"ผมต้องดิ้นรนตั้งแต่เด็ก"
หากพูดถึงความคงอยู่ของธุรกิจในมือคนเชียงใหม่ที่ต้องต่อสู้กับทุนต่างถิ่นแล้ว
อุดม สุวิทย์ศักดานนท์ เชื่อว่าตระกูลของเขา เป็นตัวอย่างหนึ่งในไม่กี่ตระกูลเจ้าของธุรกิจท้องถิ่น
ซึ่งต้องต่อสู้ และสามารถอยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้
และถ้าบั๊กจั๊ว แซ่ลิ้ม พ่อของอุดมยังมีชีวิตอยู่ เขาก็คงนึกไม่ถึงเช่นกันว่าร้านโชวห่วยเล็กๆ
ชื่อ "นิ้มซี่เส็ง" ที่เขาเปิดขึ้นในตลาดวโรรสเพื่อหาเลี้ยงชีพเมื่อกว่า
60 ปีก่อน จะกลายเป็นชื่อของธุรกิจขนส่งที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีรถบรรทุกวิ่งขนส่งสินค้า
ระหว่างเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ถึงวันละกว่า 100 เที่ยวอย่างในปัจจุบัน
"ชื่อนิ่มซีเส็ง คำว่า นิ่ม มาจาก แซ่เพราะเราเป็นคนแซ่ลิ้ม ซี่เส็งก็คือพระอาทิตย์
ขึ้น แปลความหมายง่ายๆ ว่า มีแสงสว่างตลอดเวลา หรือจะต้องขึ้นตลอดเวลา" อุดม
สุวิทย์ศักดานนท์ ลูกชายคนที่ 3 ของบั๊กจั๊ว ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ
บริษัทนิ่ม ซี่เส็งขนส่ง (1988) บอกกับ "ผู้จัดการ"
อุดมให้เหตุผลที่ธุรกิจของเขาไม่ล่มสลายไปเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย
คนเชียงใหม่ แต่ไม่สามารถทานกับกระแสการรุกของทุนต่างถิ่นได้ เนื่องจากพื้นเพตระกูลของเขาไม่ใช่คนร่ำรวย
ตรงกันข้าม กลับต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของ ตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อร่างสร้างตัว
บั๊กจั๊ว แซ่ลิ้ม ไม่ใช่คนเชียงใหม่โดยกำเนิด เขากับภรรยา คือซุ่งเฮียง
แซ่ตั้ง คือคนจีนที่อพยพเข้ามาหากินในประเทศไทย และตัดสินใจเดินทางขึ้นมาตั้งรกรากที่จังหวัด
เชียงใหม่ ในช่วงไม่กี่ปีหลังจากประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี
พ.ศ.2475
ช่วงแรกที่มาถึงเชียงใหม่ บั๊กจั๊วต้องทำงานเป็นจับกังอยู่ในตลาดวโรรสอยู่หลายปี
ก่อน ที่จะเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งเพื่อนำมาลงทุนเปิดร้านนิ้มซี่เส็งขายสินค้าเบ็ดเตล็ด
เช่น กะปิ น้ำปลา กุ้งแห้ง ปลาแห้ง ฯลฯ
บั๊กจั๊วและซุ่งเฮียงมีลูกด้วยกัน 7 คน 3 คนแรกเป็นผู้หญิงเกิดที่เมืองจีน
แต่ 4 คนหลัง เป็นชายล้วน เกิดในจังหวัดเชียงใหม่
"ผมถือว่าผมก็เป็นคนเชียงใหม่คนหนึ่ง" อุดมบอก
ลูกชาย 3 คนแรกของบั๊กจั๊ว คือ อุทัต อุทาน และอุดม ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนนาม
สกุลเป็น "สุวิทย์ศักดานนท์" เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลัก ในการช่วยเตี่ยและแม่ค้าขายในตลาดวโรรส
"พี่สาว 3 คนของผมเป็นผู้หญิง ก็แต่งงานออกไปมีครอบครัว และก็เอาน้องชาย
คนเล็กไปเลี้ยง"
นอกจากเปิดร้านขายของเบ็ดเตล็ดแล้ว บั๊กจั๊วยังเก็บเงินซื้อสามล้อปั่นไว้คันหนึ่ง
เพื่อถีบไปรับผลไม้จากสถานีรถไฟ มาขายในตลาด
จุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัวนี้เกิดขึ้นในปี 2508 เมื่อบั๊กจั๊วเสียชีวิตลง
ขณะนั้นลูกๆ ของเขาทั้ง 3 คน ยังเป็นเด็ก และกำลังเรียนหนังสืออยู่
อุทัต พี่ชายคนโต เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 (เทียบเท่ามัธยมปีที่ 1 ในปัจจุบัน)
ในโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จำเป็นต้องลาออก กลางคัน เพื่อมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแทนเตี่ยในการทำมาหากิน
และเลี้ยงดูแม่ โดยมีน้อง อีก 2 คนคอยช่วย
สถานการณ์ยิ่งแย่ลงไปอีก เพราะหลังบั๊กจั๊วเสียชีวิตลงได้เพียงไม่นาน เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในตลาดวโรรส
ร้านนิ้มซี่เส็งซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวถูกไฟไหม้ไปด้วย ครอบครัวสุวิทย์ศักดานนท์ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่อีกครั้ง
เครื่องมือทำมาหากินที่หลงเหลืออยู่ชิ้นเดียวขณะนั้นคือรถสามล้อปั่น ที่ใช้ขายผลไม้
"ตอนนั้นเราคิดอยู่อย่างเดียวว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาให้พอซื้อข้าวกินกันก่อน"
ทั้ง 3 พี่น้องยึดอาชีพหลักที่เตี่ยทิ้งไว้ คือ รับผลไม้มาขาย ขณะเดียวกันเมื่อมีเวลาว่างทั้ง
3 ก็ออกไปรับจ้างทั่วไป ทั้งยกของ แบกของ และรับจ้างขนของในตลาด โดยใช้สามล้อปั่นที่เหลืออยู่
"ตอนนั้นต้องทำทุกอย่าง ไปช่วยตั้งกระทะให้เขา ได้เงิน 3 บาทก็ยังเอา"
การขายผลไม้ในช่วงนั้น นอกจากไปรับที่สถานีรถไฟแล้ว ทั้ง 3 พี่น้องยังได้เช่ารถกระบะเพื่อไปรับซื้อผลไม้จากจังหวัดแแพร่
อุตรดิตถ์ รวมทั้งจากสวนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอรอบนอกของจังหวัดเชียงใหม่มาขาย
ซึ่งการเดินทางในช่วงนั้นค่อนข้างยากลำบาก บางครั้งต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะได้ผลไม้มาขาย
แต่เนื่องจากคู่แข่งในการขายผลไม้ในจังหวัดเชียงใหม่ขณะนั้นยังมีน้อยราย
การค้าของทั้ง 3 พี่น้องจึงพอมีกำไรเหลือสะสมไว้จนต่อมาสามารถซื้อรถบรรทุก
4 ล้อ ขนาดเล็ก 800 ซีซี ยี่ห้อไดฮัทสุได้หนึ่งคัน
รถคันนี้ นอกจากจะใช้ขนผลไม้มาขายแล้ว ในเวลาว่างยังใช้รับจ้างขนส่งสินค้าทั่วไป
ให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดด้วย
การค้าขายผลไม้ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อ 40 กว่าปีก่อน พ่อค้าแม่ค้าจะใช้วิธีไปรับสินค้าจากสถานีรถไฟ
ขณะที่การเดินทางโดยรถไฟจากกรุงเทพฯ ขึ้นมาเชียงใหม่สมัยนั้น ต้องใช้เวลาถึง
2 วัน ทำให้ผลไม้ที่มากับรถกว่าจะถึงเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะเสียหายไปกว่าครึ่ง
จากการสูญเสียสินค้าจากการขนส่งดังกล่าว ทำให้วันหนึ่งทั้ง 3 พี่น้องได้ปรึกษากัน
และเห็นพ้องกันว่าควรจะต้องซื้อรถใหม่ ที่ใหญ่กว่าเดิม เพื่อขับลงไปซื้อผลไม้จากกรุงเทพฯมาขายด้วยตัวเอง
ในปี 2512 ทั้ง 3 ตัดสินใจซื้อรถใหม่ เป็นรถอีซูซุ เอลฟ์ ที่มีขนาดใหญ่กว่ารถไดฮัทสุคันเดิม
รถคันนี้ถูกขับลงไปถึงกรุงเทพฯ จันทบุรี ชุมพร รวมทั้งจังหวัดอื่นๆ ที่เป็นแหล่งผลไม้
มีชื่อ เพื่อนำขึ้นมาขายในเชียงใหม่อีกต่อหนึ่ง
"ครอบครัวผมเป็นคนแรกที่นำเงาะ ทุเรียน จากจันทบุรีขึ้นมาขายที่เชียงใหม่"
ด้วยความสดของผลไม้ที่มีมากกว่าการขนส่งโดยรถไฟ ทำให้ในเวลาต่อมา พ่อค้าแม่ค้าผลไม้ในเชียงใหม่
เริ่มหันมานิยมซื้อผลไม้ที่มากับรถของทั้ง 3 พี่น้อง ซึ่งต่อมาภายหลัง ได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ค้าปลีกมาเป็นค้าส่ง
และความถี่ของการเดินทางลงไปรับสินค้าก็เริ่มเพิ่มขึ้น
จากเดิมที่ทั้ง 3 พี่น้องใช้วิธีผลัดกันขับรถลงไปซื้อผลไม้ประมาณ 3 วันครั้ง
ก็เริ่มถี่ขึ้นเป็นวันเว้นวัน ในที่สุดเมื่อความต้องการสินค้ามีมากขึ้น ทั้ง
3 ก็ต้องขับรถลงไปซื้อสินค้าทุกวัน และจากที่เคยต้องขนส่งโดยรถบรรทุก 4 ล้อ
ก็สามารถซื้อรถ 6 ล้อ คันใหม่ พร้อมจ้างคนขับเข้ามาช่วยอีก 1 คน
ในการรับ-ส่งผลไม้แต่ละครั้ง เพื่อให้ต้นทุนการขนส่งลดลงมากที่สุด ในเที่ยวขาลง
ทั้ง 3 พี่น้องก็เริ่มนำลิ้นจี่ และลำไย ซึ่งเป็นผลไม้ของเชียงใหม่ ลงไปขายส่งให้กับพ่อค้า
ผลไม้ในกรุงเทพฯ รวมทั้งรับจ้างขนส่งสินค้า ประเภทอื่นพร้อมกันไปด้วย
ส่วนในเที่ยวขาขึ้น หลังจากตระเวนรับผลไม้จากที่ต่างๆ มาจนครบแล้ว ยังมีพื้นที่เหลืออยู่อีกประมาณ
30% ทั้ง 3 พี่น้องก็เริ่มติดต่อพ่อค้าสินค้าสดรายอื่นๆ ในตลาด วโรรส ว่าจะเป็นผู้ขนส่งสินค้าขึ้นมาให้
"ตอนแรกไม่ค่อยมีใครสนใจ ก็มีลอง อยู่เจ้าหนึ่ง ดูเหมือนจะชื่อนายเซ้ง
เป็นเพื่อน ของคุณพ่อ ลองส่งปลาสดมา ปรากฏว่า รถของเรามาถึงประมาณตี 5 ปลาสดของนายเซ้งก็มาถึงก่อนเจ้าอื่น
ที่จะมาถึง 11 โมง เขาก็เริ่มขายได้ตั้งแต่ 6-7 โมง เมื่อเป็นเช่นนี้ การขายปลาสดของนายเซ้งก็ดีขึ้น
เพราะของ เขาสดกว่า และมาถึงตลาดเช้ากว่า หลังจาก นั้นลูกค้ารายอื่นก็เริ่มสนใจเข้ามาใช้บริการของเรา"
จากจุดเริ่มต้นที่รับผลไม้จากกรุงเทพฯ ขึ้นมาขายเชียงใหม่ และขยายไปถึงสินค้าประเภทอื่น
ทั้ง 3 พี่น้องมองเห็นว่า การทำธุรกิจขนส่ง ได้กำไรมากกว่าการขาย ส่งผลไม้
ดังนั้น หลังจากออกรถ 6 ล้อคันแรก มาได้เพียง 2 ปี ทั้ง 3 ก็เข้ามาจับธุรกิจขนส่ง
อย่างจริงจัง
ในปี 2514 ทั้ง 3 พี่น้องได้จดทะเบียน ตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดขึ้น แต่ด้วยความบก
พร่องของงานเอกสารในช่วงจดทะเบียน ชื่อห้างหุ้นส่วนจึงเปลี่ยนจาก "นิ้มซี่เส็ง"
ซึ่งเป็นชื่อร้านโชวห่วยเดิมของเตี่ย กลายเป็น "นิ่มซี่เส็ง" แต่ทั้ง 3 ก็ได้ใช้ชื่อนี้มาตลอด
ในปีเดียวกัน หจก.นิ่มซี่เส็ง ก็ตั้งสาขาแรกในกรุงเทพฯ ขึ้นที่บริเวณสี่แยกมหานาค
โดย ใน 2 ปีแรกอุดม น้องชายคนที่ 3 ลงมาดูแลเป็นผู้จัดการสาขาด้วยตนเอง ขณะที่พี่ชายอีก
2 คน คือ อุทัต และอุทาน ดูแลธุรกิจอยู่ที่เชียงใหม่
การตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจของทั้ง 3 พี่น้อง นับว่ามาได้ถูกทาง เพราะหลังจากเข้ามาจับงานขนส่งสินค้าอย่างจริงจัง
ชื่อของ หจก.นิ่มซี่เส็ง ก็ได้รับความนิยม จนต้องเริ่มขยายสาขา ออกไปยังท่าลี่
อ.จอมทอง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และ อ.ฝาง ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
พร้อมกันนั้น จากช่วงเริ่มต้นที่มีรถอยู่ในเครือเพียงไม่กี่คัน ก็เริ่มมีเจ้าของรถบรรทุกรายอื่น
ที่เชื่อในชื่อของนิ่มซี่เส็ง เสนอตัวขอนำรถเข้ามาวิ่งอยู่ในเครือข่ายด้วย
ปี 2527 ขณะที่ประเทศไทยต้องประสบภาวะวิกฤติการเงินจากการประกาศลดค่าเงิน
บาท แต่กลับส่งผลดีต่อนิ่มซี่เส็งเพราะมีผู้ส่งออกเข้ามาใช้บริการในการขนส่งสินค้ามากขึ้น
เพราะผลจากการลดค่าเงิน ทำให้การส่งออกของประเทศไทยดีขึ้น
ในปีนี้เอง ที่นิ่มซี่เส็งตัดสินใจลงทุน ที่ดูเหมือนจะสวนทางกับกระแสธุรกิจโดยรวม
โดยเปิดธุรกิจการเงินในนาม "บริษัทนิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง" ขึ้น เพื่อให้สินเชื่อกับคนที่ต้องการซื้อรถ
"ตอนนั้นเพื่อนคุณอุทัตที่อยู่จังหวัดแพร่ มาชวนให้เราขายรถใหม่ แต่เราคิดดูแล้วว่ารถคันหนึ่งถ้าขายก็ได้กำไรประมาณ
500 บาทหรือ 1,000 บาท แต่พวกที่กำไรมากที่สุดคือ ลีสซิ่ง และขณะนั้นเงินสดเรามี
เราก็เลยมาทำลีสซิ่ง โดยชวนพรรคพวกที่อยู่ในเชียงใหม่ด้วยกันมาร่วมหุ้นตั้งบริษัทนิ่มซีเส็งลีสซิ่ง
โดยตระกูลเราถือหุ้นประมาณ 70%" อุดมเล่า
ว่ากันว่าอีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้นิ่มซี่เส็งตัดสินใจเปิดธุรกิจการเงิน
เนื่องจากในช่วงนั้นมีลูกจ้างที่เป็นคนขับรถหลายคน อยากเปลี่ยนสภาพการจ้าง
โดยต้องการเป็นเจ้าของรถด้วยตัวเอง จึงเสนอไปยังอุทัต ซึ่งเขาก็ยินดี โดยซื้อรถใหม่ให้ก่อน
และให้เจ้าของรถเป็น ผู้ผ่อนต่อกับบริษัทนิ่มซี่เส็งลีสซิ่ง
กิจการลีสซิ่งที่เปิดขึ้นมา ปรากฏว่ามีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนถึงที่สุด
ทั้ง 3 พี่น้อง ก็เห็นว่าควรจะต้องแยกธุรกิจออกจากกันอย่างชัดเจน ระหว่างธุรกิจลีสซิ่ง
กับธุรกิจขนส่ง ในปี 2531 จึงได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทนิ่มซี่เส็ง ขนส่ง
1988 ขึ้น
อีก 2 ปีต่อมา นิ่มซี่เส็งขนส่ง ก็ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่
ออกมาอยู่บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง
ปัจจุบัน เครือข่ายของนิ่มซี่เส็ง ทั้งด้านการขนส่ง และลีสซิ่งสามารถครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้ทั้งหมด
โดยนิ่มซี่เส็งขนส่งมีสาขาในภาคเหนือ 7 สาขา และในกรุงเทพฯ ได้ขยายสาขาเพิ่มจากสี่แยกมหานาค
ไปยังถนนพุทธมณฑล สาย 2 และสาย 5 ทำให้รวมแล้วจะมีสาขาอยู่ทั้งสิ้น 10 สาขา
มีรถบรรทุกในเครือรวมทั้งรถร่วมประมาณ 500 คัน พนักงานขนสินค้า และคนขับประมาณ
1,000 คน
ความถี่ในการขนส่งสินค้าระหว่าง ภาคเหนือกับกรุงเทพฯ ของนิ่มซี่เส็งทุกวันนี้
ตกประมาณวันละกว่า 100 เที่ยว ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์
(ร.ส.พ.) รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจประเภทเดียวกันถึงกว่า 20 เท่า
ขณะที่ธุรกิจลีสซิ่ง ก็ได้ขยายสาขาออกไปทั่วภาคเหนือตอนบน โดยมีสาขารวม
กันถึง 80 สาขา
ทั้งอุทัต อุทาน และอุดม เป็นคนที่เรียนน้อย อุทัตต้องออกจากโรงเรียนระหว่าง
เรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 ขณะที่อุทาน ก็ต้องเลิกเรียนหลังจบแค่มัธยมปีที่
2 อุดมเป็นคนที่เรียนสูงกว่าพี่ๆ คือ จบมัธยมปีที่ 3 การที่ทั้ง 3 พี่น้อง
สามารถดิ้นรนจนสร้างธุรกิจของครอบครัวให้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ขนาดนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา
ทั้ง 3 พี่น้องใช้เวลาค่อนข้างมากกับการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจ
รวมถึงกรณีศึกษาการขยายตัวของธุรกิจใหญ่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองให้ได้มากที่สุด
อุดมบอกว่า องค์กรธุรกิจของไทย ที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์
เขาชอบรูปแบบ และแนวคิดในการขยายเครือข่ายของธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งหลาย
อย่างที่เขาได้นำมาประยุกต์ใช้ภายในนิ่มซี่เส็ง
ทุกวันนี้ กิจการของนิ่มซี่เส็งทุกอย่างเริ่มลงตัว เขาและพี่ๆ เริ่มที่จะวางมือ
โดยให้ทายาทในรุ่นที่ 2 ซึ่งแต่ละคนได้รับการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาโทเกือบทุกคนเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารงานมากขึ้น
อุดมมองว่า คนรุ่นนี้ จะเป็นจักรเฟืองตัวสำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจของนิ่มซี่เส็ง
ก้าวไปสู่เป้าหมายสำคัญที่เขาและพี่ๆ เคยวางไว้ว่าจะต้องเป็นที่ 1 ในทุกๆ
ด้าน ในอนาคต