หลังจากใช้ราคาพิเศษตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 47 แม้จำนวนผู้โดยสารลดลงเหลือ 1.5 แสนคนต่อวัน แต่รายรับปรับตัวสูงขึ้นถึง 2.5 ล้านบาทต่อวัน สูงกว่าช่วงที่ใช้ราคาพิเศษรายรับอยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อวัน
ด้านนายวีระวงศ์ จิตต์มิตรภาพ กรรมการและประธานกรรมการตรวจสอบ กล่าวเสริมถึงกรณี ที่อดีตผู้บริหารถูกกล่าวโทษว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งหากฝ่ายควบคุมคือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เกิดข้อสงสัยและได้มีกล่าวโทษ ก็สามารถดำเนินการได้
ผู้ถือหุ้น PA ซักถี่ยิบผู้บริหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้น PA ผู้ถือหุ้นบางรายได้ซักถามคณะกรรมการของ บริษัทฯในหลายประเด็นจนใช้เวลานานหลายชั่วโมง กว่าจะสามารถลงมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการบริษัทเสนอ โดยประเด็นที่ผู้ถือหุ้นมีการสอบถาม คือ การที่อดีตผู้บริษัท N-PARK ได้ถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)ได้กล่าวโทษผู้บริหาร ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งปัญหายังไม่จบจะมีเหตุผลอะไรที่จะมีการควบรวมกัน ,
นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นยังเสนอในเรื่องของการประเมินเพื่อทำการซื้อสินทรัพย์ของบริษัท PA ควรใช้มูลค่าราคาตลาดมากกว่าจะใช้มูลค่าทางบัญชี (Book Value) หรือการเสนอให้ขายธุรกิจในเครือของ PA บางส่วนเพื่อลดผลขาดทุนของบริษัท โดยในการซักถามได้มีการโต้เถียงระหว่างผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการบริษัทฯ
นายวราห์ ได้กล่าวอธิบายว่า การที่จะตีราคาทรัพย์ตามมูลค่าบัญชีนั้น ต้องเข้าใจในเมืองไทยการที่จะให้คนอื่นเข้ามาเสนอราคาเพื่อผลักดันให้มูลค่าทางบัญชีสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะตลาดในเมืองไทยมีขนาดเล็ก "อย่าลืมว่าตลาดของไทยไม่มีผู้ซื้อสินทรัพย์ตลอดเวลาไม่เหมือนที่ต่างประเทศ เพราะสภาพคล่องของสินทรัพย์ในไทยไม่เคลื่อนไหวมากนัก"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|